posttoday

พรทิพย์ ดิษฐเกษร ชีวิตที่มีคุณค่าในฟาร์มสุขเสมอ

06 สิงหาคม 2560

ตั้งแต่มีโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 5 โดยบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต

โดย...วรธาร ทัดแก้ว ภาพ : เอกกร วีระวงศ์

ตั้งแต่มีโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 5 โดยบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต ร่วมกับ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ มุ่งสานต่อแนวคิดศาสตร์พระราชาด้านบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า อย่างยั่งยืน ถ้าสังเกตให้ดีทุกที่ที่โครงการขับเคลื่อนไปจะเห็นผู้หญิงร่างอวบนิดๆ แต่บุคลิกคล่องแคล่วมากคนหนึ่ง เธอคือ ติ๊ก-พรทิพย์ ดิษฐเกษร ทุกครั้งเสมอ

แน่นอนนั่นเพราะเธอเป็นผู้ประสานงานโครงการในส่วนของมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ที่มี ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อาจารย์ยักษ์) เป็นประธาน บอกได้เลยว่าชีวิตของเธอน่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้ใครต่อใครอีกหลายคน แต่อย่างน้อยตอนนี้ก็มีบุคคลในครอบครัวจากที่ไม่ค่อยเชื่อในสิ่งที่เธอทำก็หันมาสนับสนุนเธอจริงจัง

พรทิพย์ ดิษฐเกษร ชีวิตที่มีคุณค่าในฟาร์มสุขเสมอ

จากเด็กเสเพลถูกส่งไปดัดสันดานกับอาจารย์ยักษ์

พรทิพย์จบการศึกษาจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตั้งแต่อายุ 21 ปี หลังเรียนจบได้ทำงานในวงการทุนโดยมีเป้าหมายอยากโบรกเกอร์เนื่องจากสามารสร้างเงินได้รวดเร็ว ถูกปลูกฝังให้เชื่อในทุนนิยม ใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อ ต่อมาจับพลัดจับผลูไปเปิดร้านข้าวต้ม แต่ด้วยความที่มีอีโก้สูงเพราะเป็นเจ้าของธุรกิจแต่เด็ก 2 ปี ร้านก็เจ๊ง ต่อมาไปเป็นกุ๊ก ทำงานวันหนึ่ง 10 ชั่วโมง เหนื่อยสายตัวแทบขาด เงินเดือนก็น้อยแถมกินเหล้าหนัก สุขภาพแย่จนล้มป่วยเกือบตาย ที่สุดต้องขอให้แม่พากลับบ้านไปดูแล

หลังจากใช้ชีวิตทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ทว่าพ่อแม่ก็ไม่ได้ว่าอะไรเพราะเธอเป็นลูกสาวคนเล็ก แต่พอดีว่าครอบครัวบุญธรรมได้รู้จักกับอาจารย์ยักษ์ (ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ) จึงส่งเธอไปอยู่มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติที่มาบเอื้อง จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นศูนย์ของอาจารย์ยักษ์

“แรกๆ ก็อิดออดไม่อยากไปเพราะฟังดูบ้านนอกมาก แต่เมื่อถูกบังคับหนักก็จำต้องไปและกลายเป็นว่าที่นี่ทำให้ติ๊กเจอเส้นทางชีวิตที่ตรงข้ามกับระบบทุนนิยมอย่างสิ้นเชิง ตอนแรกครอบครัวบุญธรรมกะส่งแค่มาเรียนรู้การใช้ชีวิต เพราะเขามีแผนสำรองไว้แล้วว่าจะให้เราทำธุรกิจ แต่อยู่ไปอยู่มากลับรู้สึกว่าที่นี่แหละคือความสุขที่แท้จริง”

พรทิพย์ ดิษฐเกษร ชีวิตที่มีคุณค่าในฟาร์มสุขเสมอ

เรียนรู้จากพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ผ่านการลงมือทำ

พรทิพย์เริ่มทำงานจริงกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ตั้งแต่ปี 2551 เริ่มจากการเป็นผู้ประสานงานภาคและช่วงนั้นเป็นยุคเริ่มต้นสร้างเครือข่ายของมูลนิธิ จึงมีโอกาสได้เดินทางไปเกือบทั่วประเทศ ได้เจอผู้คนหลากหลาย ทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่ที่สนุก ท้าทาย แต่สิ่งหนึ่งที่รู้คือการเกษตรไม่ใช่เรื่องโรแมนติกสวยงามเหมือนที่เธอเห็นตามสื่อ

“เดินทางไปหลายพื้นที่เริ่มสะสมประสบการณ์ สะสมเพื่อน สะสมแนวคิดการทำงานกสิกรรมผ่านการทำงานอย่างใกล้ชิดกับอาจารย์ยักษ์ ที่สำคัญการเดินทางเหมือนเป็นการเปิดกล่องความทรงจำในวัยเยาว์ที่เคยวิ่งเล่นในท้องทุ่งได้ปลูกต้นไม้ กระโดดเล่นน้ำสนุกสนาน ซึ่งเป็นความทรงจำที่เลือนหายนับตั้งแต่ย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองหลวง แล้วถูกหล่อหลอมด้วยระบบทุนนิยมที่ว่า ความสุขคือการมีเงิน”

พรทิพย์ กล่าวต่อว่า การทำงานกับมูลนิธิทำให้เธอได้รู้จักในหลวงรัชกาลที่ 9 แบบที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน โดยอาจารย์ยักษ์มักพูดถึงการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระผู้เป็นเจ้าของทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงอยู่เสมอ เลยทำให้เธอเริ่มสนใจว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทำอะไร ทำไมใครๆ ถึงรักพระองค์ทั้งที่ไม่เคยได้ใกล้ชิด

พรทิพย์ ดิษฐเกษร ชีวิตที่มีคุณค่าในฟาร์มสุขเสมอ

“อาจารย์ยักษ์ได้แปลงศาสตร์พระราชาในสิ่งที่เป็นวิชาการมาอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจได้ง่ายๆ ทำเรื่องยากเป็นเรื่องง่าย จนเรารู้สึกว่ามันง่ายและใกล้ตัวเรา ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็สามารถนำแนวทางนี้ของพระองค์มาใช้กำหนดเส้นทางชีวิตให้พออยู่พอกินได้จริง นั่นแหละทำให้ติ๊กเข้าใจว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงทำเพื่อใคร” เธอเล่าความศรัทธาในในหลวงรัชกาลที่ 9

อยากมีพื้นที่ความสุขของตัวเอง

เธอเล่าต่อว่า จากการเป็นหนึ่งในคณะทำงานในโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ได้เห็นการพัฒนาทั้งตัวพื้นที่ องค์ความรู้ การแตกตัวซ้ำๆ เลยย้อนกลับมาตั้งคำถามว่า คนอื่นๆ มีพื้นที่ความสุขไปหมดแล้ว ในส่วนของเธอน่าจะต้องมีเช่นกัน ทว่าครอบครัวมีความเป็นสังคมเมืองสูงและมองว่าเงินคือที่มาของความสุข การจะบอกว่าความสุขไม่ได้มีแค่เงินก็จะเกิดโจทย์อื่นๆ ตามมา มีทางเดียวคือต้องพิสูจน์ให้ทุกคนเห็น

“พอดีคุณยายมีที่อยู่นครชัยศรี จ.นครปฐม ประมาณ 8 ไร่ ปกติปล่อยเช่าไร่ละ 1,000 บาท/ปี โจทย์แรกที่คิด ทำยังไงที่นี่ถึงจะเป็นพื้นที่ความสุขของครอบครัว เป็นที่ที่ทุกคนได้มาใช้ชีวิตร่วมกัน แทนที่จะใช้เงินไปนอนรีสอร์ทแพงๆ ในต่างจังหวัด แต่ครอบครัวสามารถมานอนที่นี่ได้ ติ๊กจึงลงมือสร้างพื้นที่ความสุขตามศาสตร์พระราชาให้ทุกคนได้เห็น” พรทิพย์ เล่า

ทว่ากับสิ่งที่ได้มือลงทำแม้ทุกคนในบ้านไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ก็ไม่ขัดเพราะคิดว่าเดี๋ยวเธอก็เบื่อแล้วเลิกทำไปเอง และมองว่าสิ่งที่เธอคิดเหมือนของเล่นเด็ก แต่ในมุมของพรทิพย์กลับดีใจที่ทุกคนมองแบบนั้น เพราะความตั้งใจของเธอคือต้องการทำพื้นที่แห่งนี้เป็นสนามเด็กเล่น หลานๆ มาเล่นกันสนุกสนาน และพ่อแม่มาพักผ่อน

พรทิพย์ ดิษฐเกษร ชีวิตที่มีคุณค่าในฟาร์มสุขเสมอ

“ติ๊กไม่ได้มาทำเพื่อเงิน แต่อยากให้ชีวิตที่เหลืออยู่ของพ่อแม่และหลานๆ มีพื้นที่ได้สัมผัสธรรมชาติ เกิดพื้นที่ที่ทุกคนอยากมาใช้ชีวิตร่วมกัน นี่คือความสำเร็จของเรา ที่สำคัญมันเป็นความทรงจำในกล่องใบเล็กๆ ที่ถูกเปิดขึ้นมาแล้วเลยตั้งชื่อว่าฟาร์มสุขเสมอ” พรทิพย์เล่าทั้งสีหน้าเปี่ยมด้วยความสุข  

เชื่อในสิ่งที่ทำ

พรทิพย์เริ่มต้นขุดปรับพื้นที่เมื่อเดือน ม.ค. 2559 แล้วทำตามหลักกสิกรรมธรรมชาติไม่มีการใช้สารเคมี ปรับที่ด้วยการห่มฟาง ขุดบ่อ แต่วิถีชาวบ้านในละแวกนี้ใช้สารเคมีทั้งหมดจึงไม่มีใครเชื่อในสิ่งที่เธอทำ ยิ่งต้องอดทนและไม่หวั่นไหวกับแรงปะทะภายนอก แต่ปัญหาคือหลักกสิกรรมไม่ได้เหมาะกับทุกพื้นที่และพื้นที่ดังกล่าวเป็นดินเหนียวปลูกต้นไม้เอาดินห่มหนาไม่ได้ต้นไม้ตาย เธอจึงใช้ศาสตร์พระราชาบวกกับภูมิปัญญาชาวบ้านมาไว้ด้วยกัน

“ทำนารอบแรก 4 ไร่ ได้ข้าวแค่ 30 กระสอบ หรือ 600 กิโลกรัม ทุกคนหัวเราะเยาะ แต่แม้การทำนารอบแรกไม่สำเร็จ ทว่าผลสัมฤทธิ์ที่เห็นตอนนี้คือต้นไม้ตายน้อยมาก พ่อแม่เริ่มใช้เวลาวันหยุดปลูกพืชผักผลไม้ไว้กินเอง พี่ชายเริ่มอยากปลูกทุเรียน เราค่อยๆ ลงมือทำ ปลูกต้นไม้วันละ 3 หลุม ตามกำลังและเวลาที่มี แม้การใช้เงินจะเนรมิตได้แต่มันทำให้มองไม่เห็นเรื่องราวของสิ่งที่สร้าง ทุกวันนี้ชาวบ้านเข้าใจว่าเราทำงานเพื่อในหลวง นั่นคือสิ่งที่เขารับรู้ส่วนเป้าหมายในอนาคตจะสร้างที่นี่ให้เป็นฟาร์มมีทั้งขายผลิตผลสดและการแปรรูป ที่สำคัญฝันว่าจะต้องเลี้ยงควายให้ได้” พรทิพย์ กล่าว

พรทิพย์ กล่าวต่อว่า หลายคนอาจตั้งคำถามว่า ลงทุนเท่าไร รายได้เมื่อไหร่จะคืนทุน แต่ที่นี่ไม่มีมูลค่าแต่มีคุณค่าซึ่งตีเป็นตัวเงินไม่ได้ ที่นี่ตอบโจทย์แล้วคือการสร้างความสุข เหมือนเสาร์-อาทิตย์ได้มาเจอกัน ได้ใช้เวลาความสุขร่วมกัน ที่เหลือจากนี้คือกำไร ไม่ว่าจะมาเป็นตัวเงินหรือความสุขใจของใคร มันคือกำไรทั้งหมด

“ศาสตร์พระราชาเปลี่ยนชีวิตตั้งแต่วันที่เราได้เรียนรู้ว่า ในหลวงทำอะไร จากที่คิดว่าท่านคือกษัตริย์ วันที่เรารู้จักท่านมากขึ้น มันเปลี่ยนวิธีคิดในใจว่าเราจะไม่อยู่เพียงเพื่อสร้างมูลค่าชีวิตตัวเองเราจะอยู่เพื่อสร้างคุณค่า เพื่อโลกใบนี้ ตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ได้อย่างไร”
พรทิพย์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยความภาคภูมิใจ

พรทิพย์ ดิษฐเกษร ชีวิตที่มีคุณค่าในฟาร์มสุขเสมอ