posttoday

เป้าหมายมีไว้ให้วิ่ง ‘มาราธอน’ ชน อาร์โนด์ เบียเบคกิ

13 พฤษภาคม 2561

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำจะสามารถป้องกันได้ แต่ยังคงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เสียชีวิตได้

โดย วราภรณ์ ผูกพันธ์ ภาพ : วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี  

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำจะสามารถป้องกันได้ แต่ยังคงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เสียชีวิตได้ จากรายงานพบว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั่วโลกเสียชีวิตจากภาวะหลอดเลือดอุดตัน

รวมถึงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตและทุพพลภาพพบในทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาหรือพัฒนาแล้วก็ตาม ซึ่งประธานบริหารบริษัท โซเด็กซ์โซ่ ประเทศไทย อาร์โนด์ เบียเลคกิ วัย 47 ปี ชาวฝรั่งเศสที่พำนักอยู่ในประเทศไทยนาน 20 ปีแล้ว ก็ป่วยเป็นโรคลิ่มเลือดหัวใจอุดตันที่เกือบคร่าชีวิตของเขาในวัย 35 ปี หากมาพบหมอช้าอีกนิดเดียว

แม้แพทย์จะชี้ว่าหากเขากลับไปออกกำลังกายหนักๆ อีก อาจเกิดภาวะลิ่มเลือดไปอุดตันเส้นเลือดปอดหรือหัวใจได้ แต่เขาไม่ยอมแพ้ ต่อสู้กับโรคภัย กลายเป็นนักวิ่งมาราธอนที่ตั้งเป้าจะวิ่งฟูลมาราธอนให้ได้ 50 ครั้ง และในวัย 47 เขาวิ่งฟูลมาราธอนได้ 26 ครั้งแล้ว และทำเวลาได้ดีเสียด้วย ดังนั้นเป้าหมายในการวิ่งของเขาไม่ไกลเกินเอื้อมนัก

อุบัติเหตุจากการเล่นฟุตบอล

เป้าหมายมีไว้ให้วิ่ง ‘มาราธอน’ ชน อาร์โนด์ เบียเบคกิ

อาร์โนด์ เบียเลคกิ กรรมการผู้จัดการ โซเด็กซ์โซ่ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัท โซเด็กซ์โซ่ ประเทศฝรั่งเศส ก่อตั้งเมื่อปี 2509 ที่เป็นกลุ่มบริษัทชั้นนำทางด้านการบริการครบวงจรที่มุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น การบริการต้อนรับ บริการรักษาความปลอดภัย บริการทำความสะอาด และบำรุงรักษาอาคาร บริการด้านอาหาร และการบริหารอุปกรณ์เทคโนโลยีทางการแพทย์ โดยเปิดให้บริการลูกค้า 75 ล้านคน/วัน ใน 80 ประเทศทั่วโลก มีพนักงานทั้งสิ้น 4.28 แสนคน มีสถานที่ปฏิบัติงานทั้งหมด 3.33 หมื่นแห่งทั่วโลก โดยอาร์โนด์ได้เข้ามาร่วมงานกับโซเด็กซ์โซ่ได้ 6 ปีแล้ว และสำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมจากสถาบัน Ecole Centrale de Marseille ในประเทศฝรั่งเศส

นอกเหนือจากการทำงานผู้บริหารโซเด็กซ์โซ่ (ประเทศไทย) ชื่นชอบการออกกำลังกายมากๆ แต่การเล่นฟุตบอลและเกิดการปะทะในเกมการเล่นเกือบทำให้เขาเสียชีวิตจากภาวะลิ่มเลือดแข็งตัวอยู่ที่บริเวณน่องขาด้านซ้าย

“ผมอยู่เมืองไทยได้ 22 ปีแล้ว ตอนอยู่เมืองไทยแรกๆ ก็เป็นนักกีฬาฟุตบอลลีกทีมฝรั่งเศสรับตำแหน่งกองหลังคอยสกัดการยิงประตูของคู่ต่อสู้ แต่วันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุในวัย 35 ปี บาดเจ็บแบบเรียกที่ว่า เดินไม่ไหวเพราะในจังหวะการป้องกันประตูจากฝ่ายตรงข้ามที่ชนเข้าที่ขาด้านซ้ายของผมอย่างแรง ตอนนั้นผมรู้สึกเจ็บแต่ก็ฝืนใจลุกขึ้นมาเล่นต่อ แต่วันรุ่งขึ้นขาตรงเข่ากินบริเวณไปถึงน่องข้างซ้ายของผมบวมใหญ่กว่าเดิมถึง 2 เท่า จนผมเดินไม่ไหว ผมต้องพาตัวเองไปโรงพยาบาล คุณหมอบอกว่าเส้นเลือดผมขอดตามธรรมชาติจากการโดนชนทำให้เส้นเลือดโดนบีบ เลือดจึงวิ่งไม่ได้ แล้วเริ่มแข็งตัวที่น่องทำให้เลือดไม่ขึ้นจากเท้าไปที่หัวใจ ส่งผลทำให้ขาบวม เพราะปกติเลือดจะหมุนเวียนไปเรื่อยๆ แต่กรณีของผม เลือดลงขาไปแล้วแต่ไม่กลับไปที่หัวใจ ทำให้เลือดไปสะสมที่ขา ทำให้ขาบวมขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผมยังโชคดีที่ลิ่มเลือดไม่ได้ย้ายไปอยู่ที่หัวใจ ถ้าเกิดกรณีนั้นผมจะต้องตายภายใน 30 นาที”

ตอนนั้นหลังจากได้ฟังคำวินิจฉัยโรคของคุณหมอ อาร์โนด์รู้สึกตกใจและเป็นกังวลมาก เพราะคุณหมอแนะนำว่า ห้ามให้เขาเดินอีก เพราะจะทำให้ลิ่มเลือดเคลื่อนไปสู่หัวใจ แล้วอาจเสียชีวิตได้ ซึ่งนับว่าโชคดีที่เขารู้ตัวเร็วและไปหาหมอเร็ว จากนั้นคุณหมอสั่งให้นักกีฬาตัวยงนั่งบนรถเข็น ห้ามเดินเพื่อป้องกันลิ่มเลือดเคลื่อนไปอยู่ที่หัวใจ และคำแนะนำของหมอที่กระแทกใจเขาอีกวลีหนึ่งคือ เมื่อเขาถามว่า เขาจะกลับไปเล่นฟุตบอลได้อีกไหม คุณหมอบอกว่าอันตรายมาก!

“ถึงแม้คุณหมอจะแก้ปัญหาลิ่มเลือดได้แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า ขาจะใช้งานได้ปกติเพราะเมื่อระบบเลือดเสียขาข้างซ้าย ถ้าวิ่งนานๆ เลือดจะสะสมในขาเรื่อยๆ หมอจึงแนะนำไม่ให้เล่นกีฬาอีก ผมต้องนั่งอยู่บนรถเข็นรู้สึกเครียดมาก ผมอยากทำอะไรที่ท้าทายมากๆ และผมตั้งเป้าหมายให้ตัวเอง แต่วันนั้นผมยังวิ่งไม่ได้ วิธีเชียร์อัพตัวเองของผมคือ การตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน เป้าหมายของผม ณ ตอนนั้นคือ ถ้าวิ่งไม่ได้ ผมจะลุกขึ้นมาวิ่งมาราธอนให้ดู ซึ่งวิธีดูแลตัวเองของผมคือ 3-4 เดือนที่พักรักษาตัว หมอฉีดยาที่ขาทุกวันเพื่อละลายลิ่มเลือดที่ขาข้างซ้าย และผมก็ไปออกกำลังกายด้วยการเริ่มเดิน ว่ายน้ำเพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อที่ไม่ได้ใช้มานาน อีกทั้งว่ายน้ำเพื่อบริหารหัวใจให้เต้นเร็วขึ้น เลือดสูบฉีดมากขึ้น”

ผ่านไป 3 เดือนของการพักฟื้น อาร์โนด์เริ่มสามารถวิ่งเบาๆ ทำให้หัวใจที่รู้สึกย่ำแย่ เพราะชินกับการออกกำลังกายได้กลับมาชุ่มชื่นอีกครั้ง แต่จากน้ำหนักตัว 78 กลายเป็น 87 กิโลกรัม เมื่อกลับมาวิ่งเบาๆ และต้องแบกน้ำหนักตัวที่มาก ถึงแม้เขาจะเหนื่อยแต่ก็สู้เต็มที่เหมือนต้องเริ่มต้นจากศูนย์ใหม่ ฝึกไปเรื่อยๆ วิ่งระยะทางแรกๆ คือ 1 กิโลเมตร และเพิ่มระยะทางมากขึ้นทุกๆ สัปดาห์ บวกกับเพิ่มความเร็ว ปรับตัวไปเรื่อยๆ จนในที่สุด เขาสามารถวิ่งได้ 10 กิโลเมตรหลังจากพักรักษาตัวแล้ว 6 เดือน แต่ก็ทำเวลาได้แย่มากๆ คือเข้าเส้นชัยใช้เวลา 1 ชั่วโมง 15 นาที ซึ่งความรู้สึกส่วนตัวของอาร์โนด์เป็นเวลาที่แย่มากๆ

สู่เป้าหมายอย่างมีวินัย

อยากทำเวลาให้ดี อาร์โนด์บอกตัวเองว่าต้องฝึกวิ่งให้มากขึ้น หลังจากอาการบาดเจ็บผ่านไป 9 เดือน เขาสมัครลงวิ่งแข่งขัน ฮาล์ฟ มาราธอนระยะทาง 21 กิโลเมตรครั้งแรกของชีวิตเพื่อท้าทายตัวเอง วิ่งในรายการแรกที่นครปฐม “Tample run” คือการวิ่งผ่านวัดสวยๆ ในระยะทาง 21 กิโลเมตร ซึ่งเขาเข้าเส้นชัยในเวลาที่แย่มากแม้จะฝึกซ้อมเข้มข้นทุกสัปดาห์

“พอตัดสินใจวิ่งฮาล์ฟมาราธอนผมฝึกฝนด้วยตัวเองทุกสัปดาห์ผมวิ่งจาก 10 กิโลเมตร อีกอาทิตย์เพิ่มเป็น 12 กิโลเมตรและ 14 กิโลเมตรไปเรื่อยๆ การฝึกซ้อมวิ่งต้องมีวินัยมากๆ ผมตั้งตารางฝึกซ้อมทุกอาทิตย์ มีกำหนดเวลาฝึกซ้อมชัดเจนอย่างมีระเบียบวินัย” อุปสรรคที่ทำให้เขารู้สึกท้อแท้ระหว่างการฝึกซ้อมก็คือ ร่างกายไม่แข็งแรงเหมือนเดิม พร้อมกับอายุที่เพิ่มมากขึ้นเป็น 36 ปี สองคือเขาทำงานอยู่ แต่ต้องวิ่งตามโปรแกรมการซ้อม 4 ครั้ง/สัปดาห์ซ้อมทุกวันจันทร์ พุธ เสาร์และอาทิตย์ แม้มีงานเยอะแค่ไหนก็ต้องฝึกซ้อมตามตารางให้ได้ หากในชีวิตมีข้ออ้างตลอดเวลา เขาก็จะไม่พัฒนาตัวเองไปได้

“ครั้งแรกผมวิ่ง 21 กิโลเมตรเป็นการวิ่งที่หนักและเหนื่อย วันนั้นจำได้เป็นเดือน มี.ค.ซึ่งอากาศร้อนมากๆ โดยเฉพาะ 10 กิโลเมตรสุดท้ายผมเริ่มเหนื่อยมาก รู้สึกไม่ไหว เพราะผมตั้งเป้าหมายเอาไว้ อยากมีประสบการณ์เข้าเส้นชัยสักครั้งในชีวิตด้วยเวลาที่ดี แต่ผมรู้สึกแย่เพราะผมเข้าเส้นชัยในเวลาตั้ง 2 ชั่วโมง 15 นาที ผมอยากเข้าเส้นชัยได้เวลาต่ำกว่า 2 ชั่วโมง แต่อีกใจหนึ่งก็รู้สึกภูมิใจที่วันนั้นผมถึงเส้นชัยได้ ผมถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องพัฒนาตัวเอง และอยากปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น” ความท้าทายตัวเองยังไม่จบสิ้น อาร์โนด์เริ่มหาการแข่งขันรายการใหม่ๆ เพื่อทำเวลาของตัวเองให้ดีขึ้น การวิ่งครั้งที่ 2 จึงตามมาในเดือน ก.ค.ที่พัทยาในระยะทาง 21 กิโลเมตร และเขาสามารถทำเวลาได้ดีขึ้นคือเข้าเส้นชัยที่เวลา 2 ชั่วโมง 8 นาที เป็นเพราะเขารู้วิธีบริหารร่างกายได้ดีกว่าเดิม รู้จังหวะการสปีดที่พอเหมาะกับจังหวะวิ่งของตัวเอง

เป้าหมายมีไว้พุ่งชน

“ผมรู้สึกว่า เมื่อไหร่ที่เราถึงเป้าหมาย เราพอใจ ณ เวลานั้น คือมีความสุข แต่เราต้องนึกถึงอนาคตตลอด ถ้าเราอยากมีความสุขในอนาคต เพราะความสุขมันเกิดขึ้นระยะสั้น สำเร็จแล้ว เราจะทำความสุขในอนาคตที่ท้าทายกว่า พอทำได้แล้ว เรารู้สึกดีมากๆ มีความสุข วันหนึ่งเราชินแล้ว ซึ่งตามธรรมชาติเราจะมองไปข้างหน้า เหมือนทำธุรกิจ ทุกคนคิดว่าจีดีพีประเทศต้องเติบโตตลอด และไม่มีใครตั้งเป้าจีดีพีเท่าเดิม เป็นธรรมชาติของคนต้องคิดเพิ่มไปเรื่อยๆ ความสุขผมก็ต้องโตทุกปี”

เทคนิคการวิ่งของอาร์โนด์คือ ต้องระวังการวิ่ง 10 กิโลเมตรแรกวิ่งไม่ต้องเร็ว แต่ให้รักษาความเร็วให้ได้ อีก 10 กิโลเมตรรักษาแรงให้ได้ แล้วเราจะรู้จักร่างกายตัวเองมากขึ้น แล้วผมก็ลงแข็งวิ่ง 21 กิโลเมตรครั้งที่ 3 ที่กาญจนบุรี ประมาณเดือน ก.ย.ปีเดียวกัน และเขาท้าทายตัวเองมากขึ้น โดยวิ่งฟูลมาราธอน 42 กิโลเมตรในครั้งที่ 4 ที่วิ่งแข่งโดยลงที่กรุงเทพฯ ในงาน กรุงเทพมาราธอน วิ่ง 42 กิโลเมตรครั้งแรกให้ความรู้สึกที่สุดยอดมากๆ แม้เขาจะฝึกซ้อมก่อนวิ่งฟูลมาราธอนนานถึง 8 สัปดาห์ ฝึกซ้อมอย่างหนักและมีระเบียบวินัยเช่นเคย โดยวันเสาร์และอาทิตย์วิ่งนานถึง 3 ชั่วโมง แต่ด้วยระยะทางที่ไม่เคยชิน ทำเอาเขาเกือบแย่

“วิ่ง 42 กิโลเมตรครั้งแรก ผมตั้งเป้าอยากเข้าเส้นชัยต่ำกว่า 5 ชั่วโมง แต่ผมเริ่มเหนื่อยมากๆ ตอนผ่านไป 20 กิโลเมตรแรก เพราะร่างกายผมไม่เคยมีประสบการณ์การวิ่งยาวแบบนี้ วิ่งไปเรื่อยๆ ผมเริ่มเหนื่อยมากขึ้น อยู่ดีๆ วิ่งเกือบถึงเส้นชัยข้างหน้า ผมเหลือบเห็นนาฬิกา 4 ชั่วโมง 59 นาที แต่ ณ วินาทีนั้นผมไม่มีแรงแล้ว แต่ผมอยากถึงเส้นชัยก่อน 5 ชั่วโมง ผมจึงเร่งสปีดจนถึงเส้นชัยก่อน 5 ชั่วโมง วินาทีนั้นพอผมถึงเส้นชัย ผมนอนบนพื้นนาน 15 นาที แบบไม่รู้สึกตัวเลย เพราะผมลุกไม่ไหว แต่หลังผ่านไป 15 นาทีแล้ว ผมทำเวลาเข้าเส้นชัยได้ 4.59 นาที ผมบอกตัวเองว่าต้องทำครั้งต่อไปให้ได้ดีกว่านี้ ความรู้สึกตอนนั้น ผมรู้สึกภูมิใจในตัวเอง และผมเริ่มตั้งเป้าหมายใหม่ให้ท้าทายกว่าเดิม เมื่อความท้าทายใหม่ทำได้ ต้องท้าทายให้กว่านี้อีก”

นักท้าทายตัวเองจึงเริ่มแพลนว่า สิ่งใดที่เขาทำได้แล้ว เขาจะปรับปรุงและทำเพิ่ม เตรียมตัววิ่งในรายการกรุงเทพมาราธอนปีหน้าให้ได้เวลาดีกว่าเดิม ซึ่งในแต่ละปีอาร์โนด์ตั้งเป้าว่า ต้องพิชิต 42 กิโลเมตรให้ได้ปีละครั้ง จึงต้องวางแผนล่วงหน้า ในระหว่างนั้นก็ลงแข่งวิ่งระยะทาง 10-21 กิโลเมตรเป็นการซ้อมย่อยปีละ 4 รายการ/ปี

ลิ่มเลือดครั้งที่ 3 โอกาสเสียชีวิตสูง

เป้าหมายมีไว้ให้วิ่ง ‘มาราธอน’ ชน อาร์โนด์ เบียเบคกิ

เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ระหว่างการวิ่งฝึกซ้อมในสวนลุมพินีตามปกติ อาร์โนด์วิ่งฝึกซ้อมไปได้เพียง 2 นาที ต้องหยุดวิ่งเพราะหายใจไม่ค่อยออก รู้เลยว่าเกิดอาการผิดปกติขึ้นกับตัวเอง เขาจึงไปหาคุณหมอและตรวจพบว่า ความเสี่ยงตายมาเคาะประตูบ้านอีกครั้ง เนื่องด้วยลิ่มเลือดเข้าไปในปอด หากปล่อยทิ้งไว้อาจอันตรายถึงเสียชีวิตได้ นับเป็นการเสี่ยงตายครั้งที่ 2 ในชีวิตของเขา

“ธรรมชาติของร่างกายของผมเสี่ยงต่อการมีลิ่มเลือดมากกว่าคนทั่วไป พอได้ยินแบบนั้นผมเริ่มกังวลกับการออกกำลังกายของผม เพราะอยู่ดีๆ ก็หายใจไม่ออก หมอบอกว่าครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ของผมที่เสี่ยง ลิ่มเลือดเข้าปอด หากเข้าหัวใจอาจตายภายใน 30 นาที นับเป็นโชคดีของผม หมอบอกว่าเป็นครั้งที่ 2 เสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงขึ้น หากเกิดลิ่มเลือดไปอึดตันอวัยวะอะไรอีกเป็นครั้งที่ 3 มีโอกาสเสียชีวิตถึง 100% ผมจึงต้องรักษาตัวด้วยการเข้าโรงพยาบาล 1 อาทิตย์เพื่อฉีดยาละลายลิ่มเลือด แล้วก็ห้ามเดิน ห้ามวิ่ง ต้องนอนอย่างเดียวเพราะกลัวลิ่มเลือดจะเข้าไปสู่หัวใจ วันนั้นบอกหมอว่า ผมต้องพักที่โรงพยาบาล 1 สัปดาห์ ใจผมก็คิดว่าเมื่อไหร่ผมจะวิ่งได้อีก แต่หมอสั่งห้ามวิ่งเลยแม้ระยะไหนก็วิ่งไม่ได้ เต็มที่ของผมคือเดินเบาๆ คุณหมอแนะนำว่าป้องกันไม่ให้เกิดครั้งที่ 3 นั่นคือผมต้องกินยาสลายลิ่มเลือดทุกวัน ห้ามลืมแม้แต่วันเดียวก็อันตราย ผมก็ต้องกินทุกวันตลอดชีวิต ซึ่งยาส่งผลเสียเยอะ เช่น ต้องระวังไม่ให้เกิดบาดแผล เพราะเลือดจะไหลไม่หยุด หมอบอกว่าถ้าคุณไปวิ่ง ขาจะกระแทกกับพื้น ถ้าวิ่งนานๆ แม้ทำให้เส้นเลือดในขาแตกนิดหนึ่ง หรือชนกับพื้นในขณะที่วิ่งมาราธอนก็อันตราย หรือหัวกระแทกพื้นก็อันตราย ยิ่งหากมีเลือดในสมองหยุดไม่ได้เลย ถ้าเป็นที่อื่นในร่างกายหยุดได้ แต่ในสมองหยุดไม่ได้ยิ่งอันตรายหนักมาก”

ช่วงนั้นอาร์โนด์จึงระมัดระวังตัวเองเป็นอย่างมาก แม้ปั่นจักรยานก็ห้าม แต่เขาจัดเป็นคนไข้ที่ฟังหัวใจตัวเอง เขาเริ่มท้าทายตัวเองด้วยการพลิกฟื้นร่างกายเพื่อให้กลับมาวิ่งอีกครั้ง ด้วยการดูแลตัวเองไม่ให้โดนชน ไปฝึกวิ่งฝึกซ้อมอีกเรื่อยๆ ก็ทำให้เริ่มหายใจได้ปกติ และเขาก็กลับมาวิ่งในระยะทาง 42 กิโลเมตรได้อีกครั้งหนึ่งไม่กี่เดือนหลังจากนั้น ควบคู่ไปกับการกินยาสลายลิ่มเลือดทุกวันห้ามลืม และทุก 3 เดือนเขาต้องไปหาคุณหมอเพื่อปรับยาเพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้อาร์โนด์กลับไปวิ่งได้อย่างปลอดภัย เพราะการวิ่งคือไลฟ์สไตล์ของเขา

ค้นหาความท้าทายใหม่ๆ

อาร์โนลด์อยากเชิญชวนให้ทุกคนออกมาวิ่งออกกำลังกาย โดยเฉพาะนักบริหาร เนื่องจากการเป็นผู้บริหารจะมีเรื่องทำให้ได้เครียดทุกวัน วิธีที่ดีที่สุดในการระบายความเครียดคือการออกกำลังกายตอนเย็น แม้วิ่งเพียง 1 ชั่วโมงเมื่อร่างกายเราเหนื่อยเต็มที่ จะทำให้ความเครียดหายไปทันที

“ผมชอบออกกำลังกาย แต่วันหนึ่งผมบาดเจ็บ เดินไม่ไหวในวัย 35 ผมต้องนั่งวีลแชร์ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่อยากทำอะไรที่ท้าทายมากที่สุด โอเคผมจะวิ่งมาราธอนและก็วิ่งมาเรื่อยๆ ผมต้องฝึกซ้อมเยอะ กีฬาทำให้ผมตั้งเป้าหมายในชีวิตได้ ถ้าวันหนึ่งผมอยากมีอะไรที่ผมภาคภูมิใจ ก็ต้องตั้งเป้าหมายในชีวิต ผมต้องสู้กับอายุของผม ตอนนี้ผม 47 ปี ร่างกายก็เริ่มอ่อนแอลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกับความสามารถของหัวใจเริ่มลดลงเรื่อยๆ เพอร์ฟอร์แมนซ์ในร่างกายก็ต้องดร็อปลงเรื่อยๆ แม้ความสามารถทุกอย่างในร่างกายผมลดลง แต่การเตรียมตัวที่ดีจะช่วยให้ผมสู้กับอายุได้ ความท้าทายใหม่คือในวัย 47 ของผม ผมสามารถเพิ่มสถิติให้ดีขึ้นได้ไหม และผมอยากทำเวลาให้ได้ดีกว่า 10 ปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ตอนนี้ผมวิ่งในระยะทาง 21 กิโลเมตรทำเวลาได้ดีกว่าตอนอายุ 40 เสียอีก เดิมผมตั้งเป้าว่าอยากวิ่ง 42 กิโลเมตรให้ได้ 20 รายการ 21 กิโลเมตรอยากทำให้ได้ 50 รายการในชีวิตนี้ แต่ตอนนี้ผมวิ่ง 42 กิโลเมตรได้ 26 ครั้งแล้ว และ 21 กิโลเมตรผมวิ่งได้ 60 ครั้งแล้ว

ผมจึงตั้งเป้าหมายที่ท้าทายกว่านั้นคือ วิ่ง 42 กิโลเมตรผมตั้งเป้าหมายใหม่ที่ 50 ครั้ง 21 กิโลเมตรตั้งไว้ที่ 100 ครั้ง ถ้าผมทำได้มันคือความท้าทายเหมือนกัน นี่คือเป้าหมายที่ท้าทายในอีก 8-7 ปีข้างหน้า เราต้องตั้งเป้าหมายที่ยากๆ เพราะเวลาที่ตั้งเป้าหมายไว้แล้วเราทำได้ เราจะรู้สึกดีใจและรู้สึกภูมิใจในตัวเอง ลองสิ ลองตั้งเป้าหมายให้ตัวเองดูสิ นอกจากได้ร่างกายแล้ว ได้ความท้าทายแล้ว สุขภาพก็ยังแข็งแรง เป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้ดีด้วย ซึ่งสถิติที่ดีที่สุดของผมที่วิ่ง 42 กิโลเมตร ใช้เวลา 3 ชั่วโมง 44 นาที ส่วนวิ่ง 21 กิโลฯ ได้ 1 ชั่วโมง 42 นาที ผมก็พอใจของผมนะครับ”