posttoday

วัคซีนสำหรับผู้หญิง เรื่องจริงที่ไม่ควรละเลย

08 มิถุนายน 2563

นอกจากการรับวัคซีนตามช่วงวัยตั้งแต่แรกเกิด จนถึงวัคซีนทั่วไปที่แนะนำในวัยผู้ใหญ่ เพื่อกระตุ้นภูมิต้านทานโรค ผู้หญิงถือเป็นอีกกลุ่มที่ควรได้รับวัคซีนตามความเหมาะสม เนื่องจากเพศหญิงมีการทำงานของอวัยวะในร่างกายที่ซับซ้อน โดยเฉพาะช่วงการตั้งครรภ์จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ที่อาจส่งผลถึงทารกในครรภ์อีกด้วย

ข้อมูลโดย นต.พญ.ณัฐยา รัชตะวรรณ สาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา อนุสาขาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ระบุว่า แม้ผู้หญิงมากกว่า 50% จะตั้งครรภ์โดยไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า แต่ตามหลักการแล้วผู้หญิงทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีนที่จำเป็นก่อนที่จะตั้งครรภ์ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้หญิงทุกคนควรมีการฉีดวัคซีนที่จำเป็นให้ครบ โดยมีวัคซีน ดังนี้

วัคซีนสำหรับผู้หญิง เรื่องจริงที่ไม่ควรละเลย

  • วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงและความรุนแรงของโรค โดยควรฉีดปีละ 1 ครั้งทุกปี
  • วัคซีนป้องกันโรคไอกรน คอตีบ และบาดทะยัก ผู้หญิงที่ไม่เคยได้รับวัคซีนทั้ง 3 ชนิดนี้มาก่อน ควรได้รับวัคซีนเหล่านี้ทุกสิบปี
  • วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ (HAV)  โดยฉีดวัคซีน 2 ครั้ง ห่างกัน 6 เดือน
  • วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี สำหรับผู้หญิงที่มีอายุ 15 ปี ขึ้นไป แนะนำให้ตรวจเลือดเพื่อเช็คภูมิคุ้มกันก่อน หากไม่มีภูมิ ให้ฉีดวัคซีน 1 เข็ม หลังจากนั้น 2 เดือนให้ทำการตรวจภูมิคุ้มกันอีกครั้ง ถ้าพบภูมิคุ้มกัน ไม่จำเป็นต้องฉีดเข็มที่ 2 แต่ให้ทำการฉีดกระตุ้นภูมิทุกๆ 10 ปี ในกรณีที่ตรวจแล้วไม่พบภูมิคุ้มกัน ให้ทำการฉีดจนครบ 3 เข็ม แล้วทำการเจาะเลือดเพื่อดูภูมิคุ้มกัน กรณีที่ภูมิคุ้มกันขึ้นหลังได้รับวัคซีนเพียง 1 เข็ม แสดงว่าในตอนเด็กเคยได้รับวัคซีนชนิดนี้มาก่อน  แต่หากตรวจแล้วภูมิคุ้มกันไม่ขึ้นแม้ว่าจะฉีดจนครบ 3 เข็มแล้วก็ตาม แสดงว่าเป็นกลุ่ม Poor Responder คือไม่ตอบสนองต่อการฉีดวัคซีน แนะนำให้ระวังตัวเองเพื่อป้องกันไวรัสตับอักเสบบี
  • วัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ในผู้หญิงที่มีอายุ 9-14 ปี แนะนำให้ฉีด 2 เข็ม (แต่ถ้าหากเคยมีเพศสัมพันธ์ ควรตรวจภายในก่อน หากไม่พบความผิดปกติ หรือไม่พบมะเร็งจึงรับวัคซีนได้) ส่วนในผู้หญิงที่อายุมากกว่า 14 ปี แนะนำให้ฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ทั้งนี้ ไม่แนะนำให้ฉีดขณะตั้งครรภ์  เพราะยังขาดข้อมูลยืนยันถึงความปลอดภัยสำหรับทารกในครรภ์
  • วัคซีนป้องกันโรคคางทูมและหัดเยอรมัน ผู้หญิงที่ไม่มีประวัติการฉีดวัคซีนมาก่อน หรือไม่มีภูมิคุ้มกันโรคหัดเยอรมันควรได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 ครั้ง นอกจากจะช่วยป้องกันโรคในคุณแม่แล้ว ยังสามารถป้องกันการเกิดโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิดในทารกหลังคลอด ซึ่งหากมีการติดเชื้อหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์จะทำให้ทารกมีความผิดปกติ เช่น ตาบอด หูหนวกได้  ที่สำคัญควรคุมกำเนิดอย่างน้อย 1 เดือน หลังได้รับวัคซีน (หรือแพทย์บางท่านอาจแนะนำที่ 3 เดือน ซึ่งขึ้นอยู่กับยี่ห้อของวัคซีน สามารถสอบถามรายละเอียดได้จากแพทย์)  เนื่องจากเป็นวัคซีนไวรัสที่มีชีวิต อาจส่งผลให้ทารกในครรภ์การความพิการจากวัคซีนได้
  • วัคซีนป้องกันโรคสุกใส เนื่องจากยังไม่มีรายงานยืนยันความปลอดภัย และมีความเสี่ยงทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด ติดเชื้ออย่างรุนแรง และน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ดังนั้น หากกำลังวางแผนจะมีบุตรควรทิ้งระยะเวลาการตั้งครรภ์หลังการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1-3 เดือน  อย่างไรก็ตามคุณแม่หลังคลอดสามารถฉีดวัคซีนป้องกันสุกใสเข็มแรกก่อนที่จะออกจากโรงพยาบาล  และเข็มที่ 2 หลังคลอดแล้ว 6-8 สัปดาห์
  • วัคซีนป้องกันงูสวัด ควรฉีดสำหรับผู้ที่มีอายุ มากกว่า 50 ปี
  • วัคซีนป้องกันไข้กาฬหลังแอ่น สำหรับผู้หญิงที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือกำลังจะเดินทางไปในทวีปแอฟริกา รวมถึงผู้ที่จะไปเรียนต่อในต่างประเทศที่ยังมีไข้กาฬหลังแอ่นอยู่ และผู้แสวงบุญยังประเทศซาอุดิอาระเบีย  จะมีโอกาสติดเชื้อได้ ดังนั้นจึงควรได้รับวัคซีนก่อนเดินทาง
  • วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ ผู้หญิงที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูงควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคปอดบวม รวมถึงผู้ที่สูบบุหรี่ เป็นโรคปอดเรื้อรัง (รวมถึงโรคหอบหืด) โรคหัวใจและหลอดเลือดเรื้อรัง เบาหวาน หรือผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง แต่ในผู้ที่ไม่มีความเสี่ยงแนะนำให้ฉีดเมื่ออายุ มากกว่า 50 ปี
  • วัคซีนสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ วัคซีนหลายชนิดไม่ได้ห้ามฉีดในระหว่างตั้งครรภ์ ตรงกันข้ามยังแนะนำอย่างยิ่งสำหรับหญิงตั้งครรภ์ในช่วงก่อนคลอด เช่น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ถ้าภายใน 1 ปี คุณแม่ตั้งครรภ์ยังไม่ได้รับวัคซีนชนิดนี้ แพทย์จะแนะนำให้ทำการฉีดเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่ เมื่อพ้นการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 1 ไปแล้ว
  • วัคซีนป้องกันโรคไอกรน คอตีบ และบาดทะยัก แนะนำให้ฉีด 1 เข็ม ในช่วงอายุครรภ์ 7-9 เดือน  เพื่อป้องกันการเกิดโรคในทารกแรกเกิด

นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนที่ห้ามฉีดระหว่างตั้งครรภ์  เนื่องจากวัคซีนอาจส่งผลให้ทารกในครรภ์ติดเชื้อ ทำให้เกิดอวัยวะต่างๆ พิการ ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคสุกใส   วัคซีนป้องกันงูสวัด รวมถึงวัคซีนป้องกันโรคคางทูมและหัดเยอรมัน

ดังนั้น หากต้องการวางแผนตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาและฉีดวัคซีนตามความเหมาะสมในระยะการตั้งครรภ์ที่ถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยทั้งตัวคุณแม่เองและทารกในครรภ์