posttoday

เรื่องของ "เก๊าต์" ที่เราต้องรู้

31 กรกฎาคม 2562

เจ็บๆ ปวดๆ บริเวณข้อ...นี่เราแค่เสี่ยง!! หรือกำลังเป็นโรคเก๊าต์แล้วกันแน่ มาดูอาการและสาเหตุของโรคเก๊าต์ แล้วเช็กตัวเองกันสักหน่อย

เจ็บๆ ปวดๆ บริเวณข้อ...นี่เราแค่เสี่ยง!! หรือกำลังเป็นโรคเก๊าต์แล้วกันแน่ มาดูอาการและสาเหตุของโรคเก๊าต์ แล้วเช็กตัวเองกันสักหน่อย

เรื่องของ "เก๊าต์" ที่เราต้องรู้

เก๊าต์ (Gout) เป็นโรคข้ออักเสบที่ทำให้มีอาการปวดแสบร้อน บวม แดง ตามข้อต่ออย่างเฉียบพลันเป็นระยะๆ อาจเกิดขึ้นกับข้อต่อเดียวหรือหลายข้อต่อพร้อมกัน

อาการของโรคเก๊าต์

โรคนี้จะก่อให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรงตามข้อต่อ ที่พบได้บ่อยที่สุดคือข้อต่อนิ้วหัวแม่เท้า แต่ก็สามารถเกิดกับข้อต่อหลายส่วนตามร่างกายได้ เช่น ข้อเท้า ข้อศอก หัวเข่า ข้อต่อกระดูกมือ หรือข้อมือ อาการปวดจะรุนแรงในช่วง 4-12 ชั่วโมงแรก จากนั้นจะเริ่มปวดน้อยลงและมีอาการดีขึ้นภายใน 7-10 วัน แต่ในบางรายอาจมีอาการปวดได้นานหลายวันจนถึงหลายสัปดาห์

นอกจากนี้ ยังมีอาการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นได้ เช่น ข้อต่อเกิดการอักเสบและติดเชื้อ อาจเกิดขึ้นกับข้อต่อเพียงข้อเดียวหรือหลายข้อต่อ จนทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นเป็นสีแดง บวมแดง และแสบร้อน เคลื่อนไหวร่างกายได้ไม่สะดวกจากภาวะข้อติด ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกความรุนแรงของโรคที่เพิ่มมากขึ้น หรือผิวหนังบริเวณข้อต่อเกิดการลอกหรือคันหลังจากอาการของโรคดีขึ้น ซึ่งอาการของโรคเหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน และมักเป็นๆ หายๆ จนกว่าจะได้รับการรักษา โดยมักเกิดขึ้นในเวลากลางคืนได้บ่อยกว่าช่วงเวลาอื่น

อย่างไรก็ตาม ควรรีบไปพบแพทย์หากผู้ป่วยมีไข้ ปวดข้ออย่างรุนแรง จนทำให้ผิวหนังบวมแดงและแสบร้อนขึ้น เพราะอาการปวดข้ออาจทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดได้ว่าเป็นสัญญาณของโรคข้ออื่นๆ การปล่อยให้โรคพัฒนารุนแรงขึ้นโดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจนำไปสู่อาการปวดอย่างเรื้อรังและสร้างความเสียหายให้กับข้อต่อได้

เรื่องของ "เก๊าต์" ที่เราต้องรู้

สาเหตุของโรคเก๊าต์

โรคเก๊าต์เป็นผลมาจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูง ซึ่งเป็นภาวะของร่างกายที่มีการสะสมของกรดยูริกในปริมาณที่มากเกินไป ทำให้เกิดการตกผลึกตามข้อต่างๆ จนเกิดอาการปวดบวมตามข้ออย่างรุนแรงและอาการอื่นๆ ของโรคตามมา

กรดยูริกเป็นสารเคมีชนิดหนึ่งในเลือดที่ได้มาจากการย่อยสลายสารพิวรีนในเนื้อเยื่อทั่วร่างกายและอาหารที่รับประทานเข้าไป โดยร่างกายจะมีการปรับสมดุลของกรดยูริกด้วยการกรองจากไตก่อนมีการขับออกทางปัสสาวะและอุจจาระ เมื่อมีปริมาณกรดยูริกมากขึ้นจากการสร้างของร่างกาย จากการรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง หรือไตมีความผิดปกติในการกรองสารพิวรีน มักนำไปสู่ภาวะกรดยูริกในเลือดสูงได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิด แต่พบว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่มีความเกี่ยวข้องกัน เช่น  

  • การดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก
  • การรับประทานอาหารทีมีสารพิวรีนมากเกินไป เช่น สัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ ยอดผัก กุ้งเคยหรือกะปิ ปลาซาร์ดีน หอยแมลงภู่ สารสกัดจากยีสต์
  • ได้รับวิตามินซีไม่เพียงพอ
  • การดื่มน้ำอัดลมเกินปริมาณที่พอดีต่อวัน ซึ่งมีการศึกษาพบว่าการดื่มน้ำอัดลมประเภทที่มีน้ำตาลฟรุกโตสอาจเพิ่มการสะสมกรดยูริกในเลือดได้สูงถึง 85% นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงผลไม้และน้ำผลไม้บางชนิดที่มีน้ำตาลฟรุกโตสอยู่มาก
  • อาการเจ็บป่วยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเซลล์ในร่างกายอย่างรวดเร็ว เช่น โรคสะเก็ดเงินขั้นรุนแรง หรือความผิดปกติทางเลือดบางอย่าง
  • ยาบางประเภทที่ส่งผลต่อระดับกรดยูริกในร่างกาย เช่น ยาขับปัสสาวะ  ยาเคมีบำบัดบางชนิด ยาแอสไพริน และยาลดความดันโลหิตบางชนิด
  • โรคประจำตัวหรือสภาวะของร่างกายบางอย่าง เช่น ภาวะอ้วน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ ไตทำงานผิดปกติ โรคเบาหวาน โรคพร่องเอนไซม์
  • ความผิดปกติของไขกระดูก โรคหลอดเลือดผิดปกติ
  • มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคเก๊าต์ โดยพบว่า 1 ใน 5 ของผู้ป่วยโรคเก๊าต์จะมีบุคคลในครอบครัวเจ็บป่วย

 

 

ภาพ freepik