posttoday

'ภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย' โอกาสเกิดและวิธีรักษา

10 มกราคม 2565

เรามักจะได้ยินเรื่องหนุ่มสาวก่อนวัย ที่นอกจากความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายที่มีการพัฒนาเร็วกว่าเด็กวัยเดียวกันแล้ว ความสูงของเด็กที่มีภาวะนี้อาจพัฒนาเร็วและหยุดไว จึงอาจกลายเป็นผู้ใหญ่ตัวเตี้ยในอนาคต

'ภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย' โอกาสเกิดและวิธีรักษา

ภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย คือภาวะที่เด็กผู้หญิง เริ่มมีเต้านมก่อนอายุ 8 ปี โดยเต้านมนี้จะนับตั้งแต่เริ่มคลำได้เป็นไตเล็ก ๆ ประมาณ 1 เซนติเมตร ถ้าเห็นเป็นเต้าชัดเจน หรือเริ่มมีประจำเดือน เป็นสิ่งบ่งบอกว่าเด็กเข้าวัยสาวมานานก่อนหน้านั้นแล้ว

ส่วนเด็กผู้ชาย จะมีการเพิ่มขนาดของลูกอัณฑะก่อนอายุ 9 ขวบ ซึ่งอาจสังเกตเองได้ยาก ส่วนที่สังเกตได้ง่ายกว่า เช่น การเพิ่มขนาดขององคชาติ หรือการมีกลิ่นตัว เสียงแตก สิว หน้ามัน และขนหัวหน่าวขึ้น บ่งบอกว่าเด็กเข้าวัยหนุ่มมานานก่อนหน้านั้นเช่นกัน

'ภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย' โอกาสเกิดและวิธีรักษา

แพทย์หญิงสุทธิกานต์ สันติวัฒนา กุมารแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายถึงว่า เนื่องจากเมื่อเข้าสู่ช่วงที่เป็นหนุ่มสาว เด็ก ๆ จะมีความสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น นอกจากลักษณะการเป็นหนุ่มสาว การที่เด็กดูโตเร็วหรือตัวโตกว่าเพื่อนที่เพศและวัยเดียวกันมาก ก็เป็นสัญญาณหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะช่วยสังเกตได้ โดยเด็กที่มีภาวะนี้มักมีอายุกระดูกที่ล้ำหน้าอายุจริง ทำให้ถึงแม้ว่าช่วงแรกสูงเร็วกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน แต่มักจะหยุดสูงก่อนเพราะกระดูกปิดก่อน ในบางรายจึงอาจส่งผลเสียต่อความสูงสุดท้ายที่ควรจะเป็น ซึ่งกรณีดังกล่าวแพทย์หญิงสุทธิกานต์ เปิดเผยว่า หากพบสัญญาณเตือนการเข้าสู่ภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และให้แพทย์ช่วยประเมินให้แน่ใจก่อนว่าเข้าข่ายที่จะไม่กระทบความสูงสุดท้าย เพราะการรักษาล่าช้าอาจทำให้เด็กเสียโอกาสที่จะสูงต่อได้

โดยแพทย์จะวินิจฉัยจากการตรวจดังต่อไปนี้

  • ประวัติการเจริญเติบโต เช่น สมุดวัคซีน สมุดรายงานการเรียนที่มีบันทึกน้ำหนักส่วนสูงแต่ละเทอม
  • การตรวจร่างกาย
  • หากประวัติและการตรวจร่างกายเข้าข่ายภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย จะต้องทำการตรวจเลือดเพื่อยืนยัน
  • การตรวจเอกซเรย์อายุกระดูกในเด็กที่เข้าสู่ภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย

นอกจากนี้ ในรายที่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ยังจำเป็นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของการเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย เช่น การทำ MRI สมอง เป็นต้น

เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะหนุ่มสาวก่อนวัยแล้ว แพทย์อาจพิจารณาให้ยายับยั้งการหลั่งฮอร์โมนที่เรียกว่า “GnRH analog” ยา GnRH analogue ในปัจจุบัน จะให้ในรูปแบบการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เนื่องจากตัวยาค่อนข้างหนืดซึ่งจะทำให้ปวดบริเวณที่ฉีด จึงนิยมฉีดบริเวณที่กล้ามเนื้อมีขนาดใหญ่ เช่น สะโพก จึงจะปวดน้อย โดยยานี้มีสองแบบ คือ แบบฉีดทุก 4 สัปดาห์ และแบบฉีดทุก 12 สัปดาห์

โดยส่วนมากจะใช้ระยะเวลาฉีดหลายปี เพื่อผลการรักษาที่ดี โดยผลการรักษาด้วยยา GnRH analogue ในเด็กที่มีภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย เทียบกับคนที่ไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้สูงขึ้น 5 – 10 เซนติเมตร โดยความสูงที่เพิ่มขึ้น จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

1. เวลาที่เริ่มรักษา เร็วแค่ไหน

2. ความอ้วน ซึ่งอาจส่งผลให้ตอบสนองต่อการรักษาได้ไม่ดี

3. พันธุกรรม หรือความสูงของคุณพ่อคุณแม่

“ในเด็กกลุ่มที่ไม่สามารถเพิ่มความสูงได้อีก คุณพ่อคุณแม่ควรให้กำลังใจ อย่าโฟกัสแต่เรื่องความสูง เพราะจะสร้างความกดดันและความรู้สึกเป็นปมด้อยให้กับเด็ก ในทางกลับกัน ควรมองหาจุดเด่นของเขาและสนับสนุนจุดเด่นนั้นขึ้นมา และส่งเสริมให้มี self-esteem หรือความพอใจในสิ่งที่มีและสิ่งที่เป็น ให้เขารู้สึกว่าเป็นเด็กตัวเล็กที่มีความสุข มีความภูมิใจในตัวเอง” แพทย์หญิงสุทธิกานต์กล่าว