posttoday

6 อาการวิตกกังวลที่พบได้บ่อยในวัยทำงาน

08 มกราคม 2563

โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) นับเป็นหนึ่งในอาการทางจิตเวชที่พบได้บ่อยมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งมีความแตกต่างไปจากความวิตกกังวลแบบปกติทั่วไป โดยเป็นความรู้สึกที่สามารถพบได้ในชีวิตประจำวัน

โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) นับเป็นหนึ่งในอาการทางจิตเวชที่พบได้บ่อยมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งมีความแตกต่างไปจากความวิตกกังวลแบบปกติทั่วไป โดยเป็นความรู้สึกที่สามารถพบได้ในชีวิตประจำวัน

จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต พบว่าคนไทยมากกว่าหนึ่งแสนคนป่วยด้วยโรควิตกกังวล ซึ่งโรควิตกกังวลนี้จะเป็นความกังวลที่มากกว่าปกติ ไม่ใช่เพียงแค่การคิดมากเกินไปจนส่งผลต่อการดำเนินชีวิต

สาเหตุของโรควิตกกังวล

โรควิตกกังวลเป็นโรคทางจิตที่พบได้มากที่สุดโรคหนึ่ง สาเหตุเกิดได้ทั้งจาก 2 ปัจจัยหลัก ดังนี้

  • พันธุกรรม หรือพื้นฐานดั้งเดิม ถ้าพ่อแม่เป็นโรควิตกกังวล ลูกก็มีโอกาสเป็นโรควิตกกังวลเช่นกัน หรือมีพื้นฐานที่ไม่กล้าแสดงอารมณ์ออกมาและการมีสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุล
  • สภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู การเลียนแบบพฤติกรรมจากพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด การประสบกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ก่อให้เกิดโรควิตกกังวล

6 อาการวิตกกังวลที่พบได้บ่อยในวัยทำงาน

6 โรควิตกกังวลที่มักพบได้บ่อยในวัยทำงาน

1.โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder) คือเกิดความกังวลที่มากกว่าปกติในเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น งาน ครอบครัว สุขภาพ การเรียน ซึ่งผู้ป่วยยังสามารถระงับความรู้สึกได้ด้วยตัวเอง แต่หากผู้ป่วยยังรู้สึกวิตกแบบเดิมนานเกินกว่า 6 เดือน ไม่สามารถปรับตัวให้รับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ได้ อาจทำให้เกิดความอ่อนเพลีย กระวนกระวาย ไม่มีสมาธิ หงุดหงิด และนอนไม่หลับ หรือนอนหลับไม่สนิท หากมีอาการลักษณะนี้ ควรเข้าไปพบแพทย์เพื่อหาแนวทางรักษาต่อไป

2.โรคแพนิค (Panic Disorder) หรือโรคตื่นตระหนก คือเกิดความวิตกกังวลโดยไม่มีสาเหตุ ตื่นตระหนก กลัวว่าจะควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือตาย มีอาการเจ็บป่วยนิดหน่อยก็กลับมีความกังวล เช่น กลัวว่าจะเป็นโรคร้าย ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วไม่ได้ป่วยทางกายแต่ป่วยทางจิตต่างหาก อาการโรควิตกกังวลเกินเหตุ อาจเกิดเป็นพักๆ ทำให้เหงื่อออก ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว ร้อนวูบวาบ แน่นหน้าอก วูบเหมือนจะเป็นลม อาการแบบนี้อาจทำให้เสียสุขภาพจิตและอาจนำไปสู่ภาวะอื่นๆ ได้ เช่น ภาวะซึมเศร้า ติดสารเสพติด เป็นต้น

3.โรคกลัวสังคม (Social Phobia) คือความวิตกกังวลที่จะต้องไปอยู่ในสถานการณ์ที่คิดว่าต้องถูกจ้องมอง ทำอะไรที่น่าอาย ต้องคอยหลบ รู้สึกประหม่า และมักคิดในแง่ลบว่าคนอื่นจะนินทาลับหลัง ทำให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน อาจทำให้เกิดอาการหน้าแดง เหงื่อออก คลื่นไส้ หัวใจเต้นเร็ว ปวดหัว ที่น่าสนใจ คือโรคนี้มักแอบแฝงอยู่ในตัวบุคคลที่ดูเป็นปกติสุขดี มองดูภายนอกร่างกายก็สมบูรณ์แข็งแรงดี และไม่มีทีท่าว่าจะป่วยแต่อย่างใด สาเหตุของอาการนี้อาจเกิดจากการเลี้ยงดู ขาดทักษะการเข้าสังคม หรือเกี่ยวข้องกับระบบการทำงานของสมอง พันธุกรรม

4.โรคกลัวแบบเฉพาะ (Phobia) คือความวิตกกังวลที่มากเกินไปในเรื่องบางเรื่อง บางสิ่งบางอย่างแบบเจาะจง เช่น กลัวเลือด กลัวที่แคบ กลัวรู กลัวสุนัข เป็นต้น แม้ว่าจะรู้สึกกลัวไม่สมเหตุสมผล แต่ก็ไม่สามารถห้ามความกลัวได้ พยายามจะหลีกเลี่ยงไม่เผชิญกับสิ่งที่ตัวเองกลัว ผู้ป่วยมักเกิดปฏิกิริยาทางกายขึ้นมาหากอยู่ในสถานการณ์จำเพาะเจาะจง เช่น ใจสั่น หน้ามืด มือ-เท้าเย็น อาจทำให้ใจสั่น หายใจลำบาก เหงื่อออก

5.โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder) ความวิตกกังวลที่เกิดจากการคิดซ้ำไปซ้ำมา ทำให้เกิดพฤติกรรมที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์แบบซ้ำๆ ก่อให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวลใจ แม้ว่าอาการแบบนี้จะไม่รุนแรง หรือส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมากนัก แต่ทำให้เสียเวลาชีวิตไปกับพฤติกรรมเหล่านั้นไม่น้อย ซึ่งอาการย้ำคิดย้ำทำแบบนี้กลับพบบ่อยในคนวัยทำงาน เช่น คิดว่าลืมล็อคประตูบ้านต้องเดินกลับไปดูว่าล็อคหรือยัง คิดว่าลืมปิดก็อกน้ำต้องกลับไปเช็คอีกครั้ง เป็นต้น

6.โรคเครียดหลังเหตุสะเทือนใจ (Post-Traumatic Stress Disorder, PTSD) คืออาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังจากประสบกับเหตุการณ์อันเลวร้ายมาก เช่น เผชิญกับภาวะเฉียดตาย ภาวะภัยพิบัติตามธรรมชาติที่ร้ายแรง ถูกทำร้ายหรือเห็นคนใกล้ตัวตาย เป็นต้น อาการเกิดขึ้นได้หลายอย่าง ตั้งแต่เงียบเฉย ขาดการตอบสนอง ตกใจง่าย หวาดกลัว กังวลในเรื่องเล็กน้อย คิดถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำๆและเกิดความกลัวและวิตกกังวลขึ้นมาใหม่เหมือนเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นอีกครั้ง รวมถึงหวาดกลัวสิ่งเร้าที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์

6 อาการวิตกกังวลที่พบได้บ่อยในวัยทำงาน

รักษาอย่างไรหากไม่อยากวิตกกังวล

ความวิตกกังวลส่งผลให้เจ้าตัวรู้สึกไม่สบายใจ หงุดหงิดใจ ตลอดจนเกิดความเครียดหลายๆ ครั้ง หากสังเกตตัวเองว่าเข้าข่าย 6 โรคนี้ สามารถพบจิตแพทย์เพื่อทำการพูดคุย สอบถามอาการ และประวัติความเจ็บป่วย พร้อมทั้งตรวจร่างกาย เพื่อแยกโรคว่าแท้จริงแล้วอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น เกิดจากร่างกายหรือจิตใจ หากมาจากจิตใจ แพทย์จะทำการพูดคุย พร้อมใช้เครื่องมือในการประเมินโรคทางจิต ก่อนวางแผนการรักษา ซึ่งการรักษาโรควิตกกังวลจะขึ้นอยู่กับประเภทของโรค

ปัจจุบันการพบจิตแพทย์สามารถทำได้ง่ายขึ้น ไม่จำเป็นต้องเขินอาย หรือกลัวการเข้าพบจิตแพทย์ เนื่องจากการเข้าพบไม่ต่างอะไรกับการหาที่ปรึกษา หาเพื่อนช่วยคิด เพียงแต่เพื่อนในที่นี้คือแพทย์ที่มีหลักการรักษา โดยจะพูดคุยให้คำปรึกษาด้วยการรับฟัง แสดงความเห็นใจและให้คำอธิบาย หรือมีกิจกรรมให้ทดลองทำ เป็นการทำจิตบำบัด การบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavior Therapy หรือ CBT) หันมาดูแล ให้ความสำคัญกับตัวเอง เช่น การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงการทำสมาธิ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงบางรายแพทย์อาจทำการรักษาด้วยยา เพื่อลดอาการวิตกกังวล เป็นต้น

 

ภาพ Freepik