posttoday

ให้เปลี่ยนชื่อวัดอินทาราม เป็นวัดสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ

31 ธันวาคม 2560

จากการที่กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ทำการฉลอง 250 ปี แห่งการสถาปนากรุงธนบุรี

โดย...ส.สต

จากการที่กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ทำการฉลอง 250 ปี แห่งการสถาปนากรุงธนบุรี เป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ 28 ธ.ค. 2560-28 ธ.ค. 2561 นั้น ผู้เขียนจึงไปวัดอินทาราม เพื่อหาข้อมูลประกอบงานฉลอง เพราะวัดแห่งนี้มีวัตถุสถานหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประกอบกับวัดนี้มีศักดิ์และฐานะสูงเป็นถึงพระอารามหลวงชั้นเอกอุ นอกจากนั้นยังมีพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมอัฐิและราชูปโภคขององค์มหาราชพระองค์นั้นตั้งอยู่ด้วย

ปัจจุบันวัดอินทาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมเรียกว่า วัดบางยี่เรือนอก และวัดสวนพลู หรือวัดบางยี่เรือไทย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งหมด แล้วได้สถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ พระองค์เสด็จมาทรงศีล ปฏิบัติกรรมฐาน วัดนี้จึงเป็นวัดใหญ่และมีความเจริญรุ่งเรืองยิ่งในสมัยนั้น

วัดแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งพระเมรุเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพพระราชมารดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเป็นที่ฝังและพระราชทานเพลิงศพองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หลังจากสวรรคตในปี 2325 ปัจจุบันมีพระเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิและพระเจดีย์บรรจุพระอัฐิอัครมเหสี ตั้งอยู่เคียงคู่กัน

เมื่อเปลี่ยนรัชกาล และที่ตั้งเมืองหลวงใหม่ วัดนี้ยังมีฐานะเป็นพระอารามหลวงอยู่ตลอดรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะว่ามีพระราชาคณะครองวัดถึง 3 รูป แต่หลังจากนั้นก็ขาดการปฏิสังขรณ์ จึงชำรุดทรุดโทรมตามลำดับ ลุถึงสมัยรัชกาลที่ 3 พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ได้บูรณะขึ้นใหม่ จากนั้นน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวงในรัชกาลที่ 3 แต่ฐานะของวัดลดลง เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี พร้อมทั้งได้รับพระราชทานนามว่า วัดอินทาราม ที่กล่าวมานี้เป็นข้อมูลบางส่วน ที่ กทม.ทำมาติดไว้ที่ถนนเทอดไท

ให้เปลี่ยนชื่อวัดอินทาราม เป็นวัดสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ

 

เมื่อผู้เขียนเข้าไปที่เขตพุทธาวาส ซึ่งเป็นที่ตั้งพระอุโบสถขนาดใหญ่ สถาปัตยกรรม สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีรูปลักษณ์พิเศษ เรียกกันว่า พระอุโบสถตกท้องสำเภา หมายถึงพระอุโบสถที่ส่วนฐานของอาคารเป็นรูปทรงอ่อนโค้ง ในบริเวณพระอุโบสถนั้นขนาบด้วยพระวิหารทั้งสองด้าน

ด้านพระอุโบสถที่ติดกับคลองบางกอกใหญ่ มีใบเสมาโบราณขนาดใหญ่ อายุอาจถึงยุคสุโขทัย ตั้งอยู่ ถัดไปเป็นพระบรมรูปหล่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ส่วนด้านที่ติดกับถนนเทอดไทมีพระเจดีย์ 3 องค์ และลักษณะพระปรางค์อีก 2 องค์ตั้งอยู่

ถัดจากบริเวณที่ตั้งพระอุโบสถ พระวิหาร และพระเจดีย์ที่กล่าวแล้ว เป็นที่เกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้แก่ ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่ง กทม.ให้ข้อมูลว่า เป็น 1 ใน 4 ศาลขนาดใหญ่ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในฝั่งธนบุรี ที่จะมีผู้คนมาสักการะเป็นจำนวนมาก ในวันเสาร์-อาทิตย์ เทศกาลตรุษจีน วันงานประจำปีของวัด วันที่ 10-19 มี.ค.  และวันที่ 28 ธ.ค.ของทุกปี (วันปราบดาภิเษก) กลุ่มคนที่มาสักการะมากที่สุด จะเป็นคนเชื้อสายจีน

ข้อมูลของ กทม.ยังกล่าวต่อว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสวรรคตไปแล้วกว่า 200 ปี แต่ในความรู้สึกของชาวไทย พระองค์มิได้สูญหายไป เพียงแต่เปลี่ยนสถานะจากพระมหากษัตริย์ยอดนักรบผู้กู้ชาติ มาเป็นองค์ศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกปักรักษาบ้านเมือง พระองค์คือวีรบุรุษของชาติ พระองค์เป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญและเสียสละที่ได้กอบกู้บ้านเมือง ดังนั้นศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงเป็นเสมือนที่พึ่งทางใจแก่ปวงชนชาวไทย โดยเฉพาะผู้คนย่านฝั่งธนบุรี

ด้านหน้าศาลนั้น เป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์ย่อมุมไม้ 12 จำนวน 2 องค์ ซึ่งองค์ซ้ายมือ เมื่อหันหน้าเข้าหาศาล หันหลังให้คลองบางกอกใหญ่ คือ พระเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระเจ้าตากสินมหารช องค์ที่คู่กันทางขวามือ เป็นพระเจดีย์บรรจุพระอัฐิอัครมเหสี ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ให้เปลี่ยนชื่อวัดอินทาราม เป็นวัดสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ

 

ที่กล่าวมานี้ คือ วัตถุโบราณ รวมทั้งพระแท่นบรรทม ตั้งอยู่ในศาลที่เกี่ยวข้องกับวีรบุรุษชาวไทยที่สามารถเห็นได้ในปัจจุบัน

เมื่อทอดตาไปตามคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งเป็นซูเปอร์ไฮเวย์ทางน้ำในอดีต ก็มีความคิดแวบหนึ่งขึ้นมาว่า ภาครัฐนำโดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ควรจะทำการเทิดพระเกียรติยศของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชให้ระบือไกลยิ่งขึ้น โดยขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เปลี่ยนชื่อวัดอินทารามใหม่ ว่า วัดสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทั้งนี้นอกจากเทิดพระเกียรติวีรบุรุษของชาติแล้ว ยังเป็นการเทิดทูนสถาบันไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมแบบยั่งยืนด้วย

เหตุผลที่สนับสนุนในการเปลี่ยนชื่อ คือ อินทาราม เป็นชื่อใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 การจะหาเหตุผลมาอ้างว่าเพราะอะไรจึงพระราชทานนามนั้นหาได้ยาก นอกข้อมูลจากหนังสือ ธนบุรีนี้มีอดีต โดย ป.บุนนาค ที่อ้างหนังสือศิลปกรรมในกรุงเทพมหานคร ของ น.ณ ปากน้ำ อีกทอดหนึ่งว่า ในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช มีเจ้าอาวาสของวัดรูปหนึ่ง ทรงสมณศักดิ์ที่พระพรหมมุนี ต่อมาลาสิกขา เพราะต้องอธิกรณ์ว่าทำเมถุนกรรมทางเว็จมรรคกับศิษย์ แต่เป็นคนมีความรู้ความสามารถสูง จึงให้นายอิน พรหมมุนี เป็นหลวงธรรมาธิบดี เจ้ากรมสังฆการีซ้าย พระราชทานภรรยาหลวงราชมนตรีผู้ถึงแก่กรรมให้เป็นภรรยาทั้งสองคน

ดังนั้น คำว่า อินทาราม จึงสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากชื่อนายอิน พรหมมุนี ก็ได้ (ควาเห็นของผู้เขียน) ข้อเสนอให้เปลี่ยนชื่อวัด ถ้าได้รับการสนับสนุนจากนักประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และมหาเถรสมาคม ย่อมจะได้ชื่อว่าเป็นการฉลอง 250 ปี การสถาปนากรุงธนบุรี อย่างมีความหมาย และเป็นการเทิดพระเกียรติมหาราช ผู้ทรงเป็นวีรบุรุษชาติไทย อย่างยิ่งใหญ่สืบไปชั่วกัลปาวสาน