posttoday

ปรับชีวิตพิชิตโรคกระเพาะอาหารอักเสบและลำไส้อักเสบ

26 สิงหาคม 2564

หนึ่งในโรคยอดฮิตของคนวัยทำงาน "โรคกระเพาะอาหารอักเสบและลำไส้อักเสบ” เข้าใจสาเหตุ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็ป้องกันได้

รู้หรือไม่?

  • หลายคนคิดว่าโรคกระเพาะอาหารอักเสบ และสำไส้อักเสบ คือโรคเดียวกัน แท้จริงแล้วแม้สาเหตุการเกิดโรคจะใกล้เคียงกัน แต่ก็มีความแตกต่างอยู่บ้าง
  • โรคกระเพาะอาหารอักเสบเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยมากกว่าโรคลำไส้อักเสบ โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบที่พบได้บ่อยมาจากเรื่องอาหารการกิน
  • ทั้งสองโรคนี้ป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยหันมาใส่ใจมากขึ้นกับการรับประทานอาหารในแต่มื้อ พึงหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารปิ้งย่าง หมักดอง ละเว้นการดื่มแอลกอฮอล์ สุขอนามัยเบื้องต้นอย่างกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ก็ช่วยให้ห่างไกลจากโรคนี้ได้เช่นกัน

โรคฮิตของคนวัยทำงานมีอยู่ด้วยกันหลายโรค ในจำนวนนั้นคือ โรคกระเพาะอาหารอักเสบและลำไส้อักเสบ ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าเป็นโรคเดียวกัน แต่แท้จริงแล้วแม้สาเหตุการเกิดโรคจะใกล้เคียงกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันอยู่บ้าง

ข้อมูลโดย นายแพทย์อานนท์ พีระกูล อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลนนทเวช ใน Generali Thailand อธิบายไว้ดังนี้

รู้จักกับโรคและสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค

โรคกระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis) เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยมากกว่าโรคลำไส้อักเสบ (Enteritis) โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบที่พบได้บ่อยมาจากเรื่องอาหารการกิน ทั้งการปนเปื้อนของอาหาร สารพิษในอาหาร การติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียบางชนิดที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบของกระเพาะอาหาร รวมถึงท็อกซินของแบคทีเรีย รวมถึงการกินยาบางชนิดก็ทำให้เกิดการระคายเคืองและเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาคลายเส้น และยาแก้ปวดที่ไม่มีส่วนประกอบของสเตียรอยด์ (NSAIDs: Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs)

นอกจากอาหารและยาแล้ว การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่พบได้บ่อย หลายคนอาจมองข้าม ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วแอลกอฮอล์ถูกดูดซึมในกระเพาะอาหารได้โดยตรงจึงทำให้เกิดการระคายเคืองได้ ยิ่งดื่มตอนท้องว่างก็ยิ่งทำให้เกิดการอักเสบได้มากเป็นเงาตามตัว ปัจจัยที่พบได้บ่อยอีกอย่างคือการติดเชื้อแบคทีเรียจำเพาะบางอย่างในกระเพาะอาหาร เชื้อที่ว่าคือ เชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori) ที่ปนเปื้อนกับอาหาร ที่ต้องแยกออกมาเพราะเชื้อชนิดนี้ทำให้เกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในกระเพาะอาหารได้ในอนาคตหากไม่รักษาหรือปล่อยให้การอักเสบนั้นเป็นเรื้อรัง

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบ (Enteritis) ที่พบบ่อยที่สุดคือการติดเชื้อแบคทีเรีย จำพวกอีโคไล (E.coli) และ Staphylococcus spp. ซึ่งทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด โรคไทฟอยด์ อหิวาตกโรค นอกจากนี้ ไวรัสหลาย ๆ สายพันธุ์ก็ทำให้เกิดภาวะลำไส้อักเสบได้ โดยโรคลำไส้อักเสบจะมีความเกี่ยวพันกับโรคกระเพาะอาหารอักเสบเนื่องจากสาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารด้วยเช่นกัน โดยคนไข้ที่มีอาการลำไส้อักเสบอาจมีอาการกระเพาะอาหารอักเสบร่วมด้วย เพราะอาหารที่รับประทานเข้าไปจะถูกลำเลียงจากกระเพาะอาหารเข้าสู่ลำไส้ตามกระบวนการย่อยอาหารของร่างกาย

ปรับชีวิตพิชิตโรคกระเพาะอาหารอักเสบและลำไส้อักเสบ

อาการของโรค

อาการที่แสดงออก หากเป็นโรคกระเพาะอักเสบ อาการที่เด่นชัด คืออาเจียน ปวดท้องแบบแสบร้อนหรือบิดมวน แน่นท้อง เรอบ่อย และเนื่องจากเป็นตำแหน่งกลางหน้าอก บางคนอาจมีอาการเรอเปรี้ยว รู้สึกขมคอและจุกแน่นในลำคอ ซึ่งอาการจะไปคล้ายคลึงกับภาวะกรดไหลย้อน แต่ถ้าเป็นโรคลำไส้อักเสบ อาการที่เด่นชัดคือ ท้องเสีย ถ่ายเหลว ถ่ายเป็นน้ำ ถ้ามีอาการรุนแรงบางคนถ่ายเป็นมูกเลือด

ระยะเวลาในการแสดงอาการของโรคหลังจากได้รับเชื้อนั้นไม่แน่นอน บางรายอาจอยู่ที่ 1 – 2 สัปดาห์ แต่ถ้าหากรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนจากเชื้อแบคทีเรียก็สามารถเกิดในเวลาสองสามชั่วโมงหลังจากได้รับเชื้อเข้าไปได้

แนวทางในการรักษา

เมื่อคนไข้ถึงมือแพทย์ แพทย์จะทำการซักประวัติ สอบถามอาการ และตรวจร่างกายเพื่อประเมินความรุนแรงก่อน การให้การรักษาทั้งสองโรค ส่วนใหญ่แล้วไม่จำเป็นต้องตรวจทางรังสีวิทยาเพิ่มเติม เช่น การถ่ายภาพรังสีช่องท้อง หรือการทำอัลตราซาวด์ช่องท้อง ยกเว้นถ้าแพทย์สงสัยว่าอาการปวดท้องดังกล่าวอาจจะมีภาวะอื่นร่วมด้วย เช่น ภาวะนิ่วในถุงน้ำดีหรือทางเดินน้ำดี ถุงน้ำดีอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ลำไส้อุดตันหรือภาวะอุจจาระค้างในลำไส้ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ และผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเล่าอาการเจ็บป่วยได้อย่างชัดเจน แพทย์จึงจะตรวจเพิ่มเติมด้วยการถ่ายภาพรังสีช่องท้อง ส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะให้ยาและรักษาตามอาการ กรณีถ้าโรคกระเพาะอักเสบหรือลำไส้อักเสบนั้นมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารเป็นพิษ หรือติดเชื้อในกระเพาะอาหาร แพทย์ก็จะพิจารณาให้ยาฆ่าเชื้อ แต่ถ้าอาการนั้นเป็นมานาน พิจารณาแล้วไม่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงจากอาหารที่กิน แต่เกิดจากภาวะกรดเกิน หมอจะให้ยาลดการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหารเป็นยาหลัก

คำแนะนำจากแพทย์

หากผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือถ่ายเหลวจากภาวะกระเพาะอาหารอักเสบ หรือลำไส้อักเสบ ซึ่งมักมีระดับความรุนแรงไม่มาก ก็สามารถรักษาเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง เช่น ดื่มน้ำผสมผงน้ำตาลเกลือแร่ (Oral Rehydration Solution – ORS) เพื่อช่วยชดเชยภาวะที่ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ไป กินยาแก้ปวดมวนท้อง ยาแก้คลื่นไส้ อาเจียน อาการจะดีขึ้น ภายในหนึ่งถึงสองวันหลังกินยา

แต่ถ้าอาการเริ่มรุนแรงขึ้น เช่น อาเจียนบ่อย หรืออาเจียนทุกครั้งหลังรับประทานอาหารจนไม่สามารถรับประทานอาหารได้เลย มีไข้สูง ถ่ายเป็นมูกเลือด ปวดท้องอย่างรุนแรง วูบหน้ามืดจะเป็นลม ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนของภาวะการขาดน้ำรุนแรงมีความเสี่ยงต่อภาวะช็อกได้

ปรับชีวิตพิชิตโรคกระเพาะอาหารอักเสบและลำไส้อักเสบ

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

ช่วงที่มีอาการของทั้งสองโรค ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทนม ถั่ว งา น้ำอัดลม ชา กาแฟ เพราะจะทำให้มีอาการท้องอืด จุกเสียด และแน่นท้องมากขึ้นได้ และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผักและผลไม้สดในช่วงที่มีลำไส้อักเสบด้วย เพราะมีโอกาสปนเปื้อนได้สูง

อย่างที่รู้กันแล้วว่าการเจ็บไข้ได้ป่วยจากทั้งสองโรคนี้ส่วนใหญ่เริ่มจากการรับประทานอาหาร ถ้าไม่อยากต้องนอนโรงพยาบาล ก็ถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยหันมาใส่ใจมากขึ้นกับการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ พึงหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารปิ้งย่าง หมักดอง ละเว้นการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะยิ่งทำให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบ และแผลในกระเพาะอาหาร การหลีกเลี่ยงการรับประทานยากลุ่มแก้ปวด/คลายกล้ามเนื้อกลุ่ม NSAIDs ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน รวมถึงสุขอนามัยเบื้องต้นอย่างการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ก็ยังเป็นหลักปฏิบัติสากลที่ช่วยให้เราห่างไกลจากโรคเหล่านี้ได้เช่นกัน

ภาพ :  freepik