posttoday

ความในใจ หมอผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์

15 พฤศจิกายน 2557

โอ้ย ชีวิตผมไม่น่าสนใจหรอก” รศ.นพ.ฉันชายสิทธิพันธุ์ ผู้ซึ่งปัจจุบันเป็นรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

“โอ้ย ชีวิตผมไม่น่าสนใจหรอก” รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้ซึ่งปัจจุบันเป็นรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หรืออาจารย์ทัวร์ เอ่ยขึ้นมาทันทีก่อนให้สัมภาษณ์

แต่หากบอกว่า คุณหมอฉันชายเป็นพี่ชายฝาแฝดของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ “อดีตรัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในรัฐมนตรี” ก็อาจฟังดูน่าสนใจขึ้นมาทันที เพราะคุณหมอฉันชายนอกจากจะบุคลิกท่าทางวิธีการพูดจาเหมือนกับชัชชาติทุกประการแล้ว ความแข็งแกร่งของคุณหมอยังไม่แพ้กัน

 
ครอบครัวสามวิชาการ


แม้จะต่างคนต่างประกอบอาชีพคนละทิศละทาง แต่กลับมีจุดร่วมเหมือนกัน คือ บุตรสามคน ของ พล.ต.อ.เสน่ห์ สิทธิพันธุ์ กับคุณแม่ จิตต์จรุงสิทธิพันธุ์ ล้วนเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ ด้วยกันทั้งหมด

พี่สาว รศ.ดร.ปรีชญา สิทธิพันธุ์ เป็นอาจารย์ที่คณะสถาปัตย์ ฉันชาย เป็นอาจารย์หมอที่คณะแพทยศาสตร์ ส่วนชัชชาติก็เคยเป็นรองศาสตราจารย์ ที่คณะวิศวะ และเคยเป็นถึงผู้ช่วยอธิการบดีจุฬาฯ

หมอฉันชาย บอกว่า ไม่ใช่เรื่องบังเอิญเท่าใดนักที่จะเป็นอาจารย์กันหมด เพราะตระกูลสิทธิพันธุ์ ส่วนใหญ่รับราชการ ไม่เคยมีใครสนใจทำธุรกิจ และคุณแม่ก็เน้นเรื่องวิชาการ เน้นให้ลูกมีระเบียบวินัยในการอ่านหนังสือมากทำให้ทั้งสามพี่น้องเรียนได้ดี เลยได้ต่อยอดเป็นอาจารย์กันทั้งหมด

“คุณแม่เป็นคนมีระเบียบวินัยสูงมาก ตอนเด็กๆ คุณแม่จะติวเยอะ จะเข้มเรื่องการบ้าน พอทำเสร็จแล้ว คุณแม่ต้องตรวจทาน แล้วท่านจะเลี้ยงแบบสมัยเดิม คือ เข้มงวด พวกผมก็ต้องมีตารางเวลาว่าเมื่อไหร่จะทำการบ้าน แล้วตอนไหนจะอ่านหนังสือกี่โมงถึงกี่โมง เรียกว่าทุกๆ วันที่เลิกเรียนจะต้องอ่านหนังสือ กลับบ้านเราก็อ่านหนังสือสักสองชั่วโมง หันหลังชนกันแล้วก็อ่านหนังสือ ก็อาจจะมีเบรก เล่นกีฬา หรือว่าดูทีวี เราก็ถูกฝึกอย่างนี้ตลอด ทำให้รู้สึกว่าการอ่านหนังสือเป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องมาอ่านก่อนสอบเยอะๆ” คุณหมอฉันชายเล่าให้ฟัง

“มองย้อนกลับไป ผมว่าผมมีความสุขกับการเรียนมาก รู้สึกว่าเป็นการเรียนที่ไม่ได้หวังจะต้องสอบได้ที่หนึ่ง หรือจะไปเอาเหรียญทองโอลิมปิก มันเป็นการเรียนที่เกิดจากว่า เอ้ย เราอยากรู้จริงๆ ตอนเราเรียนมัธยม ถึงขั้นที่ผมกับชัชชาติไปเอาหนังสือของมหาวิทยาลัยมาอ่านกัน ถามว่าจำเป็นมั้ยก็ไม่ได้ขนาดนั้น แต่เราก็สนุกที่จะทำมัน แล้วถามว่าไปประกวดมั้ย ไปแข่งเอาเหรียญไหม เราก็ไม่เคยไปเลย เรารู้สึกสนุกกับการเรียน แล้วรู้สึกว่าท้าทายมากกว่า”

แต่ถ้าถามว่าเป็นเด็กเนิร์ดหรือเป็นหนอนหนังสือขลุกตัวอยู่ในห้องสมุดหรือไม่ คุณหมอบอกว่า ทั้งตัวเองและชัชชาติต่างก็ทำกิจกรรมเป็นประธานสีกันทั้งคู่ สมัยเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยสองพี่น้องฝาแฝด ผลัดกันเป็นประธานคนละปี พอถึงเวลาต้องเอนทรานซ์ สองพี่น้องฝาแฝดที่ผลการเรียนดีเยี่ยมทั้งคู่ก็ตกลงกันว่าใครจะเลือกเรียนอะไร

“เด็กไทยยุคนั้น มันก็ไม่รู้หรอกว่าเราอยากเรียนอะไร พอเราเรียนเตรียมฯ แล้วเรียนได้ดี มันก็มีออปชั่นไม่เยอะ ไม่เป็นหมอก็เป็นวิศวะ ไม่วิศวะ ก็ไปเรียนบัญชี เราก็ตกลงกันว่า อย่าไปเรียนด้วยกันเลย มันแข่งกันเปล่าๆ เราแยกไปเรียนกันคนละสาขาดีกว่า จะได้มีเพื่อนคนละกลุ่ม แล้วจะได้ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ผมก็เลือกคณะแพทย์6อันดับ”

“จริงๆ ผมเชื่อว่าเด็กสมัยนั้นไม่รู้หรอกว่าอาชีพหมอคืออะไร เราก็สังเกตแค่จากเรามีน้าเป็นหมอ ก็ดูเขาก็โอเค มันก็ต่างจากสมัยนี้ ที่มีค่ายให้คนที่อยากเป็นหมอ ทำให้เขามีโอกาสเข้าไปสัมผัสกับวิชาชีพแพทย์ แต่ถามว่ารู้จริงหรือเปล่า ผมเองไม่รู้มากนัก แต่มาทำเองก็รู้ว่าวิชาชีพนี้คือตัวเรา” หมอฉันชายบอกกับเรา

เขาบอกอีกว่าวิชาชีพแพทย์ไม่จำเป็นต้องเรียนเก่งมากในแง่ความรู้ แต่เป็นในแง่ของการมองคน การรักษาคน และการเข้าใจมนุษย์ ซึ่งหลายคนที่เป็นแพทย์ที่ดี ก็ไม่ได้
เป็นเด็กที่จบเกียรตินิยมเหรียญทองหรือมีรางวัลอะไร

ส่วนการเป็นอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์นั้น คุณหมอฉันชายบอกว่าไม่ได้คาดอยู่แล้วว่าจะต้องกลับไปเป็นอาจารย์ตามพี่สาว และชัชชาติซึ่งได้ทุนอานันทมหิดลไปเรียนต่อปริญญาโทและเอก ที่สหรัฐอเมริกาก่อน คิดแต่เพียงว่าพอเริ่มเรียนแพทย์แล้วรู้สึกชอบที่จะดูแลผู้ป่วยหนัก เฉพาะทางโรคปอดและทรวงอก จึงหาโอกาสไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา พร้อมกับหอบครอบครัวไปอยู่นานถึง 4 ปี จนจังหวะเปิด ตำแหน่งอาจารย์หมอที่จุฬาฯ ว่างพอดี เลยกลับมาเมืองไทย เป็นอาจารย์ร่วมสถาบันเดียวกับพี่สาวและน้องชาย เรื่อยมาจนถึงวันนี้นาน 10 กว่าปีแล้ว และยังรู้สึกดีกับงานสอนหนังสือ รวมถึงการเป็นรองผู้อำนวยการ
ฝ่ายสนับสนุนบริการของโรงพยาบาลจุฬาฯ อีกด้วย


ไม่อยากวิ่ง กลัวถูกทักผิด

 
ถามถึงชีวิตประจำวัน คุณหมอบอกว่าทุกวันนี้ตื่นเวลาเดียวกันกับน้องชาย คือไม่เกินตี 4 แล้วจะต้องมาวิ่งกับลู่วิ่งทุกวัน ก่อนออกไปทำงานตั้งแต่เช้าตรู่ ซึ่งเหตุที่ต้องวิ่งนั้นมาจากการที่ถูกปลูกฝังนิสัยรักการออกกำลังกายมาตั้งแต่เด็ก

“เราถูกปลูกฝังให้เล่นกีฬา เพราะตอนนั้นเราอ้วน ทุกวันเราก็เลยต้องเล่นกีฬา มันก็เลยกลายเป็นเรื่องรูทีนว่าถ้ากลับจากโรงเรียนครึ่งชั่วโมงแล้ว เราเล่นอะไรก็ได้ ก็ต้องวิ่งต้องทำอะไรบ้าง ให้การออกกำลังกายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต สมัยเด็กๆ ผมก็ตีเทนนิส แล้วก็มาเริ่มวิ่ง ช่วงหลังก็วิ่งหนักทั้งคู่ แต่ชัชชาติเขาไปปั่นจักรยานบ้าง ผมเองก็ยังเน้นวิ่ง เพราะมันเหมาะกับตารางเวลาชีวิตเรา มันออกกำลังกายด้วยตัวเองง่ายที่สุด”

แม้เขากับน้องชายจะอยู่บริเวณบ้านเดียวกันที่บ้านย่านทองหล่อ แต่ด้วยวิถีชีวิตที่ไม่ตรงกันก็ทำให้ไม่ค่อยได้คุยกันเท่าไร แต่ก็มีหลายครั้งที่ชัชชาติจะส่งเมสเซจมาทักทายยามเช้า หรือชวนให้ไปวิ่งด้วยกันที่สวนลุมพินี ซึ่งคุณหมอฉันชายบอกว่าไม่ไปวิ่งที่สวนลุมแล้ว เพราะมีคนทักผิดว่าเขาเป็นชัชชาติอยู่บ่อยครั้ง

“แต่ชัชชาติเขายังไปวิ่งที่สวนลุม แล้วเดี๋ยวนี้เขาก็ไปขี่จักรยานเยอะ ซึ่งผมไม่ชอบขี่ เพราะว่ามันต้องเอารถขนจักรยานไป ต้องแต่งตัว ต้องหาที่ขี่อีก กว่าเขาจะแต่งตัวเสร็จผมก็วิ่งเสร็จแล้ว ไว้รอเข่าพังก่อนแล้วค่อยตามไปขี่บ้าง (หัวเราะ)” คุณหมอฉันชายเล่าให้ฟัง

ถามถึงเรื่องการเมือง ซึ่งคนภายนอกมักจะมองว่าสองพี่น้องฝาแฝดคู่นี้ต่างกันสุดขั้ว เนื่องจากน้องรับตำแหน่งรัฐมนตรี ในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แต่พี่ชายกลับไปเดินต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คุณหมอบอกว่า เรื่องการเมืองที่บ้านจะคุยกันน้อยมาก แม้แต่กับคุณแม่ ซึ่งเชียร์พรรคประชาธิปัตย์ หรือกับน้องชาย เพราะแน่นอนแนวคิดหลายอย่างไม่เหมือนกัน แต่ก็อาจจะมีถามนิดหน่อยในบางประเด็น แต่ไม่ได้ก้าวก่ายความคิดใคร

“ถามว่าต่างกันสุดขั้วไหม ผมเองตอบได้เลยว่าไม่ได้อยู่ขั้วไหน ถามว่าผมเป็น กปปส.ไหม ผมก็ไปชุมนุมหนเดียวเองตอนต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตอน กปปส.ก็ไม่ได้ไปชุมนุม ถึงที่สุดแล้วมันก็ต้องแยกหน้าที่ แยกบทบาทกันให้ดี ส่วนตัวผมเชื่อว่าไม่มีใครหรอกเป็นขาวหรือดำ แน่นอนว่าเราอาจจะมีความชอบหรือความเห็นบางเรื่องไม่ตรงกัน ซึ่งเป็นปกติอยู่แล้ว เพราะคนฟังข้อมูลเหมือนกันสองคน ก็ยังเห็นไม่เหมือนกันได้ มันขึ้นกับแนวคิดพื้นฐานเป็นยังไง ผมเองไม่ได้เป็นขั้วอะไรอยู่แล้ว” คุณหมอบอกกับเรา

“เราต้องจำกัดความให้ดีว่าคำว่า ‘การเมือง’ คืออะไร ทุกวันนี้หลายคนก็ยังมองชัชชาติว่าไม่ใช่นักการเมืองเต็มตัว และผมก็คิดว่าการที่ชัชชาติเข้าไปเขาก็ไปทำสิ่งที่ดีให้กับประเทศ สิ่งที่ผมได้รับมาเสมอคือเวลาที่คนมาทักผิดว่าผมเป็นชัชชาติ ก็ไม่มีใครที่เข้ามาด่าหรือต่อว่าเลย มันก็เป็นสัญญาณที่ดี ผมเชื่อว่าเวลาพูดถึงนักการเมือง คนมักจะมองในแง่ลบ แต่กับชัชชาติเขาเป็นนักการเมืองที่ได้ฟีดแบ็กดี และผมก็เชื่อว่าเขาทำประโยชน์ให้กับประเทศ”

ส่วนจะเข้าสู่แวดวงการเมืองเหมือนน้องชายหรือไม่นั้น คุณหมอยิ้มก่อนจะบอกว่า ทุกวันนี้มีความสุขกับการสอนหนังสือ และการดูแลคนไข้อยู่แล้ว ซึ่งการทำงานการเมืองจะต้องสละสิ่งเหล่านี้ไป ทำให้ทำงานได้ไม่เต็มที่ ปล่อยให้น้องชายได้ทำประโยชน์ให้กับประเทศต่ออาจจะดีกว่า