posttoday

ความลับของตรอกเต๊าที่ซ่อนในซอกหลืบของเยาวราช

17 กันยายน 2562

ประวัติศาสตร์ยุคต้นกรุงที่ยังมีชีวิตชีวา ในวัดโบราณที่ถูกครอบด้วยตึกเก่าคลาสสิก

ประวัติศาสตร์ยุคต้นกรุงที่ยังมีชีวิตชีวา ในวัดโบราณที่ถูกครอบด้วยตึกเก่าคลาสสิก โดย กรกิจ ดิษฐาน 

ในตรอกเต๊า เยาวราชซอย 8 มีประวัติศาสตร์อันยาวนานของการค้าประเวณี แต่ปัจจุบันไม่มีโรงหญิงรับชำเราบุรุษอีกต่อไป ที่ปากตรอกเข้ามาไม่ไกล มีร้านอาหารรุ่นลายครามอยู่ร้านหนึ่งชื่อไท้เฮง ขายสุกี้สูตรเก่ากับข้าวมันไก่

ไท้เฮงขึ้นชื่อเรื่องไก่กับสุกี้ แต่ตรงกันข้ามไท้เฮงกลับเป็นที่อยู่ของผู้ที่ถือศีลกินเจ คือวัดจีนนิกายที่ซ่อนตัวอยู่ในตึกทรงวินเทจ หากเกินเข้ามาโดยไม่ทันสังเกตจะไม่รู้ว่านี่คือวัด

วัดแห่งนี้เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ สร้างมาตั้งแต่บางกอกเพิ่งจะเมืองหลวงของไทยมาหมาดๆ ทุกวันนี้ตัววัดในอาคารทรงจีน ถูกตึกทรงคลาสสิกรุ่นก่อนสงครามโลกสร้างคลุมไว้ ด้านนอกจึงคล้ายบ้านตึกของคหบดีเยาวราชยุคเก่า แต่ด้านในคือวัดดีๆ นี่เอง

ความลับของตรอกเต๊าที่ซ่อนในซอกหลืบของเยาวราช วิหารหลักของวัด

วัดนี้มีชื่อว่าวัดบำเพ็ญจีนพรต ตามประวัติกล่าวว่า เดิมเป็นวิหารพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ร้าง ชื่อ "ย่งฮกอำ" (หย่งฝูอัน) มีป้ายชื่อลงปีรัชกาลเฉียนหลง แห่งสมัยราชวงศ์ชิง ตรงกับ พ.ศ. 2338 หรือในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1

ต่อมามีพระภิกษุชาวจีน ชื่อพระอาจารย์สกเห็ง เดินทางจาริกมาจากประเทศจีนถึงประเทศสยาม ราวก่อนปี พ.ศ. 2414 และพำนักอยู่ ณ สถานที่นี้ ท่านได้ปฏิสังขรณ์วิหารพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น "ย่งฮกยี่" (หย่งฝูซื่อ) มีป้ายจารึกไว้ว่าทำขึ้นในรัชกาลกวงซวี่ แห่งราชวงศ์ชิง ปีที่ 13 ตรงกับ พ.ศ. 2430 ตรงกับสมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

ความลับของตรอกเต๊าที่ซ่อนในซอกหลืบของเยาวราช หลังคาวิหารเก่าที่ถูกอาคารยุควินเทจสร้างคลุมไว้

เมื่อพระอาจารย์สกเห็งสร้างวัดแล้ว ก็แล้วกราบบังคมทูลขอพระราชทานนามวัดจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชทานนามวัดว่า "วัดบำเพ็ญจีนพรต" โดยปัจจุบันยังมีป้ายพระราชทานนามวัดประดิษฐานอยู่ด้านหน้าอุโบสถ และโปรดพระราชทานสมณศักดิ์ พระอาจารย์สกเห็งเป็นพระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายรูปแรก

เมื่อเข้าไปในตึกที่สร้างคลุมวัด จะเห็นผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมตรงกลางเปิดโล่ง ในพื้นที๋โล่งนั้นคือวิหารพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ หรือ "ย่งฮกอำ" (หย่งฝูอัน)

ความลับของตรอกเต๊าที่ซ่อนในซอกหลืบของเยาวราช ป้ายเก่าของวัดเขียนว่า ย่งฮกอำ ทำขึ้นสมัยเฉียนหลงแห่งต้าชิง

มาถึงตอนนี้ต้องอธิบายก่อนว่า คำว่า อำหรืออัน (An) แปลว่าสำนักสงฆ์หรือศาลประดิษฐานพระปฏิมาในพุทธศาสนา ส่วนคำว่า ยี่หรือซื่อ (Si) แปลว่าพระอารามที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา

นี่คือจุดเด่นของวัดบำเพ็ญจีนพรตที่หาชมได้ยาก เพราะตัววัดเป็นตึกเก่าแบบตะวันตก สร้างล้อมวิหารจีนแบบศิลปะจีนภาคใต้ตามสกุลช่างจีนแต้จิ๋ว มีความงดงามแบบสถาปัตยกรรมจีนแต้จิ๋วในไทยยุคแรก จึงงามแบบคลาสสิก สีสันไม่ฉูดฉาดแต่กลมกลืน ลงรักปิดทองแต่ครั้งโบราณ สีทองจึงดูขลังแต่ยังมลังเมลืองสวยจับตามาก

ความลับของตรอกเต๊าที่ซ่อนในซอกหลืบของเยาวราช ป้ายอันงดงามที่ทำขึ้นในรัชสมัยกวงซวี่แห่งราชวงศ์ชิง เขียนว่า หลงเทียนยงฮู่ แปลว่า นาคะและเทพและค้ำชู

กล่าวกันว่า เป็นวัดบำเพ็ญจีนพรตมีพุทธวิหารพระรัตนตรัยเล็กที่สุดคือ กว้าง 7.80 เมตร ยาว 10.20 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2338 คำว่า "วิหารพระรัตนตรัย" หมายถึงวิหารหลักของวัด ในภาษาจีนเรียกว่า ต้าสยงเป่าเตี้ยน ตามปกติแล้ววัดจีนไม่ได้มีอุโบสถทุกแห่ง แต่จะต้องมีวิหารพระรัตนตรัยทุกแห่งเป็นอาคารหลัก และจะต้องมีขนาดใหญ่โตมาก แต่ที่วัดนี้มีขนาดเล็ก เพราะเป็นอาคารดั้มเดิมมาตังแต่เป็นวิหารเดี่ยวๆ ยุครัชกาลที่ 1

แม้จะมีขนาดย่อม แต่มีสิ่งที่น่าชมมาก คือ พระประธานทั้ง 3 คือ พระศากยมุนีพุทธเจ้าตรงกลาง ทางขวาของพระศากยมุนีคือพระอมิตาภะพุทธเจ้า และทางซ้ายของพระศากยมุนีคือ พระไภษัชยะคุรุพุทธเจ้า เป็นพุทธเจ้าทั้ง 3 ตามคติมหายาน เป็นพุทธปฏิมาแบบจีนรุ่นเก่าสมัยราชวงศ์ชิงที่หาชมได้ยาก

ความลับของตรอกเต๊าที่ซ่อนในซอกหลืบของเยาวราช 18 อรหันต์ทำจากผ้าป่าน

ที่ด้านข้างของพระประธานคือพระอรหันต์ 18 องค์ ทำจากผ้าป่านทาบรักลงรักปิดทอง อาขารย์เศรษพงษ์ จงสงวน กล่าวว่า พระอาจารย์สกเห็ง สั่งสร้างจากประเทศจีนในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นศิลปะที่เรียกว่า ทัวไท (ถอดแบบ) หรือทัวซา (ถอดแบบหุ่นทราย) แต่มีชื่อทางการว่า เจี๋ยจูฝอเซี่ยง แปลว่า วิธีสร้างพระปิดทับผ้าป่าน

นอกจากวิหารหลักแล้ว ด้านข้างยังมีบันไดดีไซน์วินเทจ พาขึ้นไปบนชั้นอื่นๆ ของตึกแบบฝรั่ง บนชั้นต่างๆ นอกจากจะเป็นกุฏิพระแล้ว ยังมีโถงประดิษฐานพระโพธิสัตว์ ห้องสมุดที่เต็มไปด้วยหนังสือเก่าๆ และห้องเก็บป้ายวิญญาณของพุทธศาสนานิกชนที่ล่วงลับ ชั้นบนสุดในห้องโถงบูชาพระ เป็นที่เก็บป้ายชื่อเก่าของวัด คือป้ายย่งฮกอำ นับเป็นของล้ำค่าอย่างหนึ่งทางประวัติศาสตร์

ความลับของตรอกเต๊าที่ซ่อนในซอกหลืบของเยาวราช ห้องโถงของชั้นบนอาคารเก่า มีป้ายเดิมของวัดเขียนว่า ย่งฮกยี่ เขียนขึ้นในรัชสมัยกวงซวี่ แห่งราชวงศ์ชิง

ความเงียบ อาคารเก่า และเงาที่อึมครึม เกิดบรรยากาศเหมือนกับบางฉากในเรื่องลี้ลับของเหม เวชกร ราวกับย้อนไปสู่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ตรงกันข้ามกับความจอแจของเยาวราชที่ห่างไปไม่กี่เมตร

วัดบำเพ็ญจีนพรตไม่ใช่แค่สถานที่พักผ่อนทางจิตวิญญาณเท่านั้น แต่สำหรับคนที่อยากรู้จักกรุงเทพให้มากขึ้น ที่นี่คือประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิตชีวามาตั้งแต่ยุคต้นกรุง