posttoday

เครื่องมือยุคดิจิทัล สมมุติฐานที่มาของโรคอ้วน

05 มกราคม 2563

ความอ้วนเป็นโรคที่นำพาปัญหาต่างๆ ทั้งด้านสุขภาพและด้านจิตใจ ซึ่งคนยุคปัจจุบันมีแนวโน้มเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนสูงมาก ด้วยเหตุผลที่ว่าโลกใบนี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากเกินไป นี่อาจเป็นเพียงข้อสมมุติฐาน แต่เรามาดูกันว่ามันมีมูลเหตุหรือไม่

ความอ้วนเป็นโรคที่นำพาปัญหาต่างๆ ทั้งด้านสุขภาพและด้านจิตใจ ซึ่งคนยุคปัจจุบันมีแนวโน้มเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนสูงมาก ด้วยเหตุผลที่ว่าโลกใบนี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากเกินไป นี่อาจเป็นเพียงข้อสมมุติฐาน แต่เรามาดูกันว่ามันมีมูลเหตุหรือไม่

คนขยับตัวน้อยลง เพราะชีวิตยุคนี้มีแต่สิ่งอำนวยความสะดวก

เครื่องมือยุคดิจิทัล สมมุติฐานที่มาของโรคอ้วน

สิ่งอำนวยความสะดวกบนโลกเราถูกผลิตคิดค้นขึ้นมาไม่เว้นแต่ละวัน ยกตัวอย่าง โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต ตลอดจนเครื่องมืออำนวยความสะดวกต่างๆ และแอปพลิเคชั่นต่างๆ โดยเฉพาะแอปสั่งอาหาร สิ่งเหล่านี้ทำให้ในวันหนึ่งเราแทบจะไม่ต้องทำอะไร ชนิดที่ว่าสามารถนั่งอยู่กับที่และจัดการทุกสิ่งอย่างผ่านอุปกรณ์ยุคดิจิทัลเหล่านี้ได้เลย

แบบนี้ทำให้เกิดปัญหาใหญ่ เพราะมีการศึกษาจากรัฐเท็กซัสออกมาบอกเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ขนาดรอบเอวของคนเราจะเชื่อมโยงกับการใช้งานสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เมื่อมีอุปกรณ์ดิจิทัลมากขึ้น ขนาดตัวของคนเรา น้ำหนักตัวของคนเราก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ขนาดที่องค์การอนามัยโลก ยังให้ความสนใจและได้จัดทำสถิติชุดตัวเลขเกี่ยวกับโรคอ้วนขึ้นมา ซึ่งในปัจจุบันก็พบแล้วว่า โลกมีประชากรที่เกิดโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้นกว่าในปี 2518 ถึง 3 เท่าเลยทีเดียว

ปัจจัยที่ทำให้คนยุคดิจิทัลน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

เครื่องมือยุคดิจิทัล สมมุติฐานที่มาของโรคอ้วน

เป็นเรื่องน่าสนใจมากว่า ทำไมคนในโลกยุคปัจจุบันที่มีการศึกษาในเรื่องสรีระร่างกาย และเข้าถึงแหล่งความรู้ในการดูแลตัวเอง ดูแลสุขภาพ และควบคุมน้ำหนักได้ดีกว่าในอดีต จึงมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม เรื่ิองนี้ Richard Lopez นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Rice ได้ศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นมา กับพฤติกรรมการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลของมนุษย์เราหลายๆ อย่างพร้อมกัน

ผลปรากฏว่า คนที่ใช้อุปกรณ์ดิจิทัลหลายๆ อย่างพร้อมกันมีความเสี่ยงสูงมากที่จะกลายเป็นโรคอ้วน เพราะสมองจะมีการสั่งการที่แตกต่างจากคนทั่วไป ซึ่งจะทำให้สมองส่วนหน้าซึ่งเป็นส่วนควบคุมตัวเองนั้นทำงานได้น้อยลง เมื่อเห็นอาหารจึงเกิดความรู้สึกอยากกิน และขาดซึ่งความยับยั้งชั่งใจในทันที

ต่างจากคนที่ห่างไกลเทคโนโลยี ที่สมองส่วนที่ควบคุมตัวเองยังคงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยจึงมองว่าคนที่ทำงานโดยใช้อุปกรณ์หลายๆ อย่างพร้อมกันนั้น เป็นคนที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เพราะส่งผลโดยตรงเกี่ยวกับการพัฒนาสมองของคนเหล่านี้นั่นเอง

เทคโนโลยีทำให้มนุษย์เราอยู่ติดที่

เครื่องมือยุคดิจิทัล สมมุติฐานที่มาของโรคอ้วน

สิ่งที่น่ากลัวคือ ไม่เพียงแต่ผู้คนในต่างประเทศเท่านั้นที่กำลังประสบปัญหาโรคอ้วน แต่คนไทยเองก็เช่นกัน ซึ่งรายงานสุขภาพคนไทย พบว่าคนไทยมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 2 เท่าในรอบ 20 ปี ซึ่งถือว่าสูงมาก และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยสาเหตุที่วิเคราะห์กันคือ เพราะเทคโนโลยีในโลกที่พัฒนามากขึ้น ทำให้คนเป็นโรคติดเก้าอี้มากขึ้นตามไปด้วย

เป็นเรื่องจริงที่มนุษย์เราจะถูกตรึงอยู่กับที่ด้วยการใช้เทคโนโลยีมากกว่าเดิม จากเด็กที่เคยวิ่งเล่นในสนาม ออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง ก็เปลี่ยนนิสัยมาเล่นโทรศัพท์ ดูไอแพด ดูยูทูป นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์มากขึ้น ทำให้การออกกำลังกายน้อยลง ที่สำคัญกิจกรรมเหล่านี้มักจะมาพร้อมกับน้ำและขนมในมือซึ่งเป็นตัวช่วยเพิ่มขีดความอ้วนให้สูงขึ้น

เครื่องมือยุคนี้รบกวนการนอนหลับ

เครื่องมือยุคดิจิทัล สมมุติฐานที่มาของโรคอ้วน

ท้ายที่สุดแล้ว ไม่เพียงแต่เทคโนโลยีจะทำให้มนุษย์เรามีความสะดวกสบาย และทำให้เรานั่งติดที่เท่านั้น แต่ยังรบกวนการนอนหลับพักผ่อน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการรักษาสมดุลร่างกายให้เผาผลาญพลังงาน และไม่ให้เกิดโรคอ้วนตามมา ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ ทีวี แท็บเล็ต และอุปกรณ์อื่นๆ ซึ่งสามารถนำไปไว้ในห้องนอนได้ ก็จะเพิ่มโอกาสในการเกิดผลเสียทั้งต่อตัวเด็กและผู้ใหญ่ได้พร้อมๆ กัน

ทั้งนี้ เพราะในช่วงกลางคืน หากได้รับแสงสีฟ้าจากหน้าจอมากเกินไปจะส่งผลให้ร่างกายเกิดการนอนหลับยาก นอนหลับไม่เต็มอิ่ม เมื่อร่างกายนอนไม่พอก็จะทำให้ฮอร์โมนที่ชื่อว่า Ghrelin ที่ควบคุมความหิวของเราเพิ่มมากขึ้น และในทางกลับกันการนอนไม่พอก็จะไปลดฮอร์โมนควบคุมความอิ่มที่ชื่อว่า Leptin ลง เท่ากับว่าร่างกายของเราจะหิวอาหารอยู่ตลอดเวลา เป็นหนึ่งในผลกระทบจากเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดโรคอ้วน

 

 

ภาพ freepik