posttoday

กันตพงษ์ แก้วกมล นำทัพเกษตรกรรุ่นใหม่หัวใจดิจิทัล

14 เมษายน 2561

ยัง สมาร์ท ฟาร์เมอร์ หรือเกษตรกรรุ่นใหม่ (YSF : Young Smart Farmer)

ยัง สมาร์ท ฟาร์เมอร์ หรือเกษตรกรรุ่นใหม่ (YSF : Young Smart Farmer) คือความหวังของประเทศไทย ที่จะพัฒนาบุคลากรให้เป็นเกษตรกรชั้นดี เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงให้คนรุ่นใหม่ยอมรับ และปรับเปลี่ยนทัศนคติในการสืบทอดอาชีพการเกษตรให้ก้าวหน้า สร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ เป็นกำลังหลักในการผลิตอาหารที่มีคุณภาพป้อนครัวไทย และครัวโลกในอนาคต

 การทำการเกษตรในยุคปัจจุบัน มีการนำเทคโนโลยีเครื่องทุ่นแรงมากมาย ถือว่ามีความสะดวกสบายเป็นอย่างมาก ทำให้เกษตรกรรุ่นใหม่สามารถทำการเกษตรได้ดี มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ประกอบกับการสนับสนุนจากภาคราชการที่ทำให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา ส่งผลให้การทำการเกษตรของเกษตรกรในยุคดิจิทัลสามารถพึ่งพาตนเองได้แม้จะมีพื้นทำการเกษตรไม่มากก็ตาม

 การพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่  ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ เป็นความหวังของประเทศชาติ ที่จะให้กลุ่มเป้าหมายนี้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยการปลูกฝังให้มีความรักอาชีพเกษตรกรรม และศึกษาเรียนรู้ให้ถึงพร้อมทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติ นอกจากการสร้างอาชีพ และรายได้ที่มั่นคงของครอบครัวแล้ว จะให้พวกเขาเป็นต้นแบบในการพัฒนาบุคลากรภาคการเกษตร โดยเฉพาะเยาวชนคนหนุ่มสาวที่จะเป็นผู้สืบทอดอาชีพการเกษตร

กันตพงษ์ แก้วกมล นำทัพเกษตรกรรุ่นใหม่หัวใจดิจิทัล

 ยัง สมาร์ท ฟาร์เมอร์ หรือแรงสร้างผู้ประกอบการเกษตร 4.0 เป็นหนึ่งเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งคือกลุ่มคนทำงานหรือคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนจาการทำงานประจำ ปรับโยกย้ายไปสู่การทำเกษตร จากที่ดินของครอบครัวที่มีอยู่ จึงผลักดันให้มีเกษตรรุ่นใหม่เกิดขึ้นต่อเนื่อง และมีการรวมกลุ่มสู่ “ยัง สมาร์ท ฟาร์เมอร์ ไทยแลนด์” (Young Smart Farmer Thailand) หรือ การรวมกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ของทั่วประเทศ 

 กันตพงษ์ แก้วกมล ประธานกลุ่มยัง สมาร์ท ฟาร์เมอร์ ไทยแลนด์ เปิดเผยว่า ได้รับการแต่งตั้งให้ประธานกลุ่มนี้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 ปีแล้ว จากปี 2560 โดยในปัจจุบันมีผู้ประกอบการการเกษตรทั่วประเทศ เข้ามาร่วมอยู่ในกลุ่มกว่า 1 หมื่นราย จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ

 “เป็นการร่วมกลุ่มเพื่อส่งเสริมผลักดันให้สร้างผู้ประกอบการเกษตร ที่มีความเข้มแข็ง และเติบโตต่อเนื่องด้วยความยั่งยืน ขณะเดียวกันยังมีการสร้างเครือข่ายในแต่ละจังหวัด ที่มีการจัดตั้งผู้ประกอบการเกษตรจังหวัดละ 25 คน หรือในบางจังหวัดอาจมีจำนวนมากกว่านั้น

กันตพงษ์ แก้วกมล นำทัพเกษตรกรรุ่นใหม่หัวใจดิจิทัล

 เพื่อร่วมมือสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการ ผลักดันการร่วมมือด้านวัตถุดิบ รวมถึงการส่งเสริมด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และองค์ความรู้ต่างๆ ระหว่างกัน อีกทั้งยังมีหน่วยงานภาครัฐที่ได้ส่งเสริมผลักดันผู้ประกอบการอย่างครบวงจร และผลักดันส่งออกไปต่างประเทศ”

 ยัง สมาร์ท ฟาร์เมอร์ ไทยแลนด์ ได้รับการจัดตั้งและผลักดันโดย กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่ปี 2557 เพื่อร่วมสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่

 “เราเน้นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการสร้างเครือข่าย เพื่อให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในทุกระดับ”

 ทั้งนี้ กันตพงษ์ ชี้ว่าการเปิดรับสมัครผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่เข้ามาร่วมโครงการ จะเปิดรับสมัครอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.ของทุกปี และต้องมีอายุเฉลี่ยที่ 17-45 ปี

 “ส่วนเด็กรุ่นใหม่ที่สนใจทำเกษตร ก็สามารถเข้ามาร่วมโครงการ ในชื่อ ยุวเกษตร ที่จะรับสมัคร อายุไม่เกิน 17 ปี และกลุ่มที่อายุเกิน 45 ปี ก็จะเข้ากลุ่มสมาร์ทฟาร์เมอร์ต่อไป ส่วนแผนงานในปี 2561 ก็จะมุ่งสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มข้นของผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ในทั่วประเทศต่อไป”

กันตพงษ์ แก้วกมล นำทัพเกษตรกรรุ่นใหม่หัวใจดิจิทัล

 การพัฒนาและสร้างคนรุ่นใหม่เข้าสู่เกษตรยุคใหม่ ผลิตเกษตรกรและชาวนารุ่นใหม่ให้เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยี การใช้เครื่องมือ การบริหารจัดการและขับเคลื่อนชุมชน โดยมุ่งหวังให้คนรุ่นใหม่จบภาคการเกษตร มีความรู้ความสามารถด้านวิชาการเกษตรทั้งระบบ เพื่อความยั่งยืนในการประกอบอาชีพการเกษตร การพึ่งพาตนเอง และการแข่งขันทางการค้าในอนาคต

 นอกจากนี้ ความสามารถของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันมาทำการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนจาก “ทำมากได้น้อย” เป็น “ทำน้อยได้มาก” สอดคล้องกับโมเดล “Thailand 4.0” ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี (Smart Farming) และการเกษตรแม่นยำสูง (Precision Farming)

 มีการใช้วิทยาการ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา แล้วต่อยอดเป็นกลุ่มอาหารเกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (Food, Agriculture & Bio-Tech) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มหรือรูปแบบในการสร้างสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ (New Startups) ด้านเทคโนโลยีการเกษตร การเปลี่ยนสินค้าเกษตรให้เป็นอาหารสุขภาพหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีมูลค่าสูง ทั้งนี้ ยัง สมาร์ท ฟาร์เมอร์ จำเป็นต้องมีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ และได้รับการสนับสนุนและพัฒนาจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา รวมถึงองค์กรอิสระต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

 กันตพงษ์ กล่าวต่อว่า การทำเกษตรมีรูปแบบใหม่ ที่มีความหลากหลายมีเทคโนโลยีนำมาใช้มากขึ้น รวมถึงมีคนรุ่นใหม่ ที่เข้ามาทำการเกษตร ถึงแม้ว่าจะมีพื้นที่ไม่มากนักเลือกทำการเกษตรในรูปแบบผสมผสานหรือเกษตรทฤษฎีใหม่ที่แบ่งพื้นที่ปลูกพืชผัก ไม้ผล และขุดแหล่งน้ำไว้ใช้ในฟาร์มของตนเอง

 “ผู้ประกอบการการเกษตรบางราย สามารถสร้างรายได้จากการทำเกษตร เฉลี่ยเดือนละแสนบาท จนถึงระดับเกินล้านบาทได้เช่นกัน เป็นผลมาจากความต้องการจากกลุ่มผู้บริโภคในตลาดที่มีอยู่ ขณะเดียวกันกลุ่มคนรุ่นใหม่ และกลุ่มคนทำงานที่ต้องการเปลี่ยนมาทำการเกษตรนั้น อยากแนะนำให้เริ่มต้นทำจากความชอบและความรัก เพราะจะเป็นแรงผลักดันทำให้ได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

กันตพงษ์ แก้วกมล นำทัพเกษตรกรรุ่นใหม่หัวใจดิจิทัล

 แม้จะเกิดปัญหาหรืออุปสรรค ก็สามารถฝ่าฟันและผลักดันต่อไปได้ รวมถึงอย่ารีบตัดสินใจที่จะลาออกจากงานที่ทำทันที แต่ควรเข้ามาเรียนรู้กับเครือข่าย กลุ่มในระยะแรกก่อน เพื่อเรียนรู้และได้ทดลองทำอย่างจริงจัง

 ถ้าเราลงมือทำการเกษตรด้วยความรักและความชอบ แม้ว่าจะเกิดปัญหา อุปสรรค หรือมีทุกข์ในเรื่องใดก็ตาม เราจะสามารถหาวิธีการจัดการ และทำไปได้ต่อเนื่องอย่างไม่มีเงื่อนไข และจะหาวิธีหรือแนวทางแก้ปัญหาได้ทั้งหมด” กันตพงษ์ กล่าว

 ส่วนความสนใจที่จะเริ่มทำการเกษตรและเลือกพืชหรือผลไม้ที่จะปลูกนั้น กันตพงษ์ แจงว่าอยากแนะนำให้ทำการเกษตรแบบแตกต่าง และสามารถปลูกที่ไม่ได้ออกผลตามฤดูกาล

 “เพื่อทำให้ผลผลิตออกมาในฤดูกาลใหม่ๆ และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ รวมถึงไม่ประสบปัญหาเรื่องการแข่งขันด้านราคา อีกทั้งในปัจจุบันมีเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ช่วยส่งเสริมการทำเกษตรได้อย่างครบวงจร คนรุ่นใหม่ที่ต้องการทำการเกษตร ที่สามารถปลูกพืชอะไรก็ได้ แต่ต้องเป็นการปลูกแบบฝืนธรรมชาติ การปลูกผิดฤดูกาล หรือการปลูกในช่วงที่ไม่มีใครปลูก เพื่อสามารถบริหารจัดการนำเสนอผลผลิตที่แตกต่าง และไม่มีในตลาด จึงมีความต้องจากผู้บริโภค”

 ส่วนข้อที่ต้องระมัดระวังอย่างมากในการเริ่มต้นทำเกษตร จะเป็นในเรื่องผู้ที่ทำการเกษตรแล้วและไม่ยอมเปิดรับความคิดใหม่ๆ หรือมุ่งการทำแบบเดิมอย่างเดียว เพราะในขณะนี้การรวมกลุ่มสร้างเครือข่าย และร่วมมือพัฒนามีความสำคัญ ประกอบกับในปัจจุบัน สถานการณ์
ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปทั้งหมด กันตพงษ์ มองว่า ยัง สมาร์ท ฟาร์เมอร์ ไทยแลนด์ มีความเข้มแข็ง จึงผลักดันทำให้ในต่างประเทศ เช่น ประเทศกัมพูชา สนใจที่จะสร้างโมเดลเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ในรูปแบบคล้ายกับประเทศไทยแล้ว รวมถึงกลุ่มยังมีความร่วมมือกับเครือข่าย เกษตรกรรุ่นใหม่ในต่างประเทศ เช่น ประเทศเยอรมนี และเนเธอร์แลนด์แล้ว