posttoday

ดวงกมล เจียมบุตร อัญมณีไทยต้องยิ่งใหญ่ระดับโลก

09 มิถุนายน 2561

ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับถือเป็นตลาดการค้าเก่าแก่ และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ช่วงเวลาสั้นๆ

โดย โยธิน อยู่จงดี ภาพ : ทวีชัย ธวัชปกรณ์

ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับถือเป็นตลาดการค้าเก่าแก่ และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ช่วงเวลาสั้นๆ ที่เราได้มีโอกาสพูดคุยกับหนึ่งในบุคคลที่มีส่วนกำหนดทิศทางมาตรฐานอัญมณีไทยอย่าง ดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สวอ.) หรือ The Gem and Jewelry Institute of Thailand (GIT) ถือเป็นช่วงเวลาที่มีค่าควรแก่การรับฟังไม่น้อย

ถูกต้อง รวดเร็ว แม่นยำ

ดวงกมล เจียมบุตร อัญมณีไทยต้องยิ่งใหญ่ระดับโลก

ดวงกมล พูดถึงการทำงานที่ถือเป็นหนึ่งในองค์กรที่มีส่วนในการพัฒนามาตรฐานอัญมณีและเครื่องประดับไทยว่า

“แนวทางในการทำงานจะต้องเน้นในเรื่องความถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็ว ยิ่งเราทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ความถูกต้อง แม่นยำยิ่งมีความสำคัญ สมัยก่อนถ้าเราจะซื้อเครื่องประดับสักชิ้น เราจะถามพ่อแม่เพื่อนๆ ว่าไปร้านไหนดี

สมัยนี้ถามว่าทำแบบนั้นได้ไหมก็ได้อยู่ แต่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะว่าปัจจุบันมีเทคนิคในการทำของเทียมขึ้นมาให้ดูเหมือนจริงหรือทำของจริงที่ไม่ได้มาจากธรรมชาติ พูดแล้วบางคนอาจจะสงสัยว่าของจริงที่ไม่ได้มากจากธรรมชาติเป็นอย่างไร ยกตัวอย่าง เช่น พลอยสังเคราะห์ เป็นพลอยของจริงที่ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ลัดขั้นตอนการเกิดพลอย

จากเดิมที่พลอยตามธรรมชาติอาจจะใช้เวลาหลายล้านปีในการทับถมจนเกิดพลอย แต่องค์ความรู้และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันสามารถสร้างพลอยสังเคราะห์ ที่ใช้เวลาไม่นานก็ผลิตพลอยให้ออกมามีโครงสร้างแบบเดียวกัน แต่ต่างกันที่ระยะเวลาการเกิดเท่านั้น

ถ้าเป็นพลอยเก๊ หรือซื้อพลอยเนื้ออ่อนแล้วได้แก้วสีมาแทนแบบนี้อย่างไรก็มองออก แต่ถ้าเป็นอัญมณีสังเคราะห์ จะรู้ได้จากการส่องกล้องดูสายแร่ ดูตำหนิตามธรรมชาติ เท่านั้นถึงจะแยกออก เพราะฉะนั้นคนธรรมดาอย่างเราไม่รู้หรอก โดยเฉพาะอัญมณีเม็ดเล็กไม่มีทางรู้ได้เลย ต้องใช้เครื่องตรวจวัดเท่านั้น

ฉะนั้น เราจึงต้องรวดเร็วตามทันเหตุการณ์ เราจะต้องบอกเขาให้ได้ว่าที่คุณซื้อนั้นคืออะไร ของแท้ไหม ราคาขึ้นอยู่กับเกรดและความพอใจ สวยไม่สวย ดีไม่ดีอยู่ที่รสนิยมของแต่ละคน เราต้องบอกผู้บริโภคให้ได้ ต้องทำให้เป็นมาตรฐานที่ตรวจสอบได้”

สร้างเรื่องราวให้ลูกค้ารับรู้

ดวงกมล เจียมบุตร อัญมณีไทยต้องยิ่งใหญ่ระดับโลก

“ทุกวันนี้สินค้าทุกชิ้นที่ทำต้องมีที่มาที่ไป เวลาที่เราขายต่างประเทศจะต้องมีการตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าสินค้าชิ้นนั้นไม่ได้มาจากแรงงานทาส ไม่ได้เอามาจากของเถื่อน ไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อมโดยไม่จำเป็น ทำไมเราต้องมาพูดถึงเรื่องเหล่านี้เพราะคนยุคใหม่เป็นคนที่มีแนวคิดแบบนี้ทั้งหมด คนแบบนี้แหละที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ของประเทศในวันหน้า พวกเขาเติบโตในยุคที่สิ่งแวดล้อมถูกทำลายพวกเขาจะตระหนักในเรื่องเหล่านี้มากเป็นพิเศษ

ทิศทางในการทำงานของเราจะต้องมองให้ครบว่าจะมีอะไรบ้างที่มากระทบกับเรา โดยเฉพาะการส่งออกอัญมณีถ้าเขามีมาตรฐานตรงนี้ขึ้นมา แล้วเราไม่ปรับตามตรงนี้กระทบแน่นอน ต้องรู้และบอกกล่าวกับผู้ประกอบการ เมื่อพูดถึงผู้ประกอบการก็ต้องแบ่งออกเป็นสองแบบก็คือ ผู้ประกอบการที่ทำสินค้าส่งออก กับผู้ประกอบการที่ทำสินค้าภายในประเทศ

ผู้ประกอบการส่งออกพวกเขาจำเป็นที่จะต้องรู้และปรับตัวในทันที แต่ผู้ประกอบการในประเทศที่เน้นทำงานฝีมือที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น เป็นงานฝีมือที่หาตัวจับได้ยากก็มีเวลาปรับตัวมากหน่อย แต่เราจะไปพูดถึงเรื่องมาตรฐานก็คงยาก จะต้องเน้นเรื่องศิลปะและวัฒนธรรม ขายความเป็นแฮนด์เมด ขายความเป็นเอกลักษณ์ให้ได้ในราคาที่เหมาะสม

เราไปเมืองนอก ทุกอย่างที่เขียนว่าแฮนด์เมดจะมีราคาแพงกว่าสินค้าปกติทั่วไปเป็น 10 เท่า อย่างเสื้อที่เป็นผ้าลูกไม้ทำด้วยมือหรืออะไรก็ตามจะเห็นว่าแพงมาก เพราะเป็นสินค้าแฮนด์เมดเป็นสินค้าราคาแพง ในขณะที่ประเทศไทยเราไปดูในต่างจังหวัดแฮนด์เมดเป็นสินค้าที่ถูกมาก

ทุกวันนี้บางทีเราไม่ได้ขายเรื่องราว ทำให้เราขายของในราคาที่ถูกเกินไป ถ้ามีเรื่องราวของสินค้าชิ้นนั้นก็จะได้ราคาดีขึ้นรวมกับการทำแพ็กเกจยิ่งทำให้ของดูดีมีราคา ทำให้เป็นที่ยอมรับของตลาดเข้าถึงผู้บริโภค ให้เขาสนใจว่าทำไมถึงต้องซื้อ อย่างเช่นเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนจะเป็นดินที่มีแร่โลหะผสมอยู่เป็นดินที่มีคุณสมบัติพิเศษ หรืออย่างเช่นทองสุโขทัยก็จะเป็นทองที่มีเอกลักษณ์ที่มีประวัติความเป็นมา 100 กว่าปี มีความเชื่อมโยงทางฝีมือช่างจากหลายท้องถิ่นหลายยุคหลายสมัยเข้ามารวมด้วยกัน จนก่อให้เกิดลายใหม่ เกิดเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่หาไม่ได้จากที่อื่น

ลูกค้าที่ซื้อไปเวลาเอามาใช้เอามาใส่ก็จะภูมิใจว่าสิ่งที่เขาซื้อไปนั้นไม่ใช่สิ่งของธรรมดา หาได้ตามท้องตลาดเป็นสิ่งที่เครื่องจักรทำขึ้นมา เขายอมจ่ายแพงเพื่อซื้อเรื่องราวความมีคุณค่าพิเศษทางจิตใจ”

สร้างมาตรฐานสินค้าสู่ความเชื่อมั่น

ดวงกมล เจียมบุตร อัญมณีไทยต้องยิ่งใหญ่ระดับโลก

เมื่อเราถามถึงเรื่องมาตรฐานที่จะทำให้ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศเกิดความเชื่อมั่น และส่งผลให้ไทยเรากลายเป็นศูนย์กลางของอัญมณีระดับโลก ผู้อำนวยการจีไอที ตอบอย่างไม่ลังเลว่า

“นอกจากเรื่องของการพัฒนาสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับแล้ว ก็ยังมีเรื่องมาตรฐานของเครื่องประดับและอัญมณีที่เราต้องทำให้สังคมรับรู้ ในเรื่องของใบรับรองมาตรฐานจีไอทีของสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ ทุกวันนี้มีหน่วยงานเอกชนที่ออกไปรับรองมาตรฐานอัญมณีและเครื่องประดับมากมาย แต่คำถามก็คือได้มาตรฐานแค่ไหนเราไม่สามารถรับรองได้เลย

เวลาเราไปร้านขายทอง ขายเพชร ซื้อของเขาแล้วทางร้านก็ออกไปรับรองเองขึ้นมา แบบนี้คงไม่ใช่เพราะที่ผ่านมาก็เคยมีปัญหาเรื่องซื้อทองจากอีกร้านหนึ่งแล้วไปขายอีกร้านหนึ่งเขาไม่รับซื้อ ด้วยเหตุผลที่ไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้นจึงต้องให้สถาบันที่เป็นหน่วยงานที่เชื่อถือได้เช่น จีไอที ออกไปรับรอง เพราะเรามีเครื่องมือที่ได้มาตรฐาน คำว่ามาตรฐานจะต้องพิสูจน์ได้อย่างมีหลักการทางวิทยาศาสตร์เป็นที่ยอมรับได้มาตรฐานสากลในระดับโลก

เรามีการออกสิ่งที่เรียกว่า ฮอลล์มาร์ค (Hallmark) ในการตรวจโลหะ ว่าเป็นโลหะอะไรมีค่าเท่าไหร่ เช่น เป็นเงิน 925 เป็นทองกี่เคตรวจเสร็จ เราก็จะปั๊มไปบนเครื่องประดับชิ้นนั้นว่าใช้โลหะอะไร ทำให้เครื่องประดับนั้นมีตราประทับอยู่ 3 ตรา เป็นหลักสากลที่ใช้กัน ตราแรกก็คือตราที่บอกว่าใช้โลหะอะไรมีค่าเท่าไหร่ ตราที่สองคือตราของจีไอทีเป็นการรับรองจากสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือได้ และตราที่สามก็จะเป็นตราของแบรนด์ร้านค้าหรือตราของผู้ผลิต

ถ้าเราไปต่างประเทศแล้วซื้อเครื่องประดับมาพลิกดูแล้วจะเห็นตรารับรอง 3 ตราที่ว่านี้ ซึ่งการออกฮอลล์มาร์คของจีไอทีเราเปิดดำเนินการไปแล้วตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เพียงแต่ว่ามาตรฐานที่ใช้ในประเทศไทยของไทยยังเป็นมาตรฐานด้วยความสมัครใจของผู้ประกอบการ ในขณะที่หลายประเทศมาตรฐานนี้ถูกบังคับใช้โดยกฎหมาย เราจึงอยากรณรงค์ให้คนในประเทศและผู้ประกอบการเกิดความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญตรงนี้ และช่วยกันให้เกิดมาตรฐานอัญมณีและเครื่องประดับไทยให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

นอกจากเรื่องของการออกใบรับรองมาตรฐานแล้ว เรายังออกใบรับรองความเชื่อมั่น ในโครงการที่ชื่อว่า บาย วิท คอนฟิเดนท์ (Buy with Confidence) หรือซื้อด้วยความมั่นใจ เพราะอย่างที่กล่าวไปแต่แรกว่าของเก๊หรือของแท้เราไม่รู้ได้เลย แต่ถ้าเป็นใบ บาย วิท คอนฟิเดนท์ ผู้บริโภคจะซื้อด้วยความมั่นใจได้ทันที

เรารณรงค์ให้ผู้ประกอบการส่งสินค้ามาตรวจสอบกับเรา เพราะว่าการให้ความมั่นใจต้องชิ้นต่อชิ้นไม่ใช่ออกใบให้ในภาพรวม มาตรวจแล้วสินค้าชิ้นนั้นจะมีใบรับรองพร้อมคิวอาร์โค้ด ซึ่งลูกค้าสามารถสแกนเข้ามาในฐานข้อมูลของจีไอทีเพื่อตรวจสอบได้ ว่าสินค้าที่ซื้อไปนั้นมีคุณสมบัติอย่างไร จะขายต่อก็ได้ราคา”

พลอยสีไทยดีที่สุดในโลก

ดวงกมล เจียมบุตร อัญมณีไทยต้องยิ่งใหญ่ระดับโลก

หากนึกถึงจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของอัญมณีไทย ที่ต่างชาติเทียบเคียงเราได้ยาก ดวงกมล ตอบชัดเจนว่า

“พลอยสีของไทยเราดีที่สุด เพราะว่ายังเพชรนั้นมีมานานเป็นร้อยปีแล้ว และเราก็รู้ว่าใครเป็นเจ้าตลาดใหญ่ ตัวเพชรเองจะมีมาตรฐานสีแบบเดียวกันหมด แต่พลอยสีเป็นสิ่งที่แตกต่างอย่างมาก

เราจะเห็นได้ว่าในก้อนพลอยจากธรรมชาติหนึ่งก้อน สีของพลอยจะไม่เท่ากัน เมื่อสีไม่เท่ากันจึงอยู่ที่ความเชี่ยวชาญของช่าง ที่จะพลิกดูมุม ดูเหลี่ยม หรือภาษาช่างเรียกว่า “การตั้งน้ำ” ให้พลอยหนึ่งเม็ดที่สีไม่เท่ากัน เมื่อเจียระไนออกมาแล้วสีนั้นจะเด่นออกมาอย่างแจ่มชัดถ้าเจียรผิดสีอาจจืดลง การตั้งน้ำ จึงเป็นสิ่งสำคัญมากในการเจียระไนพลอย

อีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องของการปรับปรุงคุณภาพ พลอยหนึ่งก้อนเมื่อนำมาเจียรแล้วน้ำหนักจะหายไปทันทีกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องอยู่ที่ฝีมือช่างแล้วว่าจะสามารถเจียรออกมาอย่างไรให้สวย เสียเนื้อน้อยที่สุดและได้สีออกมาสวยที่สุดอันนี้คือเอกลักษณ์ของชาติไทยเรา

สุดท้ายก็คือเรื่องของการปรับปรุงคุณภาพ หรือที่เรียกว่าเทคนิคการเผา เพื่อให้สีเข้มขึ้น เทคนิคการเผาเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของคนไทย หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็นหัวใจของงานช่างเจียระไนพลอยของคนไทยเลยก็ว่าได้

เป็นองค์ความรู้ที่ใครๆ ก็อยากได้ ถ้าเมื่อไหร่เราสูญเสียตรงนี้ก็เท่ากับเราเสียหัวใจให้กับคนอื่นไปแล้ว เพราะฉะนั้นเราจะต้องรักษาเอาไว้ให้เป็นเอกลักษณ์ของไทยเท่านั้น วันนี้ที่เรายังยืนหยัดอยู่ได้ก็เพราะสิ่งเหล่านี้ที่ไม่มีใครเอาของเราไปได้ เพชรยังใช้เครื่องมือเครื่องจักรคอมพิวเตอร์วัดค่าเจียระไนออกมาให้สวยได้

แต่พลอยนั้นไม่สามารถทำได้ ด้วยการมองสีดูมุมให้สีสวยที่สุดต้องใช้สายตาเพียงอย่างเดียวว่ามุมไหนทำแล้วสวยที่สุด เวลาเราซื้อพลอย เราจะซื้อจากการดูสี ดูความใสว่ามีรอยแตกมีตำหนิ ดูเหลี่ยมมุมประกอบกัน ตรงนี้ต้องรักษาเอาไว้เป็นเอกลักษณ์ของเรา

ในตลาดโลกอาจมีนักออกแบบที่ดีมากมาย ใครๆ ก็ออกแบบเครื่องประดับสวยๆ ได้ เปลี่ยนรูปทรงเปลี่ยนเทรนด์สี แต่เรื่องของพลอยไม่มีใครมีองค์ความรู้ดีกว่าเรา อีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของเอกลักษณ์ท้องถิ่น หาไม่ได้จากที่ไหนในโลก ฝรั่งจะทำทองสี่เสาเขาจะใช้เครื่องปั๊มขึ้นมา แต่ของเราทำทองสี่เสาเอกลักษณ์ของเราคือรีดเส้นทองแล้วก็เอามาถักนั่งร้อยจนออกมาเป็นทองที่สวยงามประณีต นี่คือเอกลักษณ์ที่ไม่มีใครสามารถทำได้หรือถึงทำก็ทำไม่ได้ดีเท่ากับคนไทยเพราะสิ่งเหล่านี้อยู่ในสายเลือดของคนไทยที่ไม่มีใครเอาไปได้”

ท้ายสุด ดวงกมล กล่าวด้วยความเชื่อมั่นว่า ก้าวต่อไปของเราจะกลายเป็นศูนย์กลางทางด้านอัญมณีของโลก เพราะไทยเราเป็นผู้ส่งออกอัญมณีรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก

"เรามีองค์ความรู้เรื่องของพลอยหรืออัญมณีสี ที่ต่างชาติอยากได้จากเรา สามารถสร้างมาตรฐานอัญมณีสีของเราให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ที่ผ่านมาเมื่อเดือน พ.ย. 2560 เราก็เป็นเจ้าภาพประชุมงานอัญมณีโลกก็แสดงว่าเราเริ่มเปิดตัวให้ต่างชาติเริ่มรับรู้บทบาทของไทย และต่างชาติที่มาร่วมงานก็ให้การยอมรับในมาตรฐานและความรู้ที่เรามี และต้องทำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการรับรู้ และเป็นที่ยอมรับจนกลายเป็นศูนย์กลางด้านอัญมณีของโลกได้ในที่สุด"