posttoday

มิวเซียมคัลเจอร์ ออกมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์กันเถอะ

25 ตุลาคม 2561

ประเทศไทยมีพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้จำนวนกว่า 1,500 แห่ง แต่ทำไมถึงยังได้ยินว่า “คนไทยไม่เที่ยวพิพิธภัณฑ์

เรื่อง กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย

ประเทศไทยมีพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้จำนวนกว่า 1,500 แห่ง มากจนติดอันดับ 1 ใน 3 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ทำไมถึงยังได้ยินว่า “คนไทยไม่เที่ยวพิพิธภัณฑ์”

สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) หน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) และสำนักนายกรัฐมนตรี มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งและส่งเสริมการเรียนรู้แนวใหม่ ภายใต้แนวคิด “พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้” (Discovery Museum) ที่เน้นการเรียนรู้อย่างรื่นรมย์ ภายใต้ปรัชญาเล่นและเรียนรู้ (Play & Learn) และเน้นวิธีเรียนรู้ด้วยตัวเองจากการตั้งคำถามและหาคำตอบ จึงได้ให้กำเนิดต้นแบบพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งแรก คือ มิวเซียมสยาม ซึ่งกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่สร้างกระแสและปลุกให้คนกรุงเทพฯ หันมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์มากขึ้น

มิวเซียมคัลเจอร์ ออกมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์กันเถอะ

ยิ่งไปกว่านั้น มิวเซียมสยามยังกลายเป็นต้นแบบให้พิพิธภัณฑ์เครือข่ายเข้ามาเรียนรู้ และถูกถอดองค์ความรู้ออกมาเป็นความรู้ด้านพิพิธภัณฑ์วิทยา ผสมผสานกับองค์ความรู้อื่นๆ จากพิพิธภัณฑ์ทั้งในและต่างประเทศ รวบรวมจนเป็นหลักสูตร “ต้นแบบพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้” หรือ DMKM-Discovery Museum Knowledge Model โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้บุคลากรพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศมีความรู้และทักษะที่สำคัญในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้มีความสามารถในการมองเห็นปัญหา และค้นพบแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมกับพิพิธภัณฑ์ของตัวเอง

ทาง สพร.ได้นำหลักสูตรต้นแบบพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ไปทดลองปฏิบัติกับพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ทั่วประเทศไทยมาแล้วเป็นระยะเวลากว่า 7 ปี ผ่าน 9 หลักสูตรย่อย ได้แก่ การวางแผนพิพิธภัณฑ์ การบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ การจัดการวัตถุพิพิธภัณฑ์ การอนุรักษ์วัตถุพิพิธภัณฑ์ การจัดแสดงนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ การจัดทำโปรแกรมการเรียนรู้และกิจกรรมสร้างสรรค์ในพิพิธภัณฑ์ การตลาดในพิพิธภัณฑ์ การบริการผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ และการบริหารจัดการพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกในพิพิธภัณฑ์

ด้าน ศิริพร เฟื่องฟูลอย นักจัดการความรู้อาวุโส ฝ่ายเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ สพร. กล่าวถึงหัวใจสำคัญของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ว่า เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เน้นการเรียนรู้ด้วยตัวเองจากการตั้งคำถามและหาคำตอบเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ทำให้ผู้ชมสามารถเรียนรู้และเข้าใจเนื้อหาของนิทรรศการได้ผ่านการเล่น หยิบ จับ สัมผัส และเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จะสร้างประสบการณ์การเรียนรู้แบบใหม่ๆ ผ่านสื่อการเรียนรู้หลากหลาย เช่น ภาพยนตร์ เกม โมเดลจำลอง จออินเตอร์แอ็กทีฟ และสื่ออีกมากมาย ที่จะเป็นตัวช่วยให้ผู้ชมสามารถเข้าใจสื่อได้มากยิ่งขึ้น ทำให้การเรียนรู้สนุกกับประสบการณ์และการค้นพบใหม่ๆ มากขึ้น

มิวเซียมคัลเจอร์ ออกมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์กันเถอะ

ทว่า หากให้เปรียบเทียบพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์แบบดั้งเดิมว่าแตกต่างกันอย่างไร ศิริพรแสดงทัศนะว่าพิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งต่างมีแนวทางและความสามารถในการนำเสนอของตัวเอง และขึ้นอยู่กับรสนิยมความชื่นชอบของผู้ชม จึงไม่สามารถเปรียบเทียบได้ว่าพิพิธภัณฑ์รูปแบบใดดีกว่ากัน

“อย่างกลุ่มคนที่ชื่นชอบพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงวัตถุโบราณ อาจจะชื่นชอบการหาความรู้จากการชมวัตถุจัดแสดงที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ มีความงามในรูปแบบศิลปะตามยุคต่างๆ ในอดีต แต่ยังมีอีกกลุ่มคนที่ชอบการเรียนรู้จากวิธีการด้วยตัวเอง ซึ่งก็คือแนวพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ เป็นการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้เชิงวิพากษ์ (Critical learning experiences) ให้กับผู้เข้าชม โดยผู้ชมสามารถรับความรู้ของนิทรรศการได้จากหลากหลายวิธีหลากหลายเครื่องมือ เพื่อให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงความเข้าใจนิทรรศการและสามารถพัฒนาขีดความสามารถที่ซ่อนอยู่ในตัวเองได้มากขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดการสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตและเป็นการเชื่อมโยงกับความต้องการของชุมชนในศตวรรษที่ 21 สรุปแล้วไม่สามารถบอกได้ว่าพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ดีกว่า แต่ช่วยเพิ่มเติมวิธีการเรียนรู้ สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเอง จากการทดลองทำอย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน และเข้าถึงเนื้อหาได้มากขึ้น” ศิริพร กล่าว

ตัวอย่างพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ที่ประสบความสำเร็จในแง่ของการดึงดูดผู้ชมและกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ได้จริง ได้แก่ มิวเซียมสยาม กรุงเทพฯ พิพิธภัณฑ์แมลงสยาม จ.เชียงใหม่ พิพิธภัณฑ์ซับจำปา จ.ลพบุรี มิวเซียมภูเก็ต และเพอรานากันนิทัศน์ จ.ภูเก็ต

ล่าสุด สพร.ได้เตรียมเปิดพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ใหม่ 4 แห่ง ภายในปีนี้ โดยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และพัฒนาให้มีความน่าสนใจ มีเนื้อหาเข้าใจง่าย และน่าศึกษาเรียนรู้ตามองค์ความรู้แบบพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ประกอบด้วย ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อการศึกษาร้อยเอ็ด เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จะพาผู้ชมไปท่องอยู่ในแดนอวกาศเพื่อสัมผัสกลุ่มดาวต่างๆ บนท้องฟ้าภายในท้องฟ้าจำลองที่ทันสมัยที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รับชมภาพยนตร์สารคดีดาราศาสตร์ที่ให้ทั้งความรู้ควบคู่ไปกับความบันเทิง และชมนิทรรศการวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมของภาคอีสานที่ผสมผสานกันได้อย่างลงตัว ผ่านการจัดแสดงสื่อผสมของเล่น ของจริง หุ่นจำลอง ที่ทันสมัย และเร้าใจด้วยแสง สี เสียง ซึ่งผู้ชมสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการเรียนรู้

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขุนละหาร จ.นราธิวาส เป็นพิพิธภัณฑ์ด้านชาติพันธุ์วิทยา แสดงถึงความเป็นมาของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่หลายคนไม่เคยรู้ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ วัฒนธรรมที่สืบทอดมายาวนาน และยังเป็นแหล่งจัดเก็บรวบรวมศิลปวัตถุหลากหลายประเภท ทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ท้องถิ่นและของชนชั้นปกครอง เช่น เครื่องมือจับสัตว์น้ำ ศาสตราวุธ อุปกรณ์เกี่ยวกับการแสดงนาฏศิลป์ และเครื่องดนตรีที่หาดูได้ยาก

มิวเซียมคัลเจอร์ ออกมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์กันเถอะ

“พิพิธชัยพัฒนา” นิทรรศการของมูลนิธิชัยพัฒนา จ.นครปฐม แหล่งเรียนรู้ที่จะทำให้เข้าใจถึงโครงการมูลนิธิชัยพัฒนา โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการพัฒนาอื่นๆ ที่ก่อตั้งขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ผ่านการถ่ายทอดด้วยสื่ออินเตอร์แอ็กทีฟ การเล่นเกม ตลอดจนเทคโนโลยีต่างๆ ให้ได้เรียนรู้และเพลิดเพลินไปกับโครงการในพระราชดำริกว่า 4,400 โครงการ

พิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์ จ.พิจิตร จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ประธานาธิบดี โฮจิมินห์ ใน จ.พิจิตร และประวัติศาสตร์ของบ้านดง ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มต้นกู้ชาติคืนจากฝรั่งเศสของโฮจิมินห์ โดยมีการนำเอกสาร สิ่งพิมพ์ วัตถุสิ่งของที่เกี่ยวกับชีวประวัติและชีวิตการทำงานของโฮจิมินห์มาจัดแสดง ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างพิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์ใน จ.อุดรธานี และนครพนม

ด้าน ราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการ สพร. กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ดังกล่าวเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญในการสร้างเครือข่ายพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ทั่วประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพ

“สพร.มีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ระดับภูมิภาคและท้องถิ่นของประเทศ เพื่อให้พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แพร่ขยายและหยั่งรากออกไปในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น ซึ่งจะตอบสนองความต้องการแหล่งเรียนรู้ และความสนใจของผู้เข้าชมได้อย่างแท้จริง สพร.ยังคงเดินหน้าพัฒนาเครือข่ายพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ทั่วประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน เพื่อการสร้างวัฒนธรรมการเที่ยวพิพิธภัณฑ์ หรือมิวเซียมคัลเจอร์ อย่างยั่งยืนในสังคม”

มิวเซียมคัลเจอร์ ออกมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์กันเถอะ

แม้ว่าประเทศไทยจะมีพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้กว่า 1,500 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ อันประกอบไปด้วย พิพิธภัณฑ์ของภาครัฐ ภาคเอกชน และภายใต้การกำกับดูแลของกรมศิลปากร แต่บทบาทของ สพร.ไม่ได้มีการบังคับให้ทุกพิพิธภัณฑ์ต้องปรับหรือเปลี่ยนตัวเองให้เป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ทว่ามีพันธกิจในการสร้าง พัฒนาเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ และผลักดันให้เกิดพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ซึ่งสถาบันยินดีเป็นที่ปรึกษาและร่วมดำเนินงานกับทุกองค์กรที่สนใจ และเห็นถึงศักยภาพของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้

มาถึงวันนี้ พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์รูปแบบใหม่อีกต่อไป เพราะมีหลายหน่วยงาน หลายองค์กรทั้งรัฐและเอกชนนำแนวทางนี้ไปต่อยอดในงานบริหารพิพิธภัณฑ์ของตัวเอง ที่สำคัญกว่าคือเรื่องราวต่อจากนี้ไปกับความหวังว่า พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ ไปไกลจนเป็นกระแสการท่องเที่ยวที่อยู่ในชีวิตคนไทย และสามารถลบคำว่า “คนไทยไม่เที่ยวพิพิธภัณฑ์” ได้ในที่สุด