posttoday

แพทย์เตือน 'ติดเชื้อในกระแสเลือด' อันตรายถึงชีวิต

06 กรกฎาคม 2563

กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลราชวิถี เตือนผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในกระแสเลือดมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรง นำไปสู่ภาวะอวัยวะล้มเหลวและอาจทำให้เสียชีวิตได้

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยติดเชื้อในกระแสเลือดมากกว่า 50,000 คนต่อปี โดยทั่วไปอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัส การผ่าตัด ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยเด็ก ทารกแรกเกิด หรือการใส่อุปกรณ์ต่างๆ เข้าสู่ร่างกาย มีโอกาสติดเชื้อในกระแสเลือดสูง

ทั้งนี้ เมื่อเกิดการติดเชื้อสามารถกระจายไปทั่วร่างกายได้อย่างรวดเร็ว ทำให้อุณหภูมิในร่างกายไม่สม่ำเสมอ ระบบการเดินหายใจแย่ลง และผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรงจากการติดเชื้อในกระแสเลือดดังกล่าว มักนำไปสู่ภาวะการทำงานของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว หมดสติ และอาจทำให้เสียชีวิตได้

แพทย์เตือน 'ติดเชื้อในกระแสเลือด' อันตรายถึงชีวิต

นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาวะความดันโลหิตต่ำจากการติดเชื้อในกระแสเลือด มักมีไข้สูง หนาว มือและเท้าเย็น หายใจเร็วขึ้น รู้สึกตัวน้อยลง คลื่นไส้ อาเจียน ผิวหนังอาจเกิดจุด ปัสสาวะน้อยลง เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะไม่เพียงพอ นำไปสู่ภาวะช็อก ผู้ป่วยบางรายหากยังมีความดันโลหิตต่ำ แพทย์อาจให้ยาช่วยเพิ่มความดันโลหิต และจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพื่อกระตุ้นให้หายใจได้ปกติ

อย่างไรก็ตาม ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดจากเชื้อโรคบางชนิดสามารถป้องกันได้โดย การฉีดวัคซีนในเด็กให้ครบอย่างสม่ำเสมอ ส่วนผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่องควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ควรงดสูบบุหรี่ ห้ามใช้สารเสพติด รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ และควรระวังป้องกันตนเองเมื่อต้องอยู่ใกล้ผู้ป่วยที่เป็นโรคต่างๆ ทั้งนี้หากพบอาการผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที

การติดเชื้อในกระแสเลือดคืออะไร มีอาการแบบไหนและเกิดขึ้นได้อย่างไร

ข้อมูลโดย ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี ภาควิชาอายุรศาสตร์ อธิบายว่า การติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นโรคที่มีอัตราการตายสูงมาก และตายอย่างรวดเร็วถ้าหากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที เพราะเลือดคือองค์ประกอบหลักของร่างกายไหลไปอวัยวะทุกส่วน หากมีความรุนแรงของเชื้อมากอาจทำให้เกิดการอักเสบทั่วร่างกาย

การติดเชื้อจากทุกส่วนของร่างกาย สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นปอด ทางเดินปัสสาวะ ทางเดินอาหาร หรือผิวหนัง ซึ่งภาวะนี้จำเป็นต้องให้การรักษาอย่างทันที เพราะถ้ามีอาการรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้

ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยเด็ก เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ผู้ป่วยสูงอายุ เพราะการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันเริ่มเสื่อม และผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ หรือผู้ป่วยที่มีโรคร่วมหลายอย่าง เช่น เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง เป็นต้น นอกจากปัจจัยของผู้ป่วยแล้ว ปัจจัยของเชื้อก่อโรคที่เป็นสาเหตุก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ เช่น ถ้าเป็นเชื้อที่มีความรุนแรงหรือเป็นเชื้อดื้อยาหลายชนิดก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงได้เช่นกัน

อาการของผู้ป่วยจะมาโรงพยาบาลด้วยอาการของการติดเชื้อของอวัยวะที่เป็นสาเหตุ มีไข้ หายใจเหนื่อย อาจซึมหรือหมดสติ ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีความดันโลหิตต่ำหรือมีภาวะช็อก การทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น ไต ปอด หัวใจล้มเหลวได้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญของการเสียชีวิต

การรักษา แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อก่อโรคที่สงสัย การให้สารน้ำให้เพียงพอ ถ้ามีอาการหอบเหนื่อยมาก อาจจำเป็นต้องใส่ท่อหลอดลมช่วยการหายใจ และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลเพื่อติดตามอาการ ผู้ป่วยที่มีความดันเลือดต่ำ เนื่องจากการติดเชื้อ หรือมีไข้สูงอาจต้องนอนโรงพยาบาลนานหลายวัน