posttoday

เด็กเคส เด็กไทยเก่งระดับโลก

28 มีนาคม 2561

เป็นที่ทราบกันดีว่า เคส คอมเพททิชั่น (Case Competition) การแข่งขันการแก้ไขกรณีศึกษาและปัญหาทางธุรกิจมีการจัดแข่งขันอยู่ทั่วโลกและมีการจัดมานาน

เรื่อง วรธาร ทัดแก้ว

เป็นที่ทราบกันดีว่า เคส คอมเพททิชั่น (Case Competition) การแข่งขันการแก้ไขกรณีศึกษาและปัญหาทางธุรกิจมีการจัดแข่งขันอยู่ทั่วโลกและมีการจัดมานาน โดยมหาวิทยาลัยในประเทศต่างๆ เป็นผู้จัดการแข่งขันขึ้นแล้วเชิญมหาวิทยาลัยจากทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศนั้นๆ หรือเป็นพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยที่จัดแข่งขัน

การแข่งขันการแก้ไขกรณีศึกษาและปัญหาทางธุรกิจดังกล่าว ปีหนึ่งจะมีการจัดแข่งขันประมาณ 50 ครั้ง แต่มีประมาณ 10 รายการ ที่เป็นรายการใหญ่และจัดอยู่ในหลายประเทศ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา สเปน เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เป็นต้น ที่สำคัญทีมที่ชนะเลิศจากรายการใหญ่นี้จะถูกเชิญไปแข่งขันรายการแชมเปี้ยนชิพ เคส คอมเพททิชั่น หรือแชมป์ชนแชมป์ เพื่อหาทีมที่เป็นสุดยอดของโลกหนึ่งเดียว

รายการ John Molson Undergraduate Case Competition (JMUCC) ณ เมืองมอนทรีออล แคนาดา กับรายการ Heavener Internation Case Competition (HICC) ณ มลรัฐฟลอริดา สหรัฐ จัดอยู่ใน 10 รายการใหญ่ ซึ่งจัดการแข่งขันทุกปี โดยจะมีมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกส่งทีมเข้าแข่งขันประมาณ 20-24 ทีม

การแข่งขันในปี 2018 ทั้งสองรายการดังกล่าวเพิ่งจัดการแข่งขันจบไปเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา แต่จัดคนละวัน โดยมีทีมจากมหาวิทยาลัยทั่วโลกส่งเข้าแข่งขัน 20 ทีม หนึ่งในนั้นมีทีมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยส่งเข้าแข่งขันรายการละ 1 ทีม โดยทีมแข่งขันจะเป็นนิสิตจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หลักสูตรบริหารธุรกิจ (นานาชาติ) หรือ BBA ทั้งสิ้น

ขณะที่ผลการแข่งขันปรากฏว่าตัวแทนจากประเทศไทยสามารถคว้าแชมป์มาได้ทั้งสองรายการ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความเซอร์ไพรส์ให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หลักสูตรบริหารธุรกิจ (นานาชาติ) หรือ BBA หลังจากที่มีการปรับโครงการ เคส คอมเพททิชั่น ให้ดีขึ้นแล้วประสบความสำเร็จอย่างที่เห็น

เชื่อว่าหลายคนคงอยากรู้รูปแบบการแข่งขัน อยากรู้วิธีการทำงาน การแก้โจทย์ธุรกิจที่ผู้จัดการแข่งขันให้มา พวกเขาทำอย่างไรจึงสามารถเอาชนะผู้แข่งขันทีมอื่นๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นระดับท็อปต้นๆ ของโลกทั้งสิ้น ที่สำคัญคือสามารถพิชิตใจคณะกรรมการ ซึ่งล้วนแล้วเป็นผู้บริหารระดับสูงและซีอีโอของบริษัทเจ้าของกรณีศึกษาอีกด้วย นั่นจึงถือว่าไม่ธรรมดาแน่นอน

เด็กเคส เด็กไทยเก่งระดับโลก

ทีมชนะเลิศที่สหรัฐ

ทีมชนะเลิศการแข่งขันรายการ Heavener Internation Case Competition (HICC) ที่มลรัฐฟลอริดา สหรัฐ มี 4 คน ประกอบด้วย วรรณวเรศ บุญคง นิสิตชั้นปีที่ 4 บุญชนะ ศวัสตนานนท์ นิสิตชั้นปีที่ 4 จักรพจน์ จิตรวรรณภา นิสิตชั้นปีที่ 4 และ พริมา ไชยวรุตม์ นิสิตชั้นปีที่ 3 โดยมี ดร.นัท กุลวานิช เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

จักรพจน์ จิตรวรรณภา นิสิตชั้นปีที่ 4 กล่าวว่า เนื่องจากการแข่งขันเป็นรูปแบบทีม ดังนั้นแต่ละคนจะมีหน้าที่ชัดเจน โดยการแบ่งหน้าที่ตามความถนัดเพื่อนำเสนอบนเวที แต่กระบวนการทำงานทุกอย่างก่อนขึ้นพรีเซนต์ต่อหน้าคณะกรรมการทุกคนจะทำร่วมกัน เช่น หาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่ฝ่ายจัดการแข่งขันให้มา เช่นว่า บริษัทนั้นทำเกี่ยวกับอะไรและข้อมูลทุกอย่างที่ควรต้องรู้ เป็นต้น จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ หากลยุทธ์และวิธีการในการแก้โจทย์ที่บริษัทนั้นต้องการ

“ผมจะรับหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลและเป็นคนกล่าวเปิดพรีเซนเทชั่น ส่วนนำเสนอด้านคิดกลยุทธ์เพื่อแก้โจทย์ธุรกิจ วรรณวเรศและพริมาจะรับผิดชอบ ขณะที่คนนำเสนอแผนการเงินก็จะเป็นบุญชนะที่รับไป การแข่งขันจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ แบบ 5 ชั่วโมง นำเสนอ 5 นาที ถามตอบกับคณะกรรมการ 10 นาที และแบบ 30 ชั่วโมง นำเสนอ 10 นาที และถามตอบ 10 นาที”

จักรพจน์ กล่าวว่า ก่อนเดินทางไปแข่งขันประมาณ 1 เดือน ทางฝ่ายจัดการแข่งขันจะแจ้งชื่อบริษัทที่ต้องการให้แก้ไขปัญหาทางธุรกิจให้ แต่ยังไม่บอกโจทย์ให้รู้ว่าต้องการให้แก้ปัญหาเรื่องอะไร เช่น อาจจะเป็นเรื่องการตลาด การขยายธุรกิจ หรือการบริหารงานบุคคล เป็นต้น

“เคส 5 ชั่วโมง เขาให้บริษัทติวเตอร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับออนไลน์ที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จในฟลอริดา ส่วนเคส 30 ชั่วโมง เป็นบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจให้แก่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา เขาให้แค่ชื่อบริษัทอย่างเดียว ส่วนโจทย์เขาบอกเราในวันแข่งขัน เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราเตรียมความพร้อมได้ก่อนการเดินทาง คือการหาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทนั้นๆ ให้มากที่สุด ศึกษาโครงสร้างทางธุรกิจของบริษัท พร้อมทั้งศึกษารูปแบบธุรกิจของบริษัทที่มีความใกล้เคียงกันเพื่อเป็นแนวทาง”

สำหรับโจทย์การแข่งขัน วรรณวเรศ กล่าวว่า ทุกทีมจะรู้พร้อมกันในวันแข่งขัน โดยเคสบริษัทติวเตอร์ซึ่งให้เวลา 5 ชั่วโมงนั้นโจทย์ของเขาคือต้องการขยายธุรกิจออกไปไม่เฉพาะในฟลอริดาเท่านั้น ส่วนเคส 30 ชั่วโมง เป็นบริษัทให้คำปรึกษาทางธุรกิจให้กับรัฐบาลสหรัฐ โจทย์ไม่ได้ต้องการขยายธุรกิจ แต่เป็นเรื่องการบริหารงานบุคคล โดยเขาต้องการให้แก้ปัญหาเรื่องเด็กเจน Z ควรเตรียมคนกลุ่มนี้อย่างไรให้เป็นคนจงรักภักดีต่อองค์กร

“เมื่อได้รับโจทย์มาแล้วไม่ว่าจะเป็นการแข่งแบบ 5 ชั่วโมง หรือ 30 ชั่วโมง สิ่งแรกที่พวกเราทำคือการอ่านโจทย์และปรึกษาร่วมกันเพื่อให้ทุกคนนั้นเข้าใจตรงกัน จากนั้นจะระดมความคิดวิเคราะห์สถานการณ์ที่บริษัทนั้นๆ กำลังเผชิญเพื่อหากลยุทธ์ที่จะใช้อย่างเหมาะสม ในแบบ 5 ชั่วโมงนั้นต้องคิดให้เร็ว ทำสไลด์ผลงานให้ไว

ขณะที่แบบ 30 ชั่วโมง ขั้นตอนการทำงานจะคล้ายคลึงกัน เพียงแต่จะสามารถลงรายละเอียดได้ลึกกว่า เช่น มีงานวิจัยเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อช่วยสนับสนุนสิ่งที่พวกเราคิดวิเคราะห์ รวมถึงตัวเลขทางด้านการเงินมาเป็นตัวสนับสนุนว่า สิ่งที่พวกเราคิดทำนั้นสามารถทำได้จริง ทั้งด้านงบการลงทุน ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ และผลตอบแทนที่จะได้รับ โดยจะมีตัวชี้วัดเป็นผลทางการเงิน”

เด็กเคส เด็กไทยเก่งระดับโลก

ทีมชนะเลิศที่แคนาดา

ขณะทีมที่เข้าแข่งขันรายการ John Molson Undergraduate Case Competition 2018 ณ เมืองมอนทรีออล แคนาดา มี 4 คน ประกอบด้วย รัชกาญจน์ สุธรรมจริยา นิสิตชั้นปีที่ 4 ปุณนภัส ลลิตกุล นิสิตชั้นปีที่ 4 ภัทรานิษฐ์ ตรีพงษ์กรุณา นิสิตชั้นปีที่ 3 และ รวิสรา เวชากร นิสิตชั้นปีที่ 3 โดยมี ดร.ทิม นพรัมภา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

รัชกาญจน์ หัวหน้าทีม เปิดเผยว่า ก่อนการแข่งขันเขาและเพื่อนๆ มีเวลาเตรียมตัวฝึกแก้ไขปัญหาทางธุรกิจเพียงเดือนเศษๆ โดยฝึกการแก้ไขโจทย์ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่ถนัด เช่น อุตสาหกรรมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ซึ่งการแข่งขันจะแบ่งเป็น 3 เคสสั้นที่ให้เวลาในการทำ 3 ชั่วโมง และ 1 เคสยาวกับระยะเวลา 24 ชั่วโมง

“โจทย์ที่ได้รับเป็นการแก้ไขปัญหาทางธุรกิจของแต่ละบริษัทที่มีทั้งด้านการตลาด เทคโนโลยี และทรัพยากรบุคคล การทำเคสระยะสั้น 3 ชั่วโมง ด้วยระยะเวลาที่จำกัด ทำให้พวกเราต้องช่วยกันวิเคราะห์เพื่อหากลยุทธ์ที่ตอบโจทย์ให้ได้มากที่สุด ส่วนเคสยาวเป็นโจทย์เกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีกยักษ์ใหญ่ ซึ่งเป็นเคสที่พวกเราถนัด หาข้อมูลต่างๆ มาสนับสนุนสิ่งที่ได้วางแผนไว้ได้มาก รวมทั้งยังมีเวลาในการลงรายละเอียดเรื่องสตอรี่ไลน์ รูปแบบการนำเสนอผลงานอย่างไรให้คณะกรรมการเข้าใจได้ง่ายและมีความน่าสนใจ พร้อมทั้งซ้อมการนำเสนอ ซึ่งการแข่งขันทั้งสองรูปแบบ ทีมของพวกเราจะช่วยกันคิดวิเคราะห์และหากลยุทธ์ รวมถึงดูงบการเงิน โดยมีผมซึ่งเป็นหัวหน้าทีมดูภาพรวมทั้งหมด”

ด้าน รวิสรา ซึ่งรับหน้าที่ให้เป็นผู้วิเคราะห์ข้อมูลและเป็นผู้กล่าวเปิดในการพรีเซนต์ของทีม กล่าวว่า เคส 24 ชั่วโมงเป็นธุรกิจค้าปลีกยักษ์ใหญ่ชื่อดังอย่างวอลมาร์ท โจทย์ของบริษัทคือต้องการให้ลูกค้ามาจับจ่ายซื้อสินค้า หรือมาเดินวอลมาร์ทมากขึ้น เธอกับเพื่อนเมื่อได้ข้อมูลบริษัทแล้ว โดยฝ่ายจัดการแข่งขันให้มาส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเธอกับเพื่อนๆไปหาข้อมูลจากบริษัทโดยตรง ด้วยการถามข้อมูลจากผู้บริหาร จากลูกค้าที่ไปใช้บริการ จากนั้นมาร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูล หากลยุทธ์ และวิธีการแก้ปัญหา

“อย่างการวิเคราะห์ข้อมูล นอกจากวิเคราะห์จากข้อมูลบริษัท เรายังได้วิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคนี้ด้วย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่นิยมหันไปซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ อันนี้ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกค้าไปเดินซื้อของน้อยลง ส่วนกลยุทธ์หรือวิธีการแก้ไขที่เรานำเสนอไม่สามารถบอกได้ค่ะ เป็นมารยาท แต่ก็คงเป็นวิธีการที่ทำผู้บริหารระดับสูงและระดับซีอีโอของบริษัทที่มานั่งฟังและร่วมเป็นคณะกรรมการนั้นพอใจ ไม่อย่างนั้นพวกเราก็คงไม่ได้รางวัลชนะเลิศกลับมา”

ชนะได้ภายใต้ความกดดัน

ด้วยรูปแบบการแข่งขันทั้งสองรายการที่จำกัดในเรื่องเวลา โดยในขั้นตอนการพรีเซนต์ทำอย่างไรจึงจะรักษาเวลาเอาไว้ได้ ขณะเดียวกันการพรีเซนต์นั้นก็ต้องให้โดนใจกรรมการด้วย จึงถือเป็นความท้าทายของผู้เข้าแข่งขันทุกทีม

รัชกาญจน์ ยอมรับว่า ความกดดันมีอยู่ในการแข่งขันแต่ละแบบ อย่างเคสสั้นความกดดันอยู่ที่ระยะเวลาที่สั้น ทำให้ต้องคิดหากลยุทธ์ให้เร็ว และต้องเป็นกลยุทธ์ที่สามารถปฏิบัติได้จริง ในขณะที่เคสยาวความกดดันจะอยู่ที่เนื้อหาที่ต้องลงรายละเอียดเชิงลึกที่ต้องทำได้จริง และต้องแตกต่างจากทีมอื่นๆ พร้อมทั้งต้องนำเสนอให้น่าสนใจอีกด้วย

“การแข่งขันครั้งนี้ไม่เพียงสอนให้พวกเรารู้จักการทำงานร่วมกันท่ามกลางความกดดันที่รุมเร้า แต่ยังทำให้ได้รู้ถึงจุดแข็งจุดอ่อนของตัวเองและเพื่อนๆ ในทีม ซึ่งในการแข่งขันทุกคนต้องเหมือนเป็นคนคนเดียวกัน ต้องใช้ความถนัดที่เรามีมาช่วยกลบจุดอ่อนที่เพื่อนเรายังขาด นอกจากนี้ยังเป็นประสบการณ์ที่ดีที่ทำให้พวกเราได้พัฒนาการเรียนรู้ผ่านบริษัทธุรกิจที่เป็นยักษ์ใหญ่ระดับโลก และมีซีอีโอระดับโลกมาร่วมฟังการนำเสนอผลงานของพวกเรา ซึ่งนับเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามากจริงๆ”

ด้าน พริมา จากทีมที่ชนะที่สหรัฐ กล่าวเสริมว่า ชัยชนะที่ได้รับในครั้งนี้เกิดจากการทุ่มเท การเตรียมตัวฟิตซ้อมที่หนัก จึงทำให้เมื่อเดินทางไปแข่งขันไม่ได้ไปเหมือนคนตาบอด ทุกทีมที่แข่งมีวิธีคิด การทำงาน การนำเสนอที่คล้ายกัน แต่สิ่งที่คิดว่าทีมเราแตกต่างจนทำให้ได้รับชัยชนะ คือการตอบโจทย์ที่ครอบคลุมกว่า ปฏิบัติได้จริง โดยมีดัชนีชี้วัดภายใต้การนำเสนอที่เข้าใจง่าย

“อีกทั้งเราได้คาดคะเนคำถามจากคณะกรรมการไว้แล้ว โดยเตรียมสไลด์สนับสนุนไว้พร้อม ประสบการณ์จากการไปแข่งขันในครั้งนี้ทำให้พวกเราได้เปิดโลกเห็นมุมมองแนวทางธุรกิจของคนหลายๆ ชาติ ที่ผ่านมาเราเรียนทฤษฎีในห้องเรียน แต่การแข่งขันนี้เป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าสิ่งที่พวกเราเรียนมานั้นสามารถใช้ได้จริงๆ”

เด็กเคส เด็กไทยเก่งระดับโลก

เบื้องหลังความสำเร็จ

ดร.นัท กุลวานิช กรรมการและเลขานุการหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (BBA International Program) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ และอาจารย์ที่ปรึกษานำทีมแข่งขันที่สหรัฐ กล่าวว่า ชัยชนะในระดับสากลไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องได้รับเทียบเชิญจากผู้จัดที่เป็นเจ้าภาพ ซึ่งจะดูชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ชัยชนะที่ได้รับจึงไม่ใช่แค่ของคณะหรือของจุฬาฯ แต่เป็นของประเทศชาติ

“ในระดับสากลมีการแข่งขันกรณีศึกษาทางธุรกิจเยอะ แต่รายการใหญ่ๆ มีประมาณ 10 กว่ารายการ ซึ่งเขาจะเชิญมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับท็อปทรีของประเทศจากทั่วโลกมาร่วมแข่งขัน เราไปในนามของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของไทย การไปได้ชัยชนะพร้อมกันทั้งเวทีที่ฟลอริดาและมอนทรีออลถือเป็นจังหวะที่ดีของเรา เพราะทีมที่ชนะเลิศทั้งสองเวทีนี้จะได้รับเชิญให้ไปแข่งรายการใหญ่แบบแชมป์ชนแชมป์ ซึ่งปกติแล้วจะไม่ค่อยมีมหาวิทยาลัยไหนได้เข้าไปแข่งพร้อมกัน 2 ทีม นี่เป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกนับตั้งแต่ที่จัดการแข่งขันมา”

ด้าน ดร.ทิม นพรัมภา รองประธานหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (BBA International Program) และอาจารย์ที่ปรึกษาทีมที่ไปแข่งขันที่แคนาดา กล่าวว่า การแข่งขันบนเวทีระดับนานาชาติมีความหมายมากกับการพัฒนาเด็กให้มีศักยภาพ เพราะนอกจากประสบการณ์ที่เด็กจะได้รับแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือโอกาสที่จะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับซีอีโอขององค์กรชั้นนำของโลก

“ทุกครั้งที่เด็กไปร่วมการแข่งขันไม่ว่าชนะหรือแพ้กลับมา สิ่งที่เรามองมาตลอดคือเด็กได้ประสบการณ์จากการไปแข่ง เพราะเขาต้องไปพรีเซนต์ต่อหน้าคนที่เป็นซีอีโอ และอาจารย์ของมหาวิทยาลัยชื่อดังทั่วโลก และการที่เข้าไปแข่งขันจะต้องมีการเตรียมตัวและฟอร์มทีมก่อน ซึ่งตรงนี้เป็นกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก ทักษะนี้เมื่อเด็กจบออกไปก็สามารถนำไปใช้กับการทำงานจริงได้ คือเป็นการปูพื้นฐานที่ดีสำหรับการทำงานในอนาคตของเขา ซึ่งส่วนใหญ่เด็กพวกนี้มักจะได้รับการติดต่อให้เข้าร่วมงานกับบริษัทใหญ่ๆ ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ”