posttoday

คนไทยดังต่างแดน ตัวแทนวัฒนธรรมและความภาคภูมิ

27 มีนาคม 2562

คนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก ไม่ใช่คำกล่าวเกินจริง เมื่อเห็นสิ่งที่คนไทยบางกลุ่มไปสร้างชื่อในฐานะตัวแทนคนไทยจนกลายเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ

เรื่อง : กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย

คนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก ไม่ใช่คำกล่าวเกินจริง เมื่อเห็นสิ่งที่คนไทยบางกลุ่มไปสร้างชื่อในฐานะตัวแทนคนไทยจนกลายเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ อย่างเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ในภูมิภาคเอเชียมีสองงานใหญ่ที่มีคนไทยเข้าร่วมและเป็นที่จับตามอง แต่กลับไม่ถูกจับจ้องจากคนในประเทศ

หนึ่ง คือ การแข่งขันแกะสลักหิมะในงาน อินเตอร์เนชั่นแนล สโนว์ สคลับเจอร์ ครั้งที่ 46 ซึ่งจัดขึ้นไปเมื่อต้นเดือน ก.พ.ในเมืองซัปโปโร จังหวัดฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น มีทีมไทยเข้าแข่งขัน ประกอบด้วยสมาชิก 3 คน ได้แก่ กุศล บุญกอบส่งเสริม หัวหน้าทีมจากโรงแรมแชงกรี-ลา อำนวยศักดิ์ ศรีสุข โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ และกฤษณะ วงศ์เทศ นักแกะสลักอิสระ ได้สร้างสรรค์ผลงานชื่อ “ปลากัด” และสามารถคว้าแชมป์อันดับ 1 ได้สำเร็จ ซึ่งนับเป็นการรักษาแชมป์ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 หลังจากปี 2561 ได้สร้างสรรค์ผลงานชื่อ “ไก่ชน” เป็นการเผยแพร่อัตลักษณ์ความเป็นไทยต่อสายตาคนทั่วโลก

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นหน่วยงานสนับสนุนและส่งตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันมาตั้งแต่ปี 2534 โดยครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 22 มีเป้าประสงค์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยผ่านงานศิลปะ เนื่องจากการแข่งขันแกะสลักหิมะดังกล่าวเป็นกิจกรรมไฮไลต์ของเทศกาลหิมะ ซัปโปโร สโนว์ เฟสติวัล ซึ่งเป็นงานเทศกาลหิมะที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น โดยในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวทั้งคนญี่ปุ่นและชาวต่างชาติเดินทางมาเข้าชมงานกว่า 2 ล้านคน ททท.จึงหวังใช้ผลงานแกะสลักเพื่อประชาสัมพันธ์ประเทศไทย และคาดหวังว่าจะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นได้ถึง 2 ล้านคนในปีหน้า

กฤษณะ แก้วธำรงค์ ผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ททท. กล่าวว่า ผลงานปลากัดเป็นรูปแบบที่เกิดจากความคิดเห็นตรงกันระหว่าง ททท.และทีมแกะสลัก เนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติไทยเมื่อเดือน ธ.ค. 2561

“ปลากัดไทยมีเอกลักษณ์ทั้งด้านความสง่างาม ความนุ่มนวล และอยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนานกว่า 200 ปี เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับสายน้ำ โดยทีมนักแกะสลักได้สร้างสรรค์ผลงานออกมาได้อย่างประณีตงดงาม แสดงทักษะและความเชี่ยวชาญในการแกะสลัก จนเป็นที่ชื่นชมของคณะกรรมการและนักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมงานอย่างมาก ซึ่ง ททท.เชื่อมั่นว่า ผลงานปลากัดจะช่วยตอกย้ำถึงความสามารถเชิงช่างแกะสลักของคนไทยซึ่งถือเป็นระดับแนวหน้าของโลก และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ”

ทีมจากประเทศไทยเคยได้รับรางวัลชนะเลิศมาแล้ว 7 ครั้ง (ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 8) จากฝีมือนักแกะสลักชาวไทยหลายคน ซึ่งปีนี้ตัวแทนประเทศไทยเป็นทีมเดิมจากปีที่ผ่านมา สมาชิกทั้งหมดเป็นนักแกะสลักน้ำแข็งที่ไม่ได้ฝึกซ้อมแกะสลักหิมะก่อนลงสนามจริง ดังนั้น สิ่งที่พวกเขาเตรียมพร้อมได้ คือ รูปแบบผลงาน และตกผลึกบทเรียนจากประสบการณ์ที่ผ่านมา

การแข่งขันจะให้นักแกะสลักสร้างสรรค์ผลงานในระยะเวลา 4 วันท่ามกลางอุณหภูมิติดลบต่ำสุดกว่า -20 องศา ซึ่งการแกะสลักหิมะแตกต่างจากน้ำแข็ง คือ หิมะมีเนื้อร่วนซุย เมื่อลงมือแกะสลักเข้าไปในเนื้อหิมะแล้วจะแก้ไขได้ยาก ประกอบกับเป็นการทำงานท่ามกลางหิมะ ฝน และลม จึงทำให้ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าตลอดเวลา

นอกจากนี้ ยังมีความกดดันเรื่องเวลา ความทรมานจากความหนาว และความคาดหวังของผู้ที่ติดตาม เพราะทีมไทยถือได้ว่าเป็นตัวเก็ง อย่างไรก็ดี ระหว่างการแข่งขันทีมไทยได้รับกำลังใจดีจากแฟนคลับชาวญี่ปุ่นที่ติดตามงานแกะสลักหิมะ รวมถึงแรงเชียร์จากนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ไปเที่ยวงานเทศกาลหิมะซัปโปโร

รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 จึงถือเป็นความภาคภูมิใจของทีมไทย ผู้ที่สามารถนำทักษะช่างแกะสลักไปสร้างสรรค์งานศิลปะได้โดยไม่มีเงื่อนไข แม้กับสิ่งที่ไม่คุ้นเคยอย่างหิมะ ทั้งยังทำหน้าที่เป็นทูตวัฒนธรรม เผยแพร่ความงามอย่างไทยสู่สายตาคนทั่วโลก

อีกเวทีที่คนไทยไปสร้างชื่อในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ งาน ไอ ไลต์ สิงคโปร์ (i Light Singapore- Bicentennial Edition) เทศกาลแสดงศิลปะแสงไฟประจำปีของประเทศสิงคโปร์ ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 ในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เป็นการเปิดโอกาสให้ศิลปินจากทั่วโลกส่งผลงานเข้าประกวดเพื่อคัดเลือกมาจัดแสดง โดยปีนี้มีศิลปินจาก 36 ประเทศทั่วโลกส่งผลงานเข้าประกวดจำนวน 249 ชิ้น ซึ่งผลงานจะผ่านการคัดเลือกโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในวงการศิลปะจากหลากหลายสาขาทั้งด้านสถาปัตยกรรม ผังเมือง และการออกแบบแสงไฟ

ปีนี้มีผลงานที่ผ่านการคัดเลือกและได้จัดแสดงจำนวน 33 ชิ้น โดยศิลปินจาก 15 ประเทศทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือ กลุ่มศิลปินชาวไทยชื่อ Living Spirits ซึ่งเป็นปีที่ 2 ที่ผลงานของพวกเขาได้รับคัดเลือก

ศศิศ สุวรรณปากแพรก ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Living Spirits กล่าวถึงผลงาน Crystallisation of Thoughts ที่สร้างสรรค์ขึ้นในปีนี้ว่า เป็นผลงานที่ต่อยอดมาจากชิ้นงานเดิมที่ชื่อว่า Spirits of Innovation ที่ติดตั้งอยู่ในประเทศไทย โดยมีแรงบันดาลใจ
มาจากการตกผลึกทางความคิดรวมเข้ากับระบบไฟอินเตอร์
แอ็กทีฟ ด้วยการนำผลึกรูปทรงคริสตัลมาเป็นสัญลักษณ์ จัดเรียงร้อยกันบนโครงสร้างรูปคลื่นเพื่อสื่อถึงกระบวนการตกผลึกทางความคิด และความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่มากับสายน้ำ สะท้อนถึงแม่น้ำสิงคโปร์ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่เป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมความคิดสร้างสรรค์ และโอกาสใหม่ๆ ที่หลั่งไหลเข้ามาตลอด 200 ปี นอกจากนี้ ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมสร้างสรรค์ชิ้นงานได้ด้วยการเปลี่ยนสีคลื่นคริสตัลไปในรูปแบบต่างๆ และรับชมไลต์โชว์ที่สื่อถึงกระบวนการตกผลึกทางความคิด

“กลุ่ม Living Spirits เป็นกลุ่มศิลปินที่สร้างสรรค์ศิลปะติดตั้ง (Installation Art) เน้นสร้างงานศิลปะที่สื่อสารกับผู้คน โดยเน้นไปที่การสร้างประสบการณ์ในรูปแบบที่แปลกใหม่ที่ยังไม่เคยสัมผัสมาก่อน ซึ่งจะนำไปสู่การตระหนักรู้และการเติบโตจากภายใน โดยอันดับแรกชิ้นงานต้องสร้างความตรึงตาตรึงใจเพื่อให้ผู้ชมเปิดโสตประสาทรับสารที่ศิลปินต้องการสื่อ และสารที่เราสื่อออกไปจะเป็นคำถามปลายเปิดเพื่อให้ผู้ชมคิดเองว่ารู้สึกอย่างไร”

ศศิศก่อตั้ง Living Spirits เมื่อ 2 ปีที่ก่อน เขาตั้งใจสร้างให้เป็นธุรกิจระดับโลก (Global Business) โดยมีโอกาสได้โชว์ฝีมือเป็นครั้งแรกในงาน ไอ ไลต์ สิงคโปร์ ปีที่ผ่านมา

“การเข้าประกวดในงานไอ ไลต์ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นเวทีที่ศิลปินหน้าใหม่อยากนำผลงานไปจัดแสดง ซึ่งจากการพูดคุยกับภัณฑารักษ์เมื่อปีที่ผ่านมา เขาบอกว่า เป็นเพราะผลงานของเราไปทัช (touch) คนสิงคโปร์ จากการที่เราใช้วัสดุที่ใกล้ตัวพวกเขาทำให้เราได้คะแนนจนถูกคัดเลือก”

ปีที่ผ่านมา กลุ่ม Living Spirits จัดแสดงผลงานชื่อ Chandelier of Spirits ได้รับแรงบันดาลใจมาจากกาแฟ ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของการทำงานหนักและทัศนคติหนักเอาเบาสู้ของเหล่าแรงงาน พวกเขาใช้ขวดกาแฟที่ขายในร้านกาแฟสิงคโปร์กว่า 1,400 ขวด นำมาทำเป็นโคมไฟที่ส่องสว่างเมืองหลังจากพระอาทิตย์ตกดิน เฉกเช่นเดียวกับกาแฟที่ช่วยส่งพลังงานให้ผู้คนในตอนกลางวัน นอกจากนี้ งานศิลปะยังมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม คือ เมื่อมีคนเดินเข้าไปใกล้แสงไฟจะสว่างมากขึ้น และจะหรี่ลงเมื่อห่างออกไป

“ปีที่แล้วมีคนเห็นและสนใจผลงานของเราเยอะมาก เพราะเราได้ทำเลที่ดี และยังโชคดีที่ท่านนายกรัฐมนตรี ลีเซียนลูง ได้ถ่ายภาพผลงาน Chandelier of Spirits ไปขึ้นเพจของท่าน โดยหลังจากนั้นเรายังได้ไปจัดแสดงงานที่ญี่ปุ่น มาเลเซีย และถูกคัดเลือกให้มาร่วมในงาน ไอ ไลต์ ปีนี้อีกครั้ง

คนไทยดังต่างแดน ตัวแทนวัฒนธรรมและความภาคภูมิ

ตอนนี้กลายเป็นว่าต่างประเทศรู้จักกลุ่มเรา แต่เรายังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในประเทศไทย ซึ่งอาจเป็นเพราะผมยังไม่ไปคลุกคลีกับภัณฑารักษ์ในไทย และยังไม่นำตัวเองเข้าไปในวงการศิลปะเมืองไทยมากนัก” ผู้ก่อตั้ง Living Spirits กล่าวต่อ แต่ใช่ว่าจะไม่มีคนไทยไม่รู้จัก เพราะอย่างปีที่ผ่านมา กลุ่ม Living Spirits ได้ไปโชว์ฝีมือไว้ในงาน อเวคเคนนิ่ง แบงค็อก 2561 และงานเชียงใหม่ ดีไซน์ วีก 2561

“สำหรับศิลปินไทยที่อยากไปแสดงงานในต่างประเทศ ผมคิดว่า ต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจเฟสติวัลนั้นๆ ก่อน แต่ในขณะเดียวกันตัวศิลปินเองก็ต้องมีจุดยืน และมองให้ขาดไปถึงจุดปลายว่า สิ่งที่เราทำได้ส่งมอบอะไรให้กับผู้คน ยกตัวอย่างงานไลติ้งที่มีแสงไฟเป็นเครื่องมือ ซึ่งนอกจากความสวยงามให้ถ่ายรูปสวยแล้ว ความหมายของงานชิ้นนั้นสร้างอะไรให้ผู้ชม และผู้ชมได้เรียนรู้อะไรจากมัน เมื่อทั้งสองปัจจัยนี้มันเข้ากันได้ทั้งความเป็นตัวเราและสิ่งที่เฟสติวัลต้องการ ผมคิดว่า น่าจะมีโอกาสที่จะถูกเลือก”

นอกจากนี้ พวกเขายังเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้มีสองด้านที่ขนานกัน ผลงานของเขาจึงต้องการเล่าเรื่องราวจากอีกด้าน ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยสายตาแต่รับรู้ได้ด้วยหัวใจ

ทั้งสองทีมที่กล่าวมาเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของหมู่มวลคนไทยที่ไปสร้างชื่อเสียงไว้ในต่างแดน ซึ่งนอกจากจะเป็นตัวแทนประเทศในการสะท้อนถึงวัฒนธรรมที่ดีงาม ยังทำให้ต่างชาติรู้จักเมืองไทยในหลากหลายแง่งาม และทำให้ภูมิใจได้ว่า “คนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก”

คนไทยดังต่างแดน ตัวแทนวัฒนธรรมและความภาคภูมิ