posttoday

วัชรบูล ลี้สุวรรณ วันที่เดินเข้าป่า

25 มีนาคม 2561

ในวงการบันเทิงชื่อของ โน้ต-วัชรบูล ลี้สุวรรณ เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะนักแสดงมากฝีมือแห่งวิกหมอชิต

โดย มัลลิกา นามสง่า/จีรวัฒน์ กล้ากะชีวิต

ในวงการบันเทิงชื่อของ โน้ต-วัชรบูล ลี้สุวรรณ เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะนักแสดงมากฝีมือแห่งวิกหมอชิต โลดแล่นอยู่ในวงการมากว่าสิบปี ทว่าหน้าม่านที่ทุกอย่างถูกขีดเขียนไว้ให้เป็นตามบท เขายังมีอีกด้านที่กำกับด้วยตัวเอง นั่นคือจิตวิญญาณของความรักธรรมชาติ และเขาก็ได้ใช้ชีวิตโลดแล่นอยู่บนผืนป่าใหญ่มาแล้วหลายแห่ง

อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน คือ ป่าผืนแรกที่เขาไป

ตำราจากผืนป่า

วัชรบูล ลี้สุวรรณ วันที่เดินเข้าป่า

จุดเริ่มต้นมาจากการถูกปลูกฝังจากครอบครัว ทำให้ชีวิตตั้งแต่วัยเยาว์ รักและเห็นคุณค่าของธรรมชาติ ต้นไม้ ลำธาร สัตว์ นานาสรรพสิ่งที่มนุษย์ไม่ควรจะทำลาย ตัดวงจรชีวิต

“ผมเริ่มเข้าป่าภายหลังจากเข้าวงการบันเทิงได้ 2 ปี ในช่วงแรกงานค่อนข้างยุ่ง แต่เมื่อทุกอย่างลงตัวทั้งเรื่องการเงินและเวลา ทำให้หลังจบงานแสดงส่วนใหญ่จะต้องเข้าป่าเสมอ

ระยะเวลาจนถึงวันนี้เกือบ 10 ปี ป่าที่เคยไปมาแล้ว เช่น ห้วยขาแข้ง แก่งกระจาน เขาใหญ่ ดอยเชียงดาว ไปมากสุด 7 วัน เท่าที่หาเวลาว่างได้”

ชีวิตการเป็นนักแสดงมีคนคอยดูแลประคบประหงม ซึ่งเสมือนดาบสองคม ในด้านที่ได้รับความสะดวกสบายต่อการใช้ชีวิตทำงาน ก็อาจทำให้เสียนิสัย

“บอกตัวเองเสมอ ทุกครั้งที่เริ่มไม่โอเค งี่เง่า ว่ายังมีคนอื่นลำบากกว่าเราอีกเยอะ อย่างเด็กยกไฟในกองถ่าย ทีมงานต่างๆ เขาเหนื่อยว่าเราเยอะ

สาเหตุที่ผมเข้าป่าสิ่งหนึ่งที่ได้เลย คือ ทำให้รู้ว่าชีวิตมนุษย์สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมกับธรรมชาติ เราไม่ได้ต้องการอะไรมากนัก

สมมติอยู่ในป่าฝนตก เราต้องการแค่ผ้าใบ หรือเต็นท์มาคลุมหัวเราแค่นั้น อาหารอยู่ในป่าไม่ได้กินให้อร่อย กินให้อิ่ม นอนไหนก็ได้ เพราะฉะนั้นชีวิตมันไม่ได้ต้องการความซับซ้อนวุ่นวายมากนัก”

การที่จะทำอะไร จำเป็นต้องมีความรู้ในสิ่งนั้น เพื่อที่จะช่วยให้การปรับตัวเป็นไปอย่างง่ายขึ้นเมื่อต้องอยู่ในป่า “เวลาผมจะทำอะไร ทฤษฎีเยอะ ต้องรู้จักสิ่งที่จะทำให้ดี ก่อนจะเข้าป่าก็เริ่มหาหนังสือที่เกี่ยวข้องมาอ่าน จริงๆ ก็อ่านแนวนี้มาตลอด

ผมชอบธรรมชาติ ชอบชีวิตกลางแจ้ง ชอบอ่านนิยายเรื่องเพชรพระอุมา สารคดีทั่วๆ ไปเกี่ยวกับป่า เหมือนเราได้สะสมความรู้มาเรื่อยๆ ทำให้เวลาเข้าป่าเรามีความรู้ในระดับหนึ่ง

อย่างการถ่ายรูปเป็นสิ่งที่ตามมาทีหลัง เวลาเข้าป่าแล้วไม่มีอะไรทำ จึงหากิจกรรมในยามว่าง ซึ่งก็คือการถ่ายภาพสัตว์ป่าและเริ่มทำมาเรื่อยๆ

จริงๆ นั่งอยู่เฉยๆ ก็ได้ เราก็นั่งคิดอะไรไปเรื่อย เพราะธรรมะก็คือธรรมชาติ คนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ อยู่ในป่าเราไม่ต้องการปรุงแต่งอะไรมาก เอาเงินไปเยอะก็ทำอะไรไม่ได้ หรือจะอ่านหนังสือก็ได้ ผมจะติดหนังสือเล่มที่อ่านค้างไว้ไปด้วยเสมอ ก็ได้อ่านจบเล่มในป่าทุกที

ในการเข้าป่าแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับว่าไปด้วยจุดประสงค์อะไร ถ้าถ่ายภาพต้องกางเต็นท์บริเวณจุดพัก หรือถ้าจะเดินป่าต้องมีสัมภาระที่จำเป็น บางทีไปเช้าเย็นกลับ ไม่ได้นอนเสมอไป แค่ไปซึมซับธรรมชาติ ที่สำคัญคือต้องมีเจ้าหน้าที่เป็นผู้นำทาง

ผมชอบเข้าป่าเพราะทำให้เราสงบ ในขณะที่ความเงียบก็ทำให้ฉุกคิดได้ว่าแท้จริงแล้ว เราต่ำต้อยกว่าธรรมชาติมาก มนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ไม่ได้ยิ่งใหญ่กัน ต้นไม้ต่างๆ มันโตกว่าเราเยอะ เกิดมาไม่รู้กี่ปี”

มนุษย์ตัวเล็กกับป่าใหญ่

วัชรบูล ลี้สุวรรณ วันที่เดินเข้าป่า

ยิ่งได้ใกล้ชิด ได้สัมผัสกับธรรมชาติ ยิ่งเกิดความหวงแหน และอยากอนุรักษ์ หากเขาเป็นเพียงหนึ่งกระบอกเสียงที่อยากให้ทุกๆ คนช่วยกัน ซึ่งยังนับว่าโชคดีที่เขาเป็นนักแสดงมีชื่อเสียง เวลาเอ่ยอะไรออกไป หรือโพสต์ลงในโซเชียลมีคนสนใจจำนวนมากกว่าบุคคลที่ประกอบอาชีพอื่น

“แก่งกระจาน เป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์มากเนื่องจากเป็นพื้นที่อนุรักษ์ แต่ก็ไม่วายมีเรื่องของการบุกรุกทั้งจากนายทุนหรือชาวบ้านเอง มีส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อสัตว์ป่า โดยเฉพาะการขยายพันธุ์

ธรรมชาติซับซ้อนกว่าที่คนเข้าใจ ไม่ใช่แค่เรื่องต้นไม้ แต่เป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ห่วงโซ่อาหาร ถ้าขาดจุดใดจุดหนึ่งไปย่อมส่งผลกับส่วนที่เหลือ

ขณะที่สัตว์ทุกตัวก็มีหน้าที่เป็นผู้ล่าและผู้ถูกล่าต่างกันตามธรรมชาติ ตั้งแต่สัตว์กินพืช สัตว์กินสัตว์ด้วยกัน ห่วงโซ่อาหาร เสือโคร่ง เสือดาว เสือดำ มันต้องมีให้ครบ เพราะถ้าขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปก็จะเสียระบบเกิดความวุ่นวาย ทุกอย่างจึงต้องสมดุล

สัตว์ทุกชนิดที่อยู่ในป่า ก็มีหน้าที่ของมัน วัวแดง กวาง เก้ง ก็มีหน้าที่ควบคุมปริมาณพืชไม่ให้เยอะเกินไป เสือโคร่ง เสือดาว ก็เข้ามาควบคุมสัตว์ที่กินพืชเพื่อไม่ให้เยอะจนเกินไป

อย่างช้างเป็นวิศวกรของป่า เดินสร้างทาง สร้างด่าน หรือเดินไปไหนชนลูกไม้ร่วง ให้สัตว์เล็กๆ ตามเก็บกินได้ ทุกอย่างมีหน้าที่ของมัน

หมีกับนกเงือก หลายคนอาจไม่รู้ว่ามีความสัมพันธ์กัน คือ หมีปีนต้นไม้หาน้ำผึ้ง เล็บมันขูดฉีกต้นไม้จนทำให้เกิดโพรง พอโพรงใหญ่ นกเงือกมาเจอก็เข้ามาอาศัยในโพรงนั้นต่อ ซึ่งนกเงือกขุดโพรงเองไม่ได้ นี่จึงเป็นลักษณะของระบบนิเวศที่สมบูรณ์”

แม้จะเข้าป่าหลายหน แต่ทุกครั้งโน้ตยังเกิดความรู้สึกหวั่นกลัวนิดๆ ในความเงียบสงัดของป่าในรัตติกาล แต่นั้นก็กลายเป็นเรื่องตื่นเต้นจนเกิดความสนุก

“ยอมรับว่ากลัว แต่ไม่มาก เคยมีเหตุการณ์หนึ่งไปถ่ายรายการ ซึ่งสถานที่ตั้งแคมป์อยู่ใกล้ลำห้วย ทำให้ดึกๆ ได้ยินเสียงช้างเดิน ณ ตอนนั้นเป็นความรู้สึกกลัวว่าช้างอาจมาถึงจุดที่พักและทำร้ายเราได้ เปรียบเทียบให้เห็นภาพ เราเหมือนกับลิงตัวหนึ่งไม่ได้มีพละกำลังจะไปสู้กับช้างหรือสัตว์อื่นๆ ได้เลย”

ผู้ยิ่งใหญ่ ทั้ง 7 แห่งพงไพร

วัชรบูล ลี้สุวรรณ วันที่เดินเข้าป่า

ได้พบและเรียนรู้อะไรหลายอย่างจากการเข้าป่า แต่โน้ตยังมีความปรารถนาที่ยังไม่สมดังใจครบถ้วนอยู่ นั่นคือการได้พบและถ่ายภาพสัตว์ป่า 7 ชนิด ที่ถูกขนานนามว่า เป็นผู้ยิ่งใหญ่แห่งป่า

“ในป่ามีสัตว์ที่เรียกกันว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ทั้ง 7 ประกอบด้วย เสือโคร่ง เสือดาวหรือเสือดำ ช้าง กระทิง วัวแดง ควายป่า สมเสร็จ เหลือเพียงควายป่าเท่านั้นที่ผมยังไม่เคยเห็น ซึ่งในประเทศไทยเหลือประมาณ 60 ตัว ที่ห้วยขาแข้ง

ทั้งหมดที่ผมเจอล้วนเกิดจากความบังเอิญ บางตัวใช้เวลานั่งเฝ้าในโป่ง 5 วันก็ไม่เจอ แล้วเราก็ไม่รู้ล่วงหน้าด้วยจะเจอตัวอะไร

ที่เจอยากสุด คือ เสือโคร่ง เพราะประสาทสัมผัสมันไว คือโดยธรรมชาติของสัตว์ป่ามีนิสัยกลัวคน ยกเว้นช้าง เมื่อมันได้กลิ่นมนุษย์ กลิ่นเครื่องยนต์ ก็หนีหมดแล้ว ทำให้เจอยากมาก

เข้าป่ามา 7 ปี เจอเสือโคร่งแค่ครั้งเดียว เจอไกลๆ มันไม่เห็นเรา โชคดีถ่ายรูปได้ทัน สมเสร็จก็เฝ้ามาหลายปี เพิ่งถ่ายรูปได้เมื่อปีที่แล้ว เห็นในระยะไกล นึกว่าเป็นแพนด้า (หัวเราะ) เพราะมีลักษณะรวมถึงสีใกล้เคียงกัน

ผมรีบเก็บภาพให้เร็วที่สุด ในขณะที่เพื่อนไปด้วยกันอีก 2 คนไม่เจอ เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่นึกถึงทีไรก็ทำให้มีความสุขอยู่เสมอ”

เรื่องเล่าหลังเลนส์

ออกตัวว่าไม่ใช่ช่างภาพมืออาชีพ แต่ภาพถ่ายสัตว์ป่าของโน้ตก็ถูกนำไปใช้ในการประชาสัมพันธ์อยู่หลายหน่วยงาน

“สัตว์ทุกตัวค่อนข้างมีความว่องไว แทบไม่ได้จัดองค์ประกอบในการถ่ายเลย วิธีการที่ดีที่สุดคือกดชัตเตอร์ให้เร็วและรัวที่สุด (หัวเราะ)

ความยากอยู่ตรงช่วงที่รอมากกว่า เพราะตอนถ่ายจริงๆ เราไม่มีโอกาสทำอะไรมาก สัตว์ก็จะเดินไปที่โป่ง ถ้าเขาไม่เห็นเราเขาก็ใช้ชีวิตของเขาไป กินน้ำกินหญ้า เหมือนเราไปแอบดูเขามากกว่า

ตอนหลังผมเปลี่ยนมาถ่ายมาถ่ายวิดีโอ คือสัตว์เขาไม่ใช่นางแบบ เราจะจัดท่าทางให้ได้ หรือจะต้องรอแสงรอองค์ประกอบต่างๆ อย่างบางทีเจอตอนเที่ยงก็ต้องรีบถ่าย แม้ว่าแสงตอนเที่ยงจะแข็งและตกบนหัว”

ช้าง คือสัตว์ที่โน้ตชอบถ่ายภาพที่สุด “มันตื่นเต้นดี คือเขาเป็นสัตว์ที่ไม่กลัว ช้างป่ามีความน่าเกรงขาม ดูปราดเปรียวระแวดระวังภัย คือดูไม่เชื่อง เราก็ไม่รู้ว่ามันจะทำอะไรเราไหม ทำให้มีความกลัวความตื่นเต้นอยู่บ้าง

ระยะทางระหว่างที่ช้างอยู่กับเราไกลนะ แต่ด้วยความเป็นช้าง เดินนิดเดียวก็ถึงเราแล้ว คือสัตว์ส่วนใหญ่ วัวแดง กระทิง พอได้ยินเสียง ได้กลิ่นคน มันก็จะเลิกกินน้ำกินหญ้า หันมามองเรา หรือวิ่งหนีไปแล้ว แต่ช้างไม่หนี หรือมักจะเดินเข้าหา

ก็ไม่ได้กลัวขนาดนั้น คือสัตว์ทุกชนิด มนุษย์ไม่ได้เป็นอาหารหลัก เขาก็ไม่ได้ล่าเราอยู่แล้ว เราก็พยายามรักษาระยะห่างเพื่อความปลอดภัย”

เมื่อเข้าหาธรรมชาติก็ไม่ควรนำสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อนธรรมชาติ “การเข้าป่าถ่ายภาพเป็นการเข้าไปรบกวนสัตว์ ถ้าจะทำอะไรอย่างอื่น เราต้องระมัดระวังให้มาก

ผมบอกตัวเองเสมอว่า ขยะทุกชิ้นต้องเอาออกมา ไม่ใช่ทิ้งที่ถังขยะอุทยานนะ เอามาทิ้งที่กรุงเทพฯ เพราะไม่อย่างนั้นจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับทางเจ้าหน้าที่ คือพยายามเอาสิ่งที่จะเป็นขยะเข้าป่าไปด้วยน้อยที่สุด และก็ช่วยเก็บออกมาด้วย พวกพลาสติกฝาขวดเจอเยอะมาก ถ้าสัตว์ป่ากินเข้ามันจะตายได้ เป็นสิ่งอันตรายมากๆ

ผู้พิทักษ์ป่าไม่ได้มีหน้าที่ต้องคอยเก็บขยะให้ประชาชน การเข้าป่าไม่ใช่เรื่องลำบาก เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวได้ เพียงแต่ต้องทำตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด

อย่างฉี่ยังต้องฉี่ใส่กระป๋อง ถ้าเราอยู่ในจุดที่เป็นโป่งแหล่งอาหารของสัตว์ต่างๆ มันละเอียดอ่อน บางทีสัตว์มากินแล้วติดโรคก็อาจจะป่วยตายได้ เพราะมีกรณีของสัตว์ป่าที่ติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านที่อยู่ตามแนวป่า”

ป่าสู่สังคม

วัชรบูล ลี้สุวรรณ วันที่เดินเข้าป่า

อีกหนึ่งบทบาทของโน้ต คือ เป็นกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มา 2 ปีแล้ว จากการชักชวนของอาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ

“เขาเห็นว่าชอบเรื่องราวเกี่ยวกับป่า สามารถเล่าให้คนฟังได้ เขาก็เชิญไปพูดตามสถานศึกษา เราก็ไปช่วยตลอด ไม่คิดตังค์

ความจริงเราก็ไม่ได้มีบทบทมาก เพราะในทีมทุกคนเก่งกันมากอยู่แล้ว แต่เราจะเสริมในส่วนที่ทำได้ ช่วยในเรื่องของการกระจายข้อมูลแชร์ข่าวสารที่ถูกต้อง

การเป็นนักแสดงผมก็มองว่าเป็นความโชคดีของชีวิต เพราะฉะนั้นอะไรที่เราจะตอบแทนสังคมได้ในแบบที่เราทำได้ก็ควรทำเลย

บางคนอาจทำบุญกับสัตว์ ทำบุญกับคนพิการ แต่เรารักป่าเราก็ทำตรงนี้ แล้วมันเป็นสิ่งที่เราชอบเราจะยิ่งเต็มที่

ที่ผ่านมามีโอกาสทำบุญเยอะมากด้วยความที่แป็นแสดง ซึ่งมันก็เป็นการคัดกรองว่าอะไรที่เราชอบและถนัดจริงๆ เพราะฉะนั้นการทำบุญกับระบบนิเวศ การช่วยเหลือเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ผมอยากทำตรงนั้นมากกว่า

ในอินสตาแกรมของผมก็มีโพสต์รูป หรือข้อมูลเกี่ยวกับป่า ซึ่งแฟนคลับก็สนใจ บางทีเขาก็บอกเป็นเรื่องไม่เคยรู้มาก่อน หรือคุณวีรภาพ (สุภาพไพบูลย์) เพื่อนผม เดินมาคุยว่า ผมรู้แล้วนะว่าหมีกับนกเงือกมันสัมพันธ์กันยังไง เราก็ดีใจ

มีคนขอตามเข้าป่าเยอะมาก เพื่อนๆ นักแสดงก็มี แต่ยังไม่มีเวลาว่างที่ตรงกัน ที่สำคัญผมกลัวว่าเขาจะเบื่อกัน เพราะมันนั่งอยู่ในบังไพร นั่งอยู่เฉยๆ จริงๆ เลย ทั้งวัน แต่ผมเป็นพวกพิชิตความเบื่อ

เข้าป่าทุกครั้งเวลารอก็เกิดความเบื่อบ้าง แต่พอกลับไปที่แคมป์อาบน้ำอาบท่า มีกำลังใจขึ้นมาก็ลองดูอีก ทุกวันนี้ก็ยังเบื่อ แต่พออยู่ในเมืองสักเดือนสองเดือนก็เบื่อเมืองกลับเข้าป่าอีก (หัวเราะ)”

สำหรับใครที่สนใจจะเข้าป่า คุณอาจต้องลองสัมผัสด้วยตัวเองมากกว่าฟังเรื่องเล่าจากคนอื่น เพราะจะเป็นการตอบตัวเองได้ว่าชอบหรือไม่ แต่อย่างไรอย่าละเมิดกฎแห่งพงไพร ไม่รุกล้ำ ไม่ระราน ให้คนกับธรรมชาติเป็นหนึ่งเดียวกัน