posttoday

ชีวิตติดฝุ่น อันตรายร้ายของเด็กและผู้สูงอายุ

09 มกราคม 2563

ทำไมอันตรายของ PM 2.5 ในเด็กและผู้สูงอายุถึงวิกฤตกว่าคนธรรมดาสามัญ

ทำไมอันตรายของ PM 2.5 ในเด็กและผู้สูงอายุถึงวิกฤตกว่าคนธรรมดาสามัญ

PM 2.5 เป็นฝุ่นพิษขนาดเล็กที่เมื่อถูกสูดเข้าไปจะสามารถผ่านลงไปลึกถึงหลอดลมฝอยและถุงลมที่เป็นส่วนปลายสุดของปอด ก่อให้เกิดการระคายเคือง และเกิดการอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง ทำให้คนที่เป็นโรคระบบการหายใจเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ ทั้งโรคจมูกอักเสบ ภูมิแพ้ โรคหืด และโรคถุงลมโป่งพอง และอาจทำให้เกิดมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น ซึ่งผลงานวิจัยล่าสุด พบว่ากลุ่มประชากรที่ได้รับ PM 2.5 ในระดับสูงจะมีความเสี่ยงกับการเป็นโรคตับโรคไตโรครูห์มาติกโรคอัลไซเมอร์และโรคเบาหวาน

ที่น่ากังวลคือการเจริญเติบโตทางกายภาพและสมรรถนะของปอดในระยะถดถอยจนอาจทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองเหมือนกับคนที่สูบบุหรี่อีกทั้งทารกในครรภ์มารดามีการเจริญเติบโตและอยู่ในช่วงกำลังพัฒนาอวัยวะต่างๆเช่นปอดและสมองการได้รับมลพิษในช่วงนี้อาจส่งผลระยะยาวต่ออวัยวะต่างๆ

เด็กจัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการได้รับผลกระทบ เพราะ

เด็กหายใจเร็วกว่าผู้ใหญ่ มีสัดส่วนปริมาตรการหายใจต่อน้ำหนักตัวสูงกว่าผู้ใหญ่ จึงมีโอกาสได้รับมลพิษทางอากาศรวมถึง PM 2.5 มากขึ้น

ร่างกายที่ยังไม่สูงระดับจมูกใกล้พื้นซึ่งอากาศไม่ถ่ายเทและมลพิษบางชนิดสะสมสูงจึงมีโอกาสได้รับมลพิษทางอากาศมากขึ้น

ระบบต้านทานต่อสิ่งแปลกปลอมไม่ว่าจะเป็นเยื่อบุทางเดินหายใจระบบภูมิคุ้มกันยังเจริญไม่เต็มที่ไม่สามารถป้องกันได้เต็มประสิทธิภาพ

ผลวิจัยพบฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อการเสียชีวิตของผู้สูงอายุ ในวัย 75 ปีขึ้นไป

จากการศึกษาผลกระทบของฝุ่นต่อการเสียชีวิตรายวันของผู้มีอายุเกิน 75 ปี ในประเทศญี่ปุ่นและสเปน พบว่า ในประเทศญี่ปุ่นมีการทำนายว่าหากทำการลดระดับฝุ่น PM 2.5 ลง เหลือ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้อีก 3,602 ราย ในจำนวน นี้ 77% เป็นกลุ่มผู้มีอายุมากกว่า 75 ปี ผลการศึกษาสรุปได้ว่า การปรับปรุงคุณภาพอากาศสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เช่นเดียวกับการศึกษาในประเทศสเปนที่พบว่าความเข้มข้นรายวันของฝุ่น PM 2.5 มีผลกระทบอย่างมากต่อการเสียชีวิตของผู้มีอายุเกิน 75 ปี ในกรุงมาดริดจำเป็นต้องลดปริมาณการจราจร ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของมลพิษในเมือง

ชีวิตติดฝุ่น อันตรายร้ายของเด็กและผู้สูงอายุ

มาตรฐานคุณภาพอากาศที่ดีควรอยู่ระดับใด

องค์การอนามัยโลกได้ออกแนวทางกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศ (Air Quality Guideline : AQG) เพื่อเป็นหลักเกณฑ์กลางให้ทุกประเทศใช้อ้างอิง โดยชี้ว่าไม่มีระดับปริมาณสารมลพิษระดับใดที่ถือได้ว่าปลอดภัยสำหรับทุกคน เนื่องจากร่างกายของแต่ละคนในแต่ละช่วงเวลาต่างกัน ตัวเลขที่กำหนดไว้จึงเป็นค่าเป้าหมายที่มีหลักฐานวิชาการ สนับสนุนว่าเป็นระดับปริมาณสารมลพิษที่มีผลกระทบต่อ สุขภาพน้อยที่สุดที่ยอมรับได้ โดยแนวทางนี้ได้กำหนดตัวเลข ที่สูงขึ้นเป็น 3 ระดับขึ้น เรียกว่าเป้าหมายระหว่างทาง” (Interim Target) เพื่อให้แต่ละประเทศใช้กำหนดค่ามาตรฐานที่สอดคล้องกับบริบทของตนเองโดยคาดหวังให้มีการดำเนินการเพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศ

สำหรับประเทศไทย เพิ่งมีการเพิ่ม PM 2.5 เข้ามาในรายการสารมลพิษที่ต้องตรวจวัดและควบคุมตั้งแต่ปี 2553 โดยเลือกใช้เป้าหมายระหว่างทางระดับที่ 2 ขององค์การอนามัยโลกมากำหนดเป็นมาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศ ซึ่งปัจจุบันเป็นมาตรฐานระดับเดียวกับมาเลเซีย และเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายหรือมาตรการอะไรที่บังคับว่าต้องมีการปรับเกณฑ์มาตรฐานเป็นระยะ อย่างเช่น หน่วยงาน EPA ของสหรัฐอเมริกาเคยถูกฟ้องร้องเนื่องจากไม่ปรับเกณฑ์มาตรฐานตามที่บทบัญญัติของกฎหมายอากาศสะอาด (Clean Air Act) กำหนดไว้