posttoday

บทเรียนที่พีพี กับค่าเข้าอุทยานที่หายไป

17 ธันวาคม 2558

“ค่าเข้าอุทยานที่หาดมาหยาวันนี้ เราเก็บได้ 9.6 แสนบาทครับ” หัวหน้าหน่วยพิทักษ์อ่าวมาหยา

โดย...ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

“ค่าเข้าอุทยานที่หาดมาหยาวันนี้ เราเก็บได้ 9.6 แสนบาทครับ” หัวหน้าหน่วยพิทักษ์อ่าวมาหยา อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี บอกกับผมอย่างขึงขัง สีหน้าแม้เหนื่อยแต่ภูมิใจในการ
กระทำหน้าที่

ผมยิ้มแทบแก้มปริ ใจนึกย้อนไปเมื่อก่อนลงมือปฏิรูปอุทยาน ในปี 2557 อุทยานพีพีเก็บเงินได้เพียง 24 ล้านบาท คิดเป็นเงินเฉลี่ยวันละ 6.5 หมื่นบาทนิดๆ ทั้งที่อัตราค่าเข้าของชาวต่างชาติวันละ 400 บาท เมื่อนำตัวเลขมาหารกัน หมายถึงอุทยานหมู่เกาะพีพีมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาวันละแค่ 164 คน

มันจะเป็นไปได้ยังไง? นั่นคือความคิดของผมในช่วงนั้น ในฐานะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ผมเรียกร้องให้มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง โดยมีหลายคนในโลกโซเชียลช่วยกันสนับสนุน กลายเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง ท้ายสุด กรมอุทยานฯ จึงทำการแก้ไขปรับปรุง ทำให้ในเดือน พ.ย. 2558 อุทยานพีพีเก็บเงินได้ 34 ล้านบาท มากกว่าเงินรายได้ทั้งปี 2557 รวมกัน (24 ล้านบาท)

มาถึงต้นเดือน ธ.ค. อุทยานพีพีเก็บเงินค่าเข้าได้เฉลี่ยวันละ 1.2 ล้านบาท (อ่าวมาหยาเกาะไผ่ ทะเลแหวก และหาดนพรัตน์ฯ) หมายถึงเก็บเงินอย่างนี้ได้แค่ 20 วัน เท่ากับเงินทั้งปีของเมื่อก่อน และหากเป็นเช่นนี้เรื่อยๆ มีความเป็นไปได้สูงที่รายได้เกาะพีพีจะเกิน 300 ล้านบาท/ปี (อุทยานพีพีเปิดตลอดปี เงินรายได้อาจลดลงบ้างในช่วงโลว์ซีซั่น)

บทเรียนที่พีพี กับค่าเข้าอุทยานที่หายไป

อุทยานแห่งชาติที่เก็บเงินรายได้สูงสุดในอดีตคือ เขาใหญ่ ครองแชมป์มาตลอดหลายสิบปี ในปี 2557 เก็บได้ 86 ล้านบาทเศษ ผมมั่นใจว่าปีนี้พีพีจะกลายเป็นอุทยานที่ทำรายได้สูงสุดในประเทศ จะทิ้งห่าง
เขาใหญ่ไม่ต่ำกว่า 2-3 เท่า และจะมีสัดส่วนมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของเงินรายได้ค่าเข้าอุทยานทั่วประเทศ แต่คำถามสำคัญคือรายได้เหล่านี้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดบ้าง ทั้งต่อทรัพยากรธรรมชาติและต่อผู้คนท้องถิ่น

เงินรายได้จะต้องส่งให้ส่วนกลางแบบวันต่อวัน เพราะฉะนั้นอุทยานยังไม่สามารถใช้เงินรายได้มาเพื่อกิจการใดๆ จำเป็นต้องทำโครงการขึ้นไปขอเงินรายได้มาใช้ โดยมีรอบอนุมัติทุก 6 เดือน และมีวงเงินที่ขอใช้ได้ร้อยละ 20 ของเงินรายได้ หากพีพีเก็บเงินได้ 300 ล้านบาท จะมีเงินมาใช้ในการดูแลทรัพยากรตลอดจนการบริหารจัดการต่างๆ ปีละ 60 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่ได้มาปีละไม่ถึง 5 ล้านบาท (ร้อยละ 20 ของเงิน 24 ล้านบาท)

นอกจากนี้ องค์กรท้องถิ่น เช่น อบต. ยังสามารถขอเงินรายได้ร้อยละ 5 หรือปีละ 15 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการต่างๆ ที่หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ โดยไม่ใช้เงินอีลุ่ยฉุยแฉก

ผมนำพีพีโมเดลมาเป็นตัวอย่าง เพื่อแสดงให้เห็นว่าการท่องเที่ยวกับการดูแลรักษาทรัพยากรสามารถดำเนินไปร่วมกันได้ หากเรามีการบริหารที่โปร่งใสชัดเจน โดยดูจากพีพีโมเดลเป็นแบบอย่าง ถึงตอนนี้เรากำลังวางแผนทำโครงการต่างๆ เช่น แบ่งเขตการใช้ประโยชน์ วางทุ่นจอดเรือจำนวนมากเพื่อลดการทิ้งสมอ การเพิ่มศักยภาพเจ้าหน้าที่ ยานพาหนะ และอุปกรณ์ เพื่อตรวจตราการกระทำผิด ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดอาจติดขัดอยู่บ้าง แต่ถ้าเราปรับปรุงระเบียบบริหารกองทุนอุทยานฯ เร่งเงินให้ฉับไวขึ้น จะเป็น “คานงัด” ที่พลิกผันทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

บทเรียนที่พีพี กับค่าเข้าอุทยานที่หายไป

 

ที่สำคัญ การพลิกผันจะคงอยู่ต่อไป เพราะรายได้ค่าธรรมเนียมอุทยานต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบ หากปีใดในอนาคตเก็บเงินได้น้อยลง ทั้งที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่มาภูเก็ต-กระบี่ เพิ่มขึ้นตลอด จะเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องชี้แจงเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

ทุกครั้งที่เขียนเรื่องนี้ มักจะมีคำถามสำคัญ สมัยก่อนเงินหายไปไหนตั้งไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่? ผมคงต้องบอกให้แน่ชัดว่า นั่นไม่ใช่หน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ในประเทศไทยมีองค์กรต่างๆ ที่ทำการตรวจสอบเรื่องนี้ ก็ต้องรอดูว่าจะมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง

อีกเรื่องคือผลกระทบต่อผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายย่อย เช่น กลุ่มเรือหางยาว ที่ตอนนี้เริ่มมีการร้องเรียนขึ้นมาว่าค่าธรรมเนียมที่แพงขึ้นทำให้เดือดร้อน อันที่จริงอัตราค่าเข้าอุทยานคนต่างชาติ 400 บาท เป็นอัตราที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2550 หรือเมื่อ 8 ปีก่อน อุทยานไม่ได้ขึ้นค่าเข้า อาจเป็นเพราะสมัยก่อนจ่ายบ้างไม่จ่ายบ้าง แต่ตอนนี้อุทยานกวดขันทำให้ต้องจ่ายตามระเบียบ จึงทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจรู้สึกว่าแพงเกินไป

เรื่องนี้คงต้องหาทางออกร่วมกัน แต่ผมยืนยันว่าอุทยานทุกแห่งในโลกล้วนเก็บเงินค่าเข้า ในหลายประเทศจะเก็บจากชาวต่างชาติแพงเป็นพิเศษ ค่าเข้าอุทยาน 400 บาท/คน/วัน (เที่ยวได้ทั้งอุทยาน) ไม่ถือว่ามากหากเทียบกับมาตรฐานโลก หากเรามีบริการที่เหมาะสม และมีการดูแลรักษาทรัพยากรที่ดี เชื่อว่านักท่องเที่ยวคงเข้าใจครับ