posttoday

'นอนกรน' กับฝันร้ายที่ไม่มีใครอยากได้

15 มีนาคม 2563

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญฟันธง นอนกรนส่งผลให้ "เสี่ยงวูบ-โรคร้าย-อุบัติเหตุ" อีกทั้งยังเป็นสัญญาณเตือนของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ พร้อมชี้ผลร้ายที่ตามมาอีกมากมายจากแค่พฤติกรรมที่ทำโดยไม่รู้ตัวอย่าง "นอนกรน"

การนอน เป็นปัจจัยสำคัญในการดูแลสุขภาพที่หลายๆ คนมักจะมองข้ามไป เพราะในความเป็นจริงมนุษย์เราใช้เวลานอนถึง 1 ใน 3 ของชีวิต และการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่ใช่แค่เพียง 8 ชั่วโมงต่อวัน แต่ยังจำเป็นต้องนอนหลับอย่างมีคุณภาพด้วย 

'นอนกรน' กับฝันร้ายที่ไม่มีใครอยากได้

เนื่องในวันนอนหลับโลก 2020 (World Sleep Day2020) ซึ่งตรงกับวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา มีการเปิดตัวโครงการ นอนไม่กรน ขับไม่ชน รถไม่คว่ำ โดยสมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เมดิคอลอินเทนซีฟแคร์ จำกัด รณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับความสำคัญของการนอนหลับ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับและสัญญาณอันตรายจากการกรน รวมถึงกระตุ้นให้ประชาชนใส่ใจเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโรคอย่างเหมาะสม

'นอนกรน' กับฝันร้ายที่ไม่มีใครอยากได้

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงอรุณวรรณ พฤทธิพันธุ์ นายกสมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย และหัวหน้าศูนย์โรคการนอนหลับ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลว่า วันนอนหลับโลกในปีนี้ ทางสมาคมฯ มีความประสงค์ที่จะให้ความรู้ประชาชนคนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการนอนหลับที่มีคุณภาพ อันตรายจากการนอนกรนและโรคหยุดหายใจขณะหลับ เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างเหมาะสม โดยเราเล็งเห็นว่าทางฟิลิปส์และเมดิคอลอินเทนซีฟแคร์เองก็มีวัตถุประสงค์เดียวกัน จึงเกิดเป็นความร่วมมือในครั้งนี้ ริเริ่มโครงการ นอนไม่กรน ขับไม่ชน รถไม่คว่ำ ขึ้น โดยการสนับสนุนจาก 5 โรงพยาบาล ได้แก่ 1) ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย 2) ศูนย์โรคการนอนหลับ โรงพยาบาลรามาธิบดี 3) ศูนย์นิทรรักษ์ ศิริราช โรงพยาบาลศิริราช 4) ศูนย์โรคการนอนหลับ สถาบันโรคทรวงอก และ 5) ศูนย์สหเวชศาสตร์การนอนหลับ สุรศักดิ์มนตรี โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า 

ภายใต้แนวคิด นอนหลับสนิท ชีวิตสุขสันต์ โลกพลันสดใส ซึ่งเป็นคำขวัญของวันนอนหลับโลกประเทศไทย เพราะการนอนหลับที่มีประสิทธิภาพส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นในหลายด้านทั้งความจำ ความคิดสร้างสรรค์ การจัดการความเครียด ภูมิต้านทาน และการทำงานของระบบอวัยะต่างๆ ภายในร่างกาย

แต่ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันพฤติกรรมการใช้ชีวิต การทำงาน และสภาพแวดล้อม ส่งผลให้ผู้คนให้ความสำคัญกับการนอนน้อยลง ซึ่งหากผู้คนนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็ย่อมเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ได้มากขึ้น รวมถึงส่งผลกระทบในการใช้ชีวิตประจำวัน อาทิ อ่อนเพลีย ไม่มีสมาธิในการทำงาน และยิ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ตัวเลขอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วง 7 วันอันตรายในปีพ.ศ. 2562 มีการเกิดอุบัติเหตุกว่า 3,338 ครั้ง และคาดว่าอาจมีสาเหตุจากการขับรถหลับในได้สูงถึงร้อยละ 20 ซึ่งนั่นเป็นผลมาจากการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอและไม่มีคุณภาพนั่นเอง

ด้าน แพทย์หญิงนวรัตน์ อภิรักษ์กิตติกุล อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทย โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยว่า ปัจจุบันมีผู้เข้ามาปรึกษาเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับอาการนอนกรน ซึ่งส่วนใหญ่มาด้วยความคิดว่าเป็นสิ่งที่รบกวนคนที่นอนด้วย มากกว่าคิดว่าเป็นโรค  แต่ในความเป็นจริงต้องบอกว่า อาการกรนนั้นเป็นสัญญาณเตือนของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea: OSA) 

ปัจจัยของการนอนกรน เกิดได้จาก

  • ระบบทางเดินหายใจส่วนบนอุดตัน
  • ต่อมทอมซิลโต
  • โคนลิ้นใหญ่
  • เยื่อหูและจมูกบวม
  • ลิ้นไก่ยาว
  • ช่องคอหย่อน
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก
  • อายุที่เพิ่มขึ้น

ซึ่งหากปล่อยไว้โดยไม่เข้ารับการรักษาก็จะทำให้เกิดการหยุดหายใจขณะหลับได้ และส่งผลให้ภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำลงและเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้คุณภาพการนอนลดลง เกิดเป็นผลเสียต่อร่างกายเพิ่มขึ้นระยะยาว ทั้งโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะสมองเสื่อม อาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ สมาธิสั้น หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมถึงความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากหลับใน โดยเฉลี่ยแล้วอาการกรนจะเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเพราะในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์จะมีฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นการหายใจมากกว่าผู้ชาย

นายแพทย์สมประสงค์ เหลี่ยมสมบัติ อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาล รามาธิบดี เผยว่า จากการศึกษาพบว่า 

  • ประเทศไทย ในประชากรผู้ใหญ่วัยทำงาน พบความชุกผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น เพศชายอยู่ที่ 15.4% และผู้หญิง 6.3% ใ
  • ประเทศอเมริกา พบประชากรผู้ใหญ่ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป มีผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นสูงถึง 1 ใน 3 คน

โดยยิ่งอายุมากขึ้นหรือมีปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคอ้วน สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ทานยานอนหลับบางชนิด รวมถึงฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญในประเทศไทย ยังเป็นตัวกระตุ้นให้อัตราการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นเพิ่มสูงขึ้นด้วย เนื่องจากเมื่อระบบทางเดินหายใจส่วนต้น เช่น เยื่อบุจมูกเกิดการระคายเคือง มีการบวมคัด จะส่งผลให้เกิดทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับง่ายขึ้น นอกจากนี้ ฝุ่น PM 2.5 อาจทำให้ระบบหายใจส่วนล่างและถุงลมปอดเกิดความระคายเคือง เกิดอาการไอ หลอดลมอักเสบ โรคหืดกำเริบ ได้อีกด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้คุณภาพการนอนหลับลดลง

ในแง่ของการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นนั้น นอกจากการลดพฤติกรรมเสี่ยงแล้ว แพทย์อาจจะให้การรักษาโดยการใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่อง (Continuous Positive Airway Pressure: CPAP), การใส่ทันตอุปกรณ์(oral appliance) หรือการผ่าตัด ในการรักษา ทั้งนี้ขึ้นกับลักษณะอาการและความรุนแรงของโรคของผู้ป่วยแต่ละบุคคล

'นอนกรน' กับฝันร้ายที่ไม่มีใครอยากได้

ทางด้าน นายวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยผลการสำรวจด้านการนอนประจำปีของฟิลิปส์โกลบอล Wake Up Call: Global Sleep Satisfaction Trends พบว่า

  • ประชากรวัยผู้ใหญ่ทั่วโลกมีค่าเฉลี่ยการนอนต่อคืนเพียง 7 ชม.
  • กว่า 47% เปิดเผยว่าไม่พึงพอใจในการนอนของตน
  • 8 ใน 10 ของประชากรวัยผู้ใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประสบภาวะสะดุ้งตื่นกลางดึกอย่างน้อย 1 ครั้ง
  • คนกว่าครึ่งยอมรับว่าแม้จะมีความรู้ความเข้าใจเรื่องปัจจัยที่ดีที่ช่วยส่งเสริมการนอนหลับ แต่ความเครียดยังคงเป็นปัจจัยอันดับหนึ่งที่ส่งผลต่อคุณภาพการนอน
  • ปัจจัยรองลงมาคือ สภาพแวดล้อมในห้องนอน เสียง แสง อุณหภูมิ การใช้มือถือหรือแท็บเล็ตก่อนนอน และโรคประจำตัว 

ทั้งนี้ เราสามารถเช็คอาการเบื้องต้นของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น โดยสังเกตว่าตนเองมีการสะดุ้งตื่นขึ้นมากลางดึกพร้อมกับอาการหายใจเฮือกหรือไม่ หรือมักมีอาการง่วงอยู่ในช่วงกลางวันแม้จะนอนหลับอย่างเพียงพอหรือไม่ สำหรับผู้ที่ยังไม่มั่นใจว่าตัวเองมีความเสี่ยงหรือไม่ สามารถทดสอบด้วยตัวเองได้ที่ https://www.cpapmic.com/sleeptest/