posttoday

อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ แซะความซับซ้อนของจิตมนุษย์

30 กันยายน 2561

เพราะการตั้งคำถามถึงความซับซ้อนของจิตและเรื่องลี้ลับเหนือธรรมชาติ

โดย กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ : วิศิษฐ์ แถมเงิน
 
เพราะการตั้งคำถามถึงความซับซ้อนของจิตและเรื่องลี้ลับเหนือธรรมชาติ ทำให้นักเขียนวัย 38 ปี อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ พยายามหาคำตอบผ่านนวนิยายเรื่อง อีกไม่นานเราจะสูญหาย งานเขียนลำดับที่ 3 ที่เธอยอมรับว่าหนักที่สุดและเป็นตัวเองมากที่สุด ซึ่งล่าสุดได้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายชิงรางวัลซีไรต์ สมฐานะหนังสือเล่มบาง แต่ทรงพลังถึงจิตวิญญาณ
 
“เราเป็นคนชอบเรื่องวิทยาศาสตร์ ชอบเรื่องลี้ลับ ชอบเรื่องที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และเป็นคนที่ชอบวิเคราะห์จิตของมนุษย์ทั้งของตัวเองและของคนรอบข้าง เพราะเราอยากหาวิธีจัดการกับมันในสภาวะอารมณ์ต่างๆ” อ้อมแก้ว กล่าวถึงความสนใจส่วนตัวที่ใช้เป็นแก่นเรื่องของเล่มนี้
 
“ตัวละครเอกจะแสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนภายในจิตใจตัวเอง ซึ่งค่อยๆ ถูกความคิด ความลึกลับ และความมืดเข้าไปกัดเซาะจากภายในจนกลายเป็นความวิกลจริต ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเจอสภาวะนั้นได้ และสุดท้ายจะนำไปสู่ปมที่ว่า ไม่ว่าอย่างไรทุกชีวิตต้องล้มหายตายจาก ต้องลาจาก หรือเจอกับสิ่งที่ไม่คาดคิดจนทำให้ต้องหายไป ส่วนการคลายปมนั้นผู้อ่านจะสามารถตีความเองได้ว่า มันหายไปจริงๆ หรือเป็นแค่อุปมาอุปไมย จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป หรือมันสิ้นสุดแล้วอย่างนั้น”
 
นอกจากนี้ อีกไม่นานเราจะสูญหายยังกัดจิกระบบทุนนิยม การโกง การอยากมีตัวตนในสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเขียนต้องการพูดถึงสังคมในปัจจุบัน โดยนำเสนอให้เห็นว่าอาการทางจิตเภทของตัวละคร คืออีกด้านที่ทุนนิยมกดทับไว้ และการแตกสลายภายในจิตใจของตัวละครเป็นผลกระทบจากการทำให้ทุกอย่างกลายเป็นสินค้า แม้แต่เรื่องเล่าที่ผิดศีลธรรมก็สามารถเป็นสินค้ามีราคา ในขณะเดียวกันเธอยังวิพากษ์บทบาทของศิลปะที่สามารถอำพรางความจริงอันเสื่อมถอยและผุพังด้วยสุนทรียะ เปลี่ยนให้เป็นความหวัง ความปรารถนา และความสุข บดบังเนื้อในอันเน่าเฟะ
 
“แก่นเรื่องได้พูดถึงการที่คนคนหนึ่งต้องเจอกับสภาวะอารมณ์หรือประสบการณ์ในรูปแบบที่แปลกประหลาด ซึ่งระหว่างที่ประสบ พบ เปลี่ยน ผ่าน ก็ได้เห็นความซับซ้อนของตัวเองไปพร้อมๆ กัน และเห็นไปพร้อมๆ กับตัวละครตัวอื่นที่มีความซับซ้อนของตัวเอง ทำให้ทุกตัวละครต้องหาวิธีจัดการ รับมือ หรืออยู่กับมันให้ได้ ส่วนประเด็นทุนนิยมที่ยกมาสะกิดแซะ เพื่อแสดงให้เห็นว่ามนุษย์บางคนที่อยากมีชื่อเสียงหรือพยายามไปให้ถึงจุดนั้น พวกเขามีแรงขับเร้าอยู่ด้านหลัง หรือว่าจริงๆ เขาทำไปเพื่อเหตุผลอะไร โดยได้แสดงให้เห็นควบคู่ไปกับคนที่มีโอกาสแต่กลับไม่ไหลไปกับมัน เพื่อเทียบว่าไม่ใช่ทุกคนหรอกที่เป็นแบบนั้น บางทีก็มีเรื่องที่สำคัญมากกว่าเงินทองและชื่อเสียง”
 
แก่นสาระสำคัญของนวนิยายจึงทำให้เห็นถึงความซับซ้อนของระบบทุนนิยมที่เข้าไปเล่นงานภายในจิตใจของมนุษย์ และอีกด้านหนึ่งเธอก็สามารถพลิกความหมายของคำว่าวิกลจริต มาใช้เป็นเครื่องมือก่อกวนระบบทุนนิยม ซึ่งเป็นความโดดเด่นที่ทางกรรมการซีไรต์มองว่านวนิยายเรื่องนี้ไม่ได้นำเสนอเพียงปัญหา แต่ยังชี้ให้เห็นการท้าทายต่อปัญหาของสังคมร่วมสมัยด้วย
 
ปัจจุบันอ้อมแก้วเป็นคอลัมนิสต์อิสระ เขียนคอลัมน์ให้นิตยสารเพลย์บอย เป็นก๊อบปี้ไรเตอร์อิสระ เป็นนักออกแบบกราฟฟิก และอีกบทบาทที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดคือเป็นบุตรสาวของ อังคาร กัลยาณพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ประจำปี 2532 ซึ่งเธอเคยเขียนหนังสือถึงบิดาผู้จากไปไว้ในหนังสือเล่มแรกในชีวิตเรื่อง พ่ออังคารผู้มาจากดาวโลก