posttoday

Covid-19 : วิกฤตและความเสี่ยงมหัตภัยโรคจากสัตว์สู่คน

10 สิงหาคม 2563

"Zoonosis Disease" โรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน หนึ่งในความกังวลของมวลมนุษย์โลก

จากรายงานสถานการณ์ผู้ป่วย โควิด-19 พบว่า ตัวเลขผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นทุกวันในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จนสถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุมอย่างใกล้ชิดในปัจจุบัน ทำให้คนไทยส่วนใหญ่มีการ ‘ระวังตัว’ กับสถานการณ์โรคระบาดนี้ แต่การระวังตัวนั้นไม่ได้ทำให้รู้สึกถึงความ ‘วางใจ’ เพราะเมื่อมองไปถึงต้นตอของการแพร่ระบาดครั้งนี้ที่มีต้นตอมาจากการติดต่อจากสัตว์สู่คน นั่นก็หมายความว่า โอกาสที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคนี้ยังคงมีความเป็นไปได้ รวมถึงโรคติดต่ออื่นๆ ทั้งโรคที่เคยมีการแพร่ระบาดมาแล้ว และโรคที่อาจจะเกิดขึ้นใหม่ได้ในอนาคต

Covid-19 : วิกฤตและความเสี่ยงมหัตภัยโรคจากสัตว์สู่คน

ซึ่งผลของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ ทำให้คำว่า ‘โรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน’ หรือ ‘Zoonosis Disease’ กลายเป็นคำที่ไม่ได้ถูกพูดในเฉพาะในวงการแพทย์เท่านั้น เพราะการอ้างอิงถึงเรื่องโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนกลายเป็นคำส่วนหนึ่งที่ใช้ในการรายงานข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์นี้ โดยเฉพาะในช่วงแรกที่เริ่มมีการแพร่ระบาด ซึ่งจริงๆแล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการระบาดของโรค ไข้หวัดใหญ่สเปน อีโบลา ซาร์ส จนถึงโรคไข้หวัดหมูในปี 2552 ถือเป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคจากสัตว์สู่คนได้ในอีกไม่ช้าก็เร็ว

Covid-19 : วิกฤตและความเสี่ยงมหัตภัยโรคจากสัตว์สู่คน

นายแพทย์วัชระ พุ่มประดิษฐ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายถึงต้นตอของปัญหาที่อาจถูกมองข้าม ในช่วงที่การรายงานข่าวส่วนใหญ่เน้นไปที่เรื่องของตัวเลขและการแก้วิกฤติเฉพาะหน้า แต่ไม่ค่อยได้พูดถึงปฐมเหตุที่แท้จริงว่า “ทุกวันนี้เราพูดกันถึงโควิด-19 เพราะที่ผ่านมาเราตกใจกับเรื่องของโควิดกันมาก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่โควิดเท่านั้นที่เราควรจะพูดถึง เพราะต้นเหตุของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนก็คือ การที่มนุษย์เข้าไปรุกรานความเป็นอยู่อย่างเป็นธรรมชาติของสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่าในกรณีของโควิดหรือสัตว์ในฟาร์ม เช่น ไข้หวัดใหญ่สเปน”

ด้วยความรู้และประสบการณ์ในเรื่องของโรคติดเชื้อทำให้นายแพทย์วัชระสนใจในประเด็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนมากเป็นพิเศษ และนำมาสู่การทำงานเพื่อขับเคลื่อนเกี่ยวกับสวัสดิภาพของสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ในฟาร์มที่นำมาใช้ประกอบอาหาร อย่างเช่นไก่ หมู และวัว ร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่าง องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) ที่ทำในเรื่องของการรณรงค์เพื่อสวัสดิภาพสัตว์มาอย่างต่อเนื่อง

“ประเด็นที่ทำให้เห็นถึงความสำคัญในเรื่องการขับเคลื่อนเกี่ยวกับสัตว์มีหลายประเด็น ประเด็นแรกคือการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์เป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่โรคติดเชื้อของคน ประเด็นที่สองคือ วิธีการทำฟาร์มปศุสัตว์สมัยใหม่ที่อาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์เท่าที่ควร อันอาจจะนำไปสู่โรคภัยทั้งต่อสัตว์และคน นอกจากนั้นก็คือเรื่องของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากวิถีบริโภคของคนในยุคนี้ ซึ่งอาจต้องได้รับการแก้ไขและพัฒนาก่อนที่สิ่งแวดล้อมจะรับไม่ไหวอีกต่อไป” นายแพทย์วัชระขยายความถึงที่มาของความสนใจและการผลักดันสวัสดิภาพสัตว์

ในเรื่องของโรคที่อาจมาพร้อมกับการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์ ทั้งเนื้อ นม และไข่ อุบัติการณ์ของโรคในลักษณะนี้เป็นผลมาจากระบบการเลี้ยงสัตว์สมัยใหม่ (Factory Farming) โดยเฉพาะในที่มีสภาพแออัด ซึ่งแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ระบบปศุสัตว์แบบนี้ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าในแง่เม็ดเงินที่ลงทุนไป แต่ต้องแลกมากับคุณภาพชีวิตที่ลดลงของสัตว์ในฟาร์ม เช่น ไก่และสัตว์อื่นๆ การถูกเลี้ยงในที่แออัดทำให้เกิดภาวะเครียด และเป็นสภาพแวดล้อมที่ทำให้สัตว์เจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น ซึ่งเมื่อสัตว์เจ็บป่วยหรือมีแนวโน้มว่าจะเจ็บป่วย ก็จะนำมาสู่การใช้ยาฆ่าเชื้อแบบป้องกันไว้ก่อนในสัตว์ (Antibiotic Prophylaxis) แทนที่จะใช้รักษาเมื่อเกิดการเจ็บป่วยขึ้น ส่งผลให้เกิดเชื้อดื้อยาในสิ่งแวดล้อม แล้วนำไปสู่เชื้อดื้อยาในคน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน

Covid-19 : วิกฤตและความเสี่ยงมหัตภัยโรคจากสัตว์สู่คน

นางสาวเหมือนดาว คงวรรณรัตน์ ผู้จัดการโครงการด้านสวัสดิภาพไก่ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวให้เห็นถึงสภาพการเลี้ยงไก่ในปัจจุบันซึ่งมีผลเสียทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อมนุษย์ว่า “ทุกวันนี้มีไก่จำนวนหลายล้านตัวที่ถูกเลี้ยงในฟาร์มที่มีพื้นที่แออัดและไม่ถูกสุขลักษณะ โรงเรือนบางแห่งไม่มีแม้แต่แสงธรรมชาติที่จะส่องถึง นอกจากนี้ไก่ที่เราบริโภคกันในปัจจุบันมีการคัดเลือกสายพันธุ์ให้เติบโตเร็ว ไก่ตัวหนึ่งจึงมีอายุขัยประมาณ 42 วันเท่านั้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ไก่เกิดปัญหาทางสุขภาพและเป็นสาเหตุให้ไก่เกิดความเครียด และเมื่อเครียดก็จะเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค”

จากผลการศึกษาของ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) เผยให้เห็นถึงข้อมูลของความหนาแน่นในพื้นที่เลี้ยงไก่ในฟาร์มอุตสาหกรรม ที่ต้องไม่แออัดและไม่ควรเกิน 30 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ตัวเลขนี้อ้างอิงจากงานวิจัยที่มีการวิเคราะห์ออกมาแล้วว่าจะส่งผลดีโดยรวมต่อสุขภาพของไก่ทั้งกายและใจ แต่หากผู้เลี้ยงไก่คำนึงถึงแต่การควบคุมต้นทุนโดยการเลี้ยงอย่างแออัด ผู้บริโภคนั้นย่อมเป็นผู้รับผลกระทบด้านสุขภาพโดยไม่รู้ตัว

Covid-19 : วิกฤตและความเสี่ยงมหัตภัยโรคจากสัตว์สู่คน

“ในระบบปศุสัตว์สมัยใหม่จึงมีวิธีหนึ่งที่ฟาร์มหลายแห่งใช้รับมือกับปัญหาแบบนี้ ก็คือการให้ยาฆ่าเชื้อป้องกันไว้ก่อน ซึ่งผสมไว้ในอาหารสัตว์ โดยตัวเลขจากการศึกษาของคณะสาธารณสุขแห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ พบว่าในปี พ.ศ. 2555 (ค.ศ. 2012) ประมาณ 70% ของปริมาณการใช้ยาฆ่าเชื้อทั้งหมดในโลกมาจากการใช้ในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ และถ้าไม่ได้รับการแก้ไข คาดว่าประมาณปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) จะพบว่ามีการใช้ยาฆ่าเชื้อสูงขึ้นจากเดิมอีกอย่างน้อยร้อยละ 60 ด้วยการใช้ยาฆ่าเชื้อดังกล่าวนี้จะนำไปสู่ปัญหาเรื่องเชื้อดื้อยาที่ไม่ได้จบแค่สัตว์ที่ได้รับยาฆ่าเชื้อโดยตรงเท่านั้น แต่ยังส่งผ่านมาถึงคนด้วย คนส่วนใหญ่อาจจะมองว่าเรื่องเชื้อดื้อยาเป็นเพราะคนใช้ยาฆ่าเชื้อมากเกินไปเพียงอย่างเดียว แต่จากการดูแลผู้ป่วยพบว่ามันไม่ใช่แค่นั้น เพราะเราพบคนไข้ที่ระมัดระวังเรื่องใช้ยาฆ่าเชื้ออย่างมาก แทบไม่ซื้อยากินเองเลย แต่ก็ตรวจพบมีเชื้อดื้อยาอยู่ในตัวตลอดเวลา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการบริโภคอาหารที่มีเชื้อดื้อยาในสิ่งแวดล้อมนั่นเอง” นายแพทย์วัชระ อธิบาย

ในส่วนของเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น การทำปศุสัตว์สมัยใหม่ส่งผลให้มีของเสียที่มาจากฟาร์มปนเปื้อนลงในมหาสมุทร จนทำให้เกิดการขยายพันธุ์ของสาหร่ายและแบคทีเรีย ส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนในมหาสมุทรลดลงในระดับที่เป็นอันตราย ทางองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agricultural Organization of the United Nations) ได้ทำการศึกษาและพบว่า ปศุสัตว์ (Animal Agriculture) เป็นสาเหตุสำคัญถึงร้อยละ 18 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในโลก ซึ่งปริมาณของคาร์บอนไดออกไซด์นี้จะส่งผลกระทบโดยไปเพิ่มความเป็นกรดของมหาสมุทรให้มากขึ้น ทั้งนี้ระดับออกซิเจนที่ต่ำและภาวะมหาสมุทรเป็นกรดนี้ต่างส่งผลกระทบโดยตรงต่อความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตในทะเล และอาจขยายตัวต่อไปจนกลายเป็นปัญหาวิกฤติทางการประมง เพราะปริมาณสัตว์น้ำที่ลดลงจนหลายประเทศเริ่มมองหาทางเลือกทดแทน

ตอนนี้ถึงเวลาที่สังคมไทยต้องเอาเรื่องนี้มาคุยกันแล้ว เพราะในอาเซียนเริ่มมีวิกฤตเรื่องจำนวนสัตว์น้ำที่ลดลง จนไม่มีปลาพอให้จับ ตัวอย่างเช่น รัฐบาลสิงคโปร์ ที่ได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับเรื่องนี้ มีความพยายามหลายอย่างที่จะรับมือกับวิกฤตนี้ หนึ่งในนั้นก็คือการหาแหล่งโปรตีนใหม่ที่ไม่ต้องพึ่งปศุสัตว์อย่างในปัจจุบัน

“ในระบบการผลิตอาหารปัจจุบัน ถ้าเราดูทีละขั้นตอนจะเห็นว่าเป็นวิธีที่ใช้ทรัพยากรสูงมาก เพราะเราปลูกถั่วเหลือง เพื่อเอามาให้สัตว์กิน เวลาปลูกก็ต้องใช้น้ำ ใช้ที่ดิน มีการใช้ทรัพยากรหลายขั้นตอนกว่าจะได้โปรตีนกลับมาเป็นอาหารของคน ทางรัฐบาลและภาคเอกชนของนานาประเทศ อาทิ รัฐบาลสิงคโปร์ จึงพยายามหาโปรตีนทดแทน เช่น โปรตีนจากสาหร่ายหรือการค้นคว้าวิจัยในเรื่องของ อาหารจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์ (Plant-based Meat) ที่ไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ เป็นทางเลือกที่ดีต่อทั้งสุขภาพคน สุขภาพสัตว์ และสิ่งแวดล้อม” นายแพทย์วัชระเล่าถึงสถานการณ์และแนวโน้มของโลกที่กำลังปฏิวัติและแข่งขันกันในเรื่องอาหารที่ยั่งยืน

จากเหตุผลเหล่านี้จะเห็นได้ว่าการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ที่เลี้ยงในฟาร์ม ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของการให้ความเมตตาสัตว์เหมือนที่บางคนเข้าใจ และไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่ออีกหลายชีวิตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัญหาเรื่องสุขภาพคนที่อาจมีผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดจากโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ไม่ว่าจะเป็น โรคเชื้อดื้อยา โรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และหลายโรคก็ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ที่สุดของเรื่องทั้งหมดนี้ อาจอยู่ที่การรับรู้ของคนที่นำไปสู่การขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ เพราะหลายข้อเรียกร้องในเรื่องสวัสดิภาพสัตว์เกิดขึ้นจากพลังของผู้บริโภค ที่ทำให้ผู้ผลิตต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการให้สัตว์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่เมื่อการรับรู้และความเข้าใจเรื่องนี้ยังมีจำกัด โดยเฉพาะในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างสวัสดิภาพสัตว์และสุขภาพคน พลังในการขับเคลื่อนจึงยังไม่มากพอ

“เท่าที่สังเกต ปัญหาของคนส่วนใหญ่คือความไม่รู้ ยกตัวอย่างเช่น ผลจากการทำโฟกัสกรุ๊ปกับเด็กรุ่นใหม่เกี่ยวกับเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ สิ่งที่พบก็คือคนไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องสภาพความเป็นอยู่ในฟาร์มเท่าที่ควร อย่างกรงตับที่ใช้ในการผลิตไข่ (Battery Cage) หรือวิธีการฆ่าสัตว์ที่ทรมาน ผมเชื่อว่าถ้าเขาได้รับรู้ความจริง ต่อให้เขาเป็นคนที่ชอบกินเนื้อสัตว์ เขาก็ไม่ได้อยากกินเนื้อหรือไข่ที่เกิดจากการทรมาน ดังนั้นความหวังในการเปลี่ยนแปลงก็อยู่ที่คนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าและผู้ใหญ่ที่มีความห่วงใยที่จะออกมาขับเคลื่อนในประเด็นเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ สุขภาพคน และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดระบบอาหารที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ” นายแพทย์วัชระ กล่าว

โดยสถานการณ์โรคระบาด โควิด-19 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าทำได้ดีในเรื่องการควบคุมโรคติดต่อ แต่การควบคุมนั้นถือเป็นเรื่องของการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างคน เพื่อให้ออกจากวิกฤตนี้ แต่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุจริงๆ เป็นการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรได้รับการพูดถึงและให้ความสำคัญมากขึ้น เพื่อป้องกันวิกฤตใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นอีกได้ในอนาคต