posttoday

เตือน 6 กลุ่มเสี่ยงฮีทสโตรก พร้อมแนะนำการดูแลสุขภาพตนเองช่วงหน้าร้อน

21 เมษายน 2562

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนช่วงอากาศร้อนระวังป่วยโรคฮีทสโตรก แนะหลีกเลี่ยงการดื่มเหล้าเพราะอาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้ พร้อมเผยวิธีการดูแลสุขภาพตนเอง

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนช่วงอากาศร้อนระวังป่วยโรคฮีทสโตรก แนะหลีกเลี่ยงการดื่มเหล้าเพราะอาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้ พร้อมเผยวิธีการดูแลสุขภาพตนเอง

ภาพ : The Japan Times

จากกรณีการเสียชีวิตของชายในจังหวัดสุพรรณบุรี ที่บ่นอากาศร้อนและหักดิบหยุดดื่มเหล้า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกรมควบคุมโรค ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ติดตามและตรวจสอบกรณีการเสียชีวิตดังกล่าว พร้อมเตือนประชาชนระวังโรคฮีทสโตรก (โรคลมแดด) โดยเฉพาะใน 6 กลุ่มเสี่ยง เน้นหลีกเลี่ยงการดื่มเหล้า เนื่องจากฤทธิ์แอลกอฮอล์ทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจทำงานหนักขึ้น อาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบโรค มอบหมายให้สำนักระบาดวิทยา สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อติดตามและตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับการเสียชีวิตของชายจังหวัดสุพรรณบุรี ที่บ่นอากาศร้อนและหักดิบหยุดดื่มเหล้า ซึ่งจากกรณีดังกล่าว กรมควบคุมโรคขอให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า การหักดิบหยุดดื่มเหล้ากะทันหัน ไม่ได้ทำให้เสียชีวิตแต่อย่างใด แต่อาจเกิดจากโรคแทรกซ้อนที่เป็นอยู่ ส่วนในรายที่ติดเหล้าขั้นรุนแรง ร่างกายอาจปรับสภาพไม่ทัน หากจะเลิกดื่มควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน เพื่อวางแผนในการเลิกดื่มเหล้า

"ในช่วงนี้สภาพอากาศร้อนอบอ้าว ประชาชนอาจเจ็บป่วยจากอากาศร้อนได้ โดยเฉพาะโรคฮีทสโตรก (Heat stroke) ซึ่งเป็นภาวะวิกฤต ร่างกายไม่สามารถปรับตัว หรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายจากผลของสภาพอากาศที่ร้อนจัด อาการสำคัญได้แก่ ตัวร้อน อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิน 40 องศาเซลเซียส อาการสำคัญคือ หน้ามืด เพ้อ กระสับกระส่าย มึนงง หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ชักเกร็ง ช็อก จนถึงหมดสติ และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้" นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าว

สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป มี 6 กลุ่ม ได้แก่

  1. ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น ออกกำลังกาย
  2. เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบและผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว
  3. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง
  4. คนอ้วน
  5. ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ โดยร่างกายของคนอ้วนและผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอจะตอบสนองต่อความร้อนที่ได้รับช้ากว่าปกติ
  6. ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัวได้มากขึ้น ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม ในสภาพอากาศที่ร้อนจัด แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้รวดเร็ว และออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น มีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจต้องทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย อาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้

เตือน 6 กลุ่มเสี่ยงฮีทสโตรก พร้อมแนะนำการดูแลสุขภาพตนเองช่วงหน้าร้อน ภาพ : กรมควบคุมโรค

คำแนะนำในการดูแลสุขภาพตนเอง

  • สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ระบายความร้อนได้ดี
  • อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
  • ลดหรือเลี่ยงทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงกลางแจ้งนานๆ
  • สวมแว่นกันแดด สวมหมวกปีกกว้าง กางร่ม เมื่อออกแดด
  • ควรดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ เพื่อชดเชยการเสียน้ำในร่างกายจากเหงื่อออก
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
  • ไม่ทิ้งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดไว้กลางแจ้ง เนื่องจากอุณหภูมิภายในรถจะสูงกว่าภายนอก
  • ส่วนผู้ที่ออกกำลังกาย ควรเลือกในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศไม่ร้อนมาก
  • ในผู้ที่มีโรคประจำตัวหากสงสัยผู้มีอาการเจ็บป่วยจากอากาศร้อน ควรให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยให้ดื่มน้ำเย็นและเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น ให้อยู่ในที่ระบายอากาศที่ดี ถ้ามีอาการรุนแรง หมดสติควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

นอกจากนี้ ข้อมูลกรมควบคุมโรคยังระบุด้วยว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตเนื่องจากภาวะอากาศร้อนในช่วงฤดูร้อน (มี.ค.-พ.ค.) พบผู้เสียชีวิตระหว่างปี 2558-2561 จำนวน 56, 60, 24 และ 18 รายตามลำดับ

สำหรับโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) มีสาเหตุจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม 4 ประการ ได้แก่ อุณหภูมิของอากาศที่ร้อนความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศที่สูงขึ้น อยู่ในที่ได้รับรังสีความร้อน และอยู่ในสภาวะที่มีลมหรือการระบายอากาศน้อย นอกจากนี้ ยังเกิดจากปัจจัยทางด้านบุคคลที่ไม่สามารถปรับสภาพร่างกายเพื่อจัดการกับความร้อนในร่างกายได้ อาการสำคัญได้แก่ ตัวร้อน อุณหภูมิร่างกาย 41 องศาเซลเซียล ประวัติสัมพันธ์กับอากาศร้อนขณะทำกิจกรรม หรือออกกำลังกาย มีอาการเพ้อ ความดันเลือดลดลง กระสับกระส่าย มึนงง สับสน ชักเกร็ง อาจหมดสติได้

จึงแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำงานกลางแดดจ้าเป็นเวลานาน หลีกเลี่ยงอากาศร้อน ถ่ายเทไม่สะดวก ดูแลร่างกายไม่ให้ขาดน้ำโดยการดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว สวมเสื้อผ้าที่ระบายเหงื่อได้ดี หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หากพบผู้มีอาการสงสัยป่วยจากภาวะอากาศร้อน ควรให้การปฐมพยายาบาลเบื้องต้น โดยนำผู้ป่วยเข้าในที่ร่ม และอากาศถ่ายเทสะดวก เช็ดด้วยน้ำเย็น หากมีอาการรุนแรง หมดสติ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที หรือโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422