posttoday

โชคชะตา? ของคุณภาพการศึกษาไทย

26 เมษายน 2561

การศึกษาคุณภาพและครูที่ดีไม่ควรขึ้นอยู่กับโชคชะตา ซึ่งชะตากรรมของการศึกษาไทยสามารถถูกแก้ไขอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมได้ด้วยพลัง “คนรุ่นใหม่”

เรื่อง กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย

การศึกษาคุณภาพและครูที่ดีไม่ควรขึ้นอยู่กับโชคชะตา ซึ่งชะตากรรมของการศึกษาไทยสามารถถูกแก้ไขอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมได้ด้วยพลัง “คนรุ่นใหม่” ที่ไม่เพียงแค่วิพากษ์วิจารณ์ แต่ได้ลงมือทำผ่านการเป็น “ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ที่เข้าไปสอนหนังสือให้เด็กที่ยากไร้ให้ได้รับการพัฒนาการศึกษาและมีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน

เมื่อไม่นานมานี้ มูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่มีวิสัยทัศน์ให้เด็กไทยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม ได้จัดงาน Ideas For Thai Educationครั้งที่ 4 ตอน การศึกษา (ไม่ต้อง) เสี่ยงทาย เพื่อระดมความคิดจากทุกภาคส่วน สร้างความตระหนักรู้ และแก้ปัญหาการศึกษาไทย เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังมีนักเรียนอีกมากที่มีรายได้น้อย ขาดแรงบันดาลใจในการเรียนและการใช้ชีวิต หรือบางคนมีแรงบันดาลใจและศักยภาพ แต่ขาดผู้เล็งเห็นและสนับสนุนให้ศักยภาพของพวกเขาเปล่งประกาย

โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ (ภาครัฐ) มูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์กล่าวถึงข้อท้าทายของการศึกษาไทยว่า ความท้าทายอย่างหนึ่งที่เรื้อรังมานานคือ คุณภาพการศึกษา ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่างและต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

“คะแนนโอเน็ตเป็นตัวชี้ให้เห็นอยู่แล้วว่าคุณภาพการศึกษาไทยโดยภาพใหญ่ไม่ค่อยดีนัก และเมื่อไปเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกเช่น การสอบปีซ่า (PISA) ก็ยิ่งชี้ชัดว่า คุณภาพการศึกษาไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างต่ำอย่างไรก็ตาม เรายังมองว่า คุณภาพการศึกษาเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับอำนาจทางเศรษฐกิจ อ้างอิงจากงานวิจัยต่างๆ พบว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน หรือครอบครัวที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจต่ำ จะเข้าถึงการศึกษาได้ต่ำเช่นเดียวกัน โดยในทุกจังหวัดจะมีครอบครัวยากจนที่มีรายได้ไม่ถึง 2 หมื่นบาท/ปี หรือวันละ 54 บาท อยู่จังหวัดละประมาณ 40,000-50,000 คน ทำให้เด็กมีโอกาสเข้าถึงเพียงการศึกษาภาคบังคับเท่านั้น หลังจากนั้นครอบครัวจะไม่มีกำลังทรัพย์ส่งเสริมการศึกษาต่อ ทำให้เด็กมีความเสี่ยงที่จะก้าวไปสู่ปัญหาอื่นๆ เช่น ยาเสพติดอาชญากรรม หรือเป็นคุณแม่วัยรุ่น”

โชคชะตา? ของคุณภาพการศึกษาไทย

นอกจากนี้ คุณภาพการศึกษายังเชื่อมโยงกับระบบการศึกษา ซึ่งเขามองว่า ระบบการศึกษาไทยยังไม่ตอบโจทย์และยังไม่ช่วยพัฒนาการศึกษามากนัก

“จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า ครูส่วนใหญ่ใช้เวลาเป็นจำนวนมากไปกับการทำงานเอกสาร การแข่งขันโครงการต่างๆ และการประเมิน ทำให้ครูมีเวลาน้อยมากในการเอาใจใส่นักเรียนในห้องเรียน รวมถึงวิธีการในการสอน ด้วยความที่บางโรงเรียนมีนักเรียนจำนวนมาก ครูเองต้องรับผิดชอบนักเรียนถึง 40-50 คน จึงเป็นไปได้ยากที่ครูจะเอาใจใส่เด็กเป็นรายบุคคล ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในโรงเรียนขนาดใหญ่ แต่โรงเรียนขนาดเล็กเองก็มีปัญหานี้ นำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษา ซึ่งรูปแบบหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาคือการสร้างครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง”

ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยคือ “ครู” ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ จึงค้นหากลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ ไม่จำเป็นต้องจบจากคณะครุศาสตร์ แต่เป็นผู้ที่ให้ความสำคัญ ตระหนักถึงปัญหาการศึกษา และต้องการมีส่วนร่วมพัฒนาการศึกษาไทยให้ดีขึ้น โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่จะได้รับการพัฒนาด้านเทคนิคการสอนด้านวิชาชีพครูร่วมกับคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นจะเข้าไปสอนนักเรียนในโรงเรียนเป็นระยะเวลา 2 ปี โดยปัจจุบันกำลังเปิดรับสมัครครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 5 และจะเริ่มสอนในเดือน พ.ย.นี้

“หลายคนเข้าใจว่าเราเป็นองค์กรของครูอาสา แต่สิ่งที่เรากำลังทำคือ การพัฒนากลุ่มครูที่เป็นมืออาชีพ มีความรู้สูง และมีทักษะในการจัดการห้องเรียนได้ดี โดยการไม่จำกัดแค่คนจากคณะครุศาสตร์ จะทำให้ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงเข้าไปอยู่ในทุกภาคส่วนในประเทศไทย โดยเขาจะได้นำความรู้และประสบการณ์ที่พบและสอนมาในระยะเวลา 2 ปีไปปรับใช้กับหน่วยงานของเขา และช่วยสนับสนุนการศึกษาของประเทศในรูปแบบที่พวกเขาเชี่ยวชาญ กลายเป็นผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ซึ่งสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ได้” รูปแบบครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงถูกพิสูจน์แล้วว่าสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อคุณภาพการศึกษาได้จริงในสหรัฐอเมริกา

โชคชะตา? ของคุณภาพการศึกษาไทย

“เราเชื่อว่า ถ้าประเทศไทยมีกลุ่มคนผู้นำการเปลี่ยนแปลงอยู่ในทุกภาคส่วนของประเทศไทย การศึกษาไทยจะต้องดีขึ้นแน่นอน”

ธนิต แคล้วโยธา ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 3 กล่าวถึงการลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมเยือนบ้านนักเรียนและพบปะผู้ปกครองหลังเลิกเรียน เพื่อเก็บข้อมูล ศึกษา และประเมินสภาพแวดล้อมของนักเรียนว่า ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงมีเวลา 2 ปีซึ่งเป็นเวลาที่น้อยมาก เขาจึงทุ่มเทกับการเก็บข้อมูลนักเรียน เพราะเชื่อว่าก่อนที่จะพัฒนานักเรียนได้ต้องรู้จักนักเรียนก่อน ว่าเด็กเป็นอย่างไร และครอบครัวเด็กต้องการอะไร เพื่อให้สิ่งที่พัฒนานั้นสอดคล้องกับสิ่งที่ครอบครัวต้องการ และทำให้ผู้ปกครองเห็นว่าครูสนใจลูกของเขา แล้วพ่อแม่เองจะไม่สนใจลูกได้อย่างไร

“นอกจากจะต้องยึดตามหลักสูตรที่โรงเรียนมอบหมายแล้ว ผมจะตั้งกรอบใหญ่ว่า อยากให้เด็กพัฒนาเรื่องอะไร โดยผมจะไม่ใช้คำว่า กฎ กติกา เพราะมันเป็นคำทัดทาน แต่ผมจะวางวัตถุประสงค์ใหญ่คือ เด็กต้องกล้าที่จะเปิดใจ กล้าคิด กล้าพูด กล้านำเสนอ ยอมรับตัวเอง และยอมรับผู้อื่น” ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงจะเข้าสอนในชั้นมัธยมฯ 1 หรือ 2 ซึ่งเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อของนักเรียน

“เด็ก ม.1 จะยังมีความเป็นเด็กสูงเพราะเพิ่งผ่านประถมฯ มาได้ไม่นาน แต่สำหรับนักเรียน ม.2 ผมต้องปฏิบัติตัวกับเขาแบบผู้ใหญ่ภายใต้ความเป็นเด็ก วัยนี้จะตั้งใจเรียนน้อยลงเพราะมีสิ่งเร้ามากขึ้น ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง ต้องการเปลี่ยนบุคลิกจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ อยากมีจุดยืนในสังคม ดังนั้นต้องสอนเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่ดี ดีไซน์กิจกรรมที่เข้าใจถึงความหลากหลาย สามารถเปลี่ยนสถานการณ์ในห้องเรียนให้เหมาะสมกับเด็กได้เสมอ ซึ่งไม่สามารถการันตีได้ว่าจะสอนเด็กให้เก่งเท่ากันทุกคน แต่ครูสามารถสร้างความกล้า ความมั่นใจ และทำให้เด็กมีเป้าหมายในชีวิตได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอนาคตของเด็กที่สุด” ธนิต กล่าวเพิ่มเติม

คำถามที่ผู้จัดการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ได้ยินบ่อย คือ ทำไมไม่นำหลักสูตรครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงไปอบรมครูที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย เขาชี้แจงว่า เนื่องจากปัญหาการศึกษาไทยไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ จึงเป็นหนึ่งตัวช่วยให้กับครูในระบบในการทำงานร่วมกัน

โชคชะตา? ของคุณภาพการศึกษาไทย

“เป้าหมายระยะยาว เราเองก็อยากทำงานกับองค์กรภาครัฐอย่างกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำวิธีการ เทคนิค หรือสิ่งที่เรียนรู้จากครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงถ่ายทอดให้กับครูประจำได้ ทั้งนี้ ครูของเราไม่ได้เก่งกว่าหรือเหนือกว่าครูประจำ เพราะครูประจำย่อมมีประสบการณ์มากกว่าและมีความเชี่ยวชาญในการสอนมากกว่า ดังนั้นสิ่งที่เราทำจะเป็นการทำงานร่วมกัน และเรียนรู้เทคนิคซึ่งกันและกัน” โชคดี กล่าว

ด้าน ยิ่งยง บุญยศ ผู้อำนวยการโรงเรียนเพี้ยนพินอนุสรณ์ หนึ่งในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครที่ทำงานร่วมกับครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงมานาน 4 ปี กล่าวว่า โรงเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด คือ นักเรียนมีพัฒนาการประสบผลสัมฤทธิ์ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70

“ที่เห็นได้ชัดเจนคือ เด็กมีความสุขกับการเรียน พฤติกรรมของเด็กเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น และเด็กรู้จักพัฒนาตัวเอง กลายเป็นว่าความรู้ได้เข้าไปอยู่ในร่างกายของเขา และที่น่าดีใจคือ ทัศนคติของครูประจำที่ทำงานมานานเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง จากการสอนแบบโบราณก็เริ่มปรับมาสอนแบบแอ็กทีฟเลิร์นนิ่ง มีการสร้างสรรค์กิจกรรมนอกห้องเรียนไม่ใช่แค่การท่องจำเหมือนเดิม”

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้คนไทยมักมองการศึกษาไทยในภาพลบ ผู้อำนวยการยิ่งยงจึงอยากเห็นทัศนคติของคนในประเทศมองการศึกษาในด้านดี และยกเรื่องที่ดีขึ้นมาพูดในสังคม

โชคดีกล่าวทิ้งท้ายถึงการทำงานของครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงว่า ตั้งแต่รุ่นที่ 1 ถึงรุ่นที่ 4 สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับคุณภาพการศึกษาของไทย โดยวัดจากพัฒนาการของนักเรียนทั้งผลการเรียนและเป้าหมายในชีวิตของนักเรียน

“ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงจะไปจุดประกายและทำให้นักเรียนมีความเชื่อมั่นว่า เขาสามารถไปในจุดไหนก็ได้ที่เขาอยากไป จากนั้นเขาจะมีความตั้งใจเรียนและแสวงหาความรู้ด้วยตัวเอง ครูจะไปเติมคุณลักษณะของเด็กให้มีความพร้อม และหลังจากเรียนครบ 2 ปีแล้ว เด็กก็ยังคงเก็บทักษะและคุณสมบัติเหล่านั้นไปเพื่อต่อยอดให้กับตัวเองได้ นอกจากนี้ ตัวคุณครูเองก็จะได้พัฒนาทักษะความเป็นผู้นำ และสามารถไปทำงานเพื่อพัฒนาการศึกษาในแต่ละภาคส่วนที่ตัวเองทำอยู่ต่อไป กลายเป็นผลกระทบในวงกว้างซึ่งจะแก้ไขปัญหาการศึกษาไทยระดับประเทศ”

ปัจจุบันประเทศไทยมีองค์กรเพื่อการศึกษามากมายที่มุ่งพัฒนาและแก้ไขปัญหา ซึ่งต่างมีองค์ความรู้ เครื่องมือ และรูปแบบที่มีประสิทธิภาพ แต่ติดตรงที่ยังเข้าไม่ถึงการแก้ไขปัญหาในเชิงระบบ ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้นหากภาครัฐเปิดกว้างและหันหน้ามาทำงานกับภาคเอกชนมากขึ้นได้ เชื่อมั่นว่าจะเกิดความร่วมมือที่สามารถพัฒนาการศึกษาไทยให้ดีขึ้นด้วย