posttoday

บอกอะไร...ก็ฟังไว้ ตรวจสุขภาพประจำปี

01 พฤศจิกายน 2561

ร่างกายบอกอะไร ก็ขอให้รับฟังไว้เถอะ อุทาหรณ์จากคนไม่ชอบตรวจสุขภาพประจำปี ที่ก็เห็นๆ กันอยู่ว่าเป็นอะไรแล้วเป็นเยอะ เพราะไม่ตรวจ

เรื่อง บีเซลบับ ภาพ อีพีเอ

ร่างกายบอกอะไร ก็ขอให้รับฟังไว้เถอะ อุทาหรณ์จากคนไม่ชอบตรวจสุขภาพประจำปี ที่ก็เห็นๆ กันอยู่ว่าเป็นอะไรแล้วเป็นเยอะ เพราะไม่ตรวจ ไม่ยอมตรวจ หลีกเลี่ยงการตรวจ หรือบางคนไปตรวจ(สุขภาพ)ก็จริง แต่ไม่ทราบเลยว่า ไอ้ที่ตรวจๆ มานั้น ข้อมูลและศัพท์แสงทางเทคนิค(การแพทย์)ต่างๆ บ่งชี้อะไร

อ้าว! ถ้าอย่างนั้นแล้วจะมีประโยชน์อะไร หากประสงค์การใช้ชีวิตที่ยาวยืน ก็ขอให้เป็นชีวิตที่มีสุขภาพดี ดีกว่ามาเรียนรู้การวิเคราะห์ผลตรวจสุขภาพแบบเจาะลึกกันดีกว่า

1.ตรวจความสมบูรณ์ของเลือด (CBC)

ผลเลือดนั้นสามารถบอกถึงความผิดปกติต่างๆ ได้ โดยดูจากลักษณะของเม็ดเลือดแดง (RBC Normochromia) จำนวนเม็ดเลือดขาว (WBC) ปริมาณเกล็ดเลือด (Pit Count) ดูความเข้มข้นของเลือด (Hb) รวมถึงการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เพื่อดูความเสี่ยงในการเกิดภาวะโลหิตจาง โดยดูจากค่า Hemoglobin ซึ่งมีค่ามาตรฐานอยู่ที่ 12.5-16.6 g/dl ในผู้ชาย และ 11.7-14.6 g/dl ในผู้หญิง หากใครมีค่าต่ำกว่านี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะโลหิตจางหรือธาลัสซีเมีย

2.ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด

เป็นการตรวจหาภาวะเบาหวานและความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน โดยดูจากระดับของกลูโคส ซึ่งค่ามาตรฐานอยู่ระหว่าง 70-99 แต่หากสูงกว่านี้ แต่ยังไม่เกิน 126 หมายถึงอาจมีภาวะเสี่ยง ควรต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน หรือการลดของหวานลง อย่างนี้ก็ช่วยได้ แต่หากค่าสูงเกิน 126 นั่นคือสัญญาณของภาวะเบาหวานควรรีบปรึกษาแพทย์

3.ตรวจระดับไขมันในเลือด

เป็นการตรวจเพื่อหาความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับความดัน หลอดเลือดหัวใจ เส้นสมองอักเสบ โดยเกณฑ์ของคอเลสเตอรอลไม่ควรเกิน 200 ค่า LDL (Low Density Lipoprotein) ควรต่ำกว่า 100 และค่า HDL(High Density Lipoprotein) ไม่ควรต่ำกว่า 40

สำหรับค่า HDL นั้น ยิ่งสูงยิ่งดี ตรงกันข้ามกับคอเลสเตอรอลและ LDL ที่ยิ่งสูงยิ่งเป็นสัญญาณเสี่ยง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาความจำเป็นในการให้ยาลดไขมัน ทั้งนี้ พฤติกรรมการกินก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษาที่ได้ผลดีเช่นกัน ในผู้ที่มีระดับไขมันสูงไม่มากแพทย์อาจแนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง หนังสัตว์ เนื้อสัตว์ติดมัน เครื่องในสัตว์ กะทิ อาหารทะเล

4.ตรวจการทำงานของไต

การทำงานของไตมีค่าหลักอยู่ 2 ตัว คือ BUN (Blood Urea Nitrogen) และครีอะตินิน (Creatinine) เป็นการวัดค่าไนโตรเจนจากยูเรียที่อยู่ในเลือด ซึ่งได้จากการย่อยโปรตีนของร่างกาย หากปัสสาวะมีกลิ่นฉุน แปลว่า ไตกำลังทำงานหนัก ค่ามาตรฐานจะอยู่ที่ 6-20 mg/dl หากเกินกว่านี้คือสัญญาณของไตเสื่อม แต่ค่า BUN อาจไม่คงที่ เพราะมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น การดื่มน้ำน้อยเกินไป การกินโปรตีนมากเกินไป หรือผลข้างเคียงของยา

ในขณะที่ค่าครีอะตินิน หรือระดับครีอะตินินในเลือดเป็นการตรวจดูการทำงานของไตที่แม่นยำกว่า เพราะครีอะตินินเป็นของเสียที่มาจากการใช้กล้ามเนื้อในร่างกายเท่านั้น โดยค่ามาตรฐานของครีอะตินินอยู่ระหว่าง 0.6-1.2 mg/dl ในผู้ชาย และ 0.5-1.12 mg/dl ในผู้หญิง คนที่ไตเสื่อมจึงมีค่าครีอะตินินสูงผิดปกตินั่นเอง

5.ตรวจการทำงานของตับ

ตรวจหาเอนไซม์ของตับ เพื่อดูการทำงานของตับ โดยดูจากค่า SGPT (AST) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่สร้างมาจากความเสียหายของตับ เม็ดเลือดแดง หัวใจ กล้ามเนื้อ ตับอ่อนและไต แต่ค่า SGPT (AST) อาจมีผลมาจากความเสียหายของเนื้อเยื่อของอวัยวะอื่นๆ ร่วมด้วย และตับเองก็เป็นอวัยวะที่ไวต่อโรค จึงทำให้ค่า SGPT (AST) สูงขึ้นได้บ่อยครั้ง

ขณะที่ค่า SGPT (ALT) เป็นค่าเอนไซม์ที่เกิดจากความเสียหายหรือจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตับอย่างชัดเจน ซึ่งเมื่อใดที่พบค่า SGPT (ALT) สูง นั่นคือการบ่งชี้ที่สำคัญของการเกิดโรคตับที่ชัดเจนกว่านั่นเอง ค่า SGPT (ALT) นี้ จึงมักถูกใช้เพื่อการตรวจสุขภาพของตับเป็นหลัก

เพียงแค่นี้ก็พอจะวิเคราะห์ผลตรวจสุขภาพด้วยตัวเองแบบง่ายๆ ได้แล้ว หากก็ต้องไม่ลืมว่า การตรวจสุขภาพและได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ (ทุกปีนะจ๊ะ)