posttoday

ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ตระหนักรู้อยู่กับปัจจุบัน มองดูความคิดที่ไหลไปเรื่อยๆ

27 สิงหาคม 2560

ฟัง ดร.อุดม หงส์ชาติกุล นักออกแบบการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย

โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ : ประกฤษณ์ จันทะวงษ์

ฟัง ดร.อุดม หงส์ชาติกุล นักออกแบบการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย (คนกล้าคืนถิ่น) เล่าถึงงานที่ทำแล้ว คนฟังถึงกับอุทานในใจ การออกแบบเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ช่างเป็นงานที่ต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจ ไม่นับระยะเวลา ที่ผูกมัดหรือเข้าไปเกี่ยวข้องสัมผัสสัมพันธ์กับหลายส่วนหลายฝ่าย หากก็คุ้มค่า เพราะเดิมพันคือผลการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

...แล้วจะเอาเวลาที่ไหนพักผ่อน แล้วจะบริหารจัดการเวลาในชีวิตอย่างไร แล้วจะเลือกใช้ชีวิตให้ช้าลงบ้างได้ไหม สโลว์ไลฟ์ที่จำเป็นต่องาน ฯลฯ คำถามเหล่านี้จะถูกตอบเมื่อเราได้เข้าใจวิธีคิด และวิธีการออกแบบของนักออกแบบผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบคนนี้เสียก่อน...

“ผมโชคดีมากที่ได้ทำงานตามที่ฝัน งานที่มีความหลากหลายและท้าทาย งานที่รักและภาคภูมิใจ ผมเป็นที่ปรึกษาด้านพัฒนาองค์กร การกำหนดยุทธศาสตร์และพัฒนากลยุทธ์ กลยุทธ์การตลาดและการสร้างแบรนด์ การท่องเที่ยว การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การพัฒนาผู้นำ การสร้างผู้นำเชิงบวก การสร้างการมีส่วนร่วมผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการทางสังคม กลยุทธ์สีเขียว และการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ตระหนักรู้อยู่กับปัจจุบัน มองดูความคิดที่ไหลไปเรื่อยๆ

จากโครงการแรกเมื่อ 10 ปีก่อน “เราจะส่งมอบประเทศไทยอย่างไรให้ลูกหลาน” ถึงปัจจุบันคือโครงการอาหารยั่งยืน ว่าด้วยการออกแบบเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ปฏิรูประบบอาหารปลอดภัย สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ทุกฝ่ายในห่วงโซ่อาหาร ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ

ทำไมการตระหนักรู้จึงสำคัญ ก็เพราะซิสเต็มเชนจ์ (System change) หรือการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อทุกคนที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจว่าระบบปัจจุบันไม่สมบูรณ์ และตระหนักว่าเขาโดยลำพังไม่สามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเอง นั่นหมายถึงการที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน และต้องหันมาร่วมมือกันเร็วๆ ด้วยหากตระหนักได้ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ มีความเร่งด่วนแค่ไหน

“ความรู้สึกร่วมถึงความเร่งด่วนในการเปลี่ยนแปลง ผู้นำหลายภาคส่วนต้องมีความตระหนักในเรื่องนี้ เพราะคือหัวใจของการทำซิสเต็มเชนจ์ หน้าที่ของผมคือการทำอย่างไรถึงจะเกิดโอกาสในการทำงานร่วมกันได้ มีพื้นที่ปลอดภัยและสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่ทุกคนจะเข้ามาจับมือกันได้”

เหมือนกับห้องปฏิบัติการทางสังคมห้องหนึ่ง (Social Laboratory) ดร.อุดมเล่าว่า คือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนขึ้น บริบทคล้ายๆ กับห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่นักทดลองทุกคน จะมีโอกาสได้ลองผิดลองถูก ได้ทดลองอะไรบางอย่างร่วมกัน เป็นพื้นที่ที่สามารถคิดสามารถเปิดใจ และร่วมกันหาทางออก

“ทุกวันนี้อาหารไม่ปลอดภัย ตั้งแต่ต้นน้ำคือทรัพยากรดินน้ำ เมล็ดพันธุ์ การผลิตภาคการเกษตร การแปรรูป การจัดส่งหรือโลจิสติกส์ การจัดจำหน่าย แม้กระทั่งการแปรรูปขั้นสุดท้ายที่ตัวผู้บริโภคเอง ไม่มีขั้นตอนใดหรือจุดใดที่ปลอดภัย 100% เราทุกคนในสังคมได้ตระหนักรู้หรือไม่”

ดร.อุดมกล่าวว่า นี่คือโจทย์ที่ใหญ่มากในสังคมบ้านเรา มูลนิธิฯ เริ่มจากการประเมินเรื่องการปฏิรูปส่วนของต้นน้ำ หากคำตอบคือการปฏิรูปทั้งระบบ สร้างเกษตรกรที่สามารถอยู่ได้ด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ นำมาซึ่งโครงการคนกล้าคืนถิ่น ซึ่งปัจจุบันดำเนินการมาถึงปีที่ 3 สร้างคนกล้าคืนถิ่นแล้ว 1,700 คน ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรในภาคเกษตรกรรมของประเทศนี้

 “คนกล้าคืนถิ่นคือการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อการทำเกษตรอินทรีย์ ใส่ความเข้าใจเรื่องวิถีพึ่งตนเอง หยุดวิถีซื้อกิน หันมาพึ่งตนเองและพึ่งเครือข่าย อยู่ได้ด้วยพึ่งพากัน แบ่งปันกัน เครือข่ายแข็งแรง ตัวตนของเกษตรกรก็แข็งแรง”

“เกษตรกรคืนถิ่น คืนฐาน สืบสานชุมชน” นั่นหมายถึงการกลับมาของระบบอาหารยั่งยืน ปัจจุบันอายุเฉลี่ยของเกษตรกรไทยคือ 58 ปี ถ้าไม่เร่งสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ๆ ก็ไม่แปลกที่เกษตรกรจะไม่มีเหลืออยู่ต่อไป นั่นหมายถึงการสาบสูญหายของวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตและวิถีถิ่น ความเป็นมาแต่เก่า คนไทยจะสูญเสียราก

ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ตระหนักรู้อยู่กับปัจจุบัน มองดูความคิดที่ไหลไปเรื่อยๆ

สำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือเกษตรกรพันธุ์ใหม่ ดร.อุดมกล่าวว่า ควรจะต้องเป็นคนรุ่นใหม่ที่พัฒนาความรู้ความสามารถได้ อีกมีความรู้เรื่องเทคโนโลยี ในอันที่จะประคับประคองวิถีเกษตรแบบดั้งเดิม ขณะเดียวกันก็ต่อยอดในเรื่องระบบอาหารที่ยั่งยืนต่อไป

“แอบหวังในใจว่า เราจะสร้างต้นแบบของผู้นำการเปลี่ยนแปลง หรือผู้นำชุมชนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับชุมชนให้ได้จำนวน 1 หมื่นคน ภายใน 5 ปีข้างหน้า กล่าวอีกนัยหนึ่งคือตำบลละ 1 คน คนกล้าต้นแบบนี้จะสร้างคนรุ่นต่อไปในอัตราส่วน 1 ต่อ 10 หมายถึงจาก 1 หมื่นคน กระจายเป็น 1 แสนคน เพื่อแตะหลักล้านคน ภายในปี 3-4 ปีต่อจากนั้น”

ถึงตอนนั้นก็เชื่อว่า ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางอาหารโลกอย่างแท้จริง ด้วยต้นทุนความเหมาะสมด้านภูมิประเทศและภูมิอากาศ รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศในเขตเส้นศูนย์สูตร ประชาชนพึ่งตนเองด้านอาหาร ขณะเดียวกันก็เหลือจัดจำหน่ายส่งออกเลี้ยงดูแลพลเมืองโลก จุดเริ่มต้นที่สำคัญก็คือ เรา...ประชาชนแต่ละหน่วย สามารถพึ่งตนเองให้ได้ก่อน

ขอเอาใจช่วยให้ไปถึงจุดนั้นเร็วๆ ทว่าชีวิตส่วนตัวของ ดร.อุดม ผู้ออกแบบการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเองเล่า ได้ออกแบบชีวิตส่วนตัวไว้อย่างไร เจ้าตัวเล่าว่า ชีวิตคือการแอบอิจฉาคนกล้าคืนถิ่นในโครงการของตัวเอง อ้าว! ก็เพราะดอกเตอร์คนเก่งเป็นชาวฝั่งธนบุรีโดยกำเนิด ครอบครัวแต่เดิมทำธุรกิจและไม่มีพื้นที่สำหรับเพาะปลูก เรียกว่าไม่มีถิ่นจะให้คืนกลับ (ฮา)

งานของ ดร.อุดม อย่างที่เล่าให้ฟังว่า คือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบล้วนๆ (ฮา) สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน นั่นหมายถึงการพัฒนาตัวเองและตระหนักรู้ในตัวเองด้วยเช่นกัน ดร.อุดมเล่าว่า วันหยุดและวันทำงานคือการบริหารแบ่งเวลา อย่างไรก็ตาม แม้ในวันสุดสัปดาห์ก็อาจต้องยืดหยุ่น เพื่อเสียสละเวลาให้กับคนกล้าคืนถิ่นบ่อยครั้ง 

“ผมใช้หลักบริหารเวลา สนุกกับงานและการทุ่มเท รู้สึกว่าโชคดี ที่ได้พบได้รู้จักและเรียนรู้จากผู้นำที่ยิ่งใหญ่ ผู้นำหลายแบบ หลากหลายประสบการณ์ ในองค์กรและอุตสาหกรรมต่างๆ แน่นอนที่ทุกวันนี้ผมยังคงเรียนรู้ต่อไป”

ดร.อุดมกำลังศึกษาต่อปริญญาเอก โดยในปีนี้ได้รับเชิญเป็นผู้เรียน (fellow) รุ่นแรก (first cohort) เข้าไปมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ด้านการสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับโลก ใน Academy for Systematic Change ชึ่งมีผู้ร่วมก่อตั้งระดับโลกอย่าง Peter M. Senge, Senior Professor ของ MIT Sloan School of Management กูรูด้าน Learning Organization เป็นผู้ก่อตั้ง Society for Organizational Learning (SoL) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง the Fifth Discipline: The Art and Practice of Learning Organization Professor Hal Hamilton ผู้ก่อตั้งและประธานของ global Sustainable Food Lab

ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ตระหนักรู้อยู่กับปัจจุบัน มองดูความคิดที่ไหลไปเรื่อยๆ

ไลฟ์สไตล์คือการเรียนรู้ ชอบเรียนรู้และมองโลกแง่ดีเสมอ แบ่งเวลาให้ดี จัดสรรเวลาให้ได้ วันหยุดใช้เวลากับครอบครัว รวมทั้งให้เวลากับตัวเอง ในฐานะที่เป็นผู้นำเรื่องการเปลี่ยนแปลง ดร.อุดมให้ความสำคัญกับการตระหนักรู้ของคนในสังคม ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการตระหนักรู้ของตัวเอง

“การมีเวลาอยู่กับตัวเองบ้าง สำหรับผมแล้วเป็นเรื่องจำเป็น เพราะสำคัญมากที่จะได้มองเห็นตัวเอง กระบวนการหนึ่งคือการทบทวน คือความตื่นรู้ เป็นเรื่องที่ต้องฝึก สโลว์ไลฟ์กับหน้าที่การงาน ต้องทำให้สมดุลกัน” ดร.อุดมเล่า

ช่วงเวลาแห่งการใช้ชีวิตที่ช้าลง คือการสงบจิตใจ โดยใช้เวลานั่งเฉยๆ ไม่ทำกิจกรรมใด หากอยู่กับตัวเองเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องนั่งสมาธิ แต่มักจะอยู่ในท่าทางที่สงบและสบาย อาจมีสมุดโน้ต 1 เล่มในมือ แล้วปล่อยสมองให้ไหลไป รู้ว่าเราคิดอะไรอยู่ ถ้าอยากจดหรืออยากวาดอะไร ก็วาดก็เขียนลงในสมุดที่ในมือ ให้สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนสิ่งที่อยู่ภายใน (Reflection)

“ผลที่ได้คือการตระหนักรู้ซึ่งสำคัญ สโลว์ไลฟ์สำหรับผมคือการรู้เท่าทันความคิดของตัวเอง รู้ว่าเรากำลังคิดอะไรหรือไม่ได้คิดอะไร ทั้งหมดนี้สะท้อนและเชื่อมโยงถึงการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ที่เราต้องรู้ว่าเรากำลังรู้หรือว่าเรากำลังไม่รู้อะไร”

สุดท้ายคือคำถามแห่งความหวังว่า ผู้ออกแบบการเปลี่ยน มีความหวังกับสังคมไทยแค่ไหน ดร.อุดมกล่าวว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องมีความหวัง คนไทยที่คิดดีหวังดีและต้องการเห็นสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในสังคมยังมีอีกมาก เพียงแต่ต้องมี “พื้นที่” เพื่อที่ทุกคนจะได้ลุกขึ้นและร่วมกันขับเคลื่อน โจทย์ในสังคมมีคำตอบมากกว่าหนึ่ง คำตอบที่ดีที่สุดไม่มีอยู่หรอก มีแต่คำตอบที่ดีกว่าเสมอ

“มาสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกันเถอะครับ”