posttoday

คดีสังหารแปะเฉีย-แพะของโจโฉ

23 มกราคม 2560

โจโฉในนิยายสามก๊กเป็นที่เกลียดชังและด่าว่ามานับพันปี กวีซูตงโพสมัยราชวงศ์ซ่งเล่าบรรยากาศสมัยนั้นว่า เมื่อนักเล่านิทานสามก๊กเล่าถึงตอนโจโฉรบพ่ายแพ้หนีหัวซุกหัวซุนทีไร เด็กๆ และชาวบ้านที่ฟังอยู่จะปรบมือดีใจกันยกใหญ่ทุกที

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

โจโฉในนิยายสามก๊กเป็นที่เกลียดชังและด่าว่ามานับพันปี กวีซูตงโพสมัยราชวงศ์ซ่งเล่าบรรยากาศสมัยนั้นว่า เมื่อนักเล่านิทานสามก๊กเล่าถึงตอนโจโฉรบพ่ายแพ้หนีหัวซุกหัวซุนทีไร เด็กๆ และชาวบ้านที่ฟังอยู่จะปรบมือดีใจกันยกใหญ่ทุกที

โจโฉในนิยายมีเรื่องราวและการกระทำที่ทำให้คนเกลียดอยู่มากมาย บางประเด็นถกเถียงกันได้ แต่หนึ่งในเรื่องที่ทุกคนบอกว่าโจโฉมีส่วนของความเลวร้ายแน่นอนคือกรณี “โจโฉฆ่าแปะเฉียยกครัว”

เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อบ้านเมืองเริ่มวุ่นวาย ขุนศึกตั๋งโต๊ะเข้ายึดอำนาจ โจโฉวัยหนุ่มเข้าลอบสังหารตั๋งโต๊ะแต่ไม่สำเร็จ จำต้องรีบหนีหัวซุกหัวซุน

ระหว่างหลบหนี โจโฉถูกจับโดยเจ้าเมืองคนหนึ่งชื่อตันก๋ง ตันก๋งดูท่าทางโจโฉ แล้วไม่ธรรมดา เมื่อได้พูดคุยจึงรู้ว่าเป็นคนมีปณิธานยิ่งใหญ่ ตันก๋งตัดสินใจช่วยเหลือและเดินทางหลบหนีไปพร้อมกับโจโฉ

ระหว่างทางโจโฉเดินทางไปขอหลบพักที่บ้านเพื่อนสนิทของพ่อที่ชื่อแปะเฉีย แปะเฉียรู้เรื่องโจโฉหนีคดีอยู่แล้ว ได้เจอจึงถามไถ่อย่างอบอุ่น แปะเฉียบอกอยากสนทนากับโจโฉอีกยาว แต่นึกได้ว่าที่บ้านขาดสุราดีๆ เขาจึงขอตัวออกไปหาซื้อสุราเพื่อจะมาตั้งวงสนทนากับโจโฉกันให้ลื่นคอ

เมื่อแปะเฉียออกไปจากบ้าน โจโฉเดินเฉียดครัวหลังบ้าน แอบได้ยินเสียงคนในครอบครัวแปะเฉียลับมีดและพูดคุยกันว่า “จะมัดก่อนหรือจะลงมือฆ่าเลยดี!”

โจโฉในสถานะผู้ร้ายหนีคดีคิดได้ทันควัน “เห็นทีครอบครัวแปะเฉียคงจะเอาหัวคนผิดอย่างเราไปแลกรางวัลของทางการเป็นแน่แท้” แล้วจึงรีบรุดไปบอกตันก๋งว่าแปะเฉียคิดไม่ซื่อ เอาไว้ไม่ได้ แล้วตอนนี้แปะเฉียคงออกไปส่งข่าวให้ทางการแล้ว เราเร่งลงมือก่อนย่อมได้เปรียบ โจโฉจึงชักกระบี่เข้าไปฆ่าบุตรและภรรยาแปะเฉียเสียสิ้น รวมทั้งหมด 8 ศพ

แต่แล้วตันก๋งต้องตะลึงทันทีเมื่อเห็นหมูตัวหนึ่งถูกมัดอยู่ จึงรู้ว่าโจโฉเข้าใจผิด ว่าที่จริงครอบครัวแปะเฉียจะฆ่าหมูต่างหาก

โจโฉตกใจกลัวจึงชวนตันก๋งรีบหนี ที่ไหนได้ออกจากบ้านมาไม่ไกลก็ได้เจอกับแปะเฉียที่เพิ่งซื้อเหล้ากลับมา แปะเฉียถามโจโฉว่า “ยังไม่ได้กินข้าวกินเหล้ากันเลย จะรีบไปไหนเล่า” โจโฉตอบกลับว่า “ข้าถูกทางการไล่ล่า ไม่ควรอยู่ที่นี่นาน รีบหนีไปจะดีกว่า” ว่าแล้วก็ขี่ม้าเดินต่อไปด้วยท่าทีครุ่นคิด โจโฉผ่านแปะเฉียไปไม่กี่ก้าวก็หันหลังกลับมาเรียกแปะเฉีย แปะเฉียหันมา ว่าแล้วโจโฉก็เอากระบี่ฟันแปะเฉียตายคาที่

ตันก๋งตะลึง!

ตันก๋งต่อว่าโจโฉยกใหญ่ “เพิ่งฆ่ายกครัวเขาไปแล้วยังพอบอกได้ว่าเพราะเข้าใจผิด แล้วนี่ท่านยังจะฆ่าแปะเฉียอีกรึ!” โจโฉอธิบายว่า “หากปล่อยให้แปะเฉียรอดไป รับรองแปะเฉียต้องโกรธแค้นไปฟ้องนายอำเภอ นายอำเภอก็ต้องมาตามจับเรา ต้องฆ่าปิดปากแปะเฉียเสีย เราจึงปลอดภัย”

ถ้าอ้างเหตุผลโดยไม่ต้องอธิบายตันก๋งก็คงจะพอคิดได้ แต่ตันก๋งต่อว่าออกไปคือจิตใจของโจโฉที่ทำได้ลงคอ หรืออาจคล้ายกับจะแค่อุทานว่า “เราถลำลึกมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?!?!”

ตันก๋งรำพึงรำพันต่อไป แล้วโจโฉก็พูดวลีเด็ดออกมา “ข้ายอมทรยศคนในใต้หล้า แต่ไม่ยอมให้คนในใต้หล้ามาทรยศข้า”

ตันก๋งและผู้อ่านต่างตะลึง!

ด้วยความเลวร้ายระดับ 10 กะโหลกของโจโฉในนิยาย ไม่ต้องแปลกใจที่เด็กๆ และผู้ฟังสามก๊กทั้งหลายจึงต้องปรบมือดีใจเมื่อโจโฉพ่ายแพ้หนีหัวซุกหัวซุน ความโหดเหี้ยมของโจโฉย่อมไม่เป็นที่ต้องการของสังคมแน่นอน

ในยุคนี้ที่คนเห็นต่าง และคุณธรรมความดีถูกตั้งคำถาม หลายคนพุ่งประเด็นไปว่าถ้าเป็นเราๆ ท่านๆ ก็ย่อมต้องทำอย่างโจโฉเช่นกัน แถมบางคนกลับชื่นชมเห็นว่าโจโฉจริงใจ กล้าลงมือทำ กล้าเอ่ยปากประกาศว่า “ขอทรยศต่อคนในใต้หล้า แต่ไม่ยอมให้คนในใต้หล้าทรยศ”

สังคมที่มีคนเข้าใจในสถานการณ์ของโจโฉคงพอถกเถียงกันพูดคุยกันได้ แต่หากชื่นชมยินดีกับคำกล่าวอ้างนี้คงเป็นสังคมที่น่ากลัว

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโจโฉคร่าชีวิตที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ไป 8 ชีวิต ความผิดบาปมหันต์จนโจโฉก็ยังพูดไว้เองว่าตนเองผิด แม้มีความหวาดระแวง กะทันหัน และไม่รอบคอบเป็นข้ออ้าง แต่ช็อตสองที่โจโฉฆ่าแปะเฉียปิดปากเพื่อกลบเกลื่อนความผิดตนเอง จะอ้างความกะทันหันไม่ทันคิดให้รอบคอบไม่ได้

ในทางตรงกันข้ามเพราะความรอบคอบนี่แหละ ที่เป็นข้ออ้างที่โจโฉใช้ฆ่าแปะเฉีย

โจโฉกำลังใช้ความกล้า (เลว) มาปกปิดความผิด และตัดสินใจยอมถลำลึกลงไปสู่ความเลวร้ายมากขึ้น เพื่อรักษาตัวให้รอด โดยไม่สนใจอื่นใด

โจโฉอ้างว่าไม่ทำเขา เราก็ตาย ชีวิตคนอย่างแปะเฉียจึงต้องตายอย่างแพะ...แพะรับบาปที่โจโฉเผลอลงมือฆ่าครอบครัวแปะเฉียด้วยความเข้าใจผิด

ไม่ต่างอะไรกับคำแก้ตัวของโจรจี้ปล้นที่ถลำลึกเป็นฆาตกร ซึ่งกล้าประกาศว่า “ถ้าเขาไม่ขัดขืนต่อสู้ ก็คงไม่โดนฆ่า” ซึ่งก็คือหลักการ “ผิดพลาดไปแล้ว ก็มีแต่กล้าเลวร้ายใช้ทุกมาตรการปกปิดต่อไปเท่านั้นถึงจะรอด”

หลายครั้งความผิดบาปช็อตแรกเกิดจากความประมาท ไม่รอบคอบ แต่ความเลวร้ายช็อตสองนี่แหละที่เป็นความเลวร้ายโดยแท้

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของโจโฉก็ยังเข้าใจได้ (แต่ไม่ใช่อภัยได้) เพราะความเสี่ยงสูงถึงชีวิต แต่หันกลับมาในชีวิตจริงนอกนิยายยังมีให้เห็น ในสถานการณ์ที่แม้ไม่มีความเสี่ยงถึงชีวิต เราก็ยังเจอะเจอผู้คนที่ยอมใช้ความเลวร้ายขั้นกว่ามาปกปิดความผิดพลาดขั้นต้น และพาตัวเองเวียนวนเข้าสู่วงจรอุบาทว์

ทั้งๆ ที่มีเวลาไตร่ตรอง ไม่ให้มีอะไรผิดพลาดจากความประมาทตั้งแต่ช็อตแรกด้วยซ้ำ

ในสถานการณ์ที่ไม่ได้หน้าสิ่วหน้าขวานและน่าหวาดระแวงอย่างโจโฉ ควรจะต้องรอบคอบ และรัดกุมในการกระทำที่มีผลกระทบต่อชะตาชีวิตของผู้อื่น ถือเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ไม่ย่างก้าวเข้าวงจรอุบาทว์ตั้งแต่แรก จะได้ไม่ต้องใช้ความเลวร้ายมาปกปิดความผิดของตัวเองเป็นครั้งที่สอง