posttoday

ไม้เท้าเลเซอร์เพื่อผู้ป่วยพาร์กินสัน

26 ตุลาคม 2564

โรงพยาบาลเมดพาร์ค ร่วมมือกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ส่งมอบนวัตกรรมไทย "ไม้เท้าเลเซอร์เพื่อผู้ป่วยพาร์กินสัน" พร้อมเจาะลึกเรื่องการฟื้นฟูผู้ป่วยพาร์กินสันและผู้ป่วยที่มีปัญหาการเดินติด

ไม้เท้าเลเซอร์เพื่อผู้ป่วยพาร์กินสัน

โรงพยาบาลเมดพาร์ค ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นำเสนอนวัตกรรมและการรักษาเพื่อผู้ป่วยพาร์กินสันในงานแถลงข่าว “ไม้เท้าเลเซอร์ นวัตกรรมไทยเพื่อผู้ป่วยพาร์กินสัน” ณ ห้อง Forum ชั้น M โรงพยาบาลเมดพาร์ค โดย ศ. ดร. นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์ประสาทวิทยา โรงพยาบาลเมดพาร์ค ผู้คิดค้นและพัฒนาไม้เท้าเลเซอร์พระราชทาน พร้อมด้วย พญ.อุไรรัตน์ ศิริวัฒน์เวชกุล หัวหน้าศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลเมดพาร์ค มาร่วมเจาะลึกเรื่อง การฟื้นฟูผู้ป่วยพาร์กินสันและผู้ป่วยที่มีปัญหาการเดินติด พร้อมมอบและอบรมการใช้ไม้เท้าเลเซอร์พระราชทานให้กับผู้ป่วยที่เข้าร่วม ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย และกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ไม้เท้าเลเซอร์เพื่อผู้ป่วยพาร์กินสัน

นายแพทย์พงพัฒน์ ปธานวนิช กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่า โรงพยาบาลเมดพาร์ค เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน และมีความประสงค์ที่จะเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญ เพื่อผลักดันและสนับสนุนการกระจายนวัตกรรมไม้เท้าเลเซอร์พระราชทาน ที่ผ่านการคิดค้นและผลิตโดยคนไทย เพื่อตอบโจทย์ของผู้ป่วยพาร์กินสันและผู้สูงอายุที่มีปัญหาการเดินติด ก้าวขาไม่ออกได้อย่างแท้จริง เพราะโรคนี้ต้องการการดูแลและการช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูอย่างใกล้ชิด ทางโรงพยาบาลจึงได้มีการจัดงานแถลงข่าวและเชิญญาติและผู้ดูแลของผู้ป่วยแต่ละท่านเข้าร่วมด้วย

ไม้เท้าเลเซอร์เพื่อผู้ป่วยพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสันเป็นโรคความเสื่อมของระบบประสาทที่พบบ่อยที่สุดโรคหนึ่งในผู้สูงอายุ สถิติผู้ป่วยเป็นโรคพาร์กินสันทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 7 ถึง 10 ล้านคน และข้อมูลจากสภากาชาดไทยชี้ว่าในประเทศไทย สถิติของการเกิดโรคพาร์กินสันอยู่ที่ 435 คน ต่อประชากร 100,000 คน โดยที่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ ร้อยละ 1 ป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน และมีปัญหาในการเดินติด (Freezing of Gait) โดยอาการแสดงคือ มีการเดินติดขัดหรือเดินซอยเท้าถี่ และเมื่อร่วมกับปัญหาการทรงตัวที่ไม่ดีในผู้สูงอายุก็อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหกล้มได้

จึงได้มีการคิดค้น ไม้เท้าเลเซอร์พระราชทาน ซึ่งประดิษฐ์และพัฒนาขึ้นโดย ศ. ดร. นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์ประสาทวิทยา โรงพยาบาลเมดพาร์ค และทีมผู้วิจัย เพื่อช่วยแก้ไขอาการเดินติดในผู้ป่วยพาร์กินสัน โดยอาศัยแสงเลเซอร์สีเขียวที่ปล่อยออกมาจากไม้เท้า เป็นสิ่งชี้นำกระตุ้นทางสายตา (Visual Cues) ให้ผู้ป่วยก้าวเดิน

ไม้เท้าเลเซอร์เพื่อผู้ป่วยพาร์กินสัน

ศ.ดร.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์ประสาทวิทยา โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่า เราได้มีการมอบไม้เท้าเลเซอร์แล้ว ประมาณ 2,000 ด้าม ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ผ่านหน่วยงานรัฐ องค์กรการกุศลและผู้ที่สนใจ และยังมีการแจกอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยผู้ป่วยลดปัญหาการเดินติดและเพิ่มความมั่นคงในการก้าวเดิน สำหรับการรักษาโรคพาร์กินสันนั้นหากพบเร็วและได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ก็สามารถชะลอการพัฒนาของโรคได้ ทั้งนี้การรักษาแบบองค์รวม (Multidisciplinary care) เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ร่วมกับทีมสหวิชาชีพมีความสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน รวมถึงการทำกายภาพบำบัด ฝึกเดิน การออกเสียง ฝึกกลืน การดูแลปัญหาการนอนหลับ การปรับที่อยู่อาศัย การดูแลด้านจิตใจและพุทธิปัญญา ให้เหมาะสม และสอดคล้องกับอาการของผู้ป่วย

ไม้เท้าเลเซอร์เพื่อผู้ป่วยพาร์กินสัน

พญ.อุไรรัตน์ ศิริวัฒน์เวชกุล แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวเสริมว่า สำหรับปัญหาการเคลื่อนไหวที่สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยพาร์กินสัน การฟื้นฟูกายภาพบำบัดโดยการยืดคลายกล้ามเนื้อเพื่อลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อ ลดความแข็งเกร็ง ฝึกการทรงตัวและการเคลื่อนไหวของร่างกายโดยใช้อุปกรณ์ช่วยกะระยะ เช่น การขีดเส้นไว้ที่พื้น ก้าวตามจังหวะเสียง หรือใช้ไม้เท้าที่ติดตั้งแสงเพื่อใช้ในการฝึกเดิน (Visual Cues) สามารถช่วยลดปัญหาการเดินติดขัด ช่วยให้ผู้ป่วยเดินด้วยตนเองได้ดีขึ้น และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผลดีที่สุด ผู้ป่วยควรได้รับการสอนใช้อุปกรณ์ สอนการเตรียมยืดกล้ามเนื้อหากมีอาการแข็งเกร็ง และซ้อมเดินกับนักกายภาพบำบัดก่อนจนเกิดความมั่นใจ จากนั้นจึงจะสามารถฝึกต่อเองที่บ้านได้

ผู้ป่วยพาร์กินสันและผู้สูงอายุ ที่มีความเดือดร้อน สามารถติดต่อศูนย์ประสาทวิทยาโรงพยาบาลเมดพาร์ค ที่ 02-090-3114 เพื่อขอรับเลเซอร์ไม้เท้าพระราชทานโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยผู้ที่ขอรับต้องมีใบรับรองแพทย์ว่าเป็นผู้ป่วยกลุ่มพาร์กินสันหรืออาการใกล้เคียง โรคทางสมองอื่นๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคโพรงน้ำในสมองโต โรคสมองเสื่อม ที่มีปัญหาการเดินติดขัด และยินดีให้ความร่วมมือในการเก็บข้อมูล เพื่อพัฒนาต่อยอดในการรักษา