posttoday

กล้ามเนื้อแข็งแรง ระบบภูมิคุ้มกันก็แข็งแรง จริงหรือ?

16 กันยายน 2564

ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ เผยความเชื่อมโยงระหว่าง “มวลกล้ามเนื้อ” และ “ระบบภูมิคุ้มกัน” ปราการสำคัญป้องกันการติดเชื้อ พร้อมแนะเทคนิคการเสริมสร้างกล้ามเนื้อเพื่อเสริมเกราะภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย

ระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายของมนุษย์ เป็นระบบที่ทำงานตลอดเวลา เพื่อป้องกันการติดเชื้อต่างๆ แต่เราก็มักจะมองข้ามการดูแลระบบภูมิคุ้มกัน จนเราเริ่มมีอาการเจ็บป่วย หรือเวลาที่เราต้องการที่จะป้องกันตนเองจากการติดเชื้อต่างๆ ซึ่งการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันนั้นมีอยู่หลากหลายวิธี เช่น การรับประทานผักผลไม้ในปริมาณที่เหมาะสม การออกกำลังอย่างสม่ำเสมอและการพักผ่อนที่เพียงพอ แนวทางเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายและเริ่มต้นได้ที่ตัวเราเอง นอกจากนี้ เราอาจจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องการดูแลสุขภาพกล้ามเนื้อให้แข็งแรงอยู่เสมอ ซึ่งอาจส่งผลต่อการช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายด้วยเช่นเดียวกัน

กล้ามเนื้อแข็งแรง ระบบภูมิคุ้มกันก็แข็งแรง จริงหรือ?

ความเชื่อมโยงระหว่าง "มวลกล้ามเนื้อ" และ "ระบบภูมิคุ้มกัน"

กล้ามเนื้อลายมีสัดส่วนประมาณ 40% ของน้ำหนักตัวทั้งหมด และเป็นแหล่งกักเก็บโปรตีนอย่างน้อย 50% ในร่างกาย และเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยในการเคลื่อนไหว และแสดงถึงความแข็งแรงของร่างกาย อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่ากล้ามเนื้อและระบบภูมิคุ้มกันมีความสัมพันธ์กันด้วยเช่นกัน

มวลกล้ามเนื้อมีการผลิตและหลั่งสารสำคัญที่มีบทบาทในการเพิ่มจำนวนการกระตุ้น และการกระจายตัวของเซลล์ภูมิคุ้มกันบางชนิด แม้ว่าอาจยังต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม แต่ก็มีข้อมูลบ่งชี้ว่า การสูญเสียมวลกล้ามเนื้อนั้นสัมพันธ์กับการทำงานที่บกพร่องของระบบภูมิคุ้มกันและส่งผลให้เกิดการติดเชื้อง่ายขึ้น จากการศึกษา ในผู้สูงอายุพบว่าการเพิ่มขึ้นของตัวชี้วัดการอักเสบมีความสัมพันธ์กับภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยและการทำงานของกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ มวลกล้ามเนื้อยังเป็นแหล่งสะสมกรดอะมิโนที่สำคัญ ซึ่งร่างกายจะนำไปใช้ในกรณีที่ได้รับบาดเจ็บหรือมีการติดเชื้อ  ดังนั้นภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยร่วมกับการได้รับโปรตีนที่ไม่เพียงพอ จะส่งผลต่อการตอบสนองของร่างกายเมื่อได้รับบาดเจ็บหรือการติดเชื้อ

กล้ามเนื้อแข็งแรง ระบบภูมิคุ้มกันก็แข็งแรง จริงหรือ?

ภก.พงษ์ศิวะ กู่นอก เภสัชกรที่ได้รับการอบรมจากโครงการ Nutrition Expert ให้คำปรึกษาด้านโภชนาการ กล่าวว่า เพราะระบบภูมิคุ้มกันเป็นหนึ่งในหลายระบบในร่างกาย ทำหน้าที่สำคัญในการดูแลรักษาความสมดุลของร่างกาย โดยเมื่อเราอายุเพิ่มขึ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันนี้จะค่อยๆเสื่อมถอยลง ส่งผลให้เรามีความเสี่ยงที่จะเกิดการเจ็บป่วยหรือติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงต้องปรับพฤติกรรมการกินอาหาร ด้วยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เพียงพอ โดยควรได้รับโปรตีนในปริมาณที่เพียงพอ รวมถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนอย่างมีคุณภาพการนอนที่ดี เพื่อเสริมสร้างสุขภาพกล้ามเนื้อให้แข็งแรง ซึ่งจะช่วยเสริมเกราะให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราแข็งแรง

กล้ามเนื้อแข็งแรง ระบบภูมิคุ้มกันก็แข็งแรง จริงหรือ?

เทคนิคเสริมสร้างกล้ามเนื้อเพื่อเสริมเกราะภูมิคุ้มกัน

การเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อเริ่มต้นได้ด้วยวิธีง่ายๆ ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และดูแลโภชนาการให้เหมาะสมกับวัย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเมื่ออายุมากขึ้น เพราะเมื่อเข้าสู่วัย 40 เรามีโอกาสที่จะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อได้ถึง 8% ภายในระยะเวลา 10 ปี และเมื่อก้าวสู่ช่วงอายุ 70 ปีขึ้นไป อัตราการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อจะเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง

จากการศึกษาวิจัยโครงการ SHIELD (Strengthening Health In Elderly through nutrition) ของโรงพยาบาลชางงี ร่วมกับศูนย์การแพทย์ SingHealth Polyclinics และบริษัทแอ๊บบอตฯในประเทศสิงคโปร์ พบว่าในแต่ละปี กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป มีอัตราส่วนที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ของปัจจัย (the odds) ในการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 13% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก

ดังนั้น เพื่อดูแลมวลกล้ามเนื้อ เรามีเคล็ดลับมาฝาก ดังนี้

1. ตั้งเป้าออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอในแต่ละสัปดาห์: การกำหนดเป้าหมายออกกำลังกายควรเริ่มต้นที่ระดับมาตรฐานคือ 150 นาทีต่อสัปดาห์ รวมถึงการออกกำลังกายแบบมีแรงต้านที่หลากหลายเพื่อชะลอการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อและเพื่อให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรง

2. รับประทานโปรตีนให้เพียงพอ: อาหารที่เป็นแหล่งสำคัญของโปรตีนได้แก่ อาหารทะเล, เนื้อไก่, ไข่ไก่, ถั่วต่างๆรวมถึงผลิตภัณฑ์จากนม โดยเฉลี่ยเราควรได้รับโปรตีนประมาณ 25-30 กรัมต่อ 1 มื้ออาหารและในผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมีความต้องการโปรตีนมากกว่าคนวัยอื่นและอาจมีความต้องการโปรตีนสูงขึ้นเป็น 2 เท่าในผู้สูงอายุบางคนที่มีภาวะขาดสารอาหาร รวมถึงผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง และเพื่อให้ร่างกายได้รับโปรตีนที่เพียงพอ อาจจะต้องรับประทานโปรตีนเสริมในกรณีที่จำเป็น

3. ปรับสมดุลโภชนาการ: เลือกรับประทานอาหารที่หลากหลายและครบถ้วนในแต่ละมื้ออาหาร ประกอบด้วย ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี โปรตีน ไขมันดี รวมถึงวิตามินและแร่ธาตุสำคัญที่มีส่วนช่วยในการทำงานร่วมกับโปรตีน เช่น แคลเซียมและวิตามินดี เป็นต้น