posttoday

โรค MS (Multiple Sclerosis) ภัยเงียบใหม่ของวัยทำงาน

28 ตุลาคม 2562

สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ เตือนคนวัยทำงานระวังภัยโรคเอ็มเอส (มัลติเพิล สเคอโรสิส) ทำให้แขนขาอ่อนแรง ชาตามร่างกาย มีปัญหาในการเดิน การทรงตัว ตาพร่ามัวมองไม่เห็น พร้อมแนะวิธีการสังเกตเพื่อรักษาให้ทันท่วงที

สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ เตือนคนวัยทำงานระวังภัยโรคเอ็มเอส (มัลติเพิล สเคอโรสิส) ทำให้แขนขาอ่อนแรง ชาตามร่างกาย มีปัญหาในการเดิน การทรงตัว ตาพร่ามัวมองไม่เห็น พร้อมแนะวิธีการสังเกตเพื่อรักษาให้ทันท่วงที

โรค MS (Multiple Sclerosis) ภัยเงียบใหม่ของวัยทำงาน

รู้จักกับโรคเอ็มเอส

โรคมัลติเพิลสเคอโรสิส (Multiple Sclerosis) หรือโรคเอ็มเอส (MS) เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของปลอกประสาทในระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งได้แก่ สมอง ไขสันหลัง และเส้นประสาทตา ซึ่งร้อยละ 70 ของผู้ป่วยโรคเอ็มเอสจะเกิดอาการขึ้นในช่วงอายุระหว่าง 20–40 ปี ซึ่งเป็นประชากรที่อยู่ในวัยทำงาน จากการสำรวจพบว่า 3 ใน 4 ของผู้ป่วยเอ็มเอสได้รับผลกระทบต่อการทำงาน ทั้งนี้ พบว่าหากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษา มากกว่าร้อยละ 30 ของผู้ป่วยเอ็มเอสจะเกิดภาวะทุพพลภาพภายใน 20–25 ปี หลังเริ่มมีอาการครั้งแรก และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2 เท่า รวมไปถึงมีโอกาสถ่ายทอดทางพันธุกรรมหากพบมีพ่อแม่หรือพี่น้องเป็นประมาณ 1%

สาเหตุของโรค

นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า สาเหตุของการเกิดโรคนี้ยังไม่แน่ชัด จากข้อมูลพบว่าเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน เช่น ความไม่สมดุลของภูมิคุ้มกัน การติดเชื้อไวรัสบางชนิด โรคนี้พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายและในช่วงวัยทำงาน อายุเฉลี่ยประมาณ 20-40 ปี โดยผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง ตามองไม่เห็นหรือมองภาพซ้อน ปัญหาเกี่ยวกับการกลืน การออกเสียง สะอึก ปวดแสบร้อน หรือคล้ายไฟช็อตการทรงตัวที่ผิดปกติ ภาวะเมื่อยล้า ปัญหาด้านความจำ อารมณ์ ความคิด และการควบคุมการขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ เป็นต้น

อาการของโรคเอ็มเอส

ในโรคเอ็มเอส ระบบภูมิคุ้มกันของท่านเองจะทำลายปลอกประสาท (Myelin) ซึ่งทำหน้าที่หุ้มเส้นประสาทส่วนกลาง ได้แก่ สมอง ไขสันหลัง รวมถึงเส้นประสาทที่เกี่ยวกับการมองเห็น ความเสียหายที่เกิดจากการทำลายปลอกหุ้มประสาทจะทำให้การส่งสัญญานระหว่างเซลล์ประสาทช้าลงหรือขัดขวางการส่งสัญญานระหว่างเซลล์ประสาท เป็นสาเหตุให้เกิดอาการต่างๆ ในโรคเอ็มเอส มักจะพบอาการผิดปกติของระบบประสาทเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ซึ่งเป็นผลมาจากการอักเสบของระบบประสาทส่วนกลาง อาการผิดปกติเหล่านี้เรียกว่า การกำเริบหรือการกลับเป็นซ้ำของโรค ซึ่งอาการที่เกิดจากการกำเริบของโรคมีได้หลากหลายแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย แต่ที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • ปัญหาเกี่ยวกับการเดิน มีอาการเกร็งปวด ขากระตุก
  • ปัสสาวะไม่ออก
  • อาการชา แน่นๆ รอบอก อ่อนแรงหรือรู้สึกเหมือนมีเข็มแทง
  • อาการปวด ปวดร้าวที่คอและกลางหลัง
  • ปัญหาเรื่องการมองเห็น ตามัวกึ่งเฉียบพลัน เห็นภาพซ้อน สีผิดเพี้ยน
  • ปัญหาเรื่องการทรงตัว ทรงตัวลำบาก

โรคนี้ติดต่อหรือไม่

แพทย์หญิงทัศนีย์ ตันติฤทธิ์ศักดิ์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า โรคเอ็มเอส ไม่ใช่โรคติดต่อ ผู้ป่วยแต่ละคนจะแสดงอาการแตกต่างกัน บางคนเป็นหนัก บางคนแสดงอาการเป็นครั้งคราว และไม่สามารถคาดเดา การเกิดอาการได้จึงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก

โรค MS (Multiple Sclerosis) ภัยเงียบใหม่ของวัยทำงาน

วิธีการรักษา

วิธีการรักษาปัจจุบันยังไม่มีการรักษาแบบให้หายขาด แต่เป็นการรักษาเพื่อฟื้นฟูร่างกายและควบคุมอาการไม่ให้แย่ลง โดยแบ่งออกเป็น 2 วิธีคือ

1. รักษาด้วยยา ตามอาการของผู้ป่วย จะเป็นยาที่บรรเทาอาการอักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวด เป็นต้น

2. การบำบัด โดยยึดเส้นและออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรงลดการสั่น และเพิ่มประสิทธิภาพในการทรงตัว โดยออกกำลังกายที่ไม่หนักมาก รวมทั้งยังเป็นการช่วยยืดเส้นอีกด้วย

การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคเอ็มเอส

ผู้ป่วยเป็นโรคเอ็มเอสควรปฏิบัติตัวดังนี้

  • งดสูบบุหรี่
  • ลดการดื่มแอลกอฮอล์
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น เดิน ว่ายน้ำ ยืดกล้ามเนื้อ เป็นต้น
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ รับประทานผักผลไม้ที่มีเส้นใยช่วยในการขับถ่าย
  • หลีกเลี่ยงความเครียด

อย่างไรก็ตาม โรคเอ็มเอสเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ควรหมั่นสังเกตร่างกายของตนเอง หากมีความผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบมาพบแพทย์ทันที เพื่อจะได้รีบรักษาได้อย่างทันท่วงที

 

ภาพ freepik.com