posttoday

รักตัวเอง อย่าลืมไปเช็กอัพสุขภาพ

12 ธันวาคม 2560

การตรวจสุขภาพประจำปี เป็นสิ่งสำคัญที่คนเรามักจะละเลย

การตรวจสุขภาพประจำปี เป็นสิ่งสำคัญที่คนเรามักจะละเลย บางคนเลือกที่จะหนีความจริง เพราะกลัวผลการตรวจจะพบว่าตัวเองกำลัง “ป่วย” ขณะที่หลายคนอ้างว่าไม่มีเวลา ทั้งที่จริงๆ แล้ว ถ้าเปิดใจให้กว้างจะพบว่า “การตรวจสุขภาพ” ก็เหมือนการเอารถไปเช็กระยะ เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์ หากพบความผิดปกติจะได้แก้ไขได้ทัน ลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

นพ.ณัฐพล ประจวบพันธ์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพและอาชีวอนามัย โรงพยาบาลวิภาวดี ให้คำแนะนำในงาน “V Health Fair 2017 ช็อปเพื่อสุขภาพ” ว่า การดูแลสุขภาพให้มีความสมบูรณ์และแข็งแรงอยู่เสมอต้องประกอบไปด้วย การดูแลส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค ซึ่งมีองค์ประกอบหลักๆ คือ 1.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตที่ไม่ดี เพื่อป้องกันโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อ ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดัน หัวใจ หลอดเลือดสมอง มะเร็ง

ถัดมาคือ ดูแลเรื่องอาหาร ต้องลดอาหารหวาน มัน เค็ม หลีกเลี่ยงอาหารไหม้ เกรียม สุกๆ ดิบๆ เพิ่มอาหารประเภทผัก ผลไม้ควบคู่ไปกับการดูแลอารมณ์ อย่าเครียด ไม่ละเลยการออกกำลังกาย เพราะนอกจากจะช่วยควบคุมน้ำหนักตัวแล้ว ยังช่วยควบคุมระดับน้ำตาลไขมัน ความดัน ให้ดีขึ้นตามมาด้วย สำหรับใครที่ไม่มีเวลาจริงๆ แนะนำให้ออกกำลังให้ได้อย่างน้อยวันละ 30 นาที อาทิตย์ละ 3 ครั้ง

“ใครที่ยังสูบบุหรี่ แนะนำว่าควรหลีกเลี่ยง เพราะนอกจากจะเป็นต้นเหตุของภาวะของโรคถุงลมโป่งพองและมะเร็งปอดแล้ว ยังมีความสัมพันธ์กับโรคภาวะหัวใจขาดเลือดอีกด้วย นอกจากนี้ยังรวมถึงการดื่มสุราถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง”

สร้างเกราะคุ้มกันให้ร่างกายแล้ว ต้องไม่ลืมการป้องกัน นพ.ณัฐพล เน้นย้ำถึง “การรับวัคซีน” ที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย ตลอดจนการตรวจคัดกรองสุขภาพ ว่าเป็นกระบวนการดูแลตัวเองแบบป้องกันที่ตอบโจทย์คนยุคนี้มากขึ้น เป็นการรักษาตั้งแต่ต้นเหตุ ค้นหาโรคหรือภาวะผิดปกติตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม จะได้ป้องกันและรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ พร้อมหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงก่อนที่จะเป็นโรคร้ายแรง ข้อดีคือ ช่วยลดอัตราการป่วย และอัตราการเสียชีวิตได้เป็นอย่างดี โดยการคัดกรองนี้แบ่งออกเป็น โรคที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับการทำงาน และโรคที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงาน

 

รักตัวเอง อย่าลืมไปเช็กอัพสุขภาพ

 

 

สำหรับโรคที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับการทำงาน ได้แก่ โรคเรื้อรังต่างๆ รวมถึงโรคมะเร็ง สิ่งสำคัญ คือ เราต้องรู้ก่อนว่าเรามีปัจจัยเสี่ยงอะไร โดยแพทย์จะทำการซักประวัติถึงปัจจัยเสี่ยง และจะดีไซน์รายการตรวจสุขภาพที่เหมาะกับเรามากที่สุด ส่วนโรคที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานยกตัวอย่างเช่น กลุ่มคนทำงานที่ต้องสัมผัสกับเสียงดัง ถ้าทำไปนานๆ หลายๆ ปี วันหนึ่งอาจเกิดภาวะหูดับ หูตึงจากการสัมผัสเสียงได้ หรือพนักงานออฟฟิศที่นั่งโต๊ะทำงานทั้งวัน พอทำไปสักพัก ปวดหลัง ปวดต้นคอ ปวดเอว นิ้วล็อก การตรวจในลักษณะนี้แนะนำให้ตรวจกับแพทย์เฉพาะทางจะได้ผลที่แม่นยำ เพื่อหาแนวทางรักษาอย่างตรงจุด 

สัญญาณเตือนช่องปากมีปัญหา

มูลนิธิทันตสาธารณสุข ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข ระบุถึง 5 สัญญาภายในช่องปากที่ทุกคนควรสังเกตเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลทำความสะอาดช่องปากก่อนจะสายเกินแก้

1.มีกลิ่นปากโดยหาสาเหตุไม่ได้ ต่อให้เพิ่งแปรงฟันเสร็จ ยังคงรู้สึก ถึงกลิ่นปากที่ลอยออกมาทุกครั้งที่พ่นลมหายใจหรือพูดกับคนรอบข้าง

2.สีฟันขุ่นมัว ดูเหลือง ไม่ขาวสะอาด ทุกครั้งที่ส่องกระจกหลังแปรงฟันเสร็จ ยังเห็นสีฟันเหลืองชัดเจนอยู่

3.คราบพลักเกาะอยู่บนผิวฟัน หลังจากแปรงฟันเสร็จแล้ว ยังรู้สึกเหมือนมีแผ่นฟิล์มเหนียวๆ ติดอยู่บนฟัน

4.โรคฟันผุ ทั้งที่แปรงฟันเป็นประจำ แต่ยังปวดฟันอย่างหาสาเหตุไม่ได้ และฟันเริ่มเป็นรูจุดดำเล็กๆ

5.เหงือกอักเสบและเป็นแผล สังเกตว่าเหงือกบวม แดง หรือมีเลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างแปรงฟัน

ก่อนที่ปัญหาสุขภาพในช่องปากจะบานปลาย แนะนำให้หันมาใส่ใจกับการดูแลสุขภาพปาก เริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปรงสีฟัน เพราะจากผลการวิจัยของออรัล บี พบว่า แปรงสีฟันที่ใช้ทุกวันไม่ควรใช้งานเกิน 3 เดือน เนื่องจากแปรงสีฟันเป็นแหล่งสะสมของของแบคทีเรีย ไวรัส และสิ่งสกปรกต่างๆ นับล้านชนิด และเมื่อเราใช้ทำความสะอาดเช้า-เย็น เท่ากับว่าเรากำลังเอาแบคทีเรียและสิ่งสกปรกเข้าไปสู่ร่างกาย หรือบางครั้งขนแปรงที่บานจนขาดประสิทธิภาพในการทำความสะอาดเศษอาหารและสิ่งสกปรกตามซอกเหงือกและฟัน ทำให้สิ่งสกปรกตกค้าง และเกิดการหมักหมมภายในช่องปากได้