posttoday

How to การปรับตัวให้เข้ากับที่ทำงานใหม่ได้ไวขึ้น

01 ตุลาคม 2562

งานใหม่ สถานที่ใหม่ เพื่อนร่วมงานใหม่ เราต้องปรับตัวเรื่องอะไรให้เข้ากับสิ่งใหม่ๆ เหล่านี้บ้าง

งานใหม่ สถานที่ใหม่ เพื่อนร่วมงานใหม่ เราต้องปรับตัวเรื่องอะไรให้เข้ากับสิ่งใหม่ๆ เหล่านี้บ้าง

มนุษย์เรามีอะไรใหม่ๆ ก็ต้องเรียนรู้และปรับตัว ส่วนใครที่กำลังกังวลกับการเปลี่ยนที่ทำงานใหม่ แล้วคิดไปว่าเจ้านายจะดีหรือเปล่า เพื่อนร่วมงานจะคุยกับเราไหม พักเที่ยงจะกินข้าวกับใคร วัฒนธรรมองค์กรจะเป็นแบบไหน วันนี้ลองมาเรียนรู้แล้วปรับไปทีละสเต็ปกันดีกว่า

How to การปรับตัวให้เข้ากับที่ทำงานใหม่ได้ไวขึ้น

มิตรภาพ ย้ายที่ทำงานใหม่ เราเป็นสมาชิกใหม่ อย่างแรกเลยเราต้องเป็นมิตร ไม่ว่าใครจะเป็นมิตรกับเราหรือไม่ แต่เราเป็นมิตรไว้ก่อนไม่เสียหาย เริ่มจากการแสดงรอยยิ้มทักทาย ลดความตึงเครียด แล้ววางตัวเป็นมิตรกับทุกคนด้วยการทักทายพูดคุยเรื่องทั่วไป หรือแนะนำตัวว่าเป็นใครมาจากไหน พร้อมฝากเนื้อฝากตัวเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีไว้ก่อนเลย

มารยาท ต้องสุภาพอ่อนโยน เป็นการดีที่เราจะใช้ความสุภาพเพื่อแสดงออกถึงความจริงใจกับออฟฟิศใหม่ หากเราสุภาพกับเพื่อนร่วมงานตั้งแต่ตอนต้น เราก็จะได้รับการตอบรับอย่างสุภาพกลับคืนมาเช่นกัน การทำงานก็ทำอย่างสุภาพนุ่มนวล เพื่อให้ทุกคนเห็นว่าเราให้เกียรติและจริงใจกับงาน ไม่ใช่เจออะไรที่ผิดไปจากที่คิดไว้ก็ชักสีหน้า บ่นพึมพำ หรือแสดงอาการไม่พอใจจนเกินไป แบบนี้ไม่มีใครอยากจะเข้าใกล้น้องใหม่อย่างเราแน่ๆ

เรียนรู้ให้มาก บางคนอาจจะมีประสบการณ์การทำงานมาแล้วหลายปี แต่การไปทำงานที่ใหม่ก็เหมือนกับการเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง เพราะวัฒนธรรมองค์กรของแต่ละที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ไม่ว่าเราจะแก่กล้าประสบการณ์มาจากไหน หากเปลี่ยนที่ทำงานใหม่เราก็ต้องขยันเรียนรู้ อะไรที่ไม่เข้าใจหรือไม่มั่นใจก็ถามจากเพื่อนร่วมงานที่อยู่มาก่อน แต่การถามทุกครั้งควรถามอย่างสมเหตุสมผล ไม่ใช่ว่าถามไปซะทุกเรื่อง แบบนี้น่าจะไม่ใช่เรื่องที่ดี

How to การปรับตัวให้เข้ากับที่ทำงานใหม่ได้ไวขึ้น

กลมกลืน เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม สุภาษินี้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ใช้ได้ผลดีเสมอ การเข้าไปทำงานที่ใหม่ก็เช่นกัน เข้าไปช่วงแรกๆ หมั่นสังเกตว่าเพื่อนร่วมงานของเราเขาทำงานอย่างไร สื่อสารอย่างไร เช่น ที่ทำงานบางที่สื่อสารกันผ่าน line แบบนี้เราก็ต้องหมั่นเช็กข้อความ หมั่นตอบ ไม่ใช่รู้ตัวอีกทีเขาคุยสรุปงาน สั่งงานกันผ่าน line จนจบแล้วแต่เรากลับเพิ่งเข้าไปเห็น แบบนี้อาจจะเสียงานได้ ดังนั้นสังเกตให้มากเพื่อการปรับตัวให้ไว แบบนี้มีชัยแน่นอน

รับผิดชอบหน้าที่ แน่นอนว่าการเข้าไปทำงานช่วงแรก ๆ เราจะยังรู้สึกเก้ๆ กังๆ เพราะไม่แน่ใจเรื่องขอบข่ายความรับผิดชอบในหน้าที่ของเรา และอาการนี้แหละที่จะทำให้งานเราหลุด กลายเป็นคนไม่รับผิดชอบไปซะอย่างนั้น ดังนั้น เราควรถามจากหัวหน้างานให้ชัดเจนตั้งแต่วันแรก ว่างานที่เราต้องรับผิดชอบ หรือต้องตัดสินใจนั้นมีอะไรบ้าง เพื่อที่เราจะได้ไม่ปล่อยหลุดให้ใครมาว่าเราได้ทีหลังว่าขาดความรับผิดชอบ

ติดตามงานของตัวเอง เป็นน้องใหม่ไม่ใช่แค่ต้องตั้งใจทำงาน แต่เราต้องใส่ใจงานด้วยการติดตามและเช็กผลอยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ที่เรายังไม่ค่อยรู้จักใคร ยิ่งต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษ เช่น งานที่ต้องทำกันเป็นทีม เราทำเสร็จแล้วก็ต้องส่งต่อให้คนในทีมคนอื่นสานต่อ เราควรติดตามผลงานว่า งานที่เราทำไปเป็นอย่างไร มีผิดพลาดตรงไหน ต้องไขตรงไหนบ้างหรือเปล่า ไม่ใช่เสร็จงานแล้ว ก็เลยตามเลยไปไม่สนใจงานนั้นอีกเลย เพราะงานที่ทำไม่ได้จบที่เราแค่คนเดียว ดังนั้น การติดตามและเช็คผลงาน จึงเป็นหน้าที่ของน้องใหม่อย่างเราที่ต้องใส่ใจอย่างมาก

สื่อสารให้เป็น การสื่อสารถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากในองค์กร ดังนั้น การไปเริ่มงานที่ใหม่เราควรให้ความสำคัญกับการสื่อสาร ต้องพยายามจับประเด็นสิ่งที่ฟังให้ได้ ถ้าหากจำไม่ได้ต้องจดบันทึกเอาไว้ และเมื่อคุณต้องเป็นคนสื่อสารออกไป คุณต้องสื่อสารออกไปให้ตรงจุด ไม่พูดจาวกวนไปมา เรื่องไหนที่ไม่เข้าใจต้องพูด ต้องถาม เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ช่วยป้องกันความผิดพลาด

 

ภาพ : Freepik