posttoday

ปวดหัวแบบไหน...เข้าข่ายไมเกรน?

17 กรกฎาคม 2562

เป็นคำถามที่น่าจะถูกเสิร์ชหามากที่สุดสำหรับคนที่มีอาการปวดหัว ว่าอาการอย่างไรที่เข้าข่ายเป็นปวดหัวไมเกรน เพราะอาการปวดหัวมีหลายแบบ หลายสาเหตุ และหลายวิธีการรักษา

เป็นคำถามที่น่าจะถูกเสิร์ชหามากที่สุดสำหรับคนที่มีอาการปวดหัว ว่าอาการอย่างไรที่เข้าข่ายเป็นปวดหัวไมเกรน เพราะอาการปวดหัวมีหลายแบบ หลายสาเหตุ และหลายวิธีการรักษา

ส่วน "ไมเกรน (Migraines)" เป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะรุนแรงชนิดหนึ่ง ที่จะทำให้รู้สึกปวดตุบๆ รุนแรง โดยมักปวดบริเวณศีรษะข้างเดียว หรือปวดข้างเดียวก่อนแล้วจึงปวดสองข้าง ในขณะที่ปวดก็มักมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วย และอาจมีความรู้สึกไวต่อเสียงและแสงสว่างมากกว่าปกติ

ปวดหัวแบบไหน...เข้าข่ายไมเกรน?

ปวดหัวอย่างไร เข้าข่ายไมเกรน

1.ปวดข้างเดียว สองข้าง หรือสลับข้าง

ไมเกรนเป็นโรคปวดหัวที่เป็นได้ทั้ง ข้างเดียว หรือสองข้าง แต่เมื่อใดก็ตามมีการปวดหัวสลับข้าง คือบางครั้งซ้าย และก็อาจมีบางครั้งขวา ก็มีแนวโน้มเป็นไมเกรน

2.อาการค่อยๆ ปวด แล้วก็ค่อยๆ หาย

ไมเกรนเป็นโรคเรื้อรังทีจะเป็นๆ หายๆ แล้วแต่ว่าใครจะเป็นบ่อยแค่ไหน แต่หากเป็นแล้วหาย แล้วก็มาเป็นเหมือนเดิมอยู่อย่างนั้น โอกาสเป็นไมเกรนก็จะสูง เพราะถ้าเป็นโรคปวดหัวชนิดอื่นส่วนใหญ่ไม่เป็นแล้วหาย ไม่กลับมาเป็นบ่อยๆ

3.ปวดมากๆ จนอาจคลื่นไส้อาเจียน

ไมเกรนจะมีกลไกไปกระตุ้นศูนย์อาเจียน ขึ้นกับอาการปวดหัวว่ามากหรือน้อย ดังนั้น หากปวดหัวมากจนอาเจียนก็มีความเป็นไปได้จะเป็นไมเกรน เมื่ออาเจียนแล้วอาการจะดีขึ้น

4.ปวดทุกครั้งเมื่อมีสิ่งกระตุ้นจำเพาะ

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่หมอจะถามว่า ก่อนปวดหัวมีอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้ปวดหัว เพราะไมเกรนมีสิ่งกระตุ้นได้หลากหลาย เช่น กลิ่น ความร้อน ความเครียด อดนอน ซึ่งอาจเป็นสิ่งกระตุ้นเฉพาะแต่ละคน

ปวดหัวแบบไหน...เข้าข่ายไมเกรน?

สาเหตุของไมเกรน

ไมเกรนเป็นผลจากความผิดปกติชั่วคราวในการทำงานของสมองที่มีผลกระทบต่อเส้นประสาท สารเคมี และหลอดเลือดในสมอง แต่สาเหตุที่แท้จริงของไมเกรนนั้นไม่เป็นที่แน่ชัด ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายปัจจัยตามสิ่งกระตุ้น ดังนี้

การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน

ผู้หญิงอาจเป็นไมเกรนในช่วงที่มีประจำเดือน (Menstrual Migraine) ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย เช่น เอสโทรเจน (ฮอร์โมนเพศหญิง) โดยไมเกรนชนิดนี้ มักเกิดในช่วง 2 วันก่อนมีประจำเดือน ไปจนถึงวันที่ 3 ของการมีประจำเดือน ในบางรายพบว่าเป็นไมเกรนแค่ช่วงเวลานี้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยเพศหญิงบางราย ก็จะพบว่าเป็นไมเกรนในช่วงเวลาอื่่นที่ไม่ได้เป็นประจำเดือนได้เช่นกัน และในผู้หญิงหลายคนก็พบว่าอาการไมเกรนที่เกิดขึ้นนั้นมาจากหลังวัยหมดประจำเดือน (Menopause) ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน อันส่งผลต่ออารมณ์และร่างกาย และสามารถกระตุ้นไมเกรนได้ หรืออาจทำให้เกิดอาการที่รุนแรงได้ในบางราย

ตัวกระตุ้นที่เกี่ยวกับอารมณ์

  • ความเครียด ภาวะตึงเครียด
  • ความวิตกกังวล
  • อาการตกใจ หรือช็อก
  • ภาวะซึมเศร้า
  • ความตื่นเต้น

ตัวกระตุ้นทางกายภาพ

  • ความเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
  • นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ทำงานเป็นกะ ไม่เป็นเวลาปกติ
  • มีความตึงที่คอหรือไหล่
  • อาการอ่อนเพลียจากการเดินทางด้วยเครื่องบินเป็นเวลานาน (Jet Lag)
  • ภาวะเลือดมีน้ำตาลน้อย (Hypoglycaemia)
  • ออกกำลังกายที่ต้องใช้พละกำลังมาก

ตัวกระตุ้นเกี่ยวกับอาหาร

  • รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา
  • ภาวะขาดน้ำ
  • ดื่มแอลกอฮอล์
  • อาหารที่มีสารไทรามีน (Tyramine) ซึ่งเป็นส่วนประกอบธรรมชาติของอาหาร เช่น เนยแข็ง
  • เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา หรือกาแฟ
  • อาหารบางประเภท เช่น ช็อกโกแลต ผลไม้ตระกูลส้ม และชีส

ตัวกระตุ้นที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

  • แสงสว่างจ้า
  • แสงจากจอโทรทัศน์ หรือคอมพิวเตอร์
  • การสูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่ โดยเฉพาะในห้องแบบปิด
  • เสียงดัง
  • สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เช่น ความชื้น หรืออุณหภูมิที่เย็นจัด
  • ได้รับกลิ่นที่รุนแรง
  • บรรยากาศที่อบอ้าว

การใช้ยารักษาโรค

  • การใช้ยานอนหลับบางชนิด
  • การใช้ยาคุมกำเนิด
  • การใช้ฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy) ในสตรีวัยหมดประจำเดือน

 

ภาพ freepik