posttoday

จ้องจอตัวดี โรควุ้นลูกตาเสื่อม

25 มีนาคม 2560

ปัจจุบันคนไทยเป็นโรควุ้นลูกตาเสื่อม (Eye Floaters) ถึงเกือบ 15 ล้านคน จากประชากรที่มีประมาณ 75 ล้านคน

โดย...โสภิตา สว่างเลิศกุล

 ปัจจุบันคนไทยเป็นโรควุ้นลูกตาเสื่อม (Eye Floaters) ถึงเกือบ 15 ล้านคน จากประชากรที่มีประมาณ 75 ล้านคน เรียกว่ามีสัดส่วนถึง 1 ใน 5 ของประชากรหรือเกือบ 20% เลยทีเดียว

 ว่าไปแล้วก็เกิดจากคนทำงานในเมืองที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมืออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับหน้าจอคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟนต่างๆ รวมถึงจอโทรทัศน์

 โรควุ้นลูกตาเสื่อม จึงเป็นหนึ่งในโรคที่เกิดจากการทำงานแบบสมัยใหม่ในสำนักงานที่ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์

 ข้อมูลจากโรงพยาบาล เดอะ เวิลด์ เมดิคอล เซ็นเตอร์  บอกถึงอาการวุ้นตาเสื่อมสภาพและวุ้นตาลอกตัว (Vitreous degeneration and Posterior vitreous detachment) ว่า วุ้นตา (Vitreous) มีลักษณะเป็นวุ้นใส และมีน้ำเป็นองค์ประกอบหลัก อยู่ในช่องทางด้านหลังของดวงตา คิดเป็นปริมาตร 2 ใน 3 ของดวงตาทั้งหมด และมีเยื่อบางใส (Hyaloid membrane) หุ้มไว้ทั้งหมด ตามปกติแล้ววุ้นตาจะมีการยึดติดกับลูกตาส่วนอื่นๆ โดยแต่ละจุดนั้นมีความแข็งแรงไม่เท่ากัน

 การเสื่อมสภาพของวุ้นตาและวุ้นตาลอกตัว มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และเกิดได้เร็วขึ้นในผู้ที่มีสายตาสั้น มีประวัติเคยผ่าตัดภายในดวงตา ได้รับอุบัติเหตุที่รุนแรงต่อดวงตา หรือมีการอักเสบภายในดวงตามาก่อน วุ้นตาจะกลายสภาพจากวุ้นเป็นน้ำและมีการหดตัวลดปริมาณลง ร่วมกับมีการฉีกขาดของ Hyaloid membrane ทำให้วุ้นตาส่วนที่กลายเป็นน้ำไหลไปขังอยู่ใต้เนื้อเยื่อดังกล่าว และกลายเป็นการลอกตัวของวุ้นตาเกิดขึ้น

 ผู้ป่วยจะมีอาการเห็นเงาดำหรือเส้นคล้ายหยากไย่ลอยไปมา (Floater) ถ้าวุ้นตามีการลอกตัว ผู้ป่วยอาจสังเกตเห็นแสงวาบคล้ายกับแฟลชของกล้องถ่ายรูปหรือคล้ายฟ้าแลบ บางครั้งอาจพบเงาดำหรือหยากไย่ที่ลอยไปมาเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว

 หากมีการลอกตัวของวุ้นตาออกจากบริเวณขั้วประสาทตา (Optic disc) ผู้ป่วยอาจมองเห็นเงาดำเป็นวงอยู่บนภาพบริเวณหางตา โดยไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดใดๆ เลย

 แม้ว่าจะเป็นกระบวนการที่เกิดตามธรรมชาติเมื่ออายุเพิ่มขึ้น แต่การลอกตัวของวุ้นลูกตานั้นอาจมีการดึงรั้งเส้นเลือดฝอยที่อยู่บนจอประสาทตาด้านหลังทำให้เกิดการฉีกขาดและมีเลือดออกในวุ้นตาได้ โดยผู้ป่วยจะมีอาการตามืดลงทันที

 การลอกตัวดังกล่าวอาจดึงรั้งจอประสาทตาโดยตรง ทำให้เกิดจอประสาทตาฉีกขาดและหลุดลอก ซึ่งอาจมีผลต่อการมองเห็นระยะยาวได้อีกด้วย

 นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ แห่งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้เขียนให้ความรู้ว่า เส้นใยเหล่านี้จะลอยไปมาในน้ำวุ้นลูกตา ถ้าลอยมาตำแหน่งที่แสงผ่านเข้าตาก็จะทำให้เห็นเป็นเงาคล้ายหยากไย่หรือยุงลอยไปมาในตา ซึ่งมักจะเห็นได้ตอนอยู่ในที่สว่าง มองผนังสีขาวหรือก้มลงดื่มน้ำ บางทีเข้าใจว่าหยากไย่บังอยู่หน้าตาเรา

จ้องจอตัวดี โรควุ้นลูกตาเสื่อม

 ความสำคัญอยู่ที่ว่า ถ้ามีแค่นี้ก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องรักษาอะไร

 ถ้าเส้นใยเหล่านี้ลอยมาแนวกลางตาก็บังแสงเข้าตา ถ้าลอยไปอยู่ริมๆ ก็ไม่บังตา แรกๆ อาจรำคาญ แต่นานๆ ไปจะชินมากขึ้น แต่ปัญหามีอยู่ว่าในบางคน (ส่วนน้อย) จะเกิดมีจอประสาทตาฉีกขาดตามมาได้ และอาจมีจอประสาทตาลอกทำให้ตามัวตามมา จะต้องรักษาโดยการผ่าตัดตา เมื่อรักษาหายแล้วตาก็มักจะไม่เห็นชัดเท่าเดิม

 การมีจอประสาทตาลอก ทำให้ตามัวต้องรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งแม้รักษาหายแล้วการมองเห็นจะไม่ดีเหมือนเดิม

 ดังนั้น จะเห็นว่าถ้าเราป้องกันไม่ให้เกิดจอประสาทตาลอกได้ก็จะดี แต่ไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าใครที่มีอาการเห็นหยากไย่ในตาหรือแสงฟ้าแลบในตาจะมีจอประสาทตาฉีกขาดตามมา จักษุแพทย์จึงใช้วิธีนัดมาตรวจจอประสาทตาหลายครั้งเป็นระยะๆ

 โดยทั่วไปจักษุแพทย์จะตรวจจอประสาทตาผู้ที่มีอาการในครั้งแรกที่มาหา โดยหยอดยาขยายม่านตาซึ่งจะทำให้ตาข้างที่ขยายม่านตามองไม่ชัดชั่วคราวประมาณ 4-6 ชั่วโมง ดังนั้น ถ้าไปหาแพทย์ควรพาใครไปด้วยเพื่อช่วยเหลือตอนกลับบ้าน

 ถ้าตรวจแล้วปกติ ไม่พบจอประสาทตาฉีกขาด จักษุแพทย์ก็จะนัดตรวจอีกครั้งใน 4-6 สัปดาห์ต่อไป ถ้าตรวจแล้วปกติอีกก็จะนัดอีก 1 ปี แต่ถ้าพบจอประสาทตาฉีกขาดก็จะรักษาโดยการยิงเลเซอร์หรือจี้ความเย็น

 ทั้งนี้ การนัดอาจไม่เหมือนกันทีเดียวแล้วแต่จักษุแพทย์แต่ละท่าน โดยทั่วไปจักษุแพทย์จะอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจโรค เพื่อให้สบายใจว่าส่วนใหญ่แล้วไม่เป็นปัญหาอะไร ไม่ต้องรักษาอะไร อาการนี้จะอยู่ไปตลอดได้แต่ไม่อันตราย และมักจะลดลงได้ เพียงแต่มีคนส่วนน้อยที่อาจมีปัญหาจอประสาทตาลอกตามมา สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ให้มาตรวจตามนัด และถ้ามีอาการเห็นหยากไย่หรือแสงฟ้าแลบในตามากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นหรือตามัวลง ให้รีบมาตรวจก่อนนัด เพราะอาจจะมีปัญหาแทรกซ้อนเกิดขึ้นแล้ว