posttoday

I Read

20 สิงหาคม 2560

“ทุนนิยมในศตวรรษที่ 21” ของ โทมัส พิเก็ตตี อาจเทียบได้กับ Das Kapital หรือ “ว่าด้วยทุน” ของคาร์ล มาร์กซ์

โดย...กรกิจ ดิษฐาน

ทุนนิยมในศตวรรษที่ 21-Capital in the Twenty-First Century (โทมัส พิเก็ตตี : เขียน/นรินทร์ องค์อินทรี : แปล/สนพ. โพสต์บุ๊กส์/ราคา 900 บาท) “ทุนนิยมในศตวรรษที่ 21” ของ โทมัส พิเก็ตตี อาจเทียบได้กับ Das Kapital หรือ “ว่าด้วยทุน” ของคาร์ล มาร์กซ์ ในแง่ของการนำเสนอข้อมูลอันมหึมาเพื่อตั้งสมมติฐานและหาทางออกให้กับผู้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ สิ่งที่แตกต่างระหว่างงานระดับไอคอนทั้งสองเล่ม คือเล่มหลังเสนอทฤษฎีเปลี่ยนแปลงโลกแบบพลิกฟ้าคว่ำดิน เพื่อสร้างสังคมที่แรงงานเป็นผู้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริง โดยไม่มีการขูดรีดส่วนเกินจากนายทุน ในสังคมนั้นทุกคนคือ “กรรมาชีพ” เท่าเทียมกับ รับประโยชน์เท่าเทียมกัน และมีสิทธิมีเสียงเท่าเทียมกัน และมันคือที่มาประชาธิปไตยแบบสังคมนิยมนั่นเอง (แต่ประชาชนจะมีอธิปไตยจริงๆ หรือไม่นั้นมันอีกเรื่อง)

ขณะที่พิเก็ตตีไม่ได้ตั้งธงไว้ว่าต้องปลดปล่อยแรงงานออกจากนายทุน เขามองว่าคนส่วนใหญ่ในโลกล้วนแต่ถูกเอาเปรียบจากการสะสมทุนในอัตราอภิมหาก้าวหน้า จนทุนไปกระจุกตัวที่คนเพียงไม่กี่คน เขาจึงเสนอแนวทางเกลี่ยความไม่เท่าเทียมกันด้วยสูตรทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งต่างจากมาร์กซ์ ที่เสนอให้ตั้งองค์กรทางการเมืองเพื่อเคลื่อนไหวล้มล้างอำนาจรัฐที่เอื้อทุน และต่อจากนั้นล้มล้างระบบทุนเสีย ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ออกจะะรุนแรงเกินไป ขณะที่ “ทุนนิยมในศตวรรษที่ 21” เสนอทางออกให้กับทุกคนทุกอาชีพโดยไม่ต้องพะฉลากให้ทุกคนเป็นกรรมาชีพ หรือล้มล้างอะไรทั้งสิ้น ยกเว้นปรับปรุงระบบสวัสดิการและรัฐต้องทำหน้าที่กรรมการไกล่เกลี่ยความมั่งคั่งให้เท่าเทียม ที่สำคัญที่สุดคือการปฏิรูประบบภาษีให้ก้าวหน้าที่สุดถึงที่สุดเพื่อไล่ตามการสะสมของทุน โดยกลุ่มคนส่วนน้อยที่สะสมทุนอย่างบ้าคลั่งและหวงแหนมันราวกับไข่ในหิน

ข้อเด่นของหนังสือเล่มนี้ คือพยายามทำข้อมูลและสมการทางเศรษฐศาสตร์ให้ง่ายเพื่ออธิบายการก่อตัวของทุน การสั่งสมความมั่งคั่ง เพื่อชี้ให้เห็นว่าเหตุใดความร่ำรวยจึงกระจุกตัวอยู่ที่คนไม่กี่คน สิ่งที่ดีงามประการหนึ่งคือ พิเก็ตตีอ้างวรรณกรรมอัตถนิยม (ซึ่งวิพากษ์ความละโมบของนายทุนและความลำเอียงของอำนาจรัฐ) เพื่ออธิบายความเหลื่อมล้ำให้เห็นภาพแทนที่จะใช้ตัวเลขลุ่นๆ แต่ข้อเสียของมันก็คือ หนักทฤษฎีพอสมควร เหมาะกับผู้อ่านที่ชอบแนววิชาการ ไม่ก็มีอุดมการณ์แรงกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงโลก แต่สาเหตุที่มันเป็นหนังสือขายดี ก็เพราะสาเหตุหลัง นั่นคือคนธรรมดาอย่างเราๆ เริ่มรู้สึกถูกคนไม่กี่คนเอาเปรียบแรงบีบคั้นนี้ ทำให้หลายคนลุกขึ้นมาทวงถามความยุติธรรมผ่านช่องทางต่างๆ “ทุนนิยมในศตวรรษที่ 21” จึงเป็นเสมือนไบเบิลของนักเคลื่อนไหวสาย Change.org

“ทุนนิยมในศตวรรษที่ 21” เป็นหนังสือที่อ่านไม่ง่าย แต่ไม่ยากเกินสำหรับผู้ที่สนใจเศรษฐศาสตร์ ส่วนผู้ที่สนใจประเด็นเรื่องความยุติธรรม และการจัดสรรทรัพยากรอย่างเท่าเทียม สมควรอ่านเป็นอย่างยิ่ง แม้จะต้องค่อยๆ ย่อยและทำความเข้าใจกับศัพท์แสงเฉพาะทางพอสมควรก็ตาม