posttoday

ดรุณศึกษา... ตำราภาษาไทยข้ามศตวรรษ

30 กันยายน 2557

ถ้าย้อนไปในวัยเด็ก เชื่อว่าหลายคนคงได้เรียนหนังสือภาษาไทย ชุด “ดรุณศึกษา” โดยเฉพาะผู้ที่เข้าเรียนโรงเรียนในเครือมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย

โดย...วรธาร ทัดแก้ว ภาพ : วิศิษฐ์ แถมเงิน

ถ้าย้อนไปในวัยเด็ก เชื่อว่าหลายคนคงได้เรียนหนังสือภาษาไทย ชุด “ดรุณศึกษา” โดยเฉพาะผู้ที่เข้าเรียนโรงเรียนในเครือมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย (เจ้าของลิขสิทธิ์หนังสือ) เช่น โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก อัสสัมชัญ สมุทรปราการ โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย เชียงใหม่ โรงเรียนเซนต์หลุยส์ ฉะเชิงเทรา โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม สาทร เป็นต้น เพราะทางโรงเรียนใช้เป็นหลักสูตรเรียนภาษาไทยมาตลอดตั้งแต่ก่อตั้งโรงเรียนไม่มีการเปลี่ยนไปใช้หนังสือเล่มไหนๆ จนถึงปัจจุบัน

ทุกวันนี้ในโรงเรียนคาทอลิกทั้งหลาย อย่างโรงเรียนในเครือสารสาสน์ ที่เปิดสอนปฐมวัยและประถมศึกษา ก็หันมาใช้ “ดรุณศึกษา” เป็นหนังสือเรียนภาษาไทยเช่นกัน ซึ่งชุดนี้มีด้วยกันทั้งหมด 5 เล่ม ประกอบด้วย ระดับปฐมวัย หรือเตรียมประถม 1 เล่ม และชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-4 ชั้นละ 1 เล่ม

น่าสนใจว่าโรงเรียนเหล่านี้ไม่เคยเปลี่ยนไปใช้หนังสือสอนภาษาไทยเล่มอื่นเลย แม้กระทั่งท่านนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังเคยพูดถึงตำราเรียนภาษาไทยสุดคลาสสิกนี้ ยิ่งกระตุ้นให้คนจำนวนไม่น้อยอยากรู้ว่า “ดรุณศึกษา” มีเสน่ห์หรือคุณค่าอะไรที่ซ่อนอยู่

วันนี้เรามีเฉลย...

ดรุณศึกษา... ตำราภาษาไทยข้ามศตวรรษ

อัศจรรย์! ตำราไทยเรียบเรียงโดยฝรั่ง

ถ้าใครไม่รู้จักเกี่ยวกับประวัติหนังสือมาก่อน คาดว่าคงจะตอบแบบไม่ต้องคิดมากว่า ตำราชุดนี้คนไทยเป็นผู้เขียนและเรียบเรียงขึ้น ซึ่งผิดถนัด แท้จริงผู้เขียนเป็นนักบวชชาวฝรั่งเศสชื่อ “ภราดา ฟ. อีแลร์” (ภราดาฟร็องซัวส์ ตูเวอเนต์ (Froncois Touvenet) โดยได้เรียบเรียงขึ้นมาเป็นเวลาร้อยกว่าปีแล้ว

ภราดาวิริยะ ฉันทวโรดม (หลุยส์ ชาแนล) อธิการโรงเรียนอัสสัมชัญ ให้ข้อมูลว่า หนังสือดรุณศึกษานี้ ภราดา ฟ. อีแลร์ แห่งโรงเรียนอัสสัมชัญ ได้แต่งและเรียบเรียงขึ้นเมื่อปี 2453 หลังจากที่ได้พำนักอยู่ในประเทศไทยได้ 9 ปี ใช้เวลาแต่งและเรียบเรียงเป็นเวลา 11 ปีเต็ม จากวันนั้นถึงวันนี้หนังสือเล่มนี้มีอายุ 104 ปี

“ภราดา ฟ. อีแลร์ เป็นนักบวชคณะเซนต์คาเบรียล เดินทางจากประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2444 พร้อมกับเพื่อนภราดาอีก 4 ท่าน เพื่อมารับมอบงานด้านการศึกษาจากบาทหลวงกอลมเบต์ ชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นมิชชันนารีที่เข้าเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในประเทศไทย และยังเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญ ที่บางรัก เมื่อปี 2428

ดรุณศึกษา... ตำราภาษาไทยข้ามศตวรรษ

 

ท่าน ฟ. อีแลร์ ตอนนั้นอายุราวๆ 1920 ปี เป็นผู้ที่สนใจภาษาไทยเป็นอย่างมาก ได้มุ่งมั่นศึกษาเกี่ยวกับภาษาไทยกับครูคนไทยที่สอนอยู่เป็นเวลาเกือบ 10 ปี จนแตกฉาน เมื่อเห็นว่ามีความรู้ด้านภาษาไทยเข้มแข็ง ก็ได้แต่งตำราเรียนภาษาไทยชื่อ ดรุณศึกษา ขึ้นมา เข้าใจว่าท่านไม่ได้ทำคนเดียว คงไปขอคำปรึกษาจากครูภาษาไทยหลายๆ คน หนึ่งในนั้นคือครูทิม หรือมหาทิมด้วย”

ทว่า บุคคลสำคัญคนหนึ่งที่ทำให้หนังสือดรุณศึกษามีความถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุด ที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ก็คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเมตตาตรวจทานความเรียบร้อยในหนังสือให้กับ ฟ. อีแลร์ จนกลายเป็นหนังสือภาษาไทยที่มีความพิเศษและถูกต้องสมบูรณ์ ที่เขียนโดยคนต่างชาติต่างภาษา

“ช่วงนั้น ภราดา ฟ. อีแลร์ ดำรงตำแหน่งเป็นอธิการของโรงเรียนอัสสัมชัญ และมีความสัมพันธ์อันดีกับกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ถ้าพูดจริงๆ ก็คือเป็นสหายกับกรมพระยาดำรงฯ ซึ่งพระองค์นั้นไม่ถือองค์ เวลาท่าน ฟ. อีแลร์ มีปัญหาเกี่ยวกับหลักภาษาไทยก็จะไปเข้าเฝ้าทูลถามตลอด ทราบว่าดรุณศึกษาพระองค์ท่านก็ทรงตรวจความเรียบร้อยให้ด้วย เหตุนี้จึงทำให้ดรุณศึกษากลายเป็นหนังสือภาษาไทยที่ดีที่สุดในเวลานั้นที่แต่งโดยฝรั่ง”

ดรุณศึกษา... ตำราภาษาไทยข้ามศตวรรษ

 

สอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม ประวัติศาสตร์

ด้านเนื้อหาของดรุณศึกษา ภราดาวิริยะ กล่าวว่า จะเริ่มต้นด้วยหลักภาษาไทยจากพื้นฐานง่ายๆ ขึ้นไปหายาก เป็นไปตามวัยและชั้นที่เรียน พร้อมกันนี้ในแต่ละชั้นก็จะมีเรื่องราวต่างๆ สอดแทรกศิลปวัฒนธรรม คุณธรรม จริยธรรม ศาสนา รวมถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เข้าไปให้เด็กได้ซึมซับและเรียนรู้ด้วย

“อย่างในชั้นปฐมวัย ท่านก็จะเขียนให้รู้ถึงอักษรไทยมีตัวอะไรบ้าง อักษรกลาง อักษรสูง อักษรต่ำ มีกี่ตัว การผันด้วยวรรณยุกต์ การประสมสระ ประสมคำ จากคำ ก็เพิ่มเป็นสองคำ สามคำ จนเป็นประโยค พอสอนหลักบ้างแล้วก็จะมีเรื่องราวสั้นๆ สนุกๆ ได้อ่านเป็นการผ่อนคลาย เช่น บทที่ 11 เรื่องเจ้าจำปี

ในบทเขียนว่า ตาฉ่ำ บิดา เจ้าจำปี จะ ไป เผา กอ ไผ่ ป่า ก็ ให้ เจ้าจำปี เอาไต้ ไป ให้ แก เจ้าจำปี ดีใจ ก็ เอา ไต้ ห่อ ผ้า ไป ให้ แต่ เจ้าจำปี สิ ไป กะโอ้ กะเอ้ เฝ้า แต่ ดู กระแต เข้า กอ ไผ่ ขา ก็ เห ไป ปะ เตะ ตอไผ่ เข้า ตอไผ่ ก็ ตำ เอา เจ้าจำปี ก็จำสู้ กะเตาะ กะแตะ ไปหา บิดา เป็นต้น ซึ่งในแต่ละชั้นก็จะมีเรื่องราวต่างๆ แตกต่างกันไปอยู่ด้วย”

เช่นเดียวกับ มิสตวงพร ทิพย์จ้อย ครูประจำชั้น ป.1 โรงเรียนอัสสัมชัญ จ.สมุทรปราการ ครูสอนภาษาไทยดีเด่น 2 ปีซ้อน (2545-2546) ในฐานะผู้ใช้หนังสือดรุณศึกษาสอนนักเรียนมา 28 ปี พูดถึงความมหัศจรรย์ของหนังสือว่า เป็นหนังสือที่ครบถ้วนหลักภาษาไทยที่ถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างเข้าใจ เด็กที่ได้อ่านสามารถอ่านเขียนได้คล่อง มีคำศัพท์กว้าง และมีความรอบรู้ นอกจากสอนภาษาไทยแล้วยังสอดแทรกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ประเพณี วัฒนธรรม และคำสอนต่างๆ ไว้มากมาย

ดรุณศึกษา... ตำราภาษาไทยข้ามศตวรรษ

 

“เล่มประถมวัยจะสอนให้เด็กได้รู้จักสระ พยัญชนะ การประสมสระ ประสมคำเบื้องต้น แต่ที่มหัศจรรย์ตรงที่ไม่ใช่คนไทยแต่ง แต่เป็นฝรั่งซึ่งแต่งได้ดีมาก ตอนแรกที่มิสยังไม่ได้อยู่โรงเรียนอัสสัมชัญ ได้ใช้หนังสือเล่มนี้สอนเด็กอนุบาล สอนไปๆ ก็รู้สึกว่าทำไมเด็กอ่านหนังสือได้ไว นานเข้าถึงได้รู้ อ๋อคนเขียนท่านเริ่มจากหลักง่ายๆ ตามวัยของผู้เรียน เช่น จากการประสมสระ ประสมคำ แยกพยัญชนะ สระเป็นคำๆ และเป็นประโยค จากประโยคก็เป็นเรื่องราวต่างๆ

พอขึ้นประถมเป็นการผันวรรณยุกต์ การแยกคำและเพิ่มเนื้อเรื่องที่ยากขึ้นมา เป็นเนื้อเรื่องในสมัยโบราณแต่ร่วมสมัย หรือคำพูดง่ายๆ แต่สอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม ความรัก ความสามัคคี เป็นต้น พร้อมกันนี้จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยและเพื่อนบ้าน รวมถึงยุโรปด้วยเพราะคนเขียนเป็นคนฝรั่งเศส

ยิ่งกว่านั้นในหนังสือยังใช้ภาพประกอบการสอน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทันสมัยมากในขณะนั้น เพราะหนังสือไทยในยุคก่อนจะไม่มีรูปภาพประกอบ และการที่หนังสือมีรูปภาพย่อมทำให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องราวหรือประวัติศาสตร์จากภาพได้ เช่น รูปขอมดำดินที่เราได้แต่จินตนาการว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร แต่ว่าหนังสือเล่มนี้มีการวาดภาพเพื่อบรรยายเนื้อเรื่องไว้”

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า แม้หนังสือจะดีแค่ไหน แต่ถ้าผู้สอนถ่ายทอดให้เด็กไม่เข้าใจก็ไม่เกิดประโยชน์ เกี่ยวกับเรื่องนี้ มิสตวงพร บอกว่า เป็นเรื่องสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ ในการสอนต้องมีวิธีการทำให้เด็กได้รู้ว่าตัวเขามีส่วนร่วมในการเรียนรู้อย่างกระตือรือร้น

ดรุณศึกษา... ตำราภาษาไทยข้ามศตวรรษ

 

“มิสเองมีวิธีในการสอนอย่างหนึ่งคือ พอเรียนบทที่มีเรื่องราวที่สามารถสอดแทรกคุณธรรมดีๆ ได้ ก็จะให้นักเรียนเล่นละครบทบาทสมมติ ซึ่งพวกเขาก็จะเกิดความสนุกสนานและยังได้รู้และเข้าใจความหมายของเรื่องและเข้าใจคำศัพท์ได้ดีด้วย ยกตัวอย่าง เรื่องหนูละเลิง ในชั้น ป.2 ที่สอนเรื่องความขยันกับความเกียจคร้าน เราก็ให้เด็กเล่นบทบาทสมมติ คนหนึ่งเป็นคนขายถั่ว อีกคนขายปาท่องโก๋

ในบทนี้คนเขียนเดินเรื่องด้วยกลอนว่า หนู ละเลิง เชิง คร้าน เรื่อง อ่าน เขียน หนี โรงเรียน เที่ยวเตร่ เถลไถล ไป พบ แขก แบกกระบุง ทูน หัว ไป ส่ง เสียง ไกล “โน้ม ปัง! ถั่ว มัน มัน!”

หนู ละเลิง อยาก ขาย เข้า ไป หา ว่า “บัง จ๋า ขอ ถั่ว ทูน หัว ฉัน” แขก ก็ ยอม ยก กระบาย ส่ง ให้ พลัน

ละเลิง ยัน คอ ย่น บ่น จะ ตาย...มิสก็จะสอดแทรกคุณธรรมให้เด็กๆ ว่าต้องขยัน ไม่งั้นจะไปเป็นแขกขายถั่ว กลอนก็จะดำเนินเรื่องไป เจอคนโน้น เจอคนนี้ ในที่นี้เจอเจ๊กขายปาท่องโก๋

ในบทสุดท้าย หนู ละเลิง คิดว่า อ้าว! เขา ทั้งสิ้น ล้วน หา กิน หา อยู่ กู ต้อง กลับ ไป โรงเรียน เขียน อ่าน คูณ หาร นับ ไว้ สำหรับ ช่วย ตัว เมื่อ เติบโต ...เด็กๆ สนุกตื่นเต้นมาก เขาได้สัมผัส ได้เล่นละคร พวกเขาจะได้รู้จักว่าเกียจคร้านกับขยัน ผลจะเป็นยังไง”

มิสตวงพรยกตัวอย่าง พร้อมยืนยันว่าจากประสบการณ์ที่สอนมา 28 ปี เห็นได้ชัดว่าเด็กที่เรียนดรุณศึกษาสามารถอ่านหนังสือออกทุกคน เรียนภาษาไทยได้เข้าใจและรวดเร็ว ซึ่งไม่แปลกใจที่มูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลฯ ได้ใช้เป็นหนังสือเรียนภาษาไทยมาตลอดไม่เคยเปลี่ยน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการที่เด็กจะอ่านออกเขียนได้และเข้าใจภาษานั้นขึ้นกับตัวเด็กและผู้ปกครองด้วย นอกเหนือจากครูที่โรงเรียน

ดรุณศึกษา... ตำราภาษาไทยข้ามศตวรรษ

 

 

การปรับปรุงเปลี่ยนแปลง

ผศ.อินทิรา บุนนาค กรรมการผู้จัดการ สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ในฐานะบริษัทผู้ที่ทำสัญญาในการจัดพิมพ์หนังสือดรุณศึกษาจากมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลฯ มากว่า 50 ปี กล่าวว่า เล่มนี้มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ทันสมัยอยู่เสมอ ทั้งในส่วนของรูปเล่ม การจัดหน้า ภาพประกอบบทเรียน และข้อความบางตอนได้รับการพิจารณาปรับปรุงอย่างละเอียด เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์และถูกต้องโดยคณะปรับปรุงตำราของมูลนิธิ ร่วมกับนักวิชาการของสำนักพิมพ์ร่วมกันพิจารณา แก้ไข และตรวจสอบร่วมกัน

“ครั้งล่าสุดได้ปรับปรุงครั้งใหญ่ทั้ง 5 เล่ม ในปี 2556 ซึ่งการปรับปรุงนั้นไม่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อหาเดิมในหนังสือนั้นแต่อย่างใด ยังคงเป็นคำเดิมทั้งหมดตามที่ผู้เขียนเขียนแม้ว่าคำนั้นจะเป็นคำโบราณที่ปัจจุบันไม่ใช้แล้วก็ตาม เราเพียงมาปรับปรุงใหม่ในส่วนของรูปแบบปกใหม่ ภาพประกอบแต่ละบทเป็นภาพสีสันสวยงาม รวมถึงการเรียบเรียงเนื้อหาสาระพร้อมเชิงอรรถอธิบายความหมายประกอบคำบางคำของแต่ละบทแต่ละชั้นเรียนที่จะช่วยเอื้อให้ผู้เรียนเข้าใจความหมายของคำตามบริบทในปัจจุบันชัดเจนยิ่งขึ้นเท่านั้น”

ดรุณศึกษา... ตำราภาษาไทยข้ามศตวรรษ