posttoday

มรดกของว่านซ่ง

27 มกราคม 2562

โดย: กรกิจ ดิษฐาน

โดย: กรกิจ ดิษฐาน


เร็วๆ นี้ ผมเกือบจะได้ไปแวะชมเจดีย์บรรจุอัฐิอาจารย์เซนท่านสำคัญของจีน คือท่าน ว่านซ่ง (หมื่นสน) ท่านเป็นผู้เรียบเรียงตำราปริศนาธรรมเล่มสำคัญคือ บันทึกกุฎีฉงหรง (從容錄) ปริศนาธรรมเหล่านี้สำคัญมากในการใช้ขบ (เป็นกรรมฐาน) แต่ไม่ให้คิดวิเคราะห์ ถ้าวิเคราะห์จะหลงทันที (ภาษาธรรมบ้านเราคือเป็นวิปัสนึก)

เวลาคนไทยพูดถึงเซน คนจะนึกถึงความว่าง วงกลมชาโนะยุ ฯลฯ ทั้งหมดไม่ใช่เซน เซนมาจากคำว่าฉาน ฉานมาจากคำว่า ฌาน ฌานในที่นี้คือกรรมฐาน ความว่างไม่ได้มาจากนึกเอา แต่มาจากการปฏิบัติอย่างเข้มข้น

รากฐานของเซน/ฌาน ถ้าไม่มีศีลและวินัย ไม่ควรจะพูดถึงปริศนาธรรม เพราะศีลก่อสมาธิ สมาธิก่อปัญญา ปัญญาทำให้เข้าถึงปริศนาธรรม ดังนั้นเมื่อไม่มีศีลแล้วจะเข้าใจปริศนาได้อย่างไร?

เวลาเรานึกถึงเซนแบบวัฒนธรรมนิวเอจ มักจะนึกถึงภาพวงกลม สวนหิน ชงชาเป็นสุนทรียะ อะไรต่อมิอะไร นั่นไม่ใช่เซน เป็นสันทนาการของสำนักเซนในญี่ปุ่นที่รับมาจากราชวงศ์ซ่งแถบเจียงนาน ในวัดเซนที่จีนไม่มีเวลาเล่นพวกนี้ เซนที่แท้ต้องปฏิบัติทั้งตอนนั่ง เดิน กิน ทำงาน

ทุกวันนี้ วัดเซนของจีนที่เจียงหนานยังถือวินัยเคร่งครัด สภาพความเป็นอยู่พอเพียงค่อนไปทางแร้นแค้น แต่ที่ญี่ปุ่นไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว และวิถีออกจะหรูหราเกินกว่าผู้แสวงหามรรค

เซนในญี่ปุ่นถูกตัดขาดจากพระวินัยแทบจะโดยสิ้นเชิง แม้ในยุคของท่านโดเงน ท่านก็ยังไม่ได้ผ่านการอุปสมบทอย่างถูกต้อง รับแต่ศีลโพธิสัตว์ จึงเกือบจะไม่ได้เรียนเซนที่จีน เพราะทางจีนไม่ถือว่าเป็นภิกษุสมบูรณ์

ท่านโดเงน มีความเกี่ยวพันกับท่านว่านซ่งทางอ้อม คือ ในงานเขียนของท่านโดเงนอ้างงานของอาจารย์ท่านว่านซ่งอยู่มากมาย ส่วนบันทึกกุฎีฉงหรงก็เป็นงานเรียบเรียงปริศนาธรรมของอาจารย์ท่านว่านซ่ง

ทั้งคู่เป็นพระเซนในสำนักเฉาต้งสิ่งที่ต่างกันคือ ท่านโดเงนได้วิชาเซนไปจากภาคใต้ (เจียงหนาน) ในเวลานั้นเป็นอาณาจักรหนานซ่ง ส่วนท่านว่านซ่งอยู่ที่จงตู เวลานั้นเป็นดินแดนของพวกกิมก๊ก ต่อมาเป็นของมองโกล

เจียงหนานครานั้นเป็นแดนสวรรค์ สุนทรียะต่างๆ อันเรียบหรูล้วนถูกส่งออกไปยังญี่ปุ่น ที่เห็นเป็นเซนญี่ปุ่นนั้นครึ่งค่อนตัวคือสุนทรียะแบบเจียงหนาน เช่น พิธีชงชาที่ช่วยผ่อนคลายกายใจ ผู้ที่นำขนบนี้มาจากหนานซ่งโดยท่านเอไซ อาจารย์ของท่านโดเงนนั่นเอง

พิธีชงชาของเจียงหนานเรียบง่ายแต่ลุ่มลึก ช่วยผ่อนคลายจิตใจ ญี่ปุ่นแปรความเรียบง่ายเป็นความหรูหราและน่าอึดอัดขึ้นทุกที เพราะติดในกรอบ แม้แต่เซนที่โอ่อ่าผ่าเผยก็ถูกขังในขนบ (แต่กลับเป็นอิสระจากสิกขาบททั้งหลาย)

บางครั้งเล่นโวหารมากเกินไป จนห่างไกลจากแก่นแท้ แต่ถูกใจผู้แสวงหาโดยผิวเผิน

เซนนั้นไม่ใช่การนั่งนึก แต่เกิดจากการปฏิบัติกรรมฐานที่สั่งสมด้วยวินัยและปริยัติ มีคำกล่าวว่าเซนรังเกียจคัมภีร์ นั่นเป็นเรื่องจริง แต่เป็นความจริงในท้ายที่สุด ก่อนที่จะทิ้งคัมภีร์ได้ พระเซนต้องศึกษาคัมภีร์และปรึกษาฝ่ายปริยัติพอสมควร กล่าวกันว่า นิกายเซนที่รังเกียจคัมภีร์ กลับเป็นนิกายที่มีคัมภีร์และปกรณ์มากมายที่สุด

ปกตินิกายต่างๆ ของจีนมักมีคัมภีร์หลักพระสูตรเดียว แต่เซนมีมากพระสูตร หลากอรรถกถา และปกรณ์อีกนับสิบๆ เล่ม!

เมื่อบรรลุแล้วจึงค่อยทิ้งคัมภีร์เขียนมายืดยาว ยังไม่ได้ไปเยี่ยมกราบไหว้กระดูกท่านว่านซ่ง ขอฝากปริศนาธรรมเรื่อง พระภควันชี้ธรณี (世尊指地) ที่บันทึกโดยท่านว่านซ่ง ความว่า

สมเด็จพระภควันทรงดำเนินไปพร้อมกับหมู่พระสาวก ครั้นแล้วทรงชี้ไปที่ผืนปฐพีแล้วตรัสว่า

“ที่ตรงนี้เหมาะที่จะสร้างอารามไว้เผยแผ่พระธรรม” ท้าวสักกะเทวราชจึงถอนหญ้ามากำมือหนึ่ง แล้วปักลงตรงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้ แล้วกล่าวว่า

“สร้างวัดเสร็จแล้วพระเจ้าข้า” สมเด็จพระภควันสดับดังนั้น ก็ทรงแย้มพระสรวล

ท่านอาจารย์อธิบายว่า - พระภควันครั้งหนึ่งดำรงพระชาติเป็นสุเมธดาบส ท่านถวายดอกไม้แก่พระทีปังกรพุทธเจ้า พระทีปังกรพุทธเจ้าชี้นิ้วยังสุเมธดาบสตรัสว่า ที่ตรงนี้ พึงสร้างเจดียสถาน ครั้งนั้นมีพระเถระรูปหนึ่ง ชี้นิ้วที่ตนเองกล่าวว่า สร้างเจดียสถานแล้วพระเจ้าข้า แลเทพยาทั้งหลายต่างโปรยบุปผา สรรเสริญพระอาจารย์ว่ามีปัญญามากนัก