posttoday

พระพุทธศาสนา รุ่งเรือง ที่เมืองเชียงตุง

07 พฤษภาคม 2559

เมืองเชียงตุง ประเทศเมียนมา เมืองที่เคยเป็นนครหลวงรุ่งเรืองในอดีต แต่สถานการณ์ทางด้านการเมืองการปกครองที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

โดย...ทีมงานโลก 360 องศา [email protected]

เมืองเชียงตุง ประเทศเมียนมา เมืองที่เคยเป็นนครหลวงรุ่งเรืองในอดีต แต่สถานการณ์ทางด้านการเมืองการปกครองที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ก็ได้ทำให้ความรุ่งเรืองนั้นเสื่อมคลายลง แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงไม่เสื่อมคลายลงไปแม้แต่น้อย นั่นก็คือความศรัทธาของผู้คนที่มีต่อศาสนาพุทธ ซึ่งเมืองนี้ก็ได้รับสมญานามว่า “เมืองร้อยวัด”

ศาสนาพุทธเข้ามาเชียงตุงครั้งแรกในสมัยใด ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด แต่นักประวัติศาสตร์ได้คาดการณ์กันว่า ผู้คนที่นี่นับถือศาสนาพุทธมานานนับพันปีแล้ว แต่ยุคที่ศาสนาพุทธรุ่งเรืองสุดตรงกับยุคที่มีเจ้าฟ้า
ปกครอง  เพราะเจ้าฟ้าทุกพระองค์ล้วนเป็นศาสนูปถัมภกช่วยค้ำจุนให้รุ่งเรือง ซึ่งในอดีตเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุง จะต้องผ่านการบวชเรียนทางธรรม ที่วัดหัวข่วงพระอารามหลวงใจกลางเมืองเชียงตุง

มหาเมี๊ยะมุณี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าวัดพระเจ้าหลวง เป็นอีกหนึ่งวัดสำคัญที่สะท้อนถึงความรุ่งเรืองของศาสนาพุทธในยุคเจ้าฟ้า เพราะถูกสร้างขึ้นในสมัยเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง ซึ่งภายในประดิษฐานพระมหามัยมุนีจำลอง  สร้างขึ้นโดยฝีมือช่างมัณฑะเลย์แบบแยกชิ้นส่วน สะดวกในการขนย้ายมาด้วยเกวียนเพื่อมาประดิษฐานที่เมืองเชียงตุง ผู้คนที่นี่เชื่อกันว่าเป็นองค์จำลองงดงามที่สุดในบรรดาองค์จำลองที่มีอยู่ในประเทศ เพราะประดับประดาด้วยเครื่องทรงอย่างวิจิตรบรรจงและมีพระพักตร์งดงาม เพราะที่นี่ก็มีพิธีล้างพระพักตร์เหมือนพระมหามัยมุนีที่มัณฑะเลย์ แต่ที่นี่จะกระทำเฉพาะวันพระเท่านั้น

พระพุทธศาสนา รุ่งเรือง ที่เมืองเชียงตุง

 

เชียงตุงเป็นเมืองที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ มีหนองตุงอยู่ใจกลางเมือง ล้อมรอบด้วยเนินเขาสูง 3 ทิศ หรือที่ชาวเชียงตุงเรียกกันว่า 3 จอม ซึ่งทุกจอมก็เป็นที่ตั้งของวัดคู่บ้านคู่เมือง ถ้ามาเยือนเชียงตุงแล้วก็ต้องแวะมาให้ครบทั้ง 3 จอม เริ่มต้นที่วัดพระธาตุจอมคำ เป็นวัดเก่าแก่ประมาณ 1,200 ปีภายในเจดีย์บรรจุพระเกศาธาตุขององค์พระศาสดา จึงเป็นที่ศรัทธาของผู้คนในเชียงตุงอย่างมาก ตลอดจนพุทธศาสนิกชนชาวไทยก็แวะเวียนมาสักการะอย่างไม่ขาดสาย อีกฟากฝั่งหนึ่งของวัดพระธาตุจอมคำ เป็นที่ตั้งของวัดจอมสัก เป็นที่ประดิษฐานของพระยัตตอมู หรือที่เรียกกันติดปากว่า “พระชี้นิ้ว”โดยที่มือขวาขององค์พระชี้นิ้วไปที่เมืองเชียงตุงซึ่งก็มีความเชื่อกันว่า เพื่อให้เมืองนี้มีความเจริญรุ่งเรือง ส่วนมือซ้ายจับชายจีวรไว้ เพื่อที่จะสื่อว่ายังไงพระพุทธศาสนาก็จะยังคงอยู่คู่เมืองนี้ต่อไป ถัดไปไม่ไกลกันมากเป็นที่ตั้งของวัดจอมมน เป็นที่ตั้งของสัญลักษณ์สำคัญของเมืองเชียงตุง นั่นก็คือต้นยางยักษ์ อายุประมาณ 900 ปี สูงกว่า 218 ฟุต และต้องใช้คนโอบรอบลำต้นถึง 9 คน ชาวเชียงตุงเชื่อว่าต้นไม้นี้คือไม้คู่บ้านคู่เมือง ที่ช่วยค้ำจุนให้เมืองนี้เจริญรุ่งเรือง

ชาวเชียงตุงมีความศรัทธาในศาสนาพุทธอย่างมาก สะท้อนได้จากจำนวนวัดที่มีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเข้าไปยังหมู่บ้านไหนชุมชนใดก็จะพบเห็นวัดอยู่เสมอ บางชุมชนมีเพียงไม่กี่ครัวเรือนพวกเขาก็จะร่วมมือกันสร้างวัดประจำชุมชนแล้ว ซึ่งวัดที่นี่ก็จะมีความแตกต่างทางสถาปัตยกรรมและความเชื่อเช่น วัดของชาวไทเขินก็จะแตกต่างไปจากวัดในแบบของชาวพม่า เพราะมีความคล้ายคลึงกับสถาปัตยกรรมแบบล้านนา ตลอดจนพิธีการต่างๆ ก็คล้ายกันอีก เพราะว่าในอดีตคณะสงฆ์เชียงตุงมีสายสัมพันธ์แนบชิดกับคณะสงฆ์เชียงใหม่

พระพุทธศาสนา รุ่งเรือง ที่เมืองเชียงตุง

วัดไทใหญ่คือวัดที่มีจำนวนรองลงมาจากวัดไทเขิน ถ้าดูผิวเผินแล้วอาจจะยากในการจำแนกว่า วัดไหนเป็นของไทใหญ่หรือวัดไหนเป็นของไทเขิน วิธีการสังเกตง่ายๆ คือถ้าวัดไหนขึ้นต้นด้วยคำว่า “จอง” ส่วนใหญ่ก็จะเป็นวัดของไทใหญ่ ถ้าวัดไหนขึ้นต้นว่า “วัด” ก็จะเป็นวัดของไทเขิน หรือจะสังเกตองค์พระประธาน ถ้ามีความใกล้เคียงกับพระพุทธรูปของไทย แสดงว่าเป็นวัดของไทเขินแต่ว่าถ้ามีลักษณะคล้ายๆ กับพระพุทธรูปของพม่าก็แสดงว่าเป็นวัดของไทใหญ่

นอกจากนั้นแล้วเชียงตุงยังมีวัดที่มีความสวยงามแปลกตาอยู่มากมาย ดังเช่นที่วัดยางโกงที่มีองค์พระประธาน ห่มจีวรที่ประดับตกแต่งเหมือนเกล็ดของพญานาค ผู้คนที่นี่จึงเรียกว่าพระเกล็ดนาค เพราะมีตำนานเล่าขานว่า เมื่อครั้งโบราณกาล พญานาคที่อาศัยอยู่ในหนองตุงเลื่อมใสศรัทธาวัดแห่งนี้เป็นอย่างมาก ทุกๆ วันเพ็ญก็จะเอาอัญมณีหลากสีสันใต้หนองตุงมาสร้างจีวรพระประธานเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีวัดพระธาตุจอมดอย มีอายุเก่าแก่ประมาณ 700 ปี มีสถาปัตยกรรมสวยงาม จากการผสมผสานระหว่างศิลปะแบบล้านนาและล้านช้าง ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บนยอดดอยสูง เสมือนว่ากำลังลอยอยู่บนฟ้า ซึ่งถัดไปไม่ไกลยังเป็นที่ตั้งของวัดแอ่นหัวลัง ศูนย์กลางความศรัทธาของชนเผ่าแอ่น

พระพุทธศาสนา รุ่งเรือง ที่เมืองเชียงตุง

ความศรัทธาในศาสนาพุทธของชาวเชียงตุง ไม่ได้มีเพียงแค่การสร้างวัดหรือทำนุบำรุงวัดเท่านั้น แต่ผู้คนที่นี่ก็ยังมีค่านิยมในการส่งบุตรหลานมาบวชเรียนที่วัดอีกด้วย โดยมีโรงเรียนปริยัติธรรม วัดธัมโมตะยะ เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาสงฆ์ ที่มีส่วนเสริมสร้างความรุ่งเรืองของศาสนาพุทธในเชียงตุง ซึ่งทุกๆ เช้าที่วัดแห่งนี้ก็จะมีพุทธศาสนิกชนร่วมกันเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารแด่พระภิกษุและสามเณรนับร้อยรูป หลังเสร็จสิ้นการฉันเช้าแล้วสามเณรทุกรูปจะต้องช่วยกันทำความสะอาดวัด หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่ชั้นเรียนต่อไปสามเณรที่จบหลักสูตรจากที่นี่ส่วนมากจะเดินทางไปศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัยสงฆ์ในย่างกุ้ง หรือเดินทางมาศึกษาต่อที่ประเทศไทย เมื่อครบอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ก็เข้าสู่พิธีอุปสมบทเพื่อเป็นพระภิกษุสงฆ์ กลับมาสืบทอดพระพุทธศาสนาในเชียงตุงต่อไป

ในช่วงฤดูร้อนถือเป็นฤกษ์งามยามดีของการบวชสามเณรในเชียงตุง ดังนั้น ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหนก็จะพบกับขบวนแห่ส่างลองหรือที่ชาวไทเขินเรียกกันว่าบวชลูกแก้ว ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือน มี.ค. ไปจนถึง เม.ย. ของทุกปี โดยพิธีกรรมนั้นจะเริ่มต้นจากเจ้าภาพหรือที่เรียกว่า “ศรัทธาหลวง” รวบรวมเด็กๆ ที่จะบวชได้ครบตามจำนวนที่ต้องการ จากนั้นจะหาฤกษ์อันเป็นมงคลเพื่อทำพิธีในวัดประจำหมู่บ้าน

พระพุทธศาสนา รุ่งเรือง ที่เมืองเชียงตุง

ขั้นตอนการบวชลูกแก้วส่วนใหญ่จะกระทำทั้งหมด 3 วัน โดยวันแรกหรือที่เรียกว่า “วันเอาส่างลอง”จะเป็นการปลงผมและสวมใส่เสื้อผ้าสีสันสดใส จากนั้นจะนำแห่ไปยังบ้านญาติผู้ใหญ่เพื่อแสดงความเคารพนับถือและรับศีลรับพร ส่วนวันที่สอง เรียกว่า “วันรับแขก” ก็จะมีขบวนแห่คล้ายๆ กับวันแรก แต่จะเป็นขบวนที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งก็จะมีชาวบ้านแห่แหนมาช่วยกันถือต้นเงิน เครื่องสักการะ และเครื่องจตุปัจจัยถวาย นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีขบวนดนตรีพื้นเมืองและการฟ้อนรำ เพื่อทำให้งานมีสีสันและเพิ่มความสนุกสนาน ส่วนวันที่สามเรียกว่า “วันบวช” ซึ่งก็จะเป็นพิธีการบรรพชาสามเณร เพื่อเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์อย่างสมบูรณ์ โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ปกครองหลายคนคาดหวังว่าบุตรหลานจะครองธรรมจนถึงอายุ 20 ปีบริบูรณ์ เพื่อบวชเป็นพระ แต่ด้วยยุคสมัยและค่านิยมที่เปลี่ยนไป  สามเณรส่วนใหญ่จะบวชในทางธรรมเพียง 2-3 อาทิตย์ จากนั้นจะสึกออกมาเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่การเปิดภาคเรียนในทางโลกต่อไป

จะว่าไปที่ผ่านมาเชียงตุงก็เหมือนเป็นเมืองปิด และเพิ่งเปิดเมืองที่เปิดสู่สายตาชาวไทยได้ประมาณ 10 กว่าปี  ดังนั้นเสน่ห์ของเมืองนี้คือวิถีที่ยังไม่ถูกโลกยุคใหม่เข้าไปรบกวนมากนัก แต่ในวันนี้เมื่อเขตแดนที่กั้นระหว่างสองประเทศ ได้ผ่อนปรนให้ง่ายต่อการมาเยี่ยมเยือน จึงมีผู้คนมากหน้าหลายตาผ่านเข้าออก รวมถึงนำเอาความทันสมัยของโลกยุคใหม่เข้าไปที่นั่นด้วย และนั่นคือความท้าทายที่มีต่อวิถีเชียงตุง แต่ความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาเชียงตุงในวันนี้ ได้เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงมาหลายยุคหลายสมัย และคงอยู่ได้ตราบจนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะมีสิ่งที่เรียกว่า “ศรัทธา”