posttoday

การสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่ฉีกทุกกรอบตำรา

05 ตุลาคม 2563

การรับมือกับปัญหาไวรัสโควิด 19 เชิงองค์รวม : การสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่ฉีกทุกกรอบตำรา

โดย : ภก.ดร.จันทรชัย ถวิลพิพัฒน์กุล สถาบันอินทรานส์ Hipot – การปฏิรูปศักยภาพมนุษย์อย่างบูรณาการ ศาสตร์ชีวิตองค์รวมเพื่อความมั่นคงยั่งยืน

ความท้าทายด้านการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

โลกมีความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัต ปรับตัวตลอดเวลาเพื่อเข้าสู่สมดุลใหม่ อย่างการระบาดของไวรัสโควิด 19 ส่งผลกระทบสูงมากเป็นวงกว้าง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การดำเนินธุรกิจ ตลอดจนพฤติกรรมผู้บริโภค ห่วงโซ่การผลิตขาดความต่อเนื่อง การดำเนินธุรกิจต้องหยุดชะงัก หลายธุรกิจต้องล่มสลาย การปรับตัวเกิดในทุกภาคส่วนของธุรกิจเพื่อความอยู่รอด ไม่มียกเว้น ทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รุนแรง ไม่ทันตั้งตัว จนเกิดเป็นภาวะปกติใหม่ที่ไม่อาจกลับสู่สภาพเดิมได้ และการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะเกิดขึ้นอีก และเชื่อว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ประเด็นนั้นอยู่ที่ว่าเราจะพัฒนาศักยภาพมนุษย์ให้สามารถรับมือกับความท้าทายใหม่ที่กำลังจะมานั้นได้อย่างไร แต่ที่แน่ๆ คือ เราต้องมีความรู้ มีปัญญา มีกระบวนการเรียนรู้ สามารถพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่มีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

การสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่ฉีกทุกกรอบตำรา

แล้วปัญหาด้านการเรียนรู้ในปัจจุบันคืออะไร

ระบบการศึกษาและกระบวนการหาความรู้ในปัจจุบัน เรายังเน้นที่การท่องจำ ชอบทางลัด ให้ความสำคัญแต่ผลลัพธ์สุดท้าย แต่ขาดกระบวนการเรียนรู้ที่แท้จริง ไม่มีการตั้งเป้าหมาย หรือมีแต่ก็ไม่ชัด การจัดการจึงคลุมเครือและไม่ไปในแนวเดียวกัน ขาดกระบวนการคิดเชิงระบบ จึงไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงซับซ้อนได้ ขาดการมองภาพเชิงองค์รวม จึงไม่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมที่แตกต่างที่แปลกใหม่ นั่นเป็นเพราะกระบวนการเรียนรู้ถูกตีกรอบอยู่ในบริบทเฉพาะตามรายวิชาด้วยมุมมองอย่างแยกส่วน เช่น เคมี ฟิสิกส์ ชีวะ คณิศาสตร์ สังคม ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วรรณคดี และอื่นๆ แต่เราไม่สามารถบูรณาการวิชาเหล่านี้เพื่อเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่เหนือกว่าเดิม กล่าวโดยรวมแล้วคือ เราขาดกระบวนการเรียนรู้เชิงองค์รวม

กระบวนการเรียนรู้เชิงองค์รวมคืออะไร มีธรรมชาติเป็นอย่างไร

ธรรมชาติของความเป็นองค์รวมคือ ภาวะของสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ (New Normal) จากการเชื่อมโยงขององค์ประกอบ ภาวะดังกล่าวสามารถแสดงศักยภาพหรือคุณสมบัติที่เหนือกว่า หรือแตกต่างจากองค์ประกอบเดิมได้อย่างมีคุณค่าและความหมาย ภาวะดังกล่าวเป็นจริงของทุกสรรพสิ่ง ไม่มียกเว้น ไม่ว่ารูปธรรมหรือนามธรรม

เพื่อความเข้าใจ ผมขอชวนท่านพิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้ ท่านสงสัยไหมว่า เวลาท่านจะกินกาแฟร้อน ทำไมต้องเอาผงกาแฟ ครีม น้ำตาล และน้ำร้อนมาชงเข้าด้วยกัน ทำไมท่านไม่ทานทีละอย่าง

ทำไมเวลาจะทานส้มตำ ต้องเอาองค์ประกอบสิบกว่าอย่างมาตำ มาคลุกเคล้าเข้าด้วยกัน ก่อนจะตักเข้าปาก

ทำไมก๊าซไฮโดรเจนซึ่งติดไฟ และก๊าซออกซิเจนที่ช่วยให้ไฟติด แต่เมื่อนำทั้งสองมารวมกันแล้ว จะได้น้ำที่สามารถดับตัวมันเองได้

และหากเราเติมโลหะโซเดียมลงในน้ำ มันจะระเบิด สร้างความเสียหาย และหากเราสัมผัสกับกรดเกลือหรือกรดไฮโดรคลอริก (HCL) โดยตรง เราจะรู้สึกปวดแสบปวดร้อนอย่างมาก เพราะมันจะกัดทะลุถึงกระดูกเลยทีเดียว แต่เมื่อนำสารอันตรายทั้งสองมารวมกัน เรากลับได้เกลือแกง สีขาว เค็มๆ คราวนี้กินได้

และไม่ว่าเราจะยกอะไรขึ้นมาพิจารณาก็ตาม มันล้วนมีธรรมชาติเป็นแบบเดียวกันหมด ไม่มียกเว้น

ทั้งกาแฟร้อน ส้มตำ น้ำ และเกลือแกง ต่างล้วนมีธรรมชาติของความเป็นองค์รวมที่เกิดจากการเชื่อมโยงขององค์ประกอบ

ทีนี้เรามาสังเกตการเกิดขึ้นของความรู้ ความเข้าใจบ้าง เวลาเราอ่านหนังสือ เราจะขีดเส้นใต้หรือระบายสีคำสำคัญๆ แล้วเราก็เอาคำสำคัญเหล่านั้นมาเชื่อมโยงกัน ในขณะที่เราเชื่อมโยงนั้นเอง ภาวะองค์รวมใหม่ที่เรียกว่าความรู้ ความเข้าใจก็เกิดขึ้น เกิดเป็นปัญญาที่สูงกว่าคำสำคัญเหล่านั้นโดดๆ   

จะเห็นได้ว่าทั้งกาแฟร้อน ส้มตำ น้ำ เกลือแกง และความรู้ความเข้าใจใหม่ที่เกิดขึ้น ต่างก็เป็นภาวะองค์รวมที่มีธรรมชาติอย่างเดียวกัน กล่าวคือ ต่างก็เกิดจากการเชื่อมโยงขององค์ประกอบ การหาความรู้ที่แท้จริงจึงต้องเป็นกระบวนการเรียนรู้เชิงองค์รวมที่สะท้อนถึงความจริงที่ว่า กระบวนการเรียนรู้ใดๆ มีธรรมชาติของความเป็นองค์รวมที่ผุดขึ้นจากการเชื่อมโยงองค์ประกอบ และสามารถแสดงศักยภาพที่แตกต่างจากเดิมได้อย่างมีคุณค่าและความหมาย

แล้วเราจะพัฒนากระบวนการเรียนรู้เชิงองค์รวมขึ้นมาได้อย่างไร

1. การศึกษาใดๆ ต้องมีเป้าหมายเพื่อจัดการกับความท้าทายตามบริบทที่เกิดขึ้นตรงหน้า โดยการเปิดโลกเพื่อเข้าใจในปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดจากองค์ประกอบต่างๆ ที่เชื่อมโยงกัน อีกทั้งการขยายกรอบออกจากการพิจารณาในระดับบุคคลเดี่ยวๆ มาเป็นการมองโลกในมุมมองที่กว้างขึ้น เข้าใจปรากฏการณ์และความสัมพันธ์ขององค์ประกอบที่อยู่ตรงหน้าตามปรากฏการณ์ที่แท้จริง

2. เพราะกระบวนการเรียนรู้ใดๆ ต้องมาจากการเชื่อมโยงที่แตกต่างขององค์ประกอบที่หลากหลาย ดังนั้น การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เราจึงต้องปรับมุมมองการเรียนรู้เสียใหม่ คือต้องเป็นการศึกษาแบบเปิดโลกที่ตีทะลุกรอบความคิดออกจากรายวิชาที่จำกัดขอบเขตกระบวนการเรียนรู้ให้อยู่ในมุมมองที่คับแคบที่เป็นเรื่องเฉพาะและเป็นมุมมองเชิงเดี่ยว มาเป็นการมองภาพเชิงองค์รวม หาองค์ประกอบที่หลากหลายที่เป็นสาระสำคัญจากศาสตร์ต่างๆ อย่างเปิดกว้าง ไร้ขอบเขต แล้วนำมาเชื่อมให้แตกต่าง เพื่อผุดขึ้นเป็นทางเลือกที่มีคุณค่าเพื่อการตัดสินใจอย่างเหมาะสม

3. เวลาเราแก้ปัญหา ทางออกจึงมีได้อย่างไร้ขีดจำกัด ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเอาองค์ประกอบอะไรเข้ามาพิจารณา

แล้วจะเชื่อมโยงองค์ประกอบเหล่านั้นให้หลากหลายได้อย่างไร ดังนั้น การแสวงหาคำตอบและกระบวนการเรียนรู้จึงต้องเกิดจากความเชื่อโยงที่หลากหลายขององค์ประกอบที่แตกต่างตามบริบทที่เปลี่ยนไปอย่างเป็นพลวัตไร้ขีดจำกัด ซึ่งคำตอบหนึ่ง ณ เวลาหนึ่งอาจดีที่สุด ณ เวลานั้น แต่อาจจะไม่ดีที่สุดในบริบทที่ต่างออกไป  ดังนั้น คำตอบใดๆ ที่ได้ เราจึงไม่อาจกล่าวได้ว่ามันดีที่สุด แต่มันก็เป็นเพียงแค่ทางเลือกหนึ่งเท่านั้น

4. เมื่อพิจารณาถึงการสร้างองค์กรให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ คุณสมบัตินี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันเป็นทีม เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันข้อมูลกัน เพื่อให้เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่มีคุณค่าและความหมายเหนือกว่าเดิมที่แต่ละคนมี เพื่อนำไปสร้างความสามารถในการแข่งขันและสร้างให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและเพื่อนมนุษย์

5. การพัฒนากระบวนการเรียนรู้สามารถสร้างได้อย่างหลากหลาย โดยที่เราจะต้องทะลายรูปแบบการเรียนรู้ในปัจจุบันที่จำกัดอยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยม เพื่อออกไปดูโลกภายนอก ศึกษาค้นคว้าวิจัย โดยใช้ศาสตร์ต่างๆ มาเชื่อมโยงกัน เพื่อดูว่าองค์ความรู้และความเข้าใจที่เกิดขึ้นใหม่นั้นจะสามารถนำไปสู่การมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมีความสุข และต่อยอดกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างภูมิปัญญาที่สูงขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติได้อย่างไร

6. และไม่ว่าเราจะตั้งเป้าหมายไว้ว่าอย่างไร เวลานำไปปฏิบัติ ผลลัพธ์ที่ได้ย่อมเบี่ยงเบนไปจากความคาดหวังเสมอ แต่เราต้องเข้าใจว่าความพลาดพลั้งนั้นเองคือกระบวนการเรียนรู้ที่แท้จริง

7. กระบวนการเรียนรู้เชิงองค์รวมจะเป็นจริงได้ต้องอาศัยความร่วมมือในทุกภาคส่วน ทั้งตัวผู้เรียน ครูผู้สอน ผู้ปกครอง ผู้บริหารสถานศึกษา ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและสังคมโดยรวม ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องเข้าใจถึงกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่นี้เพื่อยกระดับศักยภาพทางปัญญา เพื่อนำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง 

8. ยิ่งไปกว่านั้น เราต้องเข้าใจว่าชีวิตเป็นความสืบเนื่องเชื่อมโยง ฉะนั้น กระบวนการเรียนรู้จึงเป็นกระบวนการต่อเนื่องตลอดชีวิต การศึกษาและการเรียนรู้ที่แท้จริงจึงต้องเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต

เพราะชีวิตไม่ใช่เกิดมาเพื่อการเรียนรู้ แต่ชีวิตคือกระบวนการเรียนรู้โดยตัวของมันเอง