posttoday

วนิดา ดำรงค์ไชย กับปณิธาน รักพ่อต้องลงมือทำ

09 ธันวาคม 2561

ต้องยอมรับว่าโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน”

โดย วรธาร ทัดแก้ว  

ต้องยอมรับว่าโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ที่ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 6 โดยได้รับแรงบันดาลใจจากกระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่ทรงห่วงใยต่อปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนโดยมีแกนนำสำคัญอย่าง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ผนึกกำลังขับเคลื่อนรณรงค์ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจให้ประชาชนตระหนักและเห็นความสำคัญในการฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก ด้วยแนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการแก้ปัญหา “หยุดท่วม-หยุดแล้งในลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน” ทั้งมุ่งหวังให้ลุ่มน้ำป่าสักเป็น “ต้นแบบ” ในการจัดการดิน น้ำ ป่า ให้เกิดการขยายผลไปยังลุ่มน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ

เมื่อเดินทางย้อนกลับไปยัง “หลุมขนมครกแห่งแรกของโครงการฯ” ที่ศูนย์การเรียนรู้ โคก หนอง นา โมเดล ต.ม่วงงาม อ.เสาไห้ จ.สระบุรี กำนันแหนบทองคำ กำนันไก่-วนิดา ดำรงค์ไชย ผู้อุทิศตัวทำงานตามแนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเธอมั่นใจว่านี่คือความสุขและทางรอดของประชาชนคนไทยอย่างแท้จริง จากหลุมขี้แกลบ 5 ไร่ กลายมาเป็น หลุมขนมครกหลุมแรกของโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ที่พลิกฟื้นชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน จนต่อยอดเป็นตลาดน้ำลาวเวียง กำนันไก่-วนิดา ดำรงค์ไชย กำนันแหนบทองคำ ต.ม่วงงาม อ.เสาไห้ จ.สระบุรี กับปณิธาน รักพ่อต้องลงมือทำ

การอุทิศตนทำงานเพื่อประชาชน

วนิดา ดำรงค์ไชย กับปณิธาน รักพ่อต้องลงมือทำ

กำนันไก่ จบปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม พื้นเพเป็นคน อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท แต่งงานย้ายมาอยู่ที่ ต.ม่วงงาม ได้ 15 ปพอปี 2554 กำนันคนเก่าหมดวาระลง ด้วยความรู้สึกอยากพัฒนาถิ่นฐานที่อยู่ จึงก้าวเข้าสู่เส้นทางนี้

“ตอนนั้นเราเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 8 ก็คิดว่าตัวเองพร้อมและพอมีต้นทุนอยู่บ้าง น่าจะพัฒนาบ้านเราได้ เลยอาสามาเป็นผู้นำ มาปีแรกปี 2554 เจอน้ำท่วมใหญ่เลย ตอนนั้นยังไม่รู้จะตั้งหลักยังไงช่วยลูกบ้านได้เท่าที่ทำได้ พอมาทำงานจริงๆ มีปัญหามากมาย ท่านนายอำเภอเสาไห้ตอนนั้นก็ให้กำลังใจและบอกเสมอว่าเราเป็นข้ารองพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องทำงานถวายให้ดีที่สุด”

จากที่ทิ้งขี้แกลบสู่หลุมขนมครกหลุมแรก

กำนันไก่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ตั้งแต่ปีแรก พ.ศ. 2556 ด้วยการขุดหลุมขนมครกตาม โคก หนอง นา โมเดลในพื้นที่ 5 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินว่างเปล่าที่เอาไว้ทิ้งขี้แกลบจากโรงสี พลิกฟื้นพื้นที่ตรงนั้นจนเกิดความอุดมสมบูรณ์ มีน้ำเหลือแบ่งปันให้ชาวบ้านใช้ มีผลผลิตพืชผักนานาชนิดเก็บกินได้ตลอดทั้งปี

“ก่อนหน้านั้นเจอวิกฤตมาทุกรูปแบบ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง พอโครงการฯ มาปีแรก ก็ตัดสินใจเข้าร่วมทันที โดยใช้ที่ดินแปลงนี้ซึ่งแต่เดิมใช้เป็นที่ช่วยเหลือเด็กติดยาเสพติดให้สามารถพึ่งตนเองและกลับไปมีชีวิตอยู่ในสังคม การเลือกแปลงนี้เพราะเวลาชาวบ้านระบายน้ำออกจากแปลงนาของตัวเองก็จะไหลผ่านที่นี่ลงสู่แม่น้ำ จึงยกให้ขุดหนองน้ำเลย เพื่อจะได้มีที่เก็บกักน้ำเอาไว้

ตอนที่โครงการฯ มาทำกิจกรรมปีแรก มีทั้งชาวบ้าน ผู้นำชุมชน คนมีใจ พนักงานจิตอาสาของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต รวมกำลังกันเป็นกองทัพมดหลายร้อยคนมาช่วยกันขุด ล่าสุดได้ขุดหนองเพิ่มพื้นที่เก็บน้ำไว้อีก 2 ไร่ ให้มีน้ำมากยิ่งขึ้น พอเรามีหนองน้ำตรงนี้แล้ว ชาวบ้านเวลาต้องการใช้น้ำก็มาดึงน้ำขึ้นไปใช้ได้เลย ไม่ต้องรอฝนหรือน้ำจากชลประทาน ที่นี่จึงกลายเป็นศูนย์รวมที่ชาวบ้านเข้ามาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่”

ขยายผลสู่ตลาดน้ำแห่งวัฒนธรรม

วนิดา ดำรงค์ไชย กับปณิธาน รักพ่อต้องลงมือทำ

จากนั้น เกิดการต่อยอดขยายผล ชาวบ้านหันมาพูดคุยปรึกษาทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น ได้ผลผลิตมากมายจนต้องหาตลาดรองรับ จึงเปิด “ตลาดน้ำลาวเวียง” ขึ้น

“เราเน้นถ่ายทอดหลักเศรษฐกิจพอเพียงให้ชาวบ้าน สอนชาวบ้านให้หัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อจะได้รู้ค่าใช้จ่ายของตัวเอง แรกๆ ชาวบ้านอิดออดไม่กล้าทำ เพราะยอมรับตัวเองไม่ได้ที่มีแต่รายจ่าย มีแต่หนี้สิน มีรายได้เฉพาะการขายข้าวปีละ 2 ครั้ง ไม่มีรายรับรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือนเลย ก็เริ่มหันมาปลูกผักปลอดสาร ปลูกกล้วยกันมากขึ้น เริ่มหัดทำน้ำยาอเนกประสงค์ใช้เองเพื่อลดรายจ่าย

พอพืชผัก กล้วย มีมากจนเกินกำลังบริโภคในครัวเรือน ก็ร่วมมือกับชุมชนที่ติดแม่น้ำป่าสัก ซึ่งมีวัฒนธรรมลาวเวียง เป็นคนลาวจากเวียงจันทน์ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานบริเวณนั้น และมีโบราณสถาน เจดีย์ธรรมจินดาเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีโรงเรียนอยู่ที่นั่นจึงเกิดเป็นความร่วมมือกันระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน กลายเป็นตลาดน้ำลาวเวียงขึ้นมา นำผลิตภัณฑ์แปรรูป ผักสดปลอดสารไปจำหน่าย จนมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือ เป็นตลาดที่ชุมชนมาขายผักสดจากแปลงของตัวเองในราคาถูกมาก มีการแสดงศิลปวัฒนธรรมลาวเวียงให้ชม เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ที่นี่อาจไม่โด่งดังแบบตลาดน้ำอื่นๆ แต่เราอยากคงเอกลักษณ์ของวิถีชุมชนไว้แบบนี้”

เดินหน้าขยายต่อเพื่อความยั่งยืน

วนิดา ดำรงค์ไชย กับปณิธาน รักพ่อต้องลงมือทำ

จากระยะเวลาที่ผ่านมา 5 ปี ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน

“ดีใจมากที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว การนำแนวทางศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้ทุกอย่างกลายเป็นทางรอดได้ ตอนนี้มีประมาณ 60-70% ของชาวบ้านในตำบลที่หันมาให้ความสำคัญกับการเดินตามแนวทางศาสตร์พระราชาจริงจัง มี 5 ครอบครัวลงมือขุดทำหลุมขนมครก เช่น ป้าเปี๊ยก-บุญเลี้ยง รื่นมาลัย เป็นต้น ตั้งเป้าไว้ว่าจะชวนคนให้ทำหลุมขนมครกเพิ่มให้ครบ 10 ราย ในอีก 3-5 ปีนี้ ที่ผ่านมาศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้เป็นที่ศึกษาดูงานของหน่วยงานต่างๆ สม่ำเสมออยู่แล้ว ก็มุ่งหวังอยากเปิดเป็นศูนย์อบรมเต็มรูปแบบเช่นเดียวกับศูนย์กสิกรรมธรรมชาติที่อื่นให้ได้”

สืบทอดแนวทางให้ลูกสานต่อ

ไม่เพียงแต่ชาวบ้านคนในชุมชนเท่านั้น ที่กำนันไก่ถ่ายทอดศาสตร์พระราชาให้ กับคนใกล้ตัวที่สุด ก็ได้รับแนวคิดนี้ไปเช่นกัน

“ปกติเวลาทำกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ จะพาลูกลงมือทำด้วยทุกครั้งที่มีโอกาส ดังนั้นเวลาที่ครูมีข้อสอบอัตนัยให้บรรยายเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ลูกๆ ก็จะเขียนได้คล่องแคล่ว เวลามีเพื่อนๆ มาถามว่าเศรษฐกิจพอเพียงทำยากมั้ย ลูกๆ ก็จะอธิบายกับเพื่อนวัยเดียวกันให้เข้าใจอย่างง่ายๆ ได้ ล่าสุดพาลูกสาวคนโตไป ‘เอามื้อสามัคคี’ ที่วัดพระพุทธฉาย ขากลับเขาบอกแม่ว่าถ้าหนูสอบเข้าหมอไม่ติด ขอหนูเป็นเกษตรกรที่ทำตามอย่างในหลวงรัชกาลที่ 9 นะคะจะได้ช่วยชาวบ้านได้ ภูมิใจมากที่ลูกได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ทำให้เขามีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ เชื่อมั่นว่าชีวิตเขาต้องดีขึ้นๆ และต้องรอดในอนาคต”

ความสุขที่ยั่งยืน คือ ลงมือทำตามสิ่งที่พ่อสอน

วนิดา ดำรงค์ไชย กับปณิธาน รักพ่อต้องลงมือทำ

“ทุกวันนี้ มีความสุขมากที่ได้ทำตามในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชาของพระองค์ท่านมาปฏิบัติบูชาจริงๆ เราในฐานะที่เป็นผู้นำชุมชน สุขที่สุด คือ เห็นคนที่ลงมือทำตามเราแล้วเขาประสบความสำเร็จ เขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อย่างป้าเปี๊ยกที่ได้ออกทีวี รายการเดินหน้าประเทศไทย ตอนศาสตร์พระราชา เราเห็นแบบนั้นก็ปลื้มใจ ร้องไห้เลยค่ะ หลายๆ คนมาให้กำลังใจ ให้ทำดีต่อไป เราก็จะถามกลับไปว่า อยากมีความสุขแบบเรามั้ย และรักพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ไหม ถ้ารักให้ลงมือทำตามสิ่งที่พระองค์ท่านสอนไว้ ลงมือทำทันทีอย่างไม่มีข้อแม้ แล้วจะได้รับความสุขแบบยั่งยืน”

วันนี้ กำนันไก่ยังคงเดินหน้าปฏิบัติบูชาอย่างมุ่งมั่น ในอันที่จะสานต่อและเผยแพร่องค์ความรู้ตามแนวทางศาสตร์พระราชาเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนในชุมชน และแม้ว่าวันหนึ่งข้างหน้าไม่ได้เป็นกำนันหรือไม่ได้เป็นผู้นำชุมชนแล้ว ก็จะยังคงอุทิศตัวเพื่อสานต่อตามรอยพ่อของแผ่นดินต่อไป