posttoday

นิ่วในถุงน้ำดี เรื่องที่ควรระวังของคนรักบุฟเฟ่ต์

01 กรกฎาคม 2563

ปวดท้อง แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย เรื่องปกติหรือผิดปกติ!! เมื่อการกินเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี งานนนี้บอกเลยว่าสายเลิฟบุฟเฟ่ต์ สาวกของทอด ต้องอ่าน

รู้สึกท้องอืด แน่นท้องทีไร ก็มักเข้าใจว่าเกิดจากอาหารไม่ย่อยหรือเป็นโรคกระเพาะอีกแน่ๆ แต่รู้หรือไม่ว่า อาการนี้ยังเป็นสัญญาณเตือนของโรคระบบทางเดินอาหาร อย่าง “นิ่วในถุงน้ำดี” ภัยเงียบที่มักมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการกินที่ไม่ถูกต้องนัก ส่วนการกินจะส่งผลเพิ่มความเสี่ยงนิ่วในถุงน้ำดีได้ยังไง บอกเลยว่า “สายเลิฟบุฟเฟต์ ของทอด” ควรอ่าน!

นิ่วในถุงน้ำดี เรื่องที่ควรระวังของคนรักบุฟเฟ่ต์

ข้อมูลโดย พล.ท.นพ.สุทธจิต ลีนานนท์ ศูนย์ศัลยกรรมผ่าตัดแผลเล็กผ่านกล้องชั้นสูง โรงพยาบาลพญาไท 2 เผย นิ่วในถุงน้ำดี โรคนี้...มีที่มาที่ไปยังไงกันนะ?

แม้ว่าปัจจัยที่เพิ่มโอกาสเสี่ยง “นิ่วในถุงน้ำดี” จะมีด้วยกันหลายอย่าง แต่ปัจจัยหลักๆ มักมาจาก “พฤติกรรมของตัวเราเอง” เพราะเมื่อระดับไขมันหรือคอเลสเตอรอลมีเพิ่มมากขึ้น และน้ำดีไม่สามารถย่อยสลายได้หมด ไขมันนั้นก็อาจเกิดปฏิกริยาแล้วค่อยๆ ตกตะกอนกลายเป็น “ก้อนนิ่ว” ซึ่งระดับไขมันที่มีมากเกินจนไม่สามารถย่อยสลายได้หมดนั้น โดยส่วนใหญ่ก็มาจากพฤติกรรมที่ชอบทานอาหารไขมันสูงและไม่ชอบออกกำลังกายนั่นเอง

แล้วจริงไหม? นิ่วในถุงน้ำดี เกิดขึ้นแค่กับผู้สูงวัย

เราอาจจะใช้คำว่า “ผู้ป่วยส่วนใหญ่” ที่ตรวจพบความเสี่ยงนิ่วในถุงน้ำดี มักมีอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป แต่อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า...โรคนิ่วในถุงน้ำดีมีสาเหตุหลักมาจากระดับคอเลสเตอรอลที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลกระทบมาจากการมีภาวะอ้วน การลดน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็ว รวมถึงพฤติกรรมการชอบทานอาหารที่มีไขมันสูงและเส้นใยต่ำ ทำให้กลุ่มคนวัยทำงานที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ก็มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้เหมือนกัน!!

นิ่วในถุงน้ำดี เรื่องที่ควรระวังของคนรักบุฟเฟ่ต์

แม้ว่าไขมันจะเป็นปัจจัยหลัก แต่ก้อนนิ่ว...ก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้

ผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดีส่วนใหญ่มักถูกตรวจพบก้อนนิ่วชนิดที่เกิดจากคอเลสเตอรอล ซึ่งเป็นผลมาจากระดับคอเลสเตอรอลในน้ำดีเพิ่มมากขึ้น หรือการบีบตัวของกล้ามเนื้อในถุงน้ำดีน้อยจึงไม่สามารถบีบสารออกได้หมด แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีก้อนนิ่วชนิดที่เกิดจากเม็ดสี ซึ่งมักพบได้ในผู้ป่วยโรคตับแข็ง หรือผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของเลือด เช่น ผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย หรือผู้ป่วยโรคโลหิตจางจากการขาดเอนไซม์ G6PD

เรากำลังเสี่ยง “นิ่วในถุงน้ำดี” หรือเปล่า? สังเกตได้จากอาการเตือนเหล่านี้

  • นิ่วในถุงน้ำดีส่วนใหญ่มักไม่ก่อให้เกิดอาการ แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้น ดังนี้..
  • ท้องอืด
  • แน่นท้อง อาหารไม่ย่อยหลังมื้ออาหาร โดยเฉพาะหลังทานอาหารที่มีไขมันสูง
  • ปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงด้านขวา หรือปวดใต้ลิ้นปี่
  • ปวดท้องรุนแรง และปวดร้าวไปถึงสะบักหรือไหล่ด้านขวา
  • หากมีอาการถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน จะทำให้มีไข้สูงเฉียบพลัน
  • อาจมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม
  • หากถุงน้ำดีเกิดติดเชื้อ จะทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียนผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก

แนวทางการรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดี

ในการรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดี วิธีที่เหมาะสมที่สุด คือ การผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก! เพราะจะช่วยป้องกันการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีซ้ำ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น โดยการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกนั้น มีด้วยกัน 2 วิธี คือ

การผ่าตัดถุงน้ำดีแบบเปิดหน้าท้อง ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการถุงน้ำดีมีการอักเสบมากหรือแตกทะลุในช่องท้อง

การผ่าตัดถุงน้ำดีแบบผ่านกล้อง ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีอาการถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลันหลังผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก! ควรดูแลตัวเองอย่างไร

สิ่งแรกที่ผู้ป่วยควรให้ความใส่ใจ คือ เรื่องของแผลผ่าตัด โดยในช่วงระยะ 1-2 เดือนแรกหลังผ่าตัด ห้ามยกของหนักหรือเดินทางระยะไกลๆ เพราะหากแผลยังไม่สมานเป็นเนื้อเดียวกัน อาจเกิดการปริแยกของแผลได้

นิ่วในถุงน้ำดี เรื่องที่ควรระวังของคนรักบุฟเฟ่ต์

อาหารการกิน

ในส่วนของอาหารการกิน ผู้ป่วยเองก็ต้องให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษเช่นกัน โดยแบ่งอาหารออกเป็นมื้อเล็กๆ 5-6 มื้อ ในแต่ละมื้ออาจลดปริมาณการกินเหลือเพียง 25-50% จากปกติ เน้นอาหารที่ย่อยง่าย อย่าง โจ๊ก ไข่ตุ๋น เนื้อปลา หรือตุ๋นผักเปื่อยๆ เพื่อช่วยให้ระบบย่อยอาหารไม่ต้องทำงานหนักจนเกินไป

สำหรับอาหารที่มีไขมันสูงทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ติดมัน อาหารประเภททอดหรือผัด ควรงด! แล้วหันมาเลือกทานไขมันดี เช่น ไขมันจากปลาที่มีโอเมก้า 3 แทน

เพราะปัจจัยสำคัญของการเกิดโรคนิ่งในถุงน้ำดีมักมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต จึงนับว่าเป็นโรคที่เราสามารถความความเสี่ยงได้! เพราะฉะนั้น หากคุณยังมีนิสัยชอบการทานของมันๆ บุฟเฟต์เบคอนเนื้อสัตว์ติดมัน แถมไม่ค่อยออกกำลังกาย แนะนำว่า...ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมซะใหม่ ก่อนที่ร่างกายจะต้องปราศจากถุงน้ำดี!!!

.

ที่มา : โรงพยาบาลพญาไท 2