posttoday

ภัยเชื้อดื้อยาที่อาจแฝงมาในเนื้อสัตว์

19 พฤศจิกายน 2562

กรีนพีซ ชวนตระหนักถึงภัยจากเชื้อดื้อยาที่อาจมาพร้อมกับเนื้อสัตว์ที่เรากิน ในสัปดาห์แห่งการรณรงค์รู้รักษ์ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย

กรีนพีซ ชวนตระหนักถึงภัยจากเชื้อดื้อยาที่อาจมาพร้อมกับเนื้อสัตว์ที่เรากิน ในสัปดาห์แห่งการรณรงค์รู้รักษ์ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย

ภัยเชื้อดื้อยาที่อาจแฝงมาในเนื้อสัตว์



เนื่องจากวันที่ 18-24 พฤศจิกายน เป็นสัปดาห์แห่งการรณรงค์รู้รักษ์ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย (World Antibiotic Awareness Week) เราจึงอยากคุณมาหาคำตอบว่า ทำไมเนื้อสัตว์ที่เรากินกันอยู่ทุกวันอาจจะเสี่ยงต่อการตกค้างของยาปฏิชีวนะได้ ซึ่งมีหลากหลายข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและยา รวมถึงองค์การอนามัยโลก (WHO) เองก็ได้ออกมาเตือนถึงภัยจากเชื้อดื้อยาที่อาจมาพร้อมกับเนื้อสัตว์ที่เรากินด้วยเช่นกัน

ความต้องการเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น คือชนวนการเพิ่มการใช้ยาปฏิชีวนะในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์

อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เป็นกระบวนการที่เร่งรัดและส่งผลต่อสุขภาพของสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสภาพความเป็นอยู่ที่แออัด ขยับตัวได้ยาก ไม่ได้รับแสงอาทิตย์ และสัตว์อยู่ร่วมกันในปริมาณมาก ทำให้สัตว์เกิดความเครียดและมีภูมิคุ้มกันต่ำ ส่งผลให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเกินความจำเป็นและผิดวิธีใช้ กล่าวคือ ใช้ในรูปแบบน้อย ๆ อาจจะผสมในน้ำหรืออาหารสัตว์ ให้เรื่อยๆ เพื่อป้องกันการป่วย ซึ่งเป็นการผิดวัตถุประสงค์การใช้ยาปฏิชีวนะที่ต้องใช้เพื่อการรักษาการป่วยจากเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น

บ้างยาปฏิชีวนะก็ถูกนำไปใช้เพื่อทำให้สัตว์โตเร็วขึ้น ซึ่งมีงานวิจัยพบว่ายาปฏิชีวนะนั้นสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน และมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากยาปฏิชีวนะไปฆ่าแบคทีเรียในท้องและลำไส้ที่รักษาสมดุลของร่างกาย

การใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นส่งผลให้เกิดเชื้อดื้อยา

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุไว้เช่นกันว่า จากแนวโน้มความต้องการเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกันและโดยมากแล้ว หากปราศจากกฎข้อบังคับและการตรวจสอบอย่างรัดกุมจากภาครัฐ ก็อาจนำไปสู่การใช้งานอย่างผิด ๆ เช่น เพื่อคาดหวังให้สัตว์เติบโตได้ดี และป้องกันโรคในสัตว์ที่สุขภาพดี การใช้เหล่านี้เป็นการใช้ยาปฏิชีวนะเกินขนาด และส่งผลให้เกิดเชื้อดื้อยา รวมถึงยาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อสัตว์ และสิ่งแวดล้อม

เมื่อคุณได้รับยาปฏิชีวนะ แบคทีเรียจะถูกกำจัดไปจากร่างกาย ทั้งแบคทีเรียที่ร้ายและดี แต่แบคทีเรียที่สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อเอาชีวิตรอดจากยาปฏิชีวนะมาได้ จะเป็นแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาชนิดนั้นและยากต่อการรักษาในอนาคต จำเป็นต้องใช้ยาที่แรงขึ้นจึงจะได้ผล การใช้อย่างไม่เหมาะสมทั้งในทางการสาธารณสุข และภาคอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และการเกษตร จึงเป็นปัจจัยกระตุ้นให้แบคทีเรียดื้อยาเร็วขึ้น

หากปราศจากการดำเนินการใด ๆ จากภาครัฐ ตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 10 ล้านคนทั่วโลกต่อปี ในปี 2563 กลายเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรแซงหน้ามะเร็งได้ ซึ่งการมีมาตรการที่รัดกุมในการใช้ยาปฏิชีวนะในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์คือจุดเริ่มต้นที่ภาครัฐสามารถลงมือทำได้เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยา และการตกค้างของยาปฏิชีวนะ

เชื้อดื้อยาไม่ได้แย่สำหรับสัตว์เท่านั้น แต่แย่สำหรับคนด้วย

เราอาจสงสัยว่า การที่สุขภาพสัตว์ในอุตสาหกรรมแย่ แล้วจะเกี่ยวข้องกับคนอย่างไร? การที่ใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์จนเกินความจำเป็นและส่งผลให้เกิดเชื้อดื้อยาในตัวสัตว์นั้น ไม่ได้หมายความว่ามีเพียงแค่หมู ไก่ และวัวจะได้รับความเดือดร้อนจากเชื้อดื้อยาที่ส่งถึงกันภายในเล้า แต่เชื้อดื้อยาบางตัวนั้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ และยาปฏิชีวนะที่ใช้ในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์นั้น บางประเภทก็ใช้กับคนเช่นเดียวกัน เช่น Doxycycline (ด็อกซีไซคลิน)

ภัยเชื้อดื้อยาที่อาจแฝงมาในเนื้อสัตว์

แบคทีเรียเชื้อดื้อยาอาจแพร่กระจายจากฟาร์มสู่เมืองได้ผ่านทางแหล่งน้ำ อากาศ คนงานในอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งแฝงตัวอยู่ในเนื้อสัตว์ที่เรากิน

ในกระบวนการของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์นั้น ตามความเหมาะสมควรหยุดการใช้ยาในช่วงก่อนรีดนมหรือเข้าโรงฆ่าสัตว์ในระยะ 10-14 วัน เพื่อที่ทิ้งระยะให้ยาปฏิชีวนะในร่างกายสัตว์หมดไป ท้ายที่สุดหากเนื้อสัตว์ยังคงมีแบคทีเรืยดื้อยา หรือยาปฏิิชีวนะที่ยังตกค้าง เมื่อเรารับเข้าสู่ร่างกายก็อาจทำให้แบคทีเรียในตัวเราดื้อยาได้ (*การทำให้อาหารสุกด้วยความร้อนนั้นสามารถฆ่าแบคทีเรียได้ แต่ไม่สามารถทำลายยาปฏิชีวนะที่ตกค้างได้)

การใช้ยาปฏิชีวนะในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เกินความจำเป็นเชื่อมโยงกับการเกิดเชื้อดื้อยาในคน และอาจทำให้ยาบางชนิดใช้ไม่ได้ผล ผู้บริโภคไม่มีทางรับรู้ได้เลยว่าก่อนที่จะมาเป็นเนื้อสัตว์ที่เราซื้อกิน สัตว์ตัวนั้นได้ผ่านการรับยาปฏิชีวนะมาปริมาณมากน้อยแค่ไหน ในปัจจุบันฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ระบุเพียงแบรนด์ของอาหาร วันหมดอายุ ชิ้นส่วนของสัตว์ หรือในบางกรณี ระบุรูปแบบของการเลี้ยง แต่ยังไม่มีข้อบังคับทางกฎหมายว่าสิ่งที่ผู้บริโภคควรตระหนักรู้นอกจากนั้นมีอะไรบ้าง

หากเรายังไม่สามารถลดกินเนื้อสัตว์ได้ แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง

มาร่วมเปลี่ยนแปลงระบบอาหารกับกรีนพีซ โดยผลักดันให้ภาครัฐออกกฎหมายติดฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทุกประเภทโดยเปิดเผยถึงข้อมูลการเลี้ยงสัตว์รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะ และการตกค้างในเนื้อสัตว์ เพื่อแก้ไขปัญหาโรคที่เกิดจากเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในขณะที่บริษัทอุตสาหกรรมอาหารต้องระบุแผนดำเนินการเพื่อลดและยกเลิกการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มปศุสัตว์ และเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน เพื่อคืนสิทธิในการรับรู้ข้อมูลและการเลือกบริโภคของประชาชน

 

 

ข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Greenpeace Thailand

ภาพประกอบ Freepik