posttoday

ติดบุหรี่ ติดโควิด เสี่ยงตายสูง

31 พฤษภาคม 2563

31 พฤษภาคม "วันงดสูบบุหรี่โลก" แพทย์ห่วงการเป็นนักสูบของเด็กและเยาวชน ชี้อันตรายและโทษของบุหรี่ พร้อมแนะใช้หลัก 3 ช.ในการสื่อสาร "เช็ค-ชับ-แชร์"

วันงดสูบบุหรี่โลก (World No Tobacco Day) ตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี เริ่มจัดครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 โดยองค์การอนามัยโลก เพื่อให้เห็นอันตรายของบุหรี่ต่อสุขภาพและโทษของบุหรี่ การจัดงานวันงดสูบบุหรี่โลกก็เพื่อกระตุ้นให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบ และให้รัฐบาลชุมชนและประชากรโลก 

ติดบุหรี่ ติดโควิด เสี่ยงตายสูง

ปีนี้มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดการสัมมนาเครือข่าย เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 2563 ประเด็น "ติดบุหรี่ ติดโควิด เสี่ยงตายสูง #เลิกสูบลดเสี่ยง" ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อเชิญชวนให้เครือข่ายนักรณรงค์ ให้ความสำคัญในการรณรงค์ถึงผลกระทบของบุหรี่ซึ่งส่งผลร้าย และลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการปอดอักเสบรุนแรง หากติดเชื้อ COVID–19         

ติดบุหรี่ ติดโควิด เสี่ยงตายสูง

อันตรายของการสูบบุหรี่

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เผยการสูบบุหรี่ทำให้ปอดได้รับอันตราย ทำให้ภูมิต้านทานโรคของปอดลดลง เพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อโรคหลายๆ ชนิด รวมทั้งเป็นสาเหตุหลักของโรคเรื้อรัง ที่รวมถึงโรคถุงลมปอดพอง โรคหัวใจ และเบาหวาน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 รุนแรงและเสียชีวิตก่อนเวลา  และมีหลักฐานที่เพิ่มขึ้นว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อปอดเช่นกัน ซึ่งทำให้การสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เมื่อเผชิญกับ โควิด-19 จึงอยากเชิญชวนให้ผู้ที่สูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า ถือโอกาสนี้เลิกสูบเพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19

ด้าน รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบหายใจและวัณโรค  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า บุหรี่ทั้งชนิดมวนและบุหรี่ไฟฟ้า เฉกเช่นก๊าซและสารพิษอื่นที่เป็นอันตรายต่อระบบการหายใจของ มนุษย์ ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุ มีการอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง มีการสร้างเมือกมากขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ถูกทำลาย เชื้อโรคทุกชนิดไม่เว้นแม้เชื้อก่อโรคโควิด-19 ทำให้คนที่ยังสูบบุหรี่หรือเพิ่งเลิกไม่นาน มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากขึ้น โรคลุกลามง่ายขึ้น  และมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่หรือเลิกสูบมานานแล้ว หยุดบุหรี่หยุดเสี่ยงโควิด-19

นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์  ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยถึงประเด็นรณรงค์เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2563 นี้ว่า สืบเนื่องจากองค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก โดยในปีนี้องค์การอนามัยโลกได้กำหนดประเด็นของการรณรงค์ไว้ว่า "Protecting youth from industry manipulation and preventing them from tobacco and nicotine use" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เยาวชนรู้เท่าทันกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมยาสูบ และปกป้องเยาวชนจากการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบ และรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีนิโคติน เนื่องจากเด็กและเยาวชนเป็นนักสูบทดแทน ผู้สูบบุหรี่ที่เสียชีวิตปีละ 8 ล้านคน หรือรักษาผลกำไรของบริษัทบุหรี่ แต่ปีนี้ประเทศไทยและทั่วโลกประสบปัญหาการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID–19) ผู้ที่สูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าจึงควรป้องกันตนเองจาก COVID-19 ด้วยการหยุดสูบ

นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่าสุขภาพปอดจะดีขึ้นเร็วมากภายหลังจากที่หยุดสูบบุหรี่ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและรัฐบาลประเทศต่างๆ กำลังเผชิญกับปัญหาทางสุขภาพ และเศรษฐกิจ อันเป็นผลจากการระบาดของ COVID-19 บริษัทบุหรี่กลับใช้โอกาสนี้ในการส่งเสริมการขาย และเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง ว่าการสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า สามารถป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐ CDC แนะนำให้หยุดสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า และองค์การอนามัยโลก รวมทั้งหน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ Public Health England แนะนำให้หยุดสูบบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19 รุนแรง  

ส่วนทางด้าน หมอผิง-แพทย์หญิงธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล แนะใช้หลัก 3 ช.ในการสื่อสาร 

  • ช.แรกคือ เช็ค ควรเช็คแหล่งข้อมูลที่มาว่ามีความน่าเชื่อถือได้แค่ไหน ควรเป็นข้อมูลจากองค์กรที่ตรวจสอบได้ ถ้าเป็นข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ ควรต้องแยกแยะว่าเป็นข้อเท็จจริง ข้อมูลจากงานวิจัย สถิติ หรือความเห็นส่วนตัว   
  • ช.ที่สองคือ ชับ หรือกระชับ ควรสื่อสารแบบกระชับ ได้ใจความ จึงจะไปถึงวงกว้างได้   
  • ช.สุดท้ายคือ แชร์ ในการแชร์ควรระบุแหล่งที่มาของข้อมูล เพื่อให้เกิดการย้อนตรวจสอบได้ และระมัดระวังการแชร์ข้อมูลที่เป็นข่าวลวง รวมถึงข้อมูลที่กระทบต่อความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น เช่น ข้อมูลหรือภาพของผู้ป่วยและญาติ

โทษของบุหรี่

การสูบบุหรี่นั้นถือเป็นการทำลายสุขภาพ ทั้งต่อผู้สูบเองและผู้อยู่ใกล้ชิดที่สูดเอาอากาศที่มีควันบุหรี่เข้าไป เพราะควันบุหรี่ประกอบด้วยสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และมีสารก่อมะเร็งไม่ต่ำกว่า 42 ชนิด ซึ่งสารอันตรายที่สำคัญ เช่น

  • คาร์บอนมอนอกไซด์  ทำให้เม็ดเลือดแดงไม่สามารถจับออกซิเจนได้เท่ากับเวลาปกติ หากได้รับจะเกิดการขาดออกซิเจน ทำให้มึนงง ตัดสินใจช้า เหนื่อยง่าย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ
  • นิโคติน เป็นสารระเหยในควันบุหรี่ มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง มีผลต่อต่อมหมวกไต ทำให้เกิดการหลั่งอิพิเนฟริน ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ และไม่เป็นจังหวะ หลอดเลือดที่แขนและขาหดตัว เพิ่มไขมันในเส้นเลือด (ก้นกรองไม่ได้ทำให้ปริมาณนิโคตินลดลงได้)
  • ทาร์ หรือน้ำมันดิน เป็นคราบมันข้นเหนียว สีน้ำตาลแก่ เกิดจากการเผาไหม้ของกระดาษและใบยาสูบ และเป็นสารก่อมะเร็งต่าง ๆ เช่น มะเร็งปอด, กล่องเสียง, หลอดลม, หลอดอาหาร, ไต, กระเพาะปัสสาวะ และอื่น ๆ ร้อยละ 50 ของน้ำมันดินจะไปจับที่ปอด เกิดอาการระคายเคือง ทำให้ไอเรื้อรัง มีเสมหะ 

ผลข้างเคียงต่อบุคคลอื่น

การสูบบุหรี่นอกจากจะเป็นอันตรายต่อผู้สูบเองแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อผู้ใกล้ชิดอีกด้วย คือ หากเด็กได้รับควันบุหรี่ จะป่วยเป็นโรคหลอดลมอักเสบ ปอดบวม หอบหืด หูชั้นนอกอักเสบเพิ่มมากขึ้น หากหญิงมีครรภ์ได้รับควันบุหรี่ จะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มน้อยกว่าปกติ รวมทั้งมีโอกาสแท้ง และคลอดก่อนกำหนด อีกทั้งยังส่งผลต่อทารกในครรภ์ที่อาจทำให้สมองช้ากว่าปกติ มีความผิดปกติทางระบบประสาท และระบบความจำ  ขณะที่คู่สมรสของผู้สูบบุหรี่ มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอดมากกว่าคู่สมรสที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 2 เท่า มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ 3 เท่า และเสียชีวิตเร็วกว่าปกติถึง 4 ปี เทียบกับคนทั่วไป