posttoday

งานวิจัยพบความเชื่อมโยงระหว่างมะเร็งสมองกับการได้รับมลพิษขนาดเล็กทางอากาศ

22 ธันวาคม 2562

อนุภาคฝุ่นจิ๋วแต่ฤทธิ์ไม่จิ๋ว วารสารทางการแพทย์ Epidemiology ตีพิมพ์พิษสงร้ายของมลพิษทางอากาศ พบความเชื่อมโยงฝุ่นจิ๋วจากท่อรถยนต์กับมะเร็งสมองเป็นครั้งแรก

อนุภาคฝุ่นจิ๋วแต่ฤทธิ์ไม่จิ๋ว วารสารทางการแพทย์ Epidemiology ตีพิมพ์พิษสงร้ายของมลพิษทางอากาศ พบความเชื่อมโยงฝุ่นจิ๋วจากท่อรถยนต์กับมะเร็งสมองเป็นครั้งแรก

งานวิจัยพบความเชื่อมโยงระหว่างมะเร็งสมองกับการได้รับมลพิษขนาดเล็กทางอากาศ

ผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม็คกิลล์ ในเมืองมอนทรีอัล ประเทศแคนาดา ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ Epidemiology พบความเชื่อมโยงระหว่างมะเร็งสมองกับการได้รับมลพิษขนาดเล็กทางอากาศเป็นครั้งแรก โดยพบว่าเพียงได้รับมลพิษทางอากาศขนาดเล็ก 10,000 ชิ้นต่อลูกบาศก์เซนติเมตร เป็นเวลา 1 ปี ทำให้มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งสมองเพิ่มขึ้นถึง 10%

การวิจัยครั้งนี้ติดตามเก็บข้อมูลจากอาสาสมัครวัยผู้ใหญ่จำนวน 1.9 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในเมืองโตรอนโตและมอนทรีอัลของแคนาดาตั้งแต่ปี 1991-2016 โดยระดับอนุภาคขนาดเล็กจากมลพิษของทั้งสองเมืองนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 6,000-97,000 ชิ้นต่อลูกบาศก์เซนติเมตร ซึ่งมีความหนาแน่นระดับเดียวกับเมืองใหญ่ๆ

ทีมวิจัยได้ข้อสรุปว่า ชาวเมืองที่อยู่ในพื้นที่ที่มีอนุภาคขนาดเล็ก 50,000 ชิ้นต่อลูกบาศก์เซนติเมตรขึ้นไปมีโอกาสเป็นมะเร็งสมองเพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบกับคนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีอนุภาคขนาดเล็ก 15,000 ชิ้นต่อลูกบาศก์เซนติเมต

ทั้งนี้ มีการพบอนุภาคขนาดเล็กในมลพิษทางอากาศในสมองของมนุษย์ตั้งแต่ปี 2016 เพียงแต่ขณะนั้นยังไม่พบความเชื่อมโยงกับมะเร็งสมอง รวมทั้งยังมีงานวิจัยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาระบุว่ามลพิษทางอากาศอาจเข้าไปทำลายอวัยวะทุกชิ้นและเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกายมนุษย์

นอกจากนี้ มลพิษทางอากาศยังส่งผลด้านอื่นกับสมอง อาทิ สติปัญญาลดลง สมองเสื่อม และปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของโลก โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) คาดว่าประชากรโลกเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศราวปีละ 4.2 ล้านคน