posttoday

10 พฤติกรรมสุขภาพน่าจับตา สาเหตุพาคนไทยป่วยในปี 2563

21 ธันวาคม 2562

สสส.เปิด 10 พฤติกรรมสุขภาพคนไทยน่าจับตาในปี 2563 อาทิ ซึมเศร้า-ภัยคุกคามออนไลน์-‘กัญชา’ เมื่อเป็น ‘ยา’ รักษาโรค-Fake News สุขภาพ-PM2.5 หมอกควัน รวมทั้งปัญหารายวันที่น่าเป็นห่วงและส่งผลพวงด้านสุขภาพของคนไทยในปีที่ใกล้จะถึงนี้

สสส.เปิด 10 พฤติกรรมสุขภาพคนไทยน่าจับตาในปี 2563 อาทิ ซึมเศร้า-ภัยคุกคามออนไลน์-‘กัญชา’ เมื่อเป็น ‘ยา’ รักษาโรค-Fake News สุขภาพ-PM2.5 หมอกควัน รวมทั้งปัญหารายวันที่น่าเป็นห่วงและส่งผลพวงด้านสุขภาพของคนไทยในปีที่ใกล้จะถึงนี้

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ร่วมกับแผนงานสนับสนุนการบริหารจัดการข้อมูลและเทคโนโลยีสร้างเสริมสุขภาพ สำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ บริษัทไวซ์ไซท์ ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายทางวิชาการ จัดเวที Thaihealth Watch จับตา 10 ประเด็นพฤติกรรมสุขภาพคนไทย ปี 2563 ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เผย 10 ประเด็นพฤติกรรมสุขภาพคนไทย ปี 2563 มีประเด็นที่น่าจับตาดังนี้

ในกลุ่มวัยเด็กและเยาวชน

10 พฤติกรรมสุขภาพน่าจับตา สาเหตุพาคนไทยป่วยในปี 2563

1."แค่เครียด หรือซึมเศร้า"

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ปี 2562 พบว่า ทุก 1 ชั่วโมงจะมีคนพยายามฆ่าตัวตาย 6 ราย โดยมีกลุ่มเด็กเยาวชนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จถึงปีละ 300 ราย และยังพบแนวโน้มการเข้ารับคำปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น สิ่งที่น่าสนใจจากการกระแสบนโลกออนไลน์พบว่า สาเหตุที่ทำวัยรุ่นเครียด อันดับ 1 มาจากปัญหาความสัมพันธ์โดยเฉพาะครอบครัว ตามด้วยเรื่องหน้าที่การงาน การถูกกลั่นแกล้ง และความรุนแรง ซึ่งช่วงเวลาที่วัยรุ่นโพสต์ข้อความอยากฆ่าตัวตายมากที่สุดในสื่อทวิตเตอร์คือ วันอังคาร 4 ทุ่ม และวันศุกร์ 1 ทุ่ม หากช้อนความรู้สึกได้ทันจะสามารถลดความเสี่ยงจากการคิดสั้นได้ถึง 50%

2."ภัยคุกคามออนไลน์ ยิ่งเสพติดออนไลน์ ยิ่งเสี่ยงสูง"

เด็กเยาวชนยุค Gen Z ใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 10.22 ชั่วโมง ผลสำรวจของ COPAT ร่วมกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ในปี 62 พบว่า เด็ก 31% เคยถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์ 74% เคยพบเห็นสื่อลามกอนาจารทางออนไลน์ และ 25% เคยนัดเพื่อนที่รู้จักในออนไลน์ ซึ่งผลวิจัยพบว่า เด็กที่ใช้เวลากับโลกออนไลน์มากยิ่งเสี่ยงต่อการถูกกลั่นแกล้งและเป็นผู้กลั่นแกล้งทางออนไลน์ถึง 3 เท่า ดังนั้นสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวและการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลจะช่วยป้องกันความเสี่ยงตั้งแต่ต้นทาง

3.ทางเลือก-ทางรอดของ ‘เด็กและวัยรุ่น’ ในการเดินทาง 

แม้แนวโน้มการใส่หมวกกันน็อกจะเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ถึง 50% โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นมีแนวโน้มใส่หมวกกันน็อกลดลงจาก 32% ในปี 2553 เหลือเพียง 22% ในปี 2561 ขณะที่เด็กเล็ก 92% ไม่ใส่หมวกกันน็อก และยังพบแนวโน้มการบาดเจ็บและเสียชีวิตในกลุ่มเด็กเยาวชนจากมอเตอร์ไซด์เคลื่อนย้ายจากภาคที่มีรายได้สูงไปยังภาคที่มีรายได้ต่ำกว่า ในปี 2563 สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่ายทำงานโดยลงลึกใน 283 อำเภอกลุ่มเสี่ยง ซึ่งครอบคลุมการเสียชีวิตถึง 81%

4."กลัวท้องมากกว่าติดโรค"

อัตราคลอดของแม่วัยรุ่นลดลงแต่อัตราการติดโรคทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว โดยเฉพาะโรคซิฟิลิสและหนองใน สาเหตุสำคัญคือไม่ใส่ถุงยางทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในปี 2561 พบว่า นักเรียน ม.5 และ ปวช. 2 เมื่อมีเพศสัมพันธ์กับแฟนมีการใช้ถุงยางทุกครั้งไม่ถึง 50% ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ใช้ถุงยาง 100% ทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์กับพนักงานบริการ หญิงหรือผู้ชายอื่น เหตุผลที่วัยรุ่นไม่ใช้ถุงยางเมื่อเจาะลึกในโลกออนไลน์คือ ถุงยางราคาแพง อายไม่กล้าซื้อ ใช้วิธีอื่น เช่น ฝังยาคุม ดังนั้นเพื่อลดการติดโรค สสส.จึงร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ผลักดันให้ปี 2563 คนไทย 90% ต้องเข้าถึงถุงยางอนามัย

5."E-sport เส้นแบ่งระหว่างติดเกม และนักกีฬามืออาชีพ"

กลายเป็น 1 ใน 5 อาชีพในฝันของเด็กไทย แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็น proplayerได้ การศึกษาพบว่า วินัยและการแบ่งเวลาเป็นเส้นแบ่งสำคัญระหว่างนักกีฬามืออาชีพกับเด็กติดเกม นอกจากนี้ยังพบการพนันออนไลน์ที่แฝงมาพร้อมกับการแข่งขัน

ในกลุ่มวัยทำงาน

10 พฤติกรรมสุขภาพน่าจับตา สาเหตุพาคนไทยป่วยในปี 2563

6."พฤติกรรมกิน อยู่ อย่างไทย"

เนื่องจากการเสียชีวิต 3 อันดับแรกของคนไทยยังคงเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่างโรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน หัวใจขาดเลือด พฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรค ผลการสำรวจ Top Post อาหารยอดนิยมในโลกออนไลน์ในปีที่ผ่านมาพบว่า รสเผ็ดและหวานยังคงเป็นรสชาติยอดนิยมของคนไทย วัยทำงานเน้นอาหารรสจัด วัยรุ่นเน้นที่รูปลักษณ์ ขณะที่เด็ก คนโสด คนทำงานบริษัทกินผักน้อยที่สุด เพื่อปรับพฤติกรรมการกิน สสส.จึงรณรงค์เพื่อปรับพฤติกรรมการกิน รวมถึงการทำงานเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้าถึงอาหารสุขภาพมากยิ่งขึ้น

7."กัญชาเมื่อใช้เป็นยารักษาโรค"

หลังจากที่กัญชาได้รับการปลดล็อคอนุญาตให้ใช้ทางการแพทย์เพื่อการรักษาผู้ป่วย โรคที่กรมการแพทย์ประกาศรับรองว่าสามารถใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์มีเพียง 4 โรค คือ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายากและโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และภาวะปวดประสาท ขณะที่โลกออนไลน์ที่ระบุถึงสรรพคุณในการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคไปไกลมากกว่าที่ได้มีการรับรอง ขณะที่งานวิจัยเรื่องกัญชายังมีอีกจำนวนมากจึงต้องมีการศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป

ในกลุ่มผู้สูงอายุ

10 พฤติกรรมสุขภาพน่าจับตา สาเหตุพาคนไทยป่วยในปี 2563

8."Fake News สุขภาพ ชัวร์หรือมั่ว เชื่อได้หรือไม่" จากการสำรวจบนโลกออนไลน์พบว่า 5 ข่าวปลอมสุขภาพที่มียอดแชร์มากที่สุดคือ อังกาบหนูรักษามะเร็ง น้ำมันกัญชารักษามะเร็ง หนานเฉาเว่ยสารพัดโรค บัตรพลังงานรักษาสารพัดโรค ความฉลาดของลูกได้จากแม่มากกว่าพ่อ เพจที่เผยแพร่ข่าวปลอมแล้วได้รับยอดแชร์มากที่สุดส่วนมากเป็นเพจที่ตั้งชื่อเป็นสำนักข่าว แต่ไม่ใช่สื่อหลัก ส่วนเพจที่ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข่าวปลอมและได้รับยอดแชร์มากที่สุด เป็นเพจสำนักข่าวเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้น หมอแล็บแพนด้า ที่ไม่ใช่เพจสำนักข่าว แต่ได้รับยอดแชร์มากที่สุด

ปัจจัยทางสังคม สิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อสุขภาพ

10 พฤติกรรมสุขภาพน่าจับตา สาเหตุพาคนไทยป่วยในปี 2563

9."ชีวิตติดฝุ่นอันตราย PM 2.5 และหมอกควัน"

เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 5 ของประชากรโลกในปี 2558 องค์การอนามัยโลกประกาศให้ในปี 2559 ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ 7 ล้านคน ซึ่ง 91% เกิดในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกฉียงใต้และแปซิฟิกตะวันตก หากดูจากค่าความเข้มของฝุ่น PM 2.5 ใน กทม.ย้อนหลังจะพบแนวโน้มฝุ่นพิษเกิดขึ้นในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. ซึ่งเด็กและผู้สูงอายุจัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง จึงร่วมกับเครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทยจัดทำข้อเสนvแนะในการจัดการฝุ่นตั้งแต่ต้นทางทั้งเขตเมือง ภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม

10."ขยะอาหาร อาหารส่วนเกิน"

คนไทยสร้างขยะอินทรีย์ที่บางส่วนเป็นขยะอาหารเฉลี่ยปีละ 254 กิโลกรัมเป็นอย่างน้อย มากกว่าชาวฝรั่งเศส 30% และมากกว่าชาวอเมริกัน 40% ขณะที่การจัดการขยะจากงานวิจัยของทีดีอาร์ไอพบว่า การกำจัด โดยการเผา ฝังกลบ เป็นวิธีการที่หลายประเทศแนะนำให้ทำน้อยที่สุด ขณะที่ประเทศไทยใช้วิธีการนี้มากที่สุด ดังนั้นภาครัฐ ในระดับนโยบายควรสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการลดขยะอาหารและการนำอาหารที่ต้องทิ้งไปใช้ประโยชน์อื่นหรือนำไปบริจาคแทนการฝังกลบ

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กล่าวว่า Thaihealth Watch จับตา 10 ประเด็นพฤติกรรมสุขภาพคนไทย ปี 2563 มีที่มาจากการเชื่อมโยงองค์ความรู้ใน 3 ส่วน ประกอบด้วย สถานการณ์สถิติสุขภาพ (Situation) ซึ่งมาจากแนวโน้มการสูญเสียปีสุขภาวะจากรายงานภาระโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย รายงานสถานการณ์สุภาพคนไทย และสถานการณ์สถิติสุขภาพที่เกี่ยวข้อง จับกระแสความสนใจที่มีการพูดถึงในสังคมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในรอบ 1 ปี (Social Trend) เพื่อศึกษาแนวโน้มความสนใจของคนในสังคม รวมทั้งเจาะลึกถึงพฤติกรรมของคนไทยในแต่ละประเด็น และ ข้อแนะนำที่มีต่อประเด็นทางสุขภาพจากการทำงานของ สสส. (Solution) ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลที่สามารถนำไปใช้ได้จริงและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ซึ่งหลังจากนี้ สสส. จะนำเสนอตัวอย่างรูปธรรมที่เกี่ยวข้องกับ 10 ประเด็นเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างประสบการณ์ตรงในการเรียนรู้ที่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง

 

ภาพ Freepik