posttoday

"กระดูกพรุน" สาเหตุของกระดูกหัก-กระดูกสันหลังผิดรูป

19 สิงหาคม 2562

สถิติในปีที่ผ่านมา พบผู้สูงอายุประมาณ 30,000 คน เป็นโรคกระดูกพรุนและเกิดการหัก ทั้งยังมีโอกาสหักซ้ำ 6-8%

สถิติในปีที่ผ่านมา พบผู้สูงอายุประมาณ 30,000 คน เป็นโรคกระดูกพรุนและเกิดการหัก ทั้งยังมีโอกาสหักซ้ำ 6-8%

จากสถิติในปี 2561 พบว่า มีผู้สูงอายุประมาณ 30,000 คนต่อปีที่เป็นโรคกระดูกพรุนและเกิดการหัก เช่น กระดูกข้อมือ กระดูกหลัง กระดูกสะโพกหัก โดยจำนวนนี้พบว่าเฉพาะผู้ป่วยที่กระดูกสะโพกหัก มีโอกาสหักซ้ำ 6-8% ซึ่งกระดูกสะโพกหักนั้นถ้าไม่ได้รับการดูแลที่ดี ไม่ได้รับการรักษาทันทีก็เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิต ที่ผ่านมาพบว่า ผู้ป่วยหลายรายที่มีอาการสะโพกหัก แต่ยังไม่ได้รับการรักษาด้วยปัจจัย เช่น ห้องผ่าตัดไม่พร้อม หรือผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อน ก็เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย โดยต้องได้รับการผ่าตัดภายใน 72 ชั่วโมง ขณะที่หลังการผ่าตัด การฟื้นฟูผู้ป่วยป้องกันไม่ให้เกิดการหักซ้ำ

"กระดูกพรุน" สาเหตุของกระดูกหัก-กระดูกสันหลังผิดรูป

รู้จักโรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุน คือโรคกระดูกชนิดหนึ่งที่กระดูกเริ่มเสื่อมและบางลงเนื่องจากการสูญเสียแคลเซียมที่สะสมในกระดูก โรคนี้จะไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดนอกจากกระดูกแตกหรือหัก พบได้บ่อยบริเวณกระดูกสันหลัง สะโพก หรือข้อมือ รวมทั้งยังสามารถเกิดได้กับกระดูกส่วนอื่นๆ ของร่างกายอีกด้วย ทั้งนี้โรคกระดูกพรุนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะกระดูกหักหรือกระดูกสันหลังผิดรูปในสตรีสูงอายุ

สาเหตุของโรคกระดูกพรุน

เกิดการสูญเสียฮอร์โมนเพศหญิงเนื่องจากหมดประจำเดือน เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของการเกิดโรคกระดูกพรุน โดย 25% ของสตรีที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มักพบว่าเป็นโรคกระดูกพรุน การที่สตรีหมดประจำเดือนเร็วหรือได้รับการผ่าตัดรังไข่ทิ้งก่อนอายุ 45 ปี และอายุที่มากขึ้น โดยเมื่ออายุมากกว่า 50 ปี กระดูกจะบางลงทุก 1-3% ทุกปี

ปกติกระดูกของเราจะมีการสร้างและการทำลายกระดูกอย่างสม่ำเสมอ ในช่วงอายุก่อน 30-35 ปี เราจะมีการสร้างมากกว่าการทำลาย เพราะฉะนั้นกระดูกจะค่อยๆ แข็งขึ้นเรื่อยๆ หลังจากอายุ 30-35 ปี มวลกระดูกจะคงที่ คือมีการสร้างและการทำลายที่สมดุลกัน หลังจากผ่านระยะนั้นไปคือประมาณอายุ 40 ปีเป็นต้นไป การทำลายกระดูกจะเริ่มมากกว่าการสร้าง โดยธรรมชาติของเรากระดูกจะค่อยๆ บางลงเรื่อยๆ จากการทำลายกระดูกที่เยอะกว่าการสร้างกระดูก ยิ่งเราแก่ตัวไปกระดูกเราจะค่อยๆ บางไปตามธรรมชาติ ระดับของกระดูกพรุนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าเราสะสมมวลกระดูกตั้งแต่ช่วงอายุแรกเกิดจนถึง 30 ปีไว้มากน้อยแค่ไหน

ปัจจัยที่ทำให้กระดูกพรุนก่อนวัยอันควร

  • โรคประจำตัวต่างๆ โดยโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นกระดูกพรุน ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคที่เกี่ยวกับโรคข้อ โรครูมาตอยด์ต่างๆ คนที่เป็นโรคไทรอยด์ โรคเกี่ยวกับต่อมพาราไทรอยด์ หรือต่อมหมวกไตมีปัญหา หรือกลุ่มที่ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นประจำ ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนก่อนวัยอันควร
  • ลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นกระดูกพรุน ได้แก่ กลุ่มคนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายเท่าไร การใช้ชีวิตนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ก็จะทำให้มีความเสี่ยงเป็นกระดูกพรุนมากกว่าคนทั่วไป

"กระดูกพรุน" สาเหตุของกระดูกหัก-กระดูกสันหลังผิดรูป

อาการและการวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน

สำหรับอาการโรคนี้จะไม่มีอาการอะไรให้เราเห็นเลย เขาจะแสดงอาการก็ต่อเมื่อกระดูกเราหักไปแล้ว เพราะฉะนั้นแล้วการตระหนักถึงโรคนี้ การรู้ถึงความเสี่ยง การย้อนกลับไปมองตัวเองว่าเรามีความเสี่ยงหรือเปล่า จากนั้นเราถึงจะไปพิจารณาพบแพทย์ เพื่อที่จะตรวจมวลกระดูก หรือคำนวณความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหัก

การตรวจมวลกระดูกจากเครื่องตรวจมวลกระดูก เราจะได้รับรังสีเพียงเล็กน้อย จากนั้นจะตรวจมวลกระดูกออกมา แล้วคำนวณตามค่าเฉลี่ยของประชากร ถ้ามวลกระดูกของเราอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ยของประชากรถึงระดับหนึ่ง เราก็จะสามารถวินิจฉัยเป็นโรคกระดูกพรุนได้ และวิธีการคำนวณความเสี่ยงในการที่จะเกิดกระดูกหัก แพทย์จะถามประวัติคร่าวๆ แล้วจะคำนวณออกมา ความเสี่ยงนี้ชื่อว่า การคำนวณ frax score จะดูจากเพศ อายุ ดัชนีมวลกาย พฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โรคประจำตัว การกินยาสเตียรอยด์รวมถึงประวัติครอบครัวที่มีประวัติเป็นกระดูกพรุนความเสี่ยง frax score จะคำนวณออกมาได้ 2 แบบคือ คำนวณเรื่องความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหัก โดยทั่วไปในระยะ 10 ปี กับกระดูกหักบริเวณสะโพกในระยะ 10 ปี ถ้าค่าความเสี่ยง frax score ของกระดูกหักทั่วไปมากกว่า 20% ในระยะ 10 ปี หรือค่าความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกสะโพกหักมากกว่า 3% ในระยะ 10 ปี ก็จะต้องได้รับการวินิจฉัยเป็นกระดูกพรุน และต้องได้รับการรักษา

"กระดูกพรุน" สาเหตุของกระดูกหัก-กระดูกสันหลังผิดรูป

การรักษาและการดูแลตัวเอง

ในส่วนการรักษาและการดูแลตัวเอง คุณหมอแนะว่าโรคกระดูกพรุนเป็นโรค เราต้องรักษาด้วยยา การกินยา หรือวิธีฉีดยารักษาโรคกระดูกพรุน เราก็ควรจะไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอและกินยาอย่างสม่ำเสมอ และดูแลตัวเอง ดังนี้

1.ระวังเรื่องพลัดตกหกล้ม เนื่องจากเราเป็นโรคกระดูกพรุน เราล้มนิดเดียวเราอาจจะกระดูกหักได้ กระดูกหักแล้วชีวิตเปลี่ยนเลย เพราะฉะนั้นเรื่องการระวังพลัดตกหกล้มนี่สำคัญ การจัดของที่บ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เรื่องของขั้นบันไดต่างๆ เราอาจจะต้องไปจัดระเบียบบ้าน

2.เราอาจจะต้องหมั่นไปเจอแสงแดด เนื่องจากแสงแดดจะช่วยให้ร่างกายเราสังเคราะห์วิตามิน D ได้จากธรรมชาติ วิตามิน D จะช่วยให้แคลเซียมจากอาหารที่เรากินเข้าไปหรือจากอาหารเสริมที่เรากินเข้าไปดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ดีขึ้น ข้อแนะนำคือ เราอาจจะต้องไปเจอแสงแดดวันหนึ่งประมาณสัก 15 นาที เป็นแดดอ่อนๆ อาจจะเลือกเป็นตอนเช้าหรือตอนเย็นก็ได้ อย่างน้อยวันละ 15 นาทีก็เพียงพอ

3.การออกกำลังกาย การออกกำลังกายให้เหมาะสมกับวัย การออกกำลังกายที่จะช่วยเพิ่มมวลกระดูกได้ ก็ต้องเป็นการออกกำลังกายที่มีน้ำหนักลงบริเวณข้อต่อต่างๆ เช่น การเดินเร็วๆ การวิ่งเหยาะๆ หรือการเต้นแอโรบิกสำหรับผู้สูงอายุจะช่วยเพิ่มมวลกระดูกได้ ทำให้มวลกระดูกแข็งแรงขึ้นนอกจากการออกกำลังกายจะช่วยเรื่องของมวลกระดูกแล้ว ยังจะช่วยให้กำลังกล้ามเนื้อมีสมรรถภาพที่ดี สมรรถภาพของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อต่อต่างๆ จะดี และช่วยป้องกันการพลัดตกหกล้มได้อีกทางหนึ่ง

กลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนจะมีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น อายุเยอะ บางคนมีปัญหาเรื่องข้อข้อเข่าเสื่อมบ้าง ข้อสะโพกมีปัญหา หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท บางคนมีเรื่องโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอดโรคไตต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นข้อจำกัดในการออกกำลังกายทั้งสิ้น แนะนำว่า อาจจะต้องปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลในเรื่องของข้อจำกัดในการออกกำลังกายของเราว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง แต่โดยส่วนใหญ่ ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนการออกกำลังกายที่เหมาะสมจะช่วยเพิ่มมวลกระดูกได้

 

 

 

ภาพ  freepik