posttoday

แพทย์ย้ำอาหารและพฤติกรรม ตัวการเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้

01 กันยายน 2563

แพทย์แนะวิธีเลี่ยง “มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง” ย้ำเลี่ยงอาหารไขมันสูง ฟาสต์ฟู้ด ปิ้งย่างไหม้เกรียม น้ำมันทอดซ้ำ เนื้อสัตว์แปรรูป และปรับพฤติกรรมก่อนสาย พร้อมแนะนำเรื่องการตรวจและการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

กรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ชี้สัญญาณเตือนมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับต้นๆ ของหลายประเทศทั่วโลก ด้วยวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป แนะเลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารปิ้งย่างไหม้เกรียม อาหารจากน้ำมันทอดซ้ำ และเนื้อสัตว์แปรรูป

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงพบได้บ่อยเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย และอันดับ 2 ในเพศหญิง ส่วนปัญหาอุปสรรคของการรักษาโรคมะเร็งคือ โรงพยาบาลส่วนใหญ่มีจำนวนเตียงไม่เพียงพอ ผู้ป่วยที่ต้องได้รับยาเคมี จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลทุกครั้ง บางครั้งทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาไม่เป็นไปตามรอบการให้ยาและขาดความต่อเนื่อง กรมการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พร้อมโรงพยาบาลต่างๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงได้ร่วมผลักดัน นโยบายเรื่องการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน (Home chemotherapy) เป็นชุดสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาตรงเวลา มีประสิทธิภาพ ให้ผลลัพธ์ต่อสุขภาพร่างกาย และจิตใจที่ดีกว่า อีกทั้งยังพบว่าการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน มีต้นทุนต่ำกว่าการบริการยาเคมีที่โรงพยาบาลอีกด้วย การรักษาด้วยวิธี Home chemotherapy จัดเป็นการพัฒนารูปแบบบริการการแพทย์วิธีใหม่ หรือเรียกว่า “New Normal of Medical Service” สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่าปัจจุบันวิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมากโดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภค เช่น อาหารไขมันสูง อาหารฟาสต์ฟู้ดต่างๆ ได้รับความนิยมมากขึ้น การกินอาหารปิ้งย่างไหม้เกรียม อาหารจากน้ำมันทอดซ้ำ และเนื้อสัตว์แปรรูป ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรค 

อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การขาดการออกกำลังกาย การมีภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน ตลอดจนการมีประวัติครอบครัวหรือตนเองเป็นติ่งเนื้อในลำไส้ เป็นต้น สำหรับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เริ่มจากการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้ (polyp) และพัฒนาจนเป็นมะเร็งโดยใช้ระยะเวลาประมาณ 10-15 ปี

อาการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง

มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงมักจะไม่มีอาการในระยะเริ่มแรกของโรค อาการจะแสดงก็ต่อเมื่อโรคลุกลามมากขึ้นจนถึงระยะสุดท้าย ส่งผลทำให้การรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ซึ่งอาการของโรคที่พบบ่อย ได้แก่

  • การถ่ายอุจจาระผิดปกติ
  • มีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย
  • ถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง
  • ถ่ายไม่สุด
  • ถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือด หรืออาจถ่ายเป็นเลือดสด
  • ขนาดลำอุจจาระเล็กลง
  • มีอาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด จุกเสียด

อย่างไรก็ตาม มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเป็นมะเร็งที่สามารถตรวจคัดกรองเพื่อค้นหามะเร็งในระยะเริ่มแรกได้ ส่งผลให้การรักษาได้ผลดีและมีโอกาสหายจากโรคสูง ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง โดยการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระปีละครั้ง หากผิดปกติควรได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ กรณีพบติ่งเนื้อหรือความผิดปกติในลำไส้ใหญ่ แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อบริเวณดังกล่าวเพื่อวินิจฉัยต่อไป

แพทย์ย้ำอาหารและพฤติกรรม ตัวการเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้

ด้านข้อมูลโดย ศ.พิเศษ นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัฒโนสถ แนะนำเรื่องการตรวจและการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่  ดังนี้

การตรวจโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

  • การตรวจวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่ สามารถทำได้โดย
  • ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทวารหนัก (Colonoscopy)
  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์โดยการสวนแป้งแบเรี่ยม
  • ตรวจเลือดเพื่อค้นหามะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยวัดระดับ Carcinoembryonic Antigen (CEA)
  • ตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น เอกซเรย์ทรวงอก CT Scan MRI หรือส่องกล้องคลื่นความถี่สูง (EUS)

การรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

การรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้น ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค ได้แก่

  • ระยะที่ 0 (Stage 0) ระยะก่อนมะเร็ง เซลล์มะเร็งจะอยู่บริเวณผนังลำไส้ สามารถรักษาได้โดยการส่องกล้องเพื่อเข้าไปตัดชิ้นเนื้อออก
  • ระยะที่ 1 (Stage I) - ระยะที่ 2 (Stage II) เซลล์มะเร็งลุกลามเข้าไปบริเวณผนังกล้ามเนื้อของลำไส้ใหญ่ แต่ยังไม่แพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง สามารถรักษาได้โดยผ่าตัดตามตำแหน่งที่พบในลำไส้ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่ตรวจพบในระยะที่ 2 จะมีการตรวจยีน (Genome Testing) เพิ่มเติม เพื่อพิจารณาว่าจำเป็นต้องให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) ร่วมด้วยหรือไม่ เพราะการรักษาด้วยเคมีบำบัดช่วยลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้
  • ระยะที่ 3 (Stage III) เซลล์มะเร็งลุกลามไปยังบริเวณต่อมน้ำเหลือง ต้องมีการตรวจยีน (Genome Testing) ร่วมด้วย สามารถรักษาโดยการให้เคมีบำบัด (Chemotherapy) หรือยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) แต่จะมีการฉายรังสี (Radiotherapy) ร่วมด้วยในกรณีที่พบบริเวณลำไส้และทวารหนัก
  • ระยะที่ 4 (Stage IV) เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปทั่วทั้งต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ปอด กระเพาะอาหาร รังไข่ ต้องรักษาเริ่มต้นโดยการให้เคมีบำบัด (Chemotherapy) ร่วมกับการฉายรังสี (Radiotherapy) แล้วตามด้วยการผ่าตัดก้อนมะเร็งในตำแหน่งที่พบรวมถึงตำแหน่งที่ลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง 

การผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

ข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ (Laparoscopic Surgery) คือแผลเล็ก เสียเลือดลดลง เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว ลดการเกิดผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อที่แผล ทำให้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น แต่ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ควรจะเข้ารับการผ่าตัดแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เป็นสำคัญเพื่อผลลัพธ์การรักษาที่ดีและเหมาะสมกับคนไข้แต่ละบุคคล โดยกล้องที่ใช้ในการผ่าตัด เป็นกล้องที่สร้างขึ้นเพื่อใช้งานทางการแพทย์ ซึ่งจะมีประสิทธิภาพความละเอียดและความคมชัดสูง และสามารถสร้างภาพให้เป็นภาพ 3 มิติ ทำให้ศัลยแพทย์เห็นภาพได้ชัดเจน การผ่าตัดสามารถทำได้อย่างแม่นยำและช่วยลดโอกาสการเกิดผลแทรกซ้อนหลังผ่าตัด

วิธีลดความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทวารหนัก (Colonoscopy) แนะนำให้ตรวจเป็นประจำทุกๆ 5-10 ปี ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป จะช่วยให้สามารถรับมือได้ทันท่วงที แต่ถ้าหากมีคนในครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคนี้ แนะนำให้มาตรวจตั้งแต่อายุ 45 ปีขึ้นไป เพื่อตรวจหาความผิดปกติของลำไส้ใหญ่

อีกวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร พยายามหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารที่ผ่านกรรมวิธีแปรรูป เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ หันมาให้ความใส่ใจกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอ การรับประทานผักและผลไม้ รวมถึงการออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอในแต่ละวันร่วมกับการทำจิตใจให้บริสุทธิ์ สิ่งเหล่านี้ที่มีส่วนสำคัญช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและห่างไกลจากโรคมะเร็ง