posttoday

อยู่บ้านลดเสี่ยงโควิด-19 เพิ่มเสี่ยงไข้เลือดออก

29 เมษายน 2563

“อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ“ เมื่อเราต้องอยู่บ้านเพื่อลดการระบาดโควิด-19 ประกอบกับมีฝนที่ตกมาเร็วกว่าปกติ หนึ่งเรื่องที่ต้องหันมาโฟกัสเพิ่มขึ้นนอกจากเรื่องค่าไฟฟ้า ก็คือเรื่องของ “โรคไข้เลือดออก”

แม้ตอนนี้ตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 จะลดลง แต่เราก็ไม่ควรประมาท ยังคงต้องตั้งการ์ดไว้ไม่ให้ตกด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคม ใส่หน้ากาก และล้างมือบ่อยๆ ส่วนอีกเรื่องที่ประมาทไม่ได้คือโรคร้ายที่คร่าชีวิตของคนไทยไม่น้อยในแต่ละปี อย่างโรค “ไข้เลือดออก”

อยู่บ้านลดเสี่ยงโควิด-19 เพิ่มเสี่ยงไข้เลือดออก

อยู่บ้านลดเสี่ยงโควิด-19 เพิ่มเสี่ยงไข้เลือดออก

กรมควบคุมโรค พยากรณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2563 โดยใช้วิธีการทางสถิติย้อนหลัง 10 ปี (พ.ศ. 2553-2562) ผลการวิเคราะห์คาดว่าในปี 2563 จะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกประมาณ 140,000 ราย ซึ่งใกล้เคียงกับการระบาดใหญ่ในปี 2558 โดยเชื้อไวรัส DEN-1 และ DEN-2 เป็นชนิดเชื้อเด่นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง DENV-2 เป็นชนิดเชื้อไวรัสเดงกีที่ทำให้เกิดอาการรุนแรง ดังนั้น ในปี 2563 จึงอาจจะเป็นอีกปีที่มีการระบาดต่อเนื่อง และมีผู้ป่วยอาการรุนแรงและเสียชีวิตสูงเหมือนกับปี 2562

อยู่บ้านลดเสี่ยงโควิด-19 เพิ่มเสี่ยงไข้เลือดออก

สำหรับกลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยโรคไข้เลือดออกยังคงอยู่กลุ่มเด็กวัยเรียน (10-14 ปี) แต่อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นมีแนวโน้มของอัตราป่วยเพิ่มสูงขึ้น โดยภาคเหนือและภาคกลาง สัดส่วนผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้ใหญ่ (มากกว่า 18 ปีขึ้นไป) ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภารใต้สัดส่วนผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็ก (น้อยกว่า 18 ปี) สำหรับกลุ่มเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอยู่ในกลุ่มเด็กเล็ก (0-4 ปี) และวัยผู้ใหญ่ (อายุ 25 ปีขึ้นไป) โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) มีอัตราป่วยตายสูงถึงร้อยละ 0.28 เนื่องจากผู้ใหญ่และผู้สูงอายุมักมีโรคประจำตัวเรื้อรัง ทำให้เมื่อป่วยเป็นไข้เลือดออกจะมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ตับวาย ไตวาย ที่รักษาได้ยาก นอกจากนี้ ผู้ใหญ่ส่วนมากเมื่อป่วยมักซื้อยารับประทานเองหรือไปฉีดยาลดไข้ที่คลินิก ทำให้ไม่ได้ไปตรวจหาสาเหตุของไข้ที่โรงพยาบาลแต่เนิ่นๆ จึงได้รับการรักษาที่เหมาะสมล่าช้า

อยู่บ้านลดเสี่ยงโควิด-19 เพิ่มเสี่ยงไข้เลือดออก

รู้จักกับโรคไข้เลือดออก (Dengue Fever) ให้มากขึ้น

ลักษณะของโรค

โรคไข้เลือดออกเดงกี เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มียุงลายเป็นแมลงนำโรค โรคนี้ได้กลายเป็นปัญหาสาธารณสุขในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากโรคได้แพร่กระจายอย่างกว้างขวางและจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมากใน 30 ปีที่ผ่านมา มากกว่า 100 ประเทศที่โรคนี้กลายเป็นโรคประจำถิ่น และโรคนี้ยังคุกคามต่อสุขภาพของประชากรโลกมากกว่าร้อยละ 40 (2,500 ล้านคน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะพบมากในประเทศเขตร้อนและเขตอบอุ่นสาเหตุ

เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) ซึ่งเป็น single - strand RNA จัดอยู่ใน genus Flavivirus และ family Flaviviridae มี 4 serotypes คือ DEN-1, DEN-2, DEN-3 และ DEN-4 ทั้ง 4 serotypes มี antigen ร่วมบางชนิด จึงทำให้มี cross reaction และ cross protection ได้ในระยะเวลาสั้นๆ เมื่อมีการติดเชื้อไวรัสเดงกีชนิดหนึ่งจะมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเดงกีชนิดนั้นตลอดไป (long lasting homotypic immunity) และจะมีภูมิคุ้มกัน cross protection ต่อชนิดอื่น (heterotypic immunity) ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 6-12 เดือน ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีไวรัสเดงกีชุกชุมอาจมีการติดเชื้อ 3 หรือ 4 ครั้งได้

วิธีการติดต่อ

โรคไข้เลือดออกเดงกีติดต่อกันได้โดยมียุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นแมลงนำโรคที่สำคัญ และในชนบทบางพื้นที่จะมียุงลายสวน (Aedes albopictus) เป็นแมลงนำโรคร่วมกับยุงลายบ้าน เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้ ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย พร้อมที่จะเข้าสู่คนที่ถูกกัดต่อไป เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสเดงกีไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้คนนั้นป่วยได้ระยะฟักตัว ระยะเพิ่มจำนวนของไวรัสเดงกีในยุง ประมาณ 8-10 วันระยะฟักตัวของเชื้อไวรัสเดงกีในคน ประมาณ 3-14 วัน โดยทั่วไปประมาณ 5-8 วันระยะติดต่อ

โรคไข้เลือดออกเดงกีไม่ติดต่อจากคนสู่คน ติดต่อกันได้โดยมียุงลายเป็นแมลงนำโรค การติดต่อจึงต้องใช้เวลาในผู้ป่วยและในยุง ระยะที่ผู้ป่วยมีไข้สูงประมาณวันที่ 2-4 จะมีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก ระยะนี้จะเป็นระยะติดต่อจากคนสู่ยุง และระยะเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสในยุงจนมากพออีกประมาณ 8-10 วัน จึงจะเป็นระยะติดต่อจากยุงสู่คน 

อาการแสดง

หลังจากได้รับเชื้อจากยุงประมาณ 5-8 วัน (ระยะฟักตัว) ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการของโรค ซึ่งมีความรุนแรงแตกต่างกันได้ ตั้งแต่มีอาการคล้ายไข้เดงกี (dengue fever: DF) ไปจนถึงมีอาการรุนแรง (dengue hemorrhagic fever: DHF) และรุนแรงมาก จนถึงช็อกและเสียชีวิต (dengue shock syndrome: DSS)

สังเกตตนเองถ้ามีอาการต่อไปนี้อาจเป็นไข้เลือดออก

  • มักจะมีไข้ขึ้นสูง 2-7วัน (อาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส)
  • เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หน้าแดง
  • ในรายที่มีเกล็ดเลือดต่ำ อาจเห็นจุดเลือดออกสีแดงเล็กๆ ตามผิวหนัง เนื่องจากมีเลือดออกที่ผิวหนัง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโรคไข้เลือดออก
  • อาจมีอาการปวดท้อง เนื่องจากมีตับโตในช่องท้อง *ผู้ป่วยไข้เลือดออกส่วนใหญ่จะอาการไม่มากและหายได้เอง แต่มีเพียงส่วนน้อยที่อาจมีอาการรุนแรง เลือดออกมาก โดยเฉพาะในทางเดินอาหาร หรือมีสารน้ำรั่วออกจากหลอดเลือดมากจนความดันต่ำ ช็อก และหมดสติ 

การป้องกันโรค

ในปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี จึงให้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ แพทย์ผู้รักษาจะต้องเข้าใจธรรมชาติของโรค และให้การดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด จะต้องมีการดูแลรักษาพยาบาลที่ดีตลอดระยะวิกฤต คือช่วง 24-48 ชั่วโมง ที่มีการรั่วของพลาสมา

หลักในการรักษา

ในระยะไข้สูง บางรายอาจมีอาการชักได้ถ้าไข้สูงมาก ให้ยาลดไข้ ควรใช้ยาพวกพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาพวกแอสไพริน, ibrupophen, steroid เพราะจะทำให้เกล็ดเลือดเสียการทำงาน จะระคายกระเพาะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น ให้ผู้ป่วยได้สารน้ำชดเชย เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีไข้สูง เบื่ออาหาร และอาเจียน ทำให้ขาดน้ำและเกลือโซเดียม ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำผลไม้หรือสารละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ติดตามดูอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ตรวจพบและป้องกันภาวะช็อกได้ทันเวลา ดูการเปลี่ยนแปลงของเกล็ดเลือดและ hematocrit เป็นระยะๆ เพราะถ้าปริมาณเกล็ดเลือดเริ่มลดลง และ hematocrit เริ่มสูงขึ้น เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าน้ำเหลืองรั่วออกจากเส้นเลือดและอาจจะช็อกได้ จำเป็นต้องให้สารน้ำชดเชยสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกหรือเลือดออก แพทย์จะต้องให้การรักษาเพื่อแก้ไขสภาวะดังกล่าว ด้วยสารน้ำ พลาสมา หรือสาร colloid อย่างระมัดระวัง เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยและป้องกันโรคแทรกซ้อน

วินิจฉัยได้ง่ายหรือไม่

จากอาการที่กล่าวมาข้างต้น ลำพังเพียงมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว อาจจะเกิดจากเชื้อไวรัสตัวอื่น ซึ่งยากต่อการวินิจฉัยของแพทย์ แต่หากมีจุดเลือดออกเล็กๆ ตามลำตัว ก็จะทำให้แพทย์สงสัยถึงเรื่องไข้เลือดออกมากขึ้น ดังนั้น ในการวินิจฉัย แพทย์จึงต้องคำนึงถึงโรคไข้เลือดออกก่อนเสมอ

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไข้แบบเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว แต่แพทย์ตรวจไม่พบแหล่งติดเชื้อเฉพาะที่ใดที่หนึ่งในร่างกาย ก็จะต้องทำการซักประวัติและสอบถามถึงสภาพแวดล้อมของที่พักอาศัย ซึ่งผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงว่าจะเป็นโรคไข้เลือดออก คืออยู่ในละแวกที่มีน้ำขัง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างดี

ปัจจุบันสามารถนำการตรวจทางห้องปฏิบัติการมาช่วยในการวินิจฉัยโรคได้เป็นบางกรณี อาทิ การตรวจนับเม็ดเลือด และจำนวนเกล็ดเลือดต่ำ นอกจากนี้ยังมีการตรวจวินิจฉัยเชิงลึก ซึ่งต้องพิจารณาจากอาการเป็นกรณีๆ ไป

โรคไข้เลือดออกรักษาได้หรือไม่

โรคไข้เลือดออก มักจะพบมากในเด็ก แต่กว่าจะมั่นใจว่าเป็นไข้เลือดออก แพทย์จะให้การรักษาไปตามอาการก่อนแล้ว อาทิ คลื่นไส้ อาเจียนมาก กินน้ำและอาหารได้น้อย ปากแห้ง ก็จะให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด และหากมีอาเจียนมีเลือดปน หรือถ่ายดำ จะต้องให้เลือดทดแทน หลังจากมีไข้ หากมีมือเท้าเย็น เนื่องจากความดันเลือดต่ำ จะต้องให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดในปริมาณที่มากขึ้นอย่างทันท่วงที

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการในวันแรกๆ แพทย์จะอนุญาตให้กลับไปดูอาการที่บ้านได้ ร่วมกับให้คำแนะนำแก่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ให้คอยสังเกตอาการของเด็ก และจะนัดไปตรวจร่างกายเป็นระยะๆ สิ่งสำคัญที่สุด คือผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไปตรวจตามแพทย์นัด และหากมีอาการเปลี่ยนแปลงหรือไม่แน่ใจ ให้ไปพบแพทย์ก่อนนัดได้ โดยเฉพาะในช่วง 5-7 วันของอาการไข้

การปฏิบัติตัวขณะป่วย

  1. ดื่มน้ำ หรือน้ำเกลือแร่ให้เพียงพอ วิธีสังเกตว่าดื่มน้ำเพียงพอหรือไม่ คือ ให้สังเกตปัสสาวะจะต้องเป็นสีเหลืองอ่อน หากเป็นสีเหลืองเข้มหรือสีชา แสดงว่าร่างกายยังขาดน้ำอยู่
  2. รับประทานยาลดไข้ให้ใช้ยาพาราเซตามอล ตามขนาดที่แพทย์สั่ง ห้ามเกินขนาด เพราะอาจเป็นสาเหตุของตับอักเสบจากยาพาราเซตามอลได้
  3. ห้ามใช้ยาแอสไพริน เพราะอาจทำให้เลือดออกง่าย และมากขึ้นได้
  4. หากอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ อาเจียนมาก ดื่มน้ำเท่าไรก็ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย มือเท้าเย็น ควรไปพบแพทย์ทันที เพราะอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณอันตรายว่าผู้ป่วยอาจมีความดันเลือดต่ำและช็อกได้
  5. โรคไข้เลือดออก ไม่ติดต่อทางการสัมผัส หรือรับประทานอาหารร่วมกัน
  6. เมื่อมีไข้หากจะอาบน้ำ ให้อาบด้วยน้ำอุ่น หรือเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น เพราะหากใช้น้ำเย็น ผู้ป่วยจะสูญเสียความร้อนจากร่างกายมาก อาจเกิดอาการสั่นได้

การป้องกันตัวเองจากโรคไข้เลือดออก

  1. พยายามอย่าให้ยุงกัด เช่น นอนในมุ้ง หากต้องการทำงานอยู่ในที่ที่อาจมียุงกัด ให้ทายากันยุงที่ผิวหนัง
  2. ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบ้านและบริเวณรอบบ้าน เช่น ปิดตุ่มน้ำ เลี้ยงปลาสำหรับกินลูกน้ำยุงลาย เช่น ปลาหางนกยูง น้ำหล่อขาตู้กับข้าวให้ใส่ทรายอเบท ขวดแก้ว ภาชนะที่อาจมีน้ำขังให้คว่ำ หลุมบ่อรอบบ้านที่อาจมีน้ำขัง ให้กลบทำลายเพราะอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

โรคไข้เลือดออกสามารถป้องกันได้ ด้วยการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย (บริเวณ หรือ ภาชนะที่อาจมีน้ำขัง) และป้องกันไม่ให้ยุงลายมากัดเราได้ เช่น นอนในมุ้ง หรือทาโลชั่นกันยุง

ที่มา : กรมควบคุมโรค และ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล