posttoday

เมื่อผู้สูงอายุในบ้านเป็น 'โรคซึมเศร้า' เราจะดูแลอย่างไร

29 ธันวาคม 2562

อาการผิดปกติในผู้สูงอายุที่บ่งชี้ว่ามีอาการซึมเศร้า กับคำแนะนำสำหรับผู้ดูแล เพื่อแก้ปัญหาตามแต่ละพฤติกรรมอย่างตรงจุด

อาการผิดปกติในผู้สูงอายุที่บ่งชี้ว่ามีอาการซึมเศร้า กับคำแนะนำสำหรับผู้ดูแล เพื่อแก้ปัญหาตามแต่ละพฤติกรรมอย่างตรงจุด

กินอาหารได้น้อยมาก หรือแทบไม่กินเลย จนน้ำหนักลดลง

คำแนะนำสำหรับผู้ดูแล

  • ผู้สูงอายุที่กินอาหารได้น้อยลงหรือน้ำหนักลดลง มีโอกาสที่จะขาดสารอาหาร ควรดูแลให้ได้รับอาหารอย่างเพียงพอให้กินอาหารอ่อน ย่อยง่าย และต้องไม่มีผลกระทบต่อโรคประจำตัว ถ้าเบื่ออาหารมากจนไม่อยากกินเลย ควรกระตุ้นให้กินมากขึ้น เช่น กระตุ้นหรือชักชวนให้กินทีละน้อย แต่บ่อยขึ้น

เมื่อผู้สูงอายุในบ้านเป็น 'โรคซึมเศร้า' เราจะดูแลอย่างไร

เบื่อหน่ายมาก อะไรที่เคยชอบทก็ไม่อยากทำไม่ค่อยสนใจหรือไม่สนใจที่จะดูแลตัวเอง จากที่เคยเป็นคนใส่ใจดูแลตนเองมาก แต่ตอนนี้กลับไม่สนใจการแต่งตัวเลย ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง แม้แต่เรื่องง่ายๆ เช่น การแต่งตัว

คำแนะนำสำหรับผู้ดูแล

  • พยายามกระตุ้นให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมต่างๆ เอง โดยเฉพาะกิจกรรมง่ายๆ เช่น การแต่งตัว โดยอาจชวนไปดูเสื้อผ้าในตู้แล้วช่วยกันเลือกว่าวันนี้อยากใส่ชุดไหน ช่วยให้ผู้สูงอายุแต่งตัว หวีผม แปรงฟัน กินข้าว ดื่มน้ำ เมื่อทำสิ่งง่ายๆได้ ผู้สูงอายุจะเริ่มรู้สึกว่าตนไม่ได้สร้างภาระให้กับผู้ดูแลเท่าไรนัก และเริ่มรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองมากขึ้น
  • ควรกระตุ้นให้ผู้สูงอายุทำความสะอาดช่องปาก เช่น ใช้แปรงสีฟันนุ่มๆ ใช้ยาสีฟันที่ไม่เผ็ดหรือใช้ยาสีฟันเด็ก ใช้น้ำยาบ้วนปากที่ไม่เผ็ดหรือน้ำยาบ้วนปากสำหรับเด็กควบคู่ไปด้วย และพบหมอฟันทุก 6 เดือน หรือบ่อยกว่านั้น
  • ควรกระตุ้นการเคลื่อนไหวของร่างกาย เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง จิตใจจะได้สบายขึ้น แต่ควรคำนึงด้วยว่าผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวอะไรที่ต้องระวังหรือไม่
  • หากผู้สูงอายุมีปัญหาทางการได้ยิน ควรพบแพทย์เพื่อใส่เครื่องช่วยฟัง หรือหากผู้สูงอายุมีปัญหาด้านการมองเห็นควรให้ตรวจสายตาและใส่แว่นตา

เมื่อผู้สูงอายุในบ้านเป็น 'โรคซึมเศร้า' เราจะดูแลอย่างไร

ชวนไปที่ไหนก็ไม่ค่อยอยากไป

คำแนะนำสำหรับผู้ดูแล

  • กรณีผู้สูงอายุปลีกตัวจากผู้อื่น ใครชวนไปไหนก็ไม่อยากไป ถ้าปล่อยทิ้งไว้เช่นนี้จะทำให้ผู้สูงอายุยิ่งปลีกตัวมากขึ้นอารมณ์จะยิ่งเลวร้ายลง หงุดหงิดง่ายขึ้น ควรหากิจกรรมทำโดยเริ่มจากกิจกรรมเล็กๆ ในครอบครัว เช่น ชวนลูกหลานมาปลูกต้นไม้ รดน้ำต้นไม้ หรือเลี้ยงสัตว์

ตอนกลางคืนนอนไม่ค่อยหลับ

คำแนะนำสำหรับผู้ดูแล

  • ห้ามผู้สูงอายุนอนกลางวัน แต่ถ้าง่วงมาก ให้นอนได้ระหว่าง 12.00-14.00 น. แล้วปลุก เพราะถ้านอนกลางวันมากเกินไป ตอนกลางคืนย่อมมีปัญหาการนอน เช่น อาจจะหลับยากขึ้น หากตอนกลางคืนนอนไม่หลับ อาจชวนทำกิจกรรมเบาๆ เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือธรรมะ หรือ
    ฟังธรรมะ แต่ถ้านอนไม่หลับติดต่อกัน 3-4 วันขึ้นไป ควรพบแพทย์

พูดคุยน้อย ผู้ดูแลไม่ทราบว่าจะพูดอย่างไรให้ถูกใจ

คำแนะนำสำหรับผู้ดูแล

  • ควรให้ความรักแก่ผู้สูงอายุ ใส่ใจความรู้สึก อารมณ์ และความคิดของผู้สูงอายุอย่างสม่ำเสมอ
  • ให้โอกาสผู้สูงอายุพูดสิ่งที่ต้องการ ผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้า ความคิดและการเคลื่อนไหวจะช้าลง ทำให้บางทีแม้อยากจะพูด แต่ก็พูดไม่ทัน จึงควรค่อยๆ เปิดโอกาสให้
    พูด ไม่ควรขัดจังหวะ ควรรับฟังอย่างตั้งใจด้วยท่าทีที่สงบไม่แสดงความรำคาญ
  • ควรเป็นฝ่ายตั้งคำถามก่อน โดยใช้คำพูดง่ายๆ เช่น วันนี้หน้าตาคุณแม่ไม่ค่อยสดชื่นเลย มีอะไรอยากจะบอกกับลูกไหม เพื่อให้ผู้สูงอายุกล้าที่จะพูดคุย
  • ไม่ควรพูดตัดบท ควรฝึกใช้เทคนิคการพูดโดยปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และไม่ควรพูดแทนผู้สูงอายุ ควรเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุพูดเอง ยกเว้นมีความจำเป็นที่จะต้องพูดแทนเช่น เป็นการช่วยเหลือในกรณีผู้สูงอายุนึกคำพูดไม่ออก
  • พูดคุยเรื่องที่ผู้สูงอายุสนใจ เช่น ศาสนาที่นับถือ
  • ในกรณีที่ผู้สูงอายุปฏิเสธไม่ยอมทำกิจกรรมหรือปฏิเสธคำชักชวนต่างๆ ควรรับฟังอย่างตั้งใจ ไม่ควรต่อว่าหรือคะยั้นคะยอ อาจพูดว่าไม่เป็นไรและพูดให้กำลังใจ
  • ควรกระตุ้นให้ผู้สูงอายุเริ่มพูดคุยกับคนรอบข้าง ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกผ่อนคลาย สบายใจขึ้น หาเวลาชวนสมาชิกครอบครัวไปกินข้าวด้วยกัน เพื่อให้เกิดความผูกพัน มีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และรู้สึกสุขใจ
  • พูดถึงเรื่องราวในอดีตที่มีความสุข เช่น (หากผู้ดูแลเป็นลูก)บอกว่าถ้าท่าน (ผู้ดูแล) ไม่ได้มาเป็นลูกของคุณพ่อคุณแม่ท่านคงไม่มีโอกาสมาอยู่ตรงนี้ และคงไม่มีครอบครัวดีๆอย่างนี้ เพื่อแสดงว่าคุณพ่อคุณแม่เป็นคนสำคัญสำหรับท่าน คำพูดเหล่านี้เป็นเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงจิตใจให้คุณพ่อคุณแม่มีกำลังใจมากขึ้น

มีอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียว

คำแนะนำสำหรับผู้ดูแล

  • ไม่ควรโวยวายหรือโต้เถียง ถ้าโต้เถียงจะเกิดอารมณ์ขุ่นมัวขึ้นได้ทั้งสองฝ่าย เป็นอุปสรรคที่ขวางกั้นความสัมพันธ์ต้องรับฟังอย่างเข้าใจ ปล่อยให้ผู้สูงอายุระบายความรู้สึกออกมาก่อน จากนั้นลดสาเหตุที่ทำให้หงุดหงิด เบนความสนใจไปยังเรื่องที่มีความสุข
  • จัดให้พักผ่อนในสถานที่สงบ รับฟังอย่างตั้งใจ อาจจับมือผู้สูงอายุระหว่างพูดคุย จะทำให้สงบได้มากขึ้น การจับและนวดเบาๆ ที่หลังมือจะช่วยลดอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวการนวดและกดฝ่ามือจะช่วยลดความก้าวร้าวรุนแรง

เมื่อผู้สูงอายุในบ้านเป็น 'โรคซึมเศร้า' เราจะดูแลอย่างไร

บ่นว่าไม่สบาย ปวดนั่นปวดนี่อยู่ตลอดเวลา ทั้งที่ตรวจแล้วไม่พบอะไรผิดปกติ

คำแนะนำสำหรับผู้ดูแล

  • การบ่นว่าปวดตลอดเวลาเป็นสัญญาณหนึ่งที่แสดงว่าผู้สูงอายุต้องการความรักและความเอาใจใส่มากขึ้น และเป็นวิธีแสดงออกของผู้สูงอายุบางรายเพื่อขอความช่วยเหลือจากผู้ดูแล หรือเพื่อเรียกร้องให้ดูแลใกล้ชิดขึ้น
  • ผู้ดูแลไม่ควรพูดตอกย้ำว่าผู้สูงอายุไม่ได้เป็นอะไร แม้แพทย์จะตรวจแล้วก็ตาม ในทางตรงข้าม ผู้ดูแลควรพูดถึงอาการที่ผู้สูงอายุบ่น เพื่อให้เขารู้สึกว่าได้รับความเอาใจใส่จากผู้ดูแล รู้สึกว่าผู้ดูแลรับฟังและให้ความสำคัญกับปัญหาของเขา เช่น เมื่อผู้สูงอายุบ่นปวดหัว แต่ตรวจแล้วไม่พบปัญหาสุขภาพที่น่าหนักใจ ผู้ดูแลอาจพูดว่า คุณแม่ปวดหัวหรือคะ ปวดมากไหม หนูนวดให้ไหม เพราะการจับมือหรือบีบมือเปรียบเหมือนการสัมผัสทางใจ และเมื่อนวดเสร็จแล้วอย่าลืมถามด้วยว่า หลังจากที่หนูนวดแล้ว คุณแม่รู้สึกอย่างไรบ้างคะ ดีขึ้นใช่ไหมคะ สบายใจขึ้นไหมคะ
  • การสื่อสารด้วยความรัก คอยสัมผัสและดูแลด้วยความใส่ใจเช่นนี้ เปรียบเหมือนการทดแทนหรือเติมเต็มสิ่งที่ผู้สูงอายุอยากได้รับ

บ่นว่าตนเองเป็นภาระของลูกหลาน เบื่อตัวเองมาก รู้สึกว่าตนไร้ค่า มีความคิดอยากตายหรืออยากทำร้ายตัวเอง

คำแนะนำสำหรับผู้ดูแล

  • ควรสังเกตความผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งอาจบ่งบอกว่ามีความคิดที่จะทำร้ายตนเอง และต้องเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดพยายามไม่ให้คลาดสายตา
  •  ระวังสิ่งของที่ใช้เป็นอาวุธได้ เช่น เชือก มีด กรรไกร ปืนยาฆ่าแมลง หรือยารักษาโรค ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุจะมียาหลายชนิดอยู่กับตัว บางทีเกิดความคิดอยากจะหลับไปเลย ไม่อยากตื่นขึ้นมา ก็จะกินยาทั้งหมดที่มี
  • พยายามหาคุณค่าในตัวผู้สูงอายุ แล้วบอกให้ผู้สูงอายุรับทราบการสอบถามความคิดที่อยากจะทำร้ายตนเองของผู้สูงอายุ
  • อย่ากลัวที่จะถามผู้สูงอายุว่ามีความรู้สึกหรือมีความคิดที่อยากจะทำร้ายตนเองหรือไม่ การถามคำถามนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้าได้ระบายความทุกข์ใจหรือบอกเล่าปัญหา ซึ่งจะทำให้ผู้ดูแลเริ่มเข้าใจสามารถวางแผนการดูแล แก้ไข และป้องกันการทำร้ายตนเองของผู้สูงอายุได้ ที่สำคัญคือคำถามเกี่ยวกับความคิดที่จะทำร้ายตัวเองไม่ได้กระตุ้นให้ผู้สูงอายุเริ่มมีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง โดยผู้ดูแลควรเลือกใช้คำพูดให้เหมือนกับมาจากความรู้สึกของตนเอง

 

ภาพ freepik